Wednesday, November 25, 2009
วงจรเยอรมัน
ผมได้รับทุนการศึกษามาเรียนในเยอรมันอย่างที่เคยคาดฝันไว้ตอนเลิกคาดฝัน นี่ก็เข้าปีที่สองแล้ว
ภาษาเยอรมันเป็นภาษายาก เหมือนเรียนคณิตศาสตร์ ปัญหาของคนคิดเยอะคือไม่กล้าพูดเพราะกลัวผิด
ดังนั้นถ้าจะพูดภาษานี้อย่ากลัวผิด เพราะมันผิดแน่นอนแต่ค่อยๆแก้ไป
เรียนโทกฎหมายในเยอรมันต่างจากการเรียน ป.โทในที่อื่น คือ ที่นี่จะจับเราเรียนกฎหมายใหม่หมด
ทั้งแพ่ง อาญา มหาชน ซึ่งสำหรับผมก็สนุกดี เหมือนได้ทบทวนพื้นฐานทางนิติศาสตร์
โดยเฉพาะกฎหมายแพ่งเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาและศิลปะกฎหมายแฝงอยู่ภายในมากมาย
เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ตกทอดมาเป็นพันๆปีตั้งแต่สมัยโรมัน กฎหมายอาญาของเยอรมันก็สนุกดี
นักศึกษาไทยได้เปรียบเพราะเรามีอาจารย์ที่จบจากทั้งฝรั่งเศสและเยอรมัน โดยเฉพาะ ท่าน ศ.ดร.คณิต ณ นคร
ที่เขียนตำราอาญาไทยด้วยสำเนียงความคิดแบบเยอรมัน ผมเลยสบายไปเยอะ มหาชนก็สนุกดี แต่เนื่องจากเยอรมัน
เป็นสหพันธรัฐดังนั้นหลักการในแบ่งอำนาจกันของสหพันธ์ กับรัฐต่างๆจึงค่อนข้างซับซ้อน นักศึกษาที่เป็นเพื่อนต่างชาติ
ค่อนข้าง งงๆเพราะส่วนใหญ่มาจากรัฐเดี่ยว เช่นพวกยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา และก็จีน
คนเยอรมันเป็นคนคิดเยอะ ละเอียดถี่ถ้วน จนบางครั้งแอบเหนื่อยแทน
อย่างว่าคุณลักษณะของแต่ละชาติก็เป็นตัวกำหนดโลกทัศน์ชีวทัศน์อันเป็นเอกลักษณ์ของเขา
ผมเคยแอบคิดว่า ถ้าผมรู้กฎหมายเยอรมันเยอะๆ ผมจะต้องวางมันไว้ข้างตัว ไม่เอามาใส่ในหัว
เพราะถ้าผมกลับเมืองไทย ผมอาจบ้าได้ เพราะแอบพกไม้บรรทัดไปตัดสินผิดที่ผิดทาง
ผมมีอาจารย์สอนมหาชน ชื่อ ดร.เอาเลเน่อ รูปร่างลักษณะเห็นแล้วนึกถึง ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ที่ผมเคารพรัก
เวลาแกถามแล้วไม่มีใครตอบได้ แกจะร้อง วู้ๆๆๆ มีใครอยู่ไหม พวกคุณอยู่ไหนกันหมด เวลาแกยิ้มหัวเราะก็น่ารักดี
เอกลักษณ์การสอนของอาจารย์ในเยอรมัน คือ พูดเร็ว พูดไม่หยุด ไม่มีช่องไฟ เหมือนรถยนต์เมอซีเดสลองติดเครื่องแล้ว
ก็เหยียบกันมิด จนกว่าจะถึงที่หมาย
ตอนนี้ผมเริ่มกำหนดทิศทางการศึกษาของตัวเอง โดยจะเน้นการศึกษาและทำวิทยานิพนธ์ทางด้านกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ
ที่เยอรมันเรียกว่า กฎหมายปกครองทางเศรษฐกิจ กฎหมายปกครองในไทยส่วนใหญ่จะเน้นกฎหมายปกครองในลักษณะที่เข้าไปจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่กฎหมายปกครองทางเศรษฐกิจเน้นทางด้านการสร้างสวัสดิการ การควบคุมตลาดให้สมดุล การดำเนินกิจการของรัฐในทางเศรษฐกิจ อันที่จริงแล้วมันก็เป็นกฎหมายปกครองนั่นแหละ แต่มันเน้นกฎหมายปกครองในฐานะผู้ให้มากกว่าผู้เข้าไปจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ตอนนี้เลยต้องมาอ่านหนังสือแนวเศรษฐศาสตร์การเมืองในเรื่องแนวคิดทางเศรษฐกิจกระแสหลัก ทั้งสำนักฮาวาร์ด ชิคาโก้ ไฟร์บวก ซึ่งกำลังครองกระแสความคิดในการกำหนดนิตินโยบายทางเศรษฐกิจทั้งในพรมแดนกฎหมายเอกชน เช่น กฎหมายการแข่งขันทางการค้า กฎหมายผูกขาด แต่ในทางมหาชน จะเน้นบทบาทของรัฐในการเข้าไปแก้ไขความบกพร่องของตลาดผ่านกลไกของรัฐ
ตอนนี้เลยต้องทำตัวเป็นทุนนิยม เพื่อเข้าใจทุนนิยม
แต่จุดยืนของผมยังไม่เปลี่ยนแปลง ครับ
มนุษย์นิยมสาย NGO เช่นเดิม
รู้เขารู้เรา ร้อยรบมิรู้พ่าย
แต่สุดท้ายก็ตายกันหมด
สุดท้ายของไว้อาลัยแด่ ลุงหมัก ที่รักของทุกคน
ลุงหมัก ลุงที่มีครบรสแห่งความเป็นคน
จงไปสู่ สุขคติ เทอญ
Subscribe to:
Posts (Atom)