Tuesday, October 31, 2006

การปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์ : บริบทที่แตกต่างจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑

การปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์ : บริบทที่แตกต่างจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑

ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ จำวันที่ไม่ได้

นักวิชาการหลายท่านได้เริ่มออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองผ่านกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเริ่มขึ้น แต่ละท่านก็มีหลักการพื้นฐานในการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้แตกต่างกันออกไป บางท่านก็เสนอแนะให้มีการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาเป็นหลักการในการพิจารณาแก้ไข บางท่านก็เสนอแนะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางท่านก็เสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยเน้นให้น้ำหนักไปที่ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และหลักวิชา ซึ่งทั้งหมดพอจะสรุป หลักการเบื้องต้นที่ใช่ในการพิจารณาทั้งสิ้น สามหลักการ คือ การอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญฉบับเดิม การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการร่างรัฐธรรมนูญโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์

หลักการทั้งสามเป็นหลักการที่มองถึงกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยที่ต้องมีการผสมผสานหลักการทั้งสามเข้าด้วยกันอย่างมีดุลยภาพ เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิมก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มีคุณภาพในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังปฏิเสธไม่ได้อีกถึงการรับฟังความคิดความเห็นของประชาชนในเชิงลึกซึ่งจะนำไปสู่การได้ข้อมูลพื้นฐานประกอบการร่างรัฐธรรมนูญที่มีคุณภาพ และเราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การร่างรัฐธรรมนูญเป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพิเศษ จึงจำเป็นต้องอาศัยนักกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน

นอกจากการประสานหลักการทั้งสามเข้าด้วยกันในการปฏิรูปการเมืองแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมีความเป็นห่วง คือ กระบวนการในการพิจารณาทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นในบริบทสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า เรากำลังอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งโดยหลัก “อิทัปปัจจยตา” แล้ว โลกาภิวัตน์ย่อมส่งผลกระทบถึง ระบอบทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และบริบทอื่นๆแทบจะทุกมิติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การทบทวนดังกล่าว เราต้องมีความเข้าใจพื้นฐานก่อนว่า รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่ไม่อาจแยกขาดจากบริบทต่างๆที่ความสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง และพึงตั้งสติให้มั่นว่า การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๓๘ เป็นการปฏิรูปการเมืองที่ยืนอยู่ในบริบททางสังคมที่แตกต่างไปจากการปฏิรูปการเมืองในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้การทำความเข้าใจบริบทการเมืองที่มีความแตกต่างกันของการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ กับการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สังคมทุกภาคส่วนจะต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องแรก ก่อนที่จะทำการปฏิรูปการเมือง ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการผสมผสานหลักการสามประการข้างต้น และต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า รัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมาย เป็นเพียงสถาบันทางสังคมอย่างหนึ่งในบรรดาสถาบันทางสังคมอื่นๆ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหาสังคมควบคู่ไปกับเครื่องมือทางสังคมชนิดอื่นๆ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวจะทำให้เรามองสังคมในภาพรวมได้ออก และจะได้จัดวางตำแหน่งแห่งที่ ของรัฐธรรมนูญ สถาบันที่รัฐธรรมนูญก่อตั้ง ตลอดจนกระบวนการในรัฐธรรมนูญ ได้อย่างถูกต้องตามความจริงและสอดคล้องกับบริบทสังคมนั่นเอง

การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ : กับการเกิดขึ้นของภาคการตลาดในยุคโลกาภิวัตน์
กำเนิดของการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ มีจุดเริ่มต้นที่ต้องย้อนหลังกลับไปในสมัยรัฐประหารในปี พ.ศ.2534 โดย รสช. ซึ่งต่อมาเหตุการณ์ได้พัฒนากลายเป็น เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ.2535 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ถือได้ว่าเป็น ยุคเริ่มต้นของภาคการตลาดในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งในสมัยนั้นยังใช้คำว่าโลกานุวัตรอยู่ ความเบื่อหน่ายทางการเมืองของประชาชนได้ก่อให้เกิดแรงขับดันกลายเป็น กระแสเรื่องการปฏิรูปการเมือง ที่รัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปะอาชา เป็นผู้นำทางการเมืองที่ปฏิบัติตามพันธะสัญญาทางสังคม จนในที่สุดประเทศไทยก็มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใช้ในปี พ.ศ.2540 พร้อมๆกับการเจริญเติบโตของภาคการตลาดโลกาภิวัตน์อันมี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำ ในนามอัศวินคลื่นลูกที่สาม

หากมองถึง กระบวนการปฏิรูปการเมืองในขณะนั้น จะพบว่าปัญหาสำคัญทางการเมืองมีอยู่มากมายหลายปัญหา ซึ่ง ศาตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้สรุปถึงบริบททางการเมือง ณ ขณะนั้นไว้ ว่าเป็นปัญหาที่ตัวแก่นกลางของอำนาจ ระหว่างอำนาจสามฝ่ายคือ อำนาจรัฐที่ใช้โดย “องค์กรทางการเมือง” อำนาจรัฐที่เป็นกลไกประจำในระบบราชการ และอำนาจที่ใช้โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในสภาพที่ไม่สมดุล ทำให้เกิดการขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ ต่างๆจนนำไปสู่ปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการปกครอง ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งทางออกที่สำคัญคือ การปฏิรูปการเมืองตามแนวทาง Constitutionalism โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างรัฐธรรมนูญที่เข้าไปจัดการความไร้เสถียรภาพ และการสร้างกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคพลเรือน

ด้วยเหตุข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นมรรคที่มีความสอดคล้องกับ ทุกข์ ทางการเมือง ณ ขณะนั้น จากแนวความคิดดังกล่าว ได้นำไปสู่การจัดทำรายงานการวิจัย เพื่อจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการเมือง ซึ่งเสนอต่อ คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ทั้งสิ้น 15 เรื่อง ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่มุ่งเข้าไปจัดการทำให้อำนาจมีเสถียรภาพ ตรวจสอบได้ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน จนในที่สุดแนวความคิดต่างๆที่อยู่ในการรายงานการวิจัยชุดดังกล่าว ก็กลายเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ที่มุ่งตอบคำถามและแก้ปัญหาในบริบทการเมือง ณ ขณะนั้น โดยที่สังคมไทยไม่อาจทราบได้ถึง การเจริญเติบโตของภาคส่วนใหม่ที่มีความร้ายกาจยิ่งกว่า ภาครัฐบาล (Government Sector)


การทุบทำลายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยภาคการตลาด (Market Sector) ที่ผสานตัวกับภาคการเมือง (Goverment Sector)

ในช่วงเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญฯสามารถแก้ปัญหา การเมืองเก่าได้ดีในระดับหนึ่ง มีนักการเมืองหลายท่านต้องเว้นวรรคทางการเมืองไปโดยผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมๆไปกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในหลายประการ ทั้งการเสนอร่างกฎหมายสู่สภา การเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การทำประชาพิจารณ์ และรัฐบาลก็เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น จากมาตรการสร้าง Strong Executive ซึ่งมาตรการสร้างเสถียรภาพเหล่านี้ สอดรับได้ดี กับการเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย ที่ต่อมาสามารถเอาชนะการเลือกตั้งด้วยนโยบาย “ประชานิยม” ซึ่งช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของพรรคด้วยการเอาชนะใจคนในระดับรากแก้ว พร้อมๆไปกับการได้รับเสถียรภาพทางการเมืองจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ณ ขณะนั้น คือ จุดเปลี่ยนและบททดสอบสำคัญของรัฐธรรมนูญและประเทศชาติ ที่ต้องแบกรับการบริหารประเทศโดย พรรคไทยรักไทย ที่ควบรวม ภาครัฐบาล (Government Sector) และภาคการตลาด (Market Sector) เข้าด้วยกัน และนั่น คือ บริบททางสังคมใหม่ ที่กำลังคืบคลานเข้ามาทุบทำลายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ในบทความเรื่อง ดุลยภาพทางสังคมกับการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ ผมได้กล่าวถึง ภาคการตลาด ว่ามีธรรมชาติพิเศษ คือ “ภาคการตลาดมีหน้าที่พิเศษที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ผลิตสินค้าและบริการเพื่อการจำหน่ายเพื่อสนองตอบต่ออุปสงค์และอุปทานของตลาด มีความสามารถพิเศษในการสร้างความมั่งคั่งด้วยวิธีการต่างๆไม่ว่าจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มของภาคตลาด ในยุคโลกาภิวัตน์ได้ก่อตัวจนกลายเป็น บรรษัทขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะผูกขาดทางเศรษฐกิจ ผูกขาดต้นทุนต่างๆกระทั่ง ต้นทุนทางวัฒนธรรมเหนือรัฐชาติ จนอาจกล่าวได้ว่า ภาคตลาด เป็นภาคที่ทรงพลานุภาพที่สุด ในสังคมโลกภิวัฒน์ เพราะภาคการตลาดมีความสามารถในการใช้พลังเงินตรา เข้าไปมีอิทธิพลเหนือ ภาครัฐบาลที่ฉ้อฉล กระทั่ง ภาคพลเรือนที่ไร้คุณภาพได้ไม่ยากนัก”

จากธรรมชาติดังกล่าว อาจสรุปได้อย่างตรงไปตรงมาว่า ภาคการตลาดมีธรรมชาติที่สำคัญ ดังนี้
ภาคการตลาด ขับเคลื่อนหน้าที่ของตนเองด้วย “ความโลภ”
ภาคการตลาด มีวิธีการดำเนินการของตนเอง ที่ไม่มีการคำนึงถึง คุณธรรม จริยธรรมทางสังคม และกฎหมาย หรือ อาจกล่าวได้ว่า จริยธรรมของภาคการตลาด คือ ความไม่มีจริยธรรมใดๆเลยก็ว่าได้
ภาคการตลาด มีความสามารถของพลังเงินตราในการควบรวม (Take Over) ภาครัฐบาล(Government) บนวัฒนธรรมอำนาจ และควบรวมภาคพลเรือน (Civil Sector) บนวัฒนธรรมอุปถัมป์ ได้ไม่ยากนัก

คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนดำรงอยู่ใน นโยบายทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้ปีกของ “พรรคไทยรักไทย” ทั้งสิ้น ซึ่ง ธรรมชาติเหล่านี้ได้แสดงอานุภาพในการบดขยี้ทำลายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างไม่มีชิ้นดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีหลักฐานยืนยันว่ารัฐธรรมนูญถูกทำลายแทบจะทุกหมวด เช่น

การละเมิดสถาบันกษัตริย์และศาสนาเป็นการทำลายรัฐธรรมนูญฯในหมวด ๑ และ ๒ เพราะ ภาคการตลาดไม่มีความสนใจสถาบันทางสังคมใดๆ นอกจากสถาบันแห่งเงินตรา และองค์กรโลกบาล

กรณีการหายตัวทนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีนโยบายฆ่าตัดตอน กรณีการสังหารประชาชนที่ตากใบ และกรือเซะ เป็นการทำลายสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญฯ หมวด ๓ เพราะภาคการตลาดชอบการสั่งการบังคับบัญชาที่เด็ดขาดเหมือนสั่งลูกน้องในบริษัท

กรณีการเลี่ยงภาษีของนายทักษิณ เป็นการทำลายหน้าที่ของชนชาวไทย ในรัฐธรรมนูญฯ หมวด ๔ เพราะภาคการตลาดคำนึงถึงแต่การลดต้นทุนการผลิต และการเลี่ยงภาษีก็เป็นวิธีการลดต้นทุนที่ภาคการตลาดทำอยู่เป็นประจำ

กรณีการซื้อรัฐสภา เป็นการทำลายสถาบันทางการเมืองในระบอบการปกครองแบบรัฐสภา ทำลายการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะภาคการตลาดคำนึงถึงการบังคับบัญชาแบบเบ็ดเสร็จในลักษณะของ CEO

กรณีการโกงการเลือกตั้ง เป็นการทำลายระบบการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง เพราะภาคการตลาด เป็นนักยุทธศาสตร์ที่มุ่งเอาชนะคะคานกันในทางธุรกิจที่แปลงรูปมาเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่มีเงินตราเป็นยุทธปัจจัยโดยไม่สนใจว่าวิธีการในการเอาชนะจะถูกต้องหรือไม่

กรณีการแทรกแซงองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นการทำลายระบบการตรวจสอบทางการเมือง เพราะภาคการตลาด เป็นภาคที่มุ่งเน้นความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการจึงไม่ต้องการการตรวจสอบที่เป็นการเพิ่มต้นทุนและถ่วงเวลาในการบริหาร

กรณีนโยบายผู้ว่า CEO และการไม่จ่ายเงินงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น เป็นการทำลายระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น และภูมิภาคอย่างยับเยิน เพราะภาคการตลาดมีระบบการบริหารที่มุ่งเน้นการสั่งการจากส่วนกลาง
กรณีการโอนสัมปทานให้กับสิงคโปร์ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นทำลายผลประโยชน์สาธารณะของภาคพลเรือน เพราะภาคการตลาดเป็นภาคที่ไม่มีความกตัญญูต่อแผ่นดิน ประชาชน และผลประโยชน์ของประเทศชาติ

สิ่งเหล่านี้ คือ ประจักษ์หลักฐานที่ชัดเจน ถึงซากปรักหักพังของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ถูกทุบทำลายอย่างไม่ชิ้นดี จาก พรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองที่มีกำเนิดจากภาคการตลาด ที่ไม่มีกฎหมายอยู่ในสายตา ที่ไม่คำนึงถึงสิ่งใด นอกกำไรสูงสุดของตนเองและพวกพ้อง ทั้งหมด คือที่มาของความล่มสลายของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มีต้นตอมาจากเลือดและน้ำตาของเหล่าวีรชนเดือนพฤษภา

บริบทสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์ : โจทย์ข้อใหญ่ในการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒

จากการรวบรวมข้อเสนอแนะของผู้เขียน ในรายงานการวิจัย เรื่อง การใช้และข้อค้นพบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้พบข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขและเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯอยู่มากมายหลายประการ ทั้งในส่วนของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ การปรับปรุงระบบการเลือกตั้ง การแก้ไขเรื่องการเป็นสมาชิกอย่างน้อย 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง การจัดระบบตรวจสอบถ่วงดุลใหม่ การแก้ไขเรื่องการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ และข้อเสนอแนะอื่นๆอีกมากมาย ผู้เขียนพบว่า ข้อเสนอแนะบางข้อเสนอ เป็นข้อเสนอโดยตรงจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน บางข้อเสนอเป็นข้อเสนอจากภาคประชาชน บางข้อเสนอเป็นข้อเสนอจากนักวิชาการ ซึ่งบรรดาข้อเสนอต่างๆเหล่านี้ ได้นำไปสู่คำถามสำคัญของผู้เขียนว่า ข้อเสนอต่างๆเป็นข้อเสนอที่วางอยู่บนพื้นฐานทางสังคมวิทยาการเมืองหรือไม่ หรือเป็นเพียงข้อเสนอที่ต้องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

หากคำตอบออกมาในกรณีแรกก็คงไม่มีปัญหาอะไรเพียงแต่ต้องคิดค้นและตั้งคำถามต่อไปมาตรการทางกฎหมายที่เสนอสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ถูกทุบทำลายโดยภาคการตลาดได้หรือไม่ แต่หากคำตอบออกมาในกรณีที่สองคือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ที่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ จะไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียน จึงมีความคิดว่า การปฏิรูปเมืองครั้งที่ ๒ ที่กำลังจะเกิดจะขึ้น ควรมีการพิจารณาบริบททางสังคมการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ให้แจ่มชัด ว่า ทุกข์ทางสังคมครั้งใหญ่ครั้งนี้มี สาเหตุ หรือ สมุทัย มาจากสิ่งใด เพื่อค้นหามรรควิธีที่สามารถแก้ปัญหาทางสังคมให้จงได้ ในเบื้องต้นผู้เขียนได้ค้นพบว่า สาเหตุหลักของปัญหาทางการเมือง คือ โลกาภิวัตน์ ที่มีภาคการตลาดเป็นตัวนำ ในการควบรวม ภาครัฐบาล และภาคพลเรือนที่อ่อนแอ ดังนั้นฐานคิดในเบื้องต้นในการปฏิรูปการเมือง และการบูรณะรัฐธรรมนูญ จึงมีโจทย์ที่ผู้เขียนโยนสู่สังคมให้ขบคิดทั้งสิ้นสามประการ คือ

๑.จะทำอย่างไรในการลดบาททางการเมืองของภาคการตลาดโลกาภิวัตน์ ในการเข้าควบรวม ภาครัฐบาลและภาคพลเรือน
๒.จะทำอย่างไรในการเปลี่ยนแปลงบทบาทของภาครัฐบาลที่ต้องทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าผลประโยชน์ของภาคการตลาด
๓.จะทำอย่างไรให้ภาคพลเรือนสามารถมีส่วนในการป้องกันตนเองจากภาครัฐบาลและภาคการตลาด และเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในทางความจริงให้มากที่สุด
๔.จะทำอย่างไรในการวางสิ่งกีดขวางทางกฎหมายและสถาบันทางสังคมอื่นๆเพื่อป้องกันการท่วมทะลักของโลกาภิวัตน์ในระบบโลก
๕.จะทำอย่างไรให้ ภาคพลเรือน ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ขึ้นเป็นผู้นำเหนือภาครัฐบาล และภาคการตลาดได้อย่างแท้จริง

หากการปฏิรูปการเมืองไม่อาจตอบคำถามหรือแก้โจทย์ทั้งห้าข้อได้ ผมคิดว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในครั้งนี้ จะไม่มีคำตอบให้กับการดำรงคงอยู่ของประเทศชาติ อย่างแน่นอน นอกจากนี้หากพิจารณาตามหลักอริยสัจ ๔ ประการแล้ว การไขโจทย์ทั้ง ๕ ข้อ คือ เทียนส่องให้เห็นภูมิประเทศทางสังคม เพื่อก้าวเดินสู่ การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า การอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญฉบับเดิม การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการร่างรัฐธรรมนูญโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ที่มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนอไว้แล้ว


ศาสตรา โตอ่อน
เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง






Friday, October 27, 2006

เมื่อนิติรัฐปะทะนิติโลก


16 ตุลาคม 2549 11:46 น.

"...ปัญหาคือธุรกิจในเครือชินคอร์ป มาจากการรับสัมปทานจากรัฐ...แต่ต้องไม่ลืมหลักทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้จะทำกำไรได้ก็ต้องอยู่ในขอบเขต แต่การโอนหุ้นชินให้เทมาเส็ก ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ซ้ำยังผิดกฎหมายหลายฉบับอย่างชัดเจน"

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : * ปกรณ์ พึ่งเนตร
-------------------
หากยังอยู่ในบรรยากาศการชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เหมือนเมื่อหลายเดือนก่อน ข่าวศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม รับฟ้องในคดีที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต ขอให้ศาลมีคำสั่งไปยังหน่วยงานภาครัฐให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานของกิจการในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น หลังเทขายหุ้นล็อตใหญ่ให้กับกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ คงกลายเป็นข่าวใหญ่และเรียกเสียงเฮได้ลั่นท้องถนน
แต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน ทำให้กระแส "รุกไล่" พ.ต.ท.ทักษิณ คลายตัวลง และข่าวนี้ก็กลายเป็นข่าวเล็กๆ ที่ประดับอยู่บนหน้า 1 หนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับเท่านั้น


อย่างไรก็ดี การยื่นฟ้องบริษัทยักษ์ใหญ่ของตระกูลนายกรัฐมนตรี โดยนักกฎหมายรุ่นใหม่วัยเพียง 28 ปี อย่าง นายศาสตรา โตอ่อน อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจศึกษาไม่น้อย โดยเฉพาะกับมุมมองและกระบวนการคิดของเขา กับความหาญกล้าท้าทายอำนาจด้วยตัวบทกฎหมาย ในห้วงที่บารมีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังฉายแสงปกคลุมอยู่ในประเทศนี้

"การฟ้องคดีของผมคือการขออำนาจศาลเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะจากทุนโลกาภิวัตน์" ศาสตรา ซึ่งออกตัวว่าเขาคือศิษย์เก่าสวนกุหลาบ สถาบันเดียวกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เอ่ยขึ้นนำ

เขาอธิบายว่า กระแสโลกในปัจจุบันคือโลภาภิวัตน์ ซึ่งส่งผลให้เกิดระบบเชื่อมต่อของทุนนิยม ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของทุนอย่างขนานใหญ่ โดยจุดประสงค์ของโลกาภิวัตน์ก็คือทุนเสรี และทลายสิ่งกีดขวางที่ป้องกันการเคลื่อนย้ายของทุน

"ต้องยอมรับว่าเมืองไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะรับทุนเหล่านี้ได้ ทั้งในแง่ปัจจัยพื้นฐานและคน เพราะการเข้ามาของทุนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาทิเช่น ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต วิถีชุมชน และวัฒนธรรม"

ศาสตรา บอกว่า ทุนโลกาภิวัตน์ไม่สนใจกฎระเบียบ มีการใช้นอมินี ใช้ที่ปรึกษากฎหมายเพื่อชี้ช่องจัดการทุกอย่าง เพื่อหวังผลอย่างเดียวคือกำไรสูงสุด

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเองก็มีระบบกฎหมายคุ้มครองกระแสรุกคืบของทุนเหล่านี้ ได้แก่รัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ โดยหลักการของกฎหมายมหาชนคือคุ้มครองปกป้องประโยชน์สาธารณะ เพื่อเป็นฐานการดำรงอยู่ของประเทศ และแม้กฎหมายมหาชนจะไม่มีประมวล แต่ก็แทรกตัวอยู่ในกฎหมายฉบับต่างๆ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปจัดการดูแลผลประโยชน์ของสาธารณะ

"เมื่อแนวคิดโลกาภิวัตน์ไม่สนใจกฎระเบียบ ขณะที่บ้านเราก็มีกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ จึงเกิดการปะทะกันระหว่างนิติโลกกับนิติรัฐ บางคนบอกว่านิติรัฐไม่มีอีกแล้วในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ผมอยากจะบอกว่าการฟ้องคดีของผมก็คือการยืนยันว่านิติรัฐยังมีอยู่"

ศาสตรา อธิบายต่อว่า กระบวนการโอนหุ้นชินก็คือหนึ่งในกระแสโลกาภิวัตน์ แต่ปัญหาก็คือ ธุรกิจในเครือชินคอร์ปมาจากการรับสัมปทานจากรัฐ ซึ่งรากเหง้าของสัญญาสัมปทาน ก็คือประโยชน์สาธารณะที่รัฐยังไม่อาจทำเองได้ จึงให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานไปทำแทน

"แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมหลักของมัน คือต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้จะทำกำไรได้ ก็ต้องอยู่ในขอบเขตการปกป้องประโยชน์สาธารณะ แต่การโอนหุ้นชินให้เทมาเส็กไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ซ้ำยังผิดกฎหมายหลายฉบับอย่างชัดเจน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า การโอนกิจการต้องได้รับอนุญาตจาก กทช."

ศาสตรา ชี้ว่า การโอนหุ้นชินไม่ได้ดำเนินการในกรอบคิดของการเป็นกิจการที่รับสัมปทานจากรัฐเลย คิดแต่ว่าเป็น Freedom of Contract ซึ่งมันเป็นหลักการระหว่างเอกชนกับเอกชน จึงส่งผลให้สัญญาสัมปทานไม่ชอบด้วยกฎหมาย

"จริงๆ เรื่องนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของหน่วยราชการที่ต้องยกเลิกเพิกถอน เมื่อหน่วยราชการไม่ทำ ผมจึงต้องทำเอง"

เมื่อถามถึงแนวโน้มของคดี ศาสตรา ออกตัวว่า ไม่อยากพูดไปล่วงหน้า แต่ก็มั่นใจในข้อกฎหมายเต็มร้อย ที่สำคัญคือหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับฟ้องคดี เขาได้รับจดหมายจากที่ปรึกษากฎหมายในสิงคโปร์ เรียกร้องให้ไปตรวจสอบบริษัทอื่นๆ ด้วย

"ผมตอบกลับไปว่าไม่ใช่หน้าที่ผม เพียงแต่กรณีของหุ้นชิน เจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำงาน ผมจึงต้องยื่นฟ้องแทน แต่ก็น่าสังเกตว่าประเด็นนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ปรึกษากฎหมายของสิงคโปร์ก็ยอมรับแล้วใช่หรือไม่ว่าการโอนหุ้นนั้นผิดกฎหมาย"

เมื่อถามถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากในที่สุดศาลปกครองสั่งให้เพิกถอนสัมปทานจริงๆ ศาสตรา บอกว่า มีอยู่ 3 แนวทาง คือ

1.เอกชนรายเดิมได้ประกอบกิจการต่อไป แต่แนวทางนี้มีเงื่อนไขว่า การทำผิดสัญญาของเอกชนต้องเกิดจากเหตุสุดวิสัยเท่านั้น
2.หน่วยงานราชการเข้าไปควบคุมกิจการเอง ด้วยการเข้าไปทำแทนเอกชนรายเดิม
และ 3.ยึดกิจการกลับมาเป็นของรัฐ แล้วให้รัฐเป็นผู้บริหารจัดการภายใต้โครงสร้างเดิมของบริษัท

"คดีนี้จะมีส่วนสำคัญมาก ผลของคำพิพากษาจะเป็นตัวชี้ขาดว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปในทิศทางใด" ศาสตรา ระบุ

ส่วนที่มองว่าการยึดสัมปทานกลับมา อาจทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายในสายตานักลงทุนต่างชาตินั้น ศาสตรา บอกว่า จริงๆ แล้วแม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นต้นตำรับของทุนนิยมเอง ก็ปฏิเสธบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคของตน

"กรณีตัวอย่างก็คือ การที่ซีนุก(ไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น) ที่รัฐบาลจีนถือหุ้นใหญ่ จะเข้าไปซื้อกิจการยูโนแคล บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ประกอบกิจการด้านพลังงานของอเมริกา แต่ถูกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติด้วยเสียงท่วมท้นคัดค้านการขายยูโนแคลให้กับซีนุก"

ศาสตรา บอกด้วยว่า จริงๆ แล้วคดีนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะเป้าหมายของเขาไม่ได้อยู่แค่การเพิกถอนสัมปทานกลุ่มชิน แต่เขามองไกลไปถึงการปฏิรูประบบกฎหมายของประเทศครั้งใหญ่ เพื่อผล 3 ประการ คือ

1.คัดกรองนักลงทุนต่างชาติไม่ให้เข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของไทย

2.สร้างตัวบทกฎหมายเพื่อลงโทษเอกชนที่หลีกเลี่ยงกฎหมายในการดำเนินธุรกิจอย่างเฉียบขาด

และ 3.สร้างเสริมกระบวนการตรวจสอบ โดยดึงสถาบันทางสังคมในประเทศไทยที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบให้มากที่สุด

"การสร้างเสริมการตรวจสอบโดยภาคประชาชนจะเป็นการขยายฐานตุลาการภิวัตน์ ทำให้ประเทศไทยสามารถยืนอยู่ได้ในกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะเราไม่สามารถไว้ใจการทำหน้าที่ของระบบราชการเพียงด้านเดียวได้อีกต่อไป ดังนั้นภาคประชาสังคมต้องช่วยกันตรวจสอบและนำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่คนไทยทุกคนเป็นหมาเฝ้าบ้านของตัวเอง"

Wednesday, October 25, 2006

จดหมายถึงชาวบล็อก โดยเฉพาะ แจมมี่


จากข้อเขียนของคุณแจมมี่ ในบล็อกของนายนิติรัฐที่พาดพิงผม

"เรื่องบล็อกของ นายศาตรา ก่อนหน้านี้ผมเข้าไปอ่านตลอด กลับมีมุมมองต่างออกไป และถ้าคุณเองจะเปิดหู เปิดตามองให้ทะลุอีกหน่อย ไม่ได้ใส่แต่แว่นที่เคลือบรสนิยมตัวเองซะหนาเตอะ หรือตั้งใจอ่านความคิดเห็นของคนที่เข้าไปแสดงไว้จริง ๆ ในบล็อกนั้น คุณก็อาจได้พบว่า...คนที่ทำให้บล็อกนั้นร้าง บล็อกอื่นไม่คบ ไม่ใช่ไอ้พวกบล็อกแก๊งที่ไหนหรอก แต่คือ ตัวนายศาตรา เจ้าของบล็อก เองต่างหาก เพราะเขา "คับแคบ" เสียยิ่งกว่า คนที่ไปนับถือเขาอย่างคุณ ซะอีก"

"นายศาสตรา มีอุดมการณ์บางอย่าง จะแง่มุมไหนก็เถอะ ไม่มีใครว่า ทำหน้าที่ไป จะมีก็แต่ "วิธีการ" ที่มีคนเห็นต่างเข้าไปสะกิดเตือน หรือมีความเห็นแตกต่าง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ คนมีอุดมการณ์ หรือมีความคิดเห็นต่างคนอื่น ๆ เขารู้สึกว่า นายศาตราเป็นคนไม่ดี หรือไม่มีอุดมการณ์ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า นายศาสตรา ไม่เคารพอุดมการณ์ และความคิดเห็น (ต่าง) ของคนอื่นเลย ต่างหาก "

"การเขียนตอบโต้ของนายศาสตรา ไม่ใช่แค่การ "ดูถูก" แต่เป็นการ "เหยียดหยาม" ด่าทอ เล่นพ่อล่อแม่คนที่มีความเห็นแตกต่าง หรือ ไม่ยกหางตัวเอง แล้วอย่างนี้ คนสติดี ๆ ที่ไหนถึงจะอยากเข้าไปแลกเปลี่ยนถกเถียง ที่ผลลัพธ์มีแต่ "คำด่า" ที่ไม่ประเทืองปัญญา แทนที่จะเป็น "เหตุผล" หรือแง่มุมต่าง (ของเขาเอง) ให้คนอ่านเก็บเอาไปขบคิดต่อ (แม้ตอนนี้นายศาสตรา จะเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิม ใช้เหตุผลขึ้น แต่ก็ออกจะสายไปเสียแล้ว เพราะ ธาตุแท้บางอย่าง เผยออกมาจนน่ากลัว)

.............................................

นี่คือคำกล่าวหา ผม อีกแล้วครับ เป็นคำกล่าวหาที่คงเกิดขึ้นบ่อยๆทั้งต่อหน้าและลับหลัง ซึ่งผมมองเป็นเรื่องธรรมดาซะแล้ว แต่เมื่อคำกล่าวหาดูจะลอยตามลมมาอีกก็ถึงเวลาที่ผมจะทำให้กฎแห่งกรรมปรากฏจริงๆซะที ซึ่งความจริงเท่านั้นที่ผมจะกล่าวถึง เพื่อให้พวกคุณทั้งหลายที่เห็นว่า ผมแคบ สติไม่ดี ด่าพ่อ ล่อแม่คนอื่น แท้จริงล้วนเป็นพฤติกรรมที่ชาวบล็อกท่านอื่นล้วนกระทำกับผมทั้งสิ้น

..............................................

๑.ในเรื่องการด่าพ่อล่อแม่คนอื่น ผมจะบอกให้พวกคุณฟังว่า ในบรรดาชาวบล็อก มีชมรมคนรักนายกทักษิณท่านหนึ่ง เป็นคนแรกที่ใช้คำพูดเหน็บแนมด่าพ่อแม่คนอื่นก่อนเลย คือ คุณพี่พล ซึ่งขอโทษและผมก็ไม่ว่าอะไร แล้วคุณแจมมี่จะมาว่าผมใจแคบได้อย่างไร คุณไม่รู้นี่ถึงได้พูดออกมา ถ้าคุณด่าผมก็ไปด่า พี่พลด้วย ผมคิดว่าพี่พลใจกว้างพอ

๒.ในการเขียนบล็อกผมเริ่มบล็อกด้วย Greenmercy แผมก็เขียนบล็อกด้วยความสุภาพมาโดยตลอด ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ผมตระหนักดีว่าคนเราต้องการมธุรสวาจา แล้วผมก็คิดว่าผมทำได้ดี แต่จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ในข้อเขียนประนามพจน์ ที่ผมบริภาษระบอบทักษิณตามสไตล์ แต่ปรากฏว่า นายกสมาคมคนรักทักษิณ นายบุญชิต เข้ามาด่าผมยับ ผมก็ตอบโต้ด้วยความสุภาพ แต่นายบุญชิตหาได้หยุดไม่ ทั้งยังนำเรื่องส่วนตัวที่ไม่เป็นความจริงมาใส่ร้ายผู้อื่น อย่างน่าอัปยศ ผมจึงไม่มีความอดทนอีกต่อไป ดังนั้น ชาวบล็อกทั้งหลายถ้าท่านจะด่าผมกรุณากลับไปดูสาเหตุด้วย เพราะผมก็เป็นคนมีเหตุผลเพียงพอทื่จะทำอะไรบ้าๆลงไป

๓.กรณีที่ผมขึ้นปราศรัย ในวันที่ ๒๖ ก.พ. หลังจากนั้น ก็เริ่มมีเสียงวิจารณ์ว่าผมพูดจาไม่สุภาพ แต่บางคนบอกว่าสะใจดี ผมไม่ใช่คนไม่ฟังคน แต่คนที่วิจารณ์นั้นในสายตาผมเป็นผู้ที่ไม่เคยทำอะไรให้เกิดมรรคผล กับประชาชน หรือทำแต่ผมไม่รู้ นอกจากนี้การวิจารณ์ยังไม่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจสถานการณ์จริงในที่ปราศรัย ผมถูกให้พูดคนแรก ผมเคยเล่นดนตรีร็อก เวลาเป็นวงเปิด มันต้องอัดให้มันส์ ตรึงคนให้อยู่ คนตั้งหลายหมื่น ผมพูดให้ชาวบ้านฟัง ไม่ได้บรรยายในห้องหรือขึ้นนเทศน์ นอกจากนี้ผมยังไม่พอใจท่าทีของนายนิติรัฐที่ชอบใช่ภาษาสุภาพ ดูถูก กระบวนการพันธมิตร ว่าไร้สาระ ซึ่งผมคิดว่าเป็นการกระทำที่หยาบคายในเชิงความคิด ผมจึงแสดงออกตรงๆ

พันธมิตร อาจจะขอนายกมาตรา ๗ แล้วทำไม หรือ เขาก็สู้เท่าที่ความรู้เขามี เขาก็สู้แบบประชาชนเดินดิน คุณนั่งกระดกไวน์ แล้วคุณก็ไปดูถูกเขา เชยบ้างหละ ไม่เป็นประชาธิปไตยบ้างหละ คุณนิติรัฐไม่เคยรู้ข้อมูลลึกๆเรื่องระบอบทักษิณเท่าใดนัก สังเกตได้จากงานเขียนของนายนิติรัฐเขียนแต่คอนเซปเชิงกฎหมาย ไม่มีข้อมูลการคอรัปชั่น ชาวพันธมิตรเขารู้ข้อมูลลึกๆกันหมดแล้ว เขามีการประสานข้อมูลกัน คุณเอาแต่นั่งดูถูกคนอื่นได้ไง

นี่คือศิลปะในการทำให้ผู้อื่นดูโง่ แล้วผมถือว่า ผมก็มีศิลปะสุดยอด คือ สูงสุดคืนสู่สามัญ เอาแบบบาบาเรี่ยน มันส์กว่าเยอะ โปรดพิจารณาด้วยคุณแจมมี่

๔.กรณี ปฏิเสธความช่วยเหลือจาก ปิ่น ปรเมศว์ ด้วยเหตุผลที่ว่า "ถ้าผมไม่ดัง คุณคงไม่คุยกับผม" ปิ่น เป็นอย่างที่ผมว่าหรือไม่ นั้น ผมได้ยินมาจากชาวบล็อกบางคน ว่า ปิ่น เป็นพวกคบคนเพราะชื่อเสียง และสถาบันการศึกษาที่เรียน ถ้าไม่จบนอก ปิ่น ไม่สน เมื่อถึงเวลาที่เขามาติดต่อขอความช่วยเหลือ ผมจึงต้องระวังตัวเอาไว้ ตรงนี้ผมยอมรับว่าผมพลาดกับ ปิ่น เขาจะเป็นอย่างที่เสียงนินทาว่าหรือไม่ เป็นเรื่องของเขา แต่ที่แน่ในชาวบล็อกเก่อเนี่ย พร้อมจะแทงกันข้างหลังเสมอ

๕.ในบรรดาชาวบล็อกหลายคน โดยเฉพาะพวกชาวบล็อกสำนักฝรั่งเศส เป็นพวกชอบแทงกันข้างหลัง โดยเฉพาะพวกชาวบล็อกเพศผู้ ทั้งหลาย แทงกันยิ่งกว่าผู้หญิงซะอีก บางคนก็แทงข้ามทวีป ไปฝั่งอเมริกา ใครจะเชื่อว่าต่อหน้าท่าที่ที่เข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ย ลับหลังแทงกันเละ
ด้วยเหตุนี้ผมจึงรู้สึกมาโดยตลอดว่า ปัญญาชนเหล่านี้สกปรกสิ้นดี ไม่ควรคู่แก่การเคารพสักการะแต่ประการใด

๖.กรณีต่อมามีการนำบทวิจารณ์ของผมไปฟ้องอาจารย์วรเจตน์ ซึ่งผมก็ไม่รู้แน่ว่าใครทำ แต่พอผมเจอหน้านายนิติรัฐ เพื่อไม่ให้เกิดความไม่สบายใจ ผมเลยบอกว่า ผมรู้แล้วว่าใครทำ หาบันไดลงให้อีก บ้าไหมล่ะผม ถูกด่าแล้วยังไปช่วยคนอื่นอีก

ผมไม่ใช่คนแคบหรอก ถ้าคนอื่นให้เกียรติความคิดผมมากกว่านี้

ผมคิดว่านี่คงเป็นครั้งสุดท้ายที่จะมีคนไม่เข้าใจผม ถ้ามีอีกก็ขอให้เข้ามาอ่านบล็อกตอนนี้ โดยเฉพาะคุณแจมมี่ ผมไม่เคยมีเรื่องกับคุณ แต่คุณเล่นผมซะยับเลย ผมขอเตือนคุณว่า เวลาที่คุณจะเชื่ออะไร กรุณาตรวจสอบที่มาที่ไปให้ครบก่อนแล้วค่อยพิพากษานะ ผมขอร้อง

สำหรับชาวบล็อกที่ถูกพาดพิง ท่านต้องยอมรับนะ เพราะเมื่อผมยังใช้กรรมไม่หมด ท่านก็ต้องใช้กรรมด้วย เพราะกรรมของเราเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน อย่าเอาแต่นั่งยิ้ม แล้วดูผมถูกด่าคนเดียว

สำหรับผมเอง ความผิดของผมที่ผมมองเห็น คือ ผมต้องอดทนให้มากกว่านี้ ไม่ว่าสถานการณ์ที่อยู่รอบตัวจะวิกฤตเพียงใดก็ตาม ไม่ว่าเราอาจจะถูกฆ่าตายในสนามรบ

หวังว่าทุกคนคงจะเข้าใจ และให้ความเป็นธรรม

ขอบคุณ นายปริเยศที่ให้เกียรติกระผมเป็นอย่างยิ่ง ขอบคุณที่จับกระบี่ปัดป้องให้ ขอให้นายมีความสุข

ภาพบน เปรต วัดไผ่โรงวัว เข้าไปในคอมเมนท์ระวังจะเจอ ฝูงเปรต

...............................

บุญรักษา ชีวาสดชื่น

เมฆบ้า

บทสัมภาษณ์กระผมเอง


บทสัมภาษณ์กระผมเอง

ประชาชาติธุรกิจ
ศาสตรา โตอ่อน แจ็กไม่กลัวยักษ์ ? สิทธิ-หน้าที่ และความชอบธรรม

29 ม.ค.2549 "ชินคอร์ป" แจ้งตลาดหลักทรัพยฯพร้อมแถลงข่าวปิดดีลซื้อขายหุ้นตระกูลชินวัตรให้กองทุนข้ามชาติ "เทมาเส็ก"เป“นดีลที่มีมูลค่าสูงถึง 7.3 หมื่นล้าน และจากนั้นเป็นต้นมาได้ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ และการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ "อภิมหาดีลประวัติศาสตร์" จากทั่วสารทิศ ส่งผลสะท้านสะเทือนต่อสถานะของนายกรัฐมนตรี "ทักษิณ ชินวัตร" ในฐานะอดีตเจ้าของและผู้ก่อตั้งกลุ่มชินคอร์ปอย่างหนักหน่วง...ต่อเนื่อง

20 มี.ค. "ศาสตรา โตอ่อน" อ.หนุ่มแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐให้เพิกถอนสัมปทานชินคอร์ปต่อ "ศาลปกครอง"

22 มี.ค. "ศาลปกครอง" มีคำสั่งไม่รับฟ้อง

26 มี.ค. "ศาสตรา" ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด"

19 ก.ย." เกิดการปฏิวัติยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)"ทักษิณ ชินวัตร" กลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทยไม่มีใครคาดคิดว่า ผลพวงของอภิมหาดีล "ชินคอร์ป-เทมาเส็ก" จะส่งผลสะท้านสะเทือนถึงเพียงนี้ "เทมาเส็ก" และอดีตเจ้าของ-ผู้ก่อตั้งกลุ่ม "ชินคอร์ป" เองก็คงคาดไม่ถึงด้วยเช่นกัน....

5 ต.ค.ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับคำฟ้อง !!!

การฟ้องร้องของอาจารย์"ศาสตรากลายเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจขึ้นในบัดดลยิ่งเมื่อย้อนกลับไปดูลำดับเหตุการณ์ข้างต้น ยิ่งพบความน่าสนใจติดตามรายละเอียดใน "ประชาชาติธุรกิจ" กับบทสัมภาษณ์ "ศาตรา โตอ่อน" ในบรรทัดถัดไป

- ทำไมครั้งที่แล้วศาลถึงยกฟ้องเวลายื่นคดีไปที่ศาล

ศาลต้องมานั่งดูก่อนว่าจะรับคำฟ้องหรือไม่รับ ประเด็นว่ารับหรือไม่รับ เป็นประเด็นว่าผู้ฟ้องคดีมีความเดือดร้อนเสียหายจากข้อพิพาทหรือเปล่า ฐานในการฟ้องคดีนี้มี 2 ฐาน คือฐานเกี่ยวกับสัญญาการปกครอง และฐานละเลยปฏิบัติหน้าที่ ผมฟ้องในฐานละเลย เพราะเห็นว่าหน่วยงานรัฐมีอำนาจตรวจสอบ เมื่อพบว่าสัญญามีความขัดแย้งต่อกฎหมายต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด จะแก้ไข ยกเลิกเพิกถอนก็ว่ากันไป แต่กลับไม่ทำอะไรเลย ผมถึงต้องฟ้องฐานละเลยทีแรกศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง เนื่องจากบอกว่า เป็นประเด็นสัญญาการปกครองซึ่งผมไม่ใช่คู่สัญญา ผมเลยอุทธรณ์ไปว่าไม่ได้ฟ้องฐานสัญญาการปกครอง แต่ฟ้องฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งศาลท่านก็เห็นว่า คำอุทธรณ์ฟังขึ้น

- พิจารณาคนละประเด็นกับที่ฟ้อง

ใช่ ซึ่งคำอุทธรณ์ก็ฟังขึ้น คดีก็เข้าสู่ศาล

- ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนขั้วอำนาจการเมือง

ถ้าดูในคำสั่งรับคำฟ้องของศาลปกครองจะเห็นว่า คำสั่งลงวันที่ 12 ก.ย. เกิดก่อนรัฐประหารแต่ยังไม่ได้อ่าน เพราะเป็นขั้นตอนภายใน

- อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้ออกมาฟ้อง

ผมออกไปต่อสู้กับความไม่ถูกต้องทางกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2544 ตอนยังเรียนปริญญาโท ก็เรื่องคดีซุกหุ้น ผมไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลขณะนั้น ก็ทำใบปลิวไปแจกที่ศาล ตั้งแต่นั้นก็ติดตามเรื่องนี้มาตลอด ในฐานะนักกฎหมาย ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการปกครองประเทศคือหลักนิติรัฐ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาระบบทักษิณทำลายระบบนิติรัฐไปหมดเลย ระบอบทักษิณเลียนแบบวิธีการของโลกาภิวัตน์ เลียนแบบวิธีการซิกแซ็กของนายทุน เพื่อแสวงหาผลกำไรสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงอะไรเลย ไม่คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่คำนึงถึงวัฒนธรรม ไม่คำนึงถึงกฎหมาย

ระบอบนายทุนโลกาภิวัตน์มุ่งแสวงหากำไร ทำยังไงก็ได้ที่จะเข้ามาครอบงำด้วยอำนาจทุน ผมขอเอาคำของ อ.เจริญ คัมภีรภาพ มาที่ว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์เป็นระบบกฎหมายของโลกซึ่งกำลังเข้ามาทำลายระบบกฎหมายภายใน แต่เวลาเขาใช้จะใช้คำว่า เข้ามาเปลี่ยนแปลง คือมันดูดีไง ซึ่งจริงๆ กฎหมายภายในบางเรื่องก็มีขึ้นมาเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ แต่กระบวนการโลกาภิวัตน์โลกไม่ได้สนใจกฎหมายภายใน เพราะโลกาภิวัตน์โลกคือความต้องการในการเคลื่อนย้ายทุนอย่างเสรี คือต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง กฎหมายคือสิ่งกีดขวางอย่างหนึ่ง สมมุติจะเข้ามาลงทุน มาซื้อที่ ต้องการเข้ามาแย่งทรัพยากร ถ้าติดกฎหมายที่ดิน กฎหมายเรื่องนั้นเรื่องนี้จะเข้ามาได้ไหม กระบวนการที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันคือกระบวนการโลกาภิวัตน์ของทุน นักธุรกิจพูดจะบอกแต่ตลาดเสรี ซึ่งเป็นการมองแบบแยกส่วน

- กรณีชินคอร์ปเป็นตัวแทนกระแสโลกาภิวัตน์

ใช่ แต่ปัญหาคือธุรกิจชินคอร์ปมาจากการรับสัมปทาน ซึ่งรากเหง้าของสัญญาสัมปทานคือประโยชน์สาธารณะ แม้จะทำกำไรก็ต้องอยู่ในขอบเขต การโอนหุ้นชินให้เทมาเส็กไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะและผิดกฎหมายหลายฉบับ

- ทุนโลกาภิวัตน์คนละขั้วกับเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียงเวลาคำนวณความสูญเสีย หรือจีดีพี ต้องบวกสิ่งที่สูญเสียไปด้วย ไม่ใช่พูดถึงแต่การผลิต หรือผลิตภัณฑ์มวลรวม ทุนโลกาภิวัตน์จะไม่พูดถึงของเสียที่ลงไปสู่พื้นดิน มูลค่าวัฒนธรรมที่ถูกทำลาย หรือกฎหมายที่ได้รับความเคารพนับถือน้อยลง ถ้าบริษัทต่างๆ เลี่ยงกฎหมายได้ ทำไมชาวบ้านจะเลี่ยงกฎหมายไม่ได้

- การเลี่ยง กม.กับทำผิดกฎหมายเหมือนกัน

เหมือนกัน สมมุติ กฎหมายห้ามฆ่าคน ถ้าคุณเอามีดไปแทงเขา คุณผิด การเลี่ยงคือกฎหมายว่ายังงี้แต่ใช้สมองมากมาย ดูว่าจะทำยังไง ตีความตามตัวอักษรยังไงไม่ให้ออกมาแล้วให้เหตุผลในเชิงตรรกะได้ แต่ผลสุดท้ายเหมือนกัน คือนำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมาย จริงๆ คำว่าช่องว่างทางกฎหมายไม่มีหรอก เพราะกฎหมายเป็นสิ่งที่มีทั้งตัวอักษรและเจตนารมณ์ ซึ่งต้องไปด้วยกันตลอด การหลีกเลี่ยงกฎหมายคือการใช้ตัวอักษรมาบิดเบือนเจตนารมณ์ กฎหมายภาษีก็เหมือนกัน การที่เราต้องเสียภาษีเป็นหน้าที่รับผิดชอบส่วนบุคคล เป็นความยุติธรรมทางสังคมที่รายได้ต่างๆ ต้องจัดสรรแบ่งปันไปสู่สังคมร่วมกัน เอาไปพัฒนาอะไรต่างๆ ร่วมกัน ถ้าคุณมัวแต่เอาถ้อยคำมา แต่ไม่เข้าถึงความยุติธรรม คุณก็ไม่ใช่นักนิติศาสตร์ แต่เป็นแค่นักอักษรศาสตร์ เป็นแค่พวกเล่นแร่แปรธาตุที่ใช้แต่ถ้อยคำ นักกฎหมายที่เป็นแบบนี้ คนไม่รู้กฎหมายบางทีเถียงเขาไม่ได้ แต่กับคนบางคนไม่ต้องเรียนกฎหมายก็สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ เป็นเซนส์ในความดีงามของมนุษย์

- เห็นแง่มุมไหนถึงยื่นฟ้อง

ผมสอนวิชากฎหมายปกครองก็รู้เรื่องสัญญาทางปกครอง โดยหลักพื้นฐานเห็นชัดเจนว่า การเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นจากไทยมาเป็นสิงคโปร์ มีการเปลี่ยนตัวคู่สัญญา ดังนั้นต้องกระทบสัญญาสัมปทานแน่นอน ก็ต้องกลับไปเช็กว่า ขัดกฎหมายอะไรบ้าง ประเด็นนอมินีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ปี 40 ซึ่ง 49 ก็ยังคุ้มครองเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน มาดู พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ก็เป็นกิจการที่ห้ามคนต่างด้าวทำ นี่ประเด็นแรกที่เห็น เดือน มี.ค.ผมฟ้อง เพราะคิดว่าถ้ามีการยกเลิกสัมปทานจะปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติได้

- ตัวกฎหมายมีปัญหา

มันถูกแก้จาก 25% เป็น 49% เพื่อเปิดช่องให้ง่ายขึ้น ทีนี้วิธีการพวกนี้ที่ปรึกษากฎหมายชอบทำ คือตั้งบริษัทขึ้นมา เอาทนายความไปถือหุ้น ทำเยอะแยะเต็มไปหมด หวังผลอย่างเดียวคือกำไรสูงสุด ไม่รู้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหรือเปล่า จริงๆ ปัญหาคือตัวกฎหมายมีดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาในการบังคับใช้และการตรวจสอบไม่ดีพอ

- ดูแค่ชั้นเดียวใช่

ก็อ้างแค่ตรงนั้น จริงๆ หลักการที่สำคัญ เจตนารมณ์ของกฎหมายคืออะไร ไม่ให้ต่างชาติเข้ามามีอำนาจในกิจการเหล่านั้น เพราะจะกระทบความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นจะมาดูแค่ชั้นเดียว หรือตีความตามตัวอักษรได้ยังไง โอเค คุณคิดว่าบริษัทหนึ่งมี 100 หุ้น ต่างชาติถือ 40 คนไทย 60 เป็นรายย่อย ถามว่าใครมีอำนาจในการโหวต ต่างชาติใช่ไหม ดังนั้นต้องดูอำนาจในการกำหนดทิศทางบริษัท กฎเกณฑ์เหล่านี้ต้องมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญอาจไม่มีการระบุ แต่ตัวรัฐธรรมนูญจุดสำคัญคือห้ามต่างชาติเข้ามามีอำนาจในตัวทรัพยากร ดังนั้นถ้าตีความตามรัฐธรรมนูญ เกณฑ์มันควรบัญญัติไว้ หลักในการพิจารณาต้องดูว่า ใครเป็นคนมีอำนาจ และต้องดูรัฐธรรมนูญด้วย เพราะรัฐธรรมนูญกว้างกว่า พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจ

- เมื่อรัฐไม่ทำหน้าที่ก็ต้องฟ้อง

ใช่ เพราะหน่วยงานรัฐต้องดูแล ผมเองไม่อยากเป็นคนทำหน้าที่นี้หรอก ถ้าเขาทำหน้าที่ของเขา ผมจะอยากทำ ทำไม เงินก็ไม่ได้ มีแต่ความเสี่ยงด้วย ประเด็นนอมินี เทมาเส็กเองคงพยายามลดสัดส่วนหุ้น พอลดสัดส่วนหุ้นลงไปก็ไม่ผิดแล้ว แต่ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญต้องมาดูให้ชัดว่ามีอำนาจอยู่หรือเปล่า

- ตอนยื่นฟ้องไม่ได้รวม กทช.

พอศาลรับฟ้องก็จะใส่ประเด็นเพิ่มเติมไป ดีลเทมาเส็กกับครอบครัวชินวัตรมี กม.อีกตัวที่ต้องดูคือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ที่กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีเปลี่ยนแปลง ต้องขออนุญาต กทช.ด้วย ยิ่งถ้าเป็นบุคคลต่างชาติต้องได้รับการอนุญาตจาก กทช. จากข้อมูลการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ซึ่งตรวจสอบไว้ก่อนหน้ายุบสภาแป๊บเดียว และเอกสารนี้ไม่ได้เผยแพร่ พบว่าไม่มีการขออนุญาต กทช. เมื่อคุณโอนสิทธิตามสัญญาโดยไม่ขออนุญาต ก็ผิดสิ ประเด็นนี้นอมินีหรือไม่นอมินีไม่เกี่ยวแล้ว ต่อให้คุณโอนให้คนไทยด้วยกันก็ต้องแจ้ง กทช. เพราะ กทช.มีอำนาจตรงนี้ชัดเจน

- กทช.อ้างว่าขอข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ไป

กทช.มีอำนาจในการตรวจสอบ การขออนุญาตเป็นเงื่อนไขก่อนโอน ไม่ใช่โอนแล้วให้ กทช.ไปตรวจ ก่อนโอนเขาต้องมาขออนุญาต เมื่อโอนแล้วมาขอก็ต้องโวยวาย ถามว่าเป็นแบบนี้ โอนไปแล้วจะทำยังไง ผิดกฎหมายไหม ณ วันนี้สิงคโปร์ถือหุ้น พอมีปัญหา แล้วก็ออกมาประกาศว่าต้องการลดสัดส่วนหุ้น มันก็ทำผิดกฎหมายอีก เพราะไม่แจ้ง กทช. ถามว่ากิจการโทรคมนาคมเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะไหม ต้องการ การควบคุมผู้ประกอบกิจการ เพราะอำนาจของข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องของสังคมที่ต้องควบคุม ตรวจสอบ

- คาดหวังอะไรจากสิ่งที่ทำบ้าง

การยกเลิกเพิกถอนสัมปทานหรือเปล่าเป็นเรื่องของศาลที่ต้องพิจารณา แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือมีกฎหมายที่สามารถปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติได้ แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ปล่อยปละละเลย โดยเฉพาะประเด็นนอมินี เปรียบเสมือนเสือที่เอาหนังแกะมาหุ้ม เขากลายเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย มีสิทธิอะไรบ้าง มีสิทธิซื้อที่ดินได้ถูกไหม มีสิทธิในการใช้ทรัพยากรของประเทศ

- นักธุรกิจบอกว่า ซื้อที่ดินไปก็เอาไปไม่ได้

อำนาจหรือสิทธิไม่ได้อยู่ที่เอาไปได้ไหม เหมือนคุณมีสมบัติ มีที่ดิน ตายไปแล้วเอาไปได้ไหม ก็ไม่ไดh แต่ถามว่าการมีที่ดินหมายถึงอะไร การปลูกพืช การได้กินได้ใช้ ได้ดำรงชีพใช่ไหม การให้ต่างชาติมาถือครอง ดินกินไม่ได้ แต่ได้สิทธิในการทำประโยชน์ ในการดำรงเลี้ยงชีพ ต่างชาติชอบมาลงทุนในประเทศเราเพราะ ค่าแรงถูก แต่ที่สำคัญคือต้นทุนเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่มี หรือมีก็น้อยมาก ถามว่าปีๆ หนึ่งมีขยะพิษมาทิ้งในบ้านเราตั้งเท่าไร นักธุรกิจมองแบบนี้ ผมไม่ได้ปฏิเสธว่า จะมาทำธุรกิจไม่ได้ หากำไรได้แต่ต้องมีระบบการควบคุม ต้องบาลานซ์ให้ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้ทำงานรับใช้ประโยชน์สาธารณะ แต่รับใช้ทุนโลกาภิวัตน์

- สัมปทานไม่ได้ระบุเรื่องการเปลี่ยนเจ้าของ

นั่นเป็นหลักวิธีคิดแบบสัญญาทางแพ่ง ไม่ได้มีวิธีคิดเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตัวสัญญาต้องเป็นไปตามสัญญา แต่เมื่อคุณโอนไป มีกฎหมายอื่นต้องดูด้วยถูกมั้ย แต่ไปอ้างแต่สัญญา แต่อันนี้เป็นระบบสัญญาในกฎหมายมหาชน

- เคสอื่นก็ทำแบบนี้หน่วยงานรัฐต้องไปตรวจสอบสิ

วันก่อนสิงคโปร์ส่งจดหมายมาถึงผม จาก อเบอร์ดีน แอสเส็ท เมเนจเม้นท์ ส่งหลักฐานของเทเล นอร์มาให้ บอกให้ตรวจสอบกรณีนี้ด้วย ผมขอตอบผ่านสื่อมวลชนไปละกันว่า คุณไม่ควรเขียนมาหาผม ควรเขียนไปหาหน่วยงานราชการ ให้ทำหน้าที่นี้ และ 2.ต้องเขียนไปหาประธานาธิบดีคุณด้วยว่า จะมาทำธุรกิจประเทศอื่น หัดดูตาม้าตาเรือมั่ง ว่ามีผลประโยชน์ประเทศชาติอยู่

- ส่งมาเมื่อไร

จดหมายลงวันที่ 5 ต.ค. (วันเดียวกับที่ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำสั่งรับฟ้องคดี)

- ไม่ให้เลือกปฏิบัติ

เพราะบริษัทอื่นก็ทำผมบอกแล้วไงว่า ไปบอกหน่วยงานราชการและฝากไปบอกประธานาธิบดี ลี เซียน ลุงด้วยว่า การทำธุรกิจในไทย โปรดระวังหน่อย คนไทยมีปัญญานะ ผลเรื่องศาลผมไม่ได้คาดหวังอะไร แต่คิดว่าสิ่งหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงคือบอกหน่วยงานราชการว่า คุณต้องทำงานมากขึ้น คือทำให้กลไกปกติทำงานมากขึ้นผมสอนวิชากฎหมายมหาชน กฎหมายปกครอง พอเห็นปุ๊บก็รู้ นักธุรกิจไม่เข้าใจระบบทางกฎหมายปกครอง สัญญาทางปกครอง สัญญาสัมปทาน โดยทฤษฎีกฎหมายปกครอง คือการกระทำของฝ่ายปกครองโดยหลักการแล้วจะไปขัดแย้งกับกฎหมายไม่ได้ ถ้าขัดแย้งต้องถูกยกเลิกเพิกถอน

- ไม่ได้ปฏิเสธทุนโลกาภิวัตน์

เป็นสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลก แต่มองว่า ประเทศเราจะจัดระบบวิธีการอยู่ยังไงกับโลกาภิวัตน์ ทุนโลกาภิวัตน์ในตัวของมันเองไม่ได้เป็นสิ่งประเสริฐ มันวัดการเจริญเติบโตที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การใช้อำนาจข้อมูลข่าวสารโดยการโฆษณา การสร้างความต้องการในการบริโภค ซึ่งท้ายที่สุดนำไปสู่ความยากจน ของโลก เพราะทรัพยากรในประเทศต่างๆ ถูกทำลาย นักธุรกิจอาจมองแค่กำไรและตลาดหุ้น ในหลวงตรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคือการลดการบริโภคลง จริงๆ แล้ว ถ้าดูปัจจัยแบบเชื่อมโยงกันทั้งหมด จะเห็นได้เลยว่าระบบเศรษฐกิจพอเพียงคือหนทางแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย เพราะมันค่อยๆ กิน ค่อยๆ ใช้ กินไปนานๆ กินไปยาวๆ อยู่กันได้นานๆ แบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ผมไม่ได้ปฏิเสธทุน แต่ทุนเองก็ต้องเข้าใจ และเป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้น มีคุณธรรมมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่ความโลภ

- ในฐานะนักกฎหมาย ในฐานะนักวิชาการ ในฐานะคนไทย ได้แสดงบทบาทอะไรบ้างในแง่กฎหมาย

การฟ้องคดีที่เกี่ยวกับสัมปทาน หัวใจของสัญญาสัมปทานคือประโยชน์สาธารณะ คือการปกป้องประโยชน์สาธารณะ ในแง่นักกฎหมายคิดว่าได้ทำหน้าที่แล้วในฐานะนักวิชาการ ไม่ใช่แค่คนสร้างความรู้ หรือผลิตความรู้ ความรู้ทุกอย่างต้องนำไปใช้ และเกิดประโยชน์ได้ ในฐานะนักวิชาการก็ได้ทำหน้าที่ในการนำวิชาความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในแง่ประชาชนก็คิดว่า ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งหมายถึงปกป้องผลประโยชน์ของผมด้วย

- นักศึกษาสนใจสิ่งที่อาจารย์ทำแค่ไหน

ก็สนใจนะ แต่ผมไม่ได้คาดหวังว่า ตัวเองจะต้องเป็นอะไรที่เด่นดัง หรืออะไรเลย แต่คิดว่า ถ้าสิ่งที่ทำสร้างแรงบันดาลใจให้ใครได้ นักกฎหมายรุ่นใหม่ๆ คนที่กำลังละล้าละลังอยากเดินไปในเส้นทางที่เป็นอุดมคติ อุดมการณ์ ถ้าตรงนี้สามารถไปช่วยอะไรตรงนั้นได้ ก็คิดว่าทุกคนควรกล้าที่จะออกมาทำมากกว่า เพราะว่าในยุคนี้ ถ้าเรายังมัวมอมเมา หลงงมงาย ประเทศชาติเราจะอยู่ไม่ได้ เพราะทรัพยากรเราจะถูกยึดไปหมด

............................................

The Nation

SUNDAY BRUNCH

Fair and clear outlook

Despite his relative youth, this law lecturer is a veteran in the fight for justice, which he wants to see done in the sell-off of Shin Corp


At first sight, Sattra Toa-on looks just like the young guy next door. Yet, he made news headlines last month by taking state officials to court for dereliction of duty over the sale of
Shin Corp.


The 28-year-old junior law lecturer at Rangsit University argued that the deal seriously damaged the interests of the Thai public and consumers, and accused officials at various government agencies of negligence in this regard. The Central Administrative Court agreed to hear the case last month.


Sattra also told the court that the Bt73-billion sale of Shin Corp to Temasek Holdings of Singapore violated at least four laws - Article 39 and Article 40 of the 1997 charter, the Foreign Business Act and the National Telecom Commission law.


In essence, he argued that the licences of iTV, Shin Satellite Plc and Advanced Info Service (AIS), now held by Temasek, are no longer valid because the Singaporean firm's direct and indirect shareholdings in these businesses has topped 96 per cent, far exceeding the legal limit of 49 per cent.


Chatting over a tall glass of iced coffee at a cafe in Bangkok's Siam Discovery shopping complex, Sattra said the Shin-Temasek deal in January, which proved to be the final straw for opponents of former premier Thaksin Shinawatra, was really bad for Thailand.
"I'm sad that some poo yais (elders) in this country have failed to protect national interests," he said.


"Personally, I believe that globalisation, especially globalised capital, is not good for the country when it is extreme.
"Worse is that Thaksin, for instance, even joined forces with these globalised capitalists to damage our public interests [when his family sold their majority stake in Shin Corp to the Singaporeans]."


A lecturer for the past three years, Sattra earned his master's in law from Thammasat University and became a barrister-at-law in 2003. His speciality is administrative law and concession contracts.


"As a lecturer, I need to do my homework before classes, so I did a lot of research into the concession contracts and licences of iTV, Shin Sat and AIS. All these are scarce national resources that have strategic importance for our country.


"Looking closer, you'll see that they're 'soft' powers, because these businesses are all information-based - be it mobile phones [more than 17 million users for AIS], or satellites [whose systems may contain national intelligence data] or iTV, which operates a national TV network," Sattra said.


"The danger is that Thai people could be turned into pure consumers of all these key national services whose policies, contents and menus could be easily manipulated by foreigners. They might even use these so-called soft powers to influence our public policies in the future," he warned.


"Overall, it's the negative side of globalisation, whose forces are leading our economy to be more capitalistic and our society to be more consumerist. I think His Majesty the King's initiatives on sufficiency economy are an alternative to the excesses of globalisation."


Sattra isn't a novice at taking on former premier Thaksin. Back in 2001 when he was still studying for his degree at Thammasat, Sattra was involved in the assets-concealment case, in which Thaksin was narrowly acquitted by the Constitution Court.


"We didn't strictly follow the rule of law in that case," Sattra said, pointing out that other politicians were found guilty in similar cases but Thaksin wasn't.


In February this year, Sattra joined the anti-Thaksin People's Alliance for Democracy to campaign for his ouster. The following month, he filed his first lawsuit against the Shin-Temasek deal in the Central Administrative Court, but the case was dismissed on the ground that he wasn't directly affected by the deal.


He then lodged an appeal with the Supreme Administrative Court on the ground that state officials' dereliction of duty in overseeing this transaction had seriously damaged public and consumer interests. As a result, the lower court was ordered to take up the case.


Legal pundits believe that the case now has three key points of contention.


First, the deal failed to comply with the Foreign Business Act as far as the use of nominees is concerned.


Second, proper administrative procedures were not followed in this transaction. For instance, there was no prior approval of the deal from the National Telecommunications Commission, which has regulatory powers.


Third, key elements of the concession contracts between the state and the private sector governing iTV, Shin Sat and AIS were violated after the majority stake of Shin Corp was sold.


About himself, Sattra said: "I might be somewhat atypical for my age. I'm a bit hardened by my growing up, since I left my family and hometown of Sing Buri for a Buddhist temple when I was only six.


"During my teens, I wasn't the activist type either. In fact, I didn't join any such activities at Thammasat during my years there. I preferred reading on my own and observing life, urban and rural, and studying law.


"At Thammasat, I was given many opportunities to advance my skills under the guidance of Ajarn Suraphol Nittikraipot [now the university president]," Sattra recalled. "I once gave legal counsel to a university janitor who was asked by the administrative staff to pay more than Bt20,000 for a stolen computer. It wasn't his fault but the staff insisted they had to take legal action against him. In the end, the demand was dropped. Fairness must prevail."
Now Sattra has taken his desire to see fairness prevail from an individual case to a national cause.


Nophakhun Limsamarnphun,
Somroutai Sapsomboon




Thursday, October 19, 2006

ผมรักในหลวง


ผมรักในหลวง

ผมเป็นคนมีความรัก เวลาที่ผมจะทำอะไรผมมักตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่าผมรักสิ่งที่จะทำหรือไม่

มีหลายครั้งที่ผมไม่ได้ทำสิ่งต่างๆเพื่อความรัก สิ่งที่ตามมาคือความรู้สึกเสียใจอยู่ลึกๆ

เช่น ผมเคยอยากเป็นสถาปนิก แล้วไม่ได้เป็นทั้งที่ฝึกวาดรูปอยู่ตั้งนาน ทุกวันนี้เวลารู้จักใครที่เป็นสถาปนิกผมจะมองด้วยความชื่นชม แกมอิจฉา (เช่น คุณตั้ม บางกอก เป็นต้น) ผมอยากเป็นสถาปนิก มากกว่า เป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมายซะอีก

ผมเคยเลิกลากับผู้หญิงที่ผมรัก ทุกวันนี้ผมเสียใจเสมอที่ไม่อาจดูแลเธอต่อไปได้ แต่ก็ดีใจที่มีคนดูแลเธอแล้ว ลิเกไหมล่ะ

ด้วยเหตุแห่งความรัก การกระทำของผมมักมีความรักแอบแฝงอยู่เสมอ ไม่เว้นแม้การต่อสู้ฟาดฟันในทุกสังเวียน ผมเชื่อว่าเมื่อใดที่เรากระทำสิ่งใดไปด้วยความรัก สรรพสิ่งย่อมคุ้มครองเรา

ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เป็นบุคคลที่ผมรัก และเคารพมาก

มิใช่เพราะผมเป็นพวก ขวาจัด หัวอนุรักษ์ แต่อย่างใด แต่ผมรักในหลวง เพราะความสามารถของพระองค์ที่มีอยู่มากมาย

ในหลวง เป็นศิลปินแบบที่ผมชอบ ทั้งศิลปินแจ๊ซ วาดภาพ ถ่ายภาพ ชนิดหาตัวจับยาก

ในหลวง เป็นนักประดิษฐ์ เป็นช่างไม้ ช่างต่อเรือ

ในหลวง เป็นนักเขียน นักประพันธ์ นักพูดที่ลุ่มลึก

ในหลวง เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ นักพัฒนา

ในหลวง เป็นนักปกครอง นักนิติศาสตร์ ที่เฉียบขาดคมคาย

และผมขอสารภาพว่า ผมเป็นนักเลียนแบบ และแบบที่ผมประทับใจมาก คือในหลวง ผมอยากเก่งแบบท่านบ้าง แต่คงต้องตายแล้วเกิดใหม่สักร้อยชาติกระมัง

ด้วยเหตุนี้ ในฐานะปัญญาชนกระจ้อยริด เมื่อมองในหลวงครั้งใด ผมจึงสำนึกในความต่ำต้อยด้อยค่า ไม่อาจเทียบทียม จึงขอเป็นเพียง ฝุ่นเม็ดเล็ก ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทของพระองค์ ไม่อาจอหังกา และขอยอมสยบด้วยใจรัก พระพุทธเจ้าข้า

ผมคิดว่า แม้พระองค์ไม่ได้ทรงเป็นกษัตริย์ ในประเทศนี้ ก็หาคนเก่งกาจและเปี่ยมคุณธรรมเช่นพระองค์ยากนัก

จริงไหม คุณที่รัก

Tuesday, October 03, 2006

ดุลยภาพทางสังคมกับการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์


ดุลยภาพทางสังคมกับการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์


ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ จำวันที่ไม่ได้

ผู้เขียนเป็นหนึ่งในหกนักวิชาการของเครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปรูปการเมือง ที่ได้ออกไปแสดงความคิดเห็นต่อต้านกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) โดยแสดงความคิดความเห็นคัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญฯที่จัดทำขึ้นโดยคณะนักกฎหมายของนายมีชัย ฤชุพันธ์อย่างเปิดเผย ต่อหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประเด็นต่างๆผู้เขียนเห็นว่าจะต้องมีการอธิบายข้อบกพร่องของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สังคมได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อจุดประสงค์บริสุทธิ์ คือ การให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) กลายเป็นหนทางไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง ให้จงได้ ซึ่งการพิจารณาการร่างรัฐธรรมนูญฯท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่สงบเรียบร้อยเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพิจารณากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปพร้อมกับการพิจารณาบริบททางสังคมควบคู่กันไป

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) กับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนทางสังคม

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีจุดเริ่มต้นจากสมัชชาแห่งชาติ 2000 คน ซึ่งมีวิธีการสรรหาจากระเบียบการสรรหาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากนั้นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติจะเลือกกันเองจนเหลือสมาชิก 200 คน โดยส่งรายชื่อให้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้คัดเลือกเหลือ 100 คน เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคู่ไปกับคณะกรรมาธิการยกร่าง ซึ่งมีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 25 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะมนตรีความมั่งคงเลือกจำนวน 10 คน ซึ่งจะทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะนำไปให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญพิจารณาเสนอความคิดเห็น ซึ่งท้ายที่สุดจะนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปให้ประชาชนแสดงประชามติ (Referundum)


เมื่อพิจารณาถึงองค์กรที่มีส่วนต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ จะพบว่า มีหลายองค์กรที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะผู้สร้างระเบียบการคัดสรรสมัชชาแหง่ชาติ สมัชชาแห่งชาติที่จะกลายร่างเป็น สภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ คปค.แต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ และประชาชน ซึ่งแต่ละองค์กรมีความสำคัญที่แตกต่างกัน
เมื่อพิจารณากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะพบว่าจุดสำคัญที่เป็นจุดชี้ขาดในเนื้อหาของการก่อร่างสร้างตัวของบทบัญญัติ มีอยู่หลายจุด ตั้งแต่


๑.การคัดสรรสมัชชาแห่งชาติซึ่งต้องมีการจัดทำบัญชีรายชื่อประชาชนจำนวน 2000 คน ว่าสมัชชาจะมีหน้าตาอย่างไร

๒.การคัดเลือกสมัชชาแห่งชาติกันเองจนเหลือ 200 คน จะมีการแทรกแซงด้วยอำนาจชนิดต่างๆหรือไม่

๓.จากข้อ ๑ และ ๒ จะส่งผลกระทบไปสู่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีรูปร่างหน้าตาแบบใด

๔.คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะมีรูปร่างหน้าตาแบบใด

จุดสำคัญเหล่านี้ คือ จุดยุทธศาสตร์สำคัญในการช่วงชิงพื้นที่ทางความคิด ที่ทุกภาคส่วนในสังคมควรให้การจับตามองว่า ประเทศไทยจะได้บุคคลจากภาคส่วนใด เข้าไปปฏิบัติภารกิจสำคัญนี้ ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจภาคส่วนทางสังคม (Sectors) บนบริบทแห่งโลกาภิวัตน์ ควบคู่ไปด้วย

ภาคส่วนทางสังคม (Sector) บนบริบทการเมืองแบบโลกาภิวัตน์

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่ การรัฐประหาร และการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) ในที่สุด มีต้นตอสำคัญมาจากการเสียสมดุลทางสังคมอย่างร้ายแรง ซึ่งมีโลกาภิวัตน์เป็นสาเหตุหลัก ดังนั้น การทำความเข้าใจภาคส่วนทางสังคมที่สำคัญในยุคโลกาภิวัตน์ จึงเป็นจุดตั้งต้นในการพิจารณาการปฏิรูปการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางใด ซึ่งสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์ไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตามประกอบไปด้วยภาคส่วนที่สำคัญสามภาคส่วน

ภาคพลเรือน (Civil Sector) ภาคประชาชน หรือ ภาคประชาสังคม ประกอบไปด้วยพันธมิตรของประชาชนในวงกว้าง ที่ทำหน้าที่ในการเรียกร้องสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะประชาชน ภาคส่วนเหล่านี้ จะมีความเข้มแข็งในการเรียกร้องสิทธิต่างๆเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้าง “คุณภาพของประชาสังคม” ไปพร้อมๆกับการขยาย “แนวร่วมของประชาสังคม” ซึ่งหากได้รับความร่วมมือที่ดี ก็จะกลายเป็น “ประชาสังคมคุณภาพ” ซึ่งมีพลังการเคลื่อนไหวทางสังคมในระดับสูงได้ หากภาคพลเรือน ไร้โอกาสในการเข้าถึงความรู้ และไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะเข้าใจความซับซ้อนของโลกาภิวัฒน์ ภาคพลเรือนก็จะเป็นได้แค่ พลังประชาชนที่กลายเป็นเหยื่อของโลภิวัฒน์ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ “อนาธิปไตย” หรือประชาชนบางกลุ่ม อาจถูกลดทอนคุณภาพจนกลายเป็นประชาชนใน “ประชาธิปไตยแบบรับจ้าง”ก็ย่อมได้

ภาครัฐบาล ( Government Sector) รัฐบาลเป็นภาคที่ภาคพลเรือนได้มอบอำนาจ เพื่อใช้อำนาจให้เกิดการบังคับการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในการรักษากฎหมาย ความมั่นคงของชาติ เก็บภาษีอากร จัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ซึ่งภาครัฐบาลนั้นหากหมดซึ่งความชอบธรรม ก็อาจถูกภาคพลเรือนเรียกคืนอำนาจได้ ทั้งโดยรูปแบบทางกฎหมาย และฉันทามติโดยธรรมชาติ (เช่นกรณีรัฐประหารในประเทศไทย) ภาครัฐบาลที่ดีจะทำงานสนองตอบต่อประโยชน์สาธารณะเพื่อภาคพลเรือน แต่หากเป็นรัฐบาลที่เลวก็จะทำงานสนองตอบต่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง โดยไม่สนใจต่อผลประโยชน์สาธารณะ

ภาคตลาด ( Market Sector) มีหน้าที่พิเศษที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ผลิตสินค้าและบริการเพื่อการจำหน่ายเพื่อสนองตอบต่ออุปสงค์และอุปทานของตลาด มีความสามารถพิเศษในการสร้างความมั่งคั่งด้วยวิธีการต่างๆไม่ว่าจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มของภาคตลาด ในยุคโลกาภิวัตน์ได้ก่อตัวจนกลายเป็น บรรษัทขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะผูกขาดทางเศรษฐกิจ ผูกขาดต้นทุนต่างๆกระทั่ง ต้นทุนทางวัฒนธรรมเหนือรัฐชาติ จนอาจกล่าวได้ว่า ภาคตลาด เป็นภาคที่ทรงพลานุภาพที่สุด ในสังคมโลกภิวัฒน์ เพราะภาคการตลาดมีความสามารถในการใช้พลังเงินตรา เข้าไปมีอิทธิพลเหนือ ภาครัฐบาลที่ฉ้อฉล กระทั่ง ภาคพลเรือนที่ไร้คุณภาพได้ไม่ยากนัก

ดุลยภาพทางสังคมที่เปลี่ยนไปภายหลังรัฐประหาร

เมื่อพิจารณาบทบาทของภาคส่วนทางสังคมในยุคทักษิณจะพบว่า ภาคการตลาด (Marget Sector) เป็นภาคที่มีบทบาทนำในสังคมไทยอย่างชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจาก “ระบอบทักษิณ” มีรากฐานของพลังอำนาจมาจากเงินตราและชื่อเสียงในทางธุรกิจในตลาดข้อมูลข่าวสาร บทบาทนำดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาคการตลาดเท่านั้น แต่ยังถักทอพลังของการตลาดให้มีอิทธิเหนือ ภาคการเมือง ( Government Sector) และภาคพลเรือน (Civil Sector) ได้อย่างมากมายมหาศาล

ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า สังคมไทยในยุคทักษิณ มีภาคการตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนสังคมให้เดินหน้าการพัฒนาประเทศไปด้วยการผนึกเอา กลไกของรัฐบาล อันมีคณะรัฐมนตรี รัฐสภา องค์กรอิสระ และศาล ทำหน้าที่ตามที่ภาคการตลาดบงการบัญชา และการหลอมรวมเอาภาคพลเรือนส่วนใหญ่ ทั้งที่อยู่ในเมืองและต่างจังหวัดให้กลายเป็นเครื่องมือของภาคการตลาดที่ผสมตัวกับภาครัฐบาลเป็นที่เรียบร้อย ด้วยการนำเสนอ “เมนูนโยบายประชานิยม” เพื่อสร้างความชอบธรรมและเพิ่มช่องทางในการจับจ่ายเมนูนโยบายให้เกิดขึ้นกับ “กลุ่มลูกค้าทางการเมือง” โดยมิได้เล็งเห็นถึง ความมีอยู่ของภาคพลเรือน ที่เป็น “ประชาสังคมคุณภาพ”

จากเหตุปัจจัยข้างต้น สังคมไทยในยุคทักษิณ จึงเป็นยุคที่ ภาคการตลาดซึ่งหลอมรวมตัวกับภาครัฐบาล ได้สร้างแรงกดทับมหาศาล ลงบนภาคพลเรือนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งแน่นอน สิ่งที่ภาคการตลาดให้ความสนใจมากที่สุด ก็คือ การลงทุน ระบบเงินตรา ผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ โดยมิพักต้องกล่าวถึง คุณธรรมและจริยธรรมแต่ประการใด ซึ่งนั่นทำให้ภาคการตลาดสามารถใช้พลังอำนาจของตน และพลังอำนาจของรัฐบาล ดำเนินกิจกรรมด้วยแรงขับของธรรมชาติแห่ง “ความโลภ” โดยการเข้า แย่งยึดทรัพยากรทางสังคมของภาคพลเรือน กระทั่งการทุบทำลาย ต้นทุนทางสังคมของภาคพลเรือน ผ่านเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพ ทั้ง “การบัญญัติกฎหมายโดยเนติบริกร” “การหลีกเลี่ยงกฎหมาย” “การใช้องค์กรรัฐเป็นเครื่องมือทำงานสนองตอบต่อตลาดมากกว่าประโยชน์สาธารณะ” กระทั่งการใช้ “เทคนิกการโฆษณาประชาสัมพันธ์” โดยการปิดบังข้อมูลบางส่วนที่ภาคการตลาดเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์กับตนเองและการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับภาคการตลาดในปริมาณที่เกินสมควร” เพื่อเปลี่ยนภาคพลเรือนที่ขาดความสามารถในการเข้าถึงความรู้ให้กลายเป็น “ทาสของภาคการตลาด” และ “สาวกทางการเมือง” ไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้กระบวนการจัดตั้งการเคลื่อนไหวโดย “เงินตรา” ก็นำไปสู่ “ประชาธิปไตยแบบรับจ้าง” ซึ่งทำให้ บางส่วนของ ภาคพลเรือน มิได้มีลักษณะเป็น ประชาสังคมที่มีคุณภาพเพียงพอในการดำเนินหน้าที่เรียกร้องสิทธิต่างๆเพื่อประโยชน์สาธารณะ

การก่อตัวของกระบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเวลาต่อมา คือ การปรากฏตัวของ “ภาคพลเรือน” ที่ไม่สามารถแบกรับแรงกดดันที่ภาคการตลาด และภาครัฐบาลกระทำต่อตนเองได้ องค์ประกอบของภาคพลเรือนในบริบทต่างๆได้มีการนำปัญหาของตนขึ้นเป็นวาระในการชุมนุมประท้วง มาตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา จนเหตุการณ์พัฒนาไปถึงขั้นที่จะมีการปะทะกันระหว่าง “ภาคพลเรือน” ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “ประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” กับ “ภาคพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตยแบบรับจ้าง” ซึ่งในที่สุด รัฐประหาร ได้กลายเป็นเครื่องมือในการคลี่คลายความขัดแย้งดังกล่าว

การรัฐประหารจนนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญใหม่ และมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ส่งผลกระทบสำคัญ ต่อภาคส่วนทางสังคมหลายประการ

ประการแรก การรัฐประหารทำให้ ภาคการตลาดในระบอบทักษิณ แยกตัวออกจาก ภาครัฐบาล เพียงชั่วคราวซึ่งไม่อาจรับประกันได้ว่าจะกลับมารวมตัวกันอีกเมื่อใด ปรากฏการณ์นับจากนี้จะมีการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้นมากมาย และภายในภาคหน้า เงินตรา จะกลับมาประสานกลุ่มการเมืองต่างๆเข้าด้วยกันอีกครั้ง

ประการที่สอง ภาครัฐบาลมีอิสระมากขึ้นในการดำเนินการบริหารประเทศ รัฐบาลชุดใหม่จะดำเนินการบริหารได้มีอิสระมากขึ้น โดยไม่มี ภาคการตลาดเข้ามาแทรกแซงมากนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของสังคมที่มีต่อภาคการตลาด และ ประชาธิปไตยรับจ้าง มากน้อยเพียงใด

ประการที่สาม ภาคพลเรือนที่เหนื่อยล้ากับการชุมนุมประท้วง เริ่มมีความหวังกับการบริหารประเทศ จนหลงลืมว่า การรัฐประหาร คือจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การเริ่มนับหนึ่งของการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒

ดังนั้น หากตรวจแถวภาคส่วนทางสังคม ณ ปัจจุบัน จะพบว่า ภาคส่วนที่อิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของประเทศมากที่สุด ณ ขณะนี้ คือ ภาครัฐบาล อันมีหน่วยงานต่างๆทั้ง คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ศาล สมัชชาแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งระบบราชการ ในขณะที่พรรคการเมืองไม่มีความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆได้

ในขณะที่ ภาคการตลาด ก็อ่อนประสิทธิภาพลงไป แม้ว่าจะมีความพยายามในการใช้ การข่าว การสร้างพันธมิตรนอกประเทศเพื่อปิดล้อม กระทั่งการใช้ “ประชาธิปไตยแบบรับจ้าง” อยู่ก็ตาม แต่การดำเนินการต่างๆยังถูกควบคุมอย่างเข้มข้น โดย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

สำหรับภาคพลเรือนนั้น ต้องยอมรับว่า แบ่งได้เป็นสองฝ่าย คือ “ฝ่ายประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” กับ “ภาคพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตยแบบรับจ้าง” ซึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมนับจากนี้ จะตกอยู่ในมือของ“ฝ่ายประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” ที่ต้องมีการระดมสรรพกำลังเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆของตนอย่างถูกต้อง เพื่อผลสำคัญในการนำผลประโยชน์สาธารณะที่ถูกภาคการตลาดแย่งยึดไปกลับคืนมา ซึ่งในที่นี้รวมถึง การเข้าไปมีส่วนสำคัญในวางรากฐานของประเทศชาติ ในกระบวนการปฏิรูปการเมืองผ่านการเข้ามีส่วนร่วมทางในการร่างรัฐธรรมนูญตามกระบวนการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การปรับดุลยภาพทางสังคมเพื่อผลสำเร็จในการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์

ในยุคโลกาภิวัตน์อันมีภาคการตลาดเป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนสังคมที่ยึดถือ “การขยายตัวของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” เป็นสรณะ ได้เกิดกระบวนการทุบทำลายระบบศีลธรรมทางการเมืองของภาครัฐบาลให้เสียหายมากยิ่งขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า “ภาครัฐบาลดำเนินการเพื่อเป้าหมายของภาคการตลาดมากกว่าผลประโยชน์สาธารณะ” กระบวนการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนเป็นความเดือดร้อนของภาคพลเรือนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติไทย ด้วยเหตุนี้ การปรับดุลยภาพทางสังคมจึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องทบทวนก่อนที่ประเทศชาติกำลังก้าวเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปการเมืองโดยการร่างรัฐธรรมนูญฯ

ในความเห็นของผู้เขียนนั้น ภาคพลเรือนถือเป็นผู้ก่อตั้ง ภาครัฐบาลและจัดให้มีภาคการตลาด เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาคประชาสังคมต้องมาก่อน เนื่องจากอำนาจหน้าที่และความชอบธรรมของสถาบันอื่นๆล้วนมีที่มาจากภาคพลเรือนทั้งสิ้น ภาครัฐบาลจึงควรมีหน้าที่สำคัญในการผลักดันให้มีการสร้างและรักษากฎเกณฑ์ภายในเพื่อสนองตอบต่อภาคพลเรือน และควบคุมภาคการตลาดให้ทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ รัฐบาลจึงควรมีความสำคัญเป็นอันดับสอง และภาคการตลาดที่สามานย์จึงควรถูกควบคุมให้มีบทบาทอยู่ในลำดับสุดท้าย

เมื่อภาคพลเรือนมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อมา คือ การทำความเข้าใจถึงคุณภาพของภาคพลเรือน ว่าภาคส่วนย่อยภายในภาคพลเรือนมีลักษณะเป็น “ประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” หรือ ภาคพลเรือนประชาธิปไตยแบบรับจ้าง” ซึ่งปัญหาคุณภาพของภาคพลเรือนก็เป็นจุดชี้ขาดประการสำคัญว่า การปฏิรูปการเมืองจะดำเนินไปในทิศทางทีมีคุณภาพหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการสร้างพันธมิตรทางการเมืองภายในภาคพลเรือน ขึ้นมาอีกครั้ง โดยพันธมิตรภาคพลเรือนต้องเป็น พันธมิตรที่มีคุณภาพทางความรู้ ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของสมาชิกภาคประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร พันธมิตรเหล่านี้จะเบ่งบานออกเป็นช่อดอกไม้ที่สวยงาม และมีนัยในการยกย่องประชาชนในความหมายที่แท้จริง และต้องมีการทำความเข้าใจกับภาคพลเรือนให้ทราบโดยทั่วกันว่า ศัตรูที่แท้จริงของประโยชน์สาธารณะไม่ใช่มีเพียง ภาครัฐบาลที่ฉ้อฉลเท่านั้น แต่รวมถึง ภาคการตลาด ที่ไม่มีความกตัญญูต่อแผ่นดิน ประชาชน และผลประโยชน์ของประเทศชาติ อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ พันธมิตรจาก “ประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” จงรวมกันเข้า เพื่อช่วงชิงพื้นที่ และยึดกุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ใน “ค่ายกลรัฐธรรมนูญ” ที่ “พ่อมดรัฐธรรมนูญ” สร้างเอาไว้ แล้วจงเคลื่อนตัวไปมีส่วนในการเขียน “กฎกติกาที่มีประชาสังคมไทยเป็นใหญ่” เพื่อให้ประเทศไทยดำรงคงอยู่ต่อไปท่ามกลางโลกาภิวัตน์ที่สร้างและขับเคลื่อนโดยภาคการตลาดอันแสนสามานย์

ศาสตรา โตอ่อน
เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง