Wednesday, November 15, 2006

การปฏิรูปอำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือนในยุคโลกาภิวัตน์ : การมีอำนาจเหนือภาครัฐบาลและภาคการตลาดของประชาสังคม

ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

ในเบื้องต้น คงต้องยอมรับว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันมีที่มาจากการขับเคลื่อนของภาคพลเรือนที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีนักวิชาการบางกลุ่มออกมาให้ความคิดความเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการต่อสู้กันระหว่าง “รัฐบาลทักษิณ” กับ “กลุ่มอำนาจเก่า” และ “อำนาจทุนใหม่” กับ “อำนาจทุนเก่า” ก็ตาม ซึ่งข้อคิดเห็นดังกล่าว ก็มีความถูกต้องอยู่ในระดับนึง แต่การกล่าวอ้างเช่นนี้เป็นการมองข้ามความมีอยู่ หรือ ดูแคลน ภาคพลเรือนที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสถานการณ์ทางการเมืองให้ดำเนินมาถึงปัจจุบัน

ดังนั้น ในสถานการณ์การปฏิรูปการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งในการใช้มุมมองทางวิชาการแบบเดิมๆที่ปฏิเสธพลังขับเคลื่อนทางสังคมของภาคพลเรือนในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งโดยนัยเป็นการแสดงออกถึงความยอมจำนนต่อทฤษฎีทางความคิดที่ไม่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง เป็นการยอมจำนนต่อ ตัวบทกฎหมาย ที่ไร้แรงขับเคลื่อนและนำพาภาคพลเรือนไปสัมผัสความยุติธรรมทางสังคมได้อย่างแท้จริง

ด้วยเหตุข้างต้น การทำความเข้าใจความดำรงคงอยู่และพลังขับเคลื่อนของภาคพลเรือนในยุคโลกาภิวัตน์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการวางรากฐานทางความคิดเพื่อให้การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ดำเนินไปบนหนทางในการสร้าง “สุขภาวะ” ของภาคพลเรือนได้อย่างแท้จริง ซึ่งในเบื้องต้นต้องมีการทำความเข้าใจถึงความดำรงคงอยู่ของภาคพลเรือนในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญไปพร้อมกับการทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของภาคพลเรือนบนบริบทโลกาภิวัตน์

การดำรงอยู่ของภาคพลเรือนในกฎหมายรัฐธรรมนูญและสังคมโลกาภิวัตน์

ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ภาคพลเรือนถือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อผลสำคัญในการปกป้องหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ สิทธิและเสรีภาพ ภาคพลเรือนหรือ ประชาชน สามารถใช้อำนาจดังกล่าวได้ในสองรูปแบบ ทั้งประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) และ ประชาธิปไตยแบบทางตรง (Direct Democracy) ซึ่งจากหลักการทั้งสองหลักการได้นำไปสู่ การมีสิทธิของภาคพลเรือนในการเลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปดำรงตำแหน่งใน ภาครัฐบาล (Government Sector) ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลไปถึงการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆอีกทอดหนึ่ง

นอกจากนี้ในทฤษฎีกฎหมายรัฐธรรมนูญยังยอมรับความมีอยู่ของ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันถือเป็นปฐมฐานในการจัดให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ว่าได้ และผลของประชาธิปไตยแบบทางตรง(Direct Democracy) ก็นำไปสู่การยอมรับความมีอยู่ของอำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือน ทั้งอำนาจในการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา การยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การทำประชาพิจารณ์ เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน การพัฒนาของระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มุ่งเน้นหลักการกระจายอำนาจ (Decentralisation) ก็ทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญได้เข้าไปยอมรับความมีอยู่ของอำนาจในการปกครองตนเองของภาคพลเรือน ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมุ่งสร้างระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่ตอบสนองต่อปัญหาของภาคพลเรือนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง

โดยสรุป ในกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ยอมรับ ความมีอยู่ของภาคพลเรือนไว้ในหลายจุด ซึ่งการยอมรับดังกล่าวจะช่วยให้ภาคพลเรือนสามารถปกป้องตนเองจากการใช้อำนาจของภาครัฐบาล (Goverment Sector) สามารถเรียกร้องให้รัฐจัดให้มีซึ่งกฎหมายและการบริหารที่ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพในด้านต่างๆ สามารถเข้าไปส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง และสามารถปกครองตนเองได้โดยอิสระจากภาครัฐบาล

ที่กล่าวมาข้างต้น คือ การดำรงคงอยู่ของภาคพลเรือน ในตัวบทกฎหมายซึ่งแตกต่างจากความเป็นจริงในสังคมโลกาภิวัตน์ ทั้งนี้เนื่องจากในสังคมโลกาภิวัตน์ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ระหว่าง ภาครัฐบาล(Goverment Sector) กับ ภาคพลเรือน (Civil Sector) เท่านั้น แต่จากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คงต้องยอมรับว่า ภาคการตลาดเป็นภาคที่มีส่วนสำคัญต่อบริบทแวดล้อมทั้งหมดของสังคมการเมืองไทย อันเป็นผลจากความสำเร็จของภาคการตลาด (Market Sector) ในการควบรวม ภาครัฐบาล (Government Sector) ด้วยอำนาจทุน (Capital Power) และการควบรวม ภาคพลเรือน (Civil Sector) ด้วย อำนาจข้อมูลข่าวสาร (Information Power) ซึ่งจากสถานกรณ์ดังกล่าว ได้ทำให้เกิดสถานการณ์ “สิ้นสภาพบังคับ” ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ยอมรับความมีอยู่ของภาคพลเรือน โดยสิ้นเชิง

ภาคการตลาด (Market Sector) ที่ทรงอิทธิพลยิ่งได้ใช้อำนาจทุน(Capital Power) อำนาจรัฐบาล (GovermentPower) และ อำนาจข้อมูลข่าวสาร (Information Power) ทำลายล้างความมีอยู่ของภาคพลเรือน ดังนี้

๑.การใช้อำนาจทั้งสามในการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่นในกรณีนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด กรณีตากใบ กรณี มัสยิดกรือเซะ กรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร การสังหารนายเจริญ วัดอักษร

๒.การใช้อำนาจทั้งสามในการสร้างอุปสรรคในการเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ทั้งกลไกการเสนอร่างกฎหมาย กลไกการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ตัวอย่างเช่น กรณีการรับฟังความคิดเห็นในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ) การสร้างอุปสรรคในกระบวนการยื่นถอดถอนนักการเมือง( ตัวอย่างเช่น กรณีการยื่นถอดถอนอดีตนายก ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ผู้เขียนเห็นว่าไม่สามรถทำได้เนื่องจากการบล็อกโหวตในวุฒิสภา)

๓.การใช้อำนาจทั้งสามในการทำลายการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการผนึกโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ขึ้นตรงต่อนโยบาย ขึ้นตรงต่อความคิด ของระบบการบริหารแบบบูรณาการอำนาจ (CEO) ผ่าน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (ตัวอย่างเช่น การเดินทางของสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นมาที่วัดพระธรรมกาย)

๔.การใช้อำนาจทั้งสามในการมอมเมาภาคพลเรือน ด้วยนโยบายประชานิยม สร้างกองทัพประชาธิปไตยรับจ้าง การสร้างสถานการณ์ให้เกิดความแตกแยกของภาคพลเรือน การวางแผนให้ภาคพลเรือนสองฝ่ายเข้าปะทะกัน จนเป็นเหตุให้ต้องเกิดการรัฐประหาร

๕.การใช้อำนาจทั้งสามในการเอาชนะกันในทางการเมือง โดยการซื้อเสียงจากภาคพลเรือน ทำให้เจตนารมณ์ของประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ถูกทำลายลงไปอย่างย่อยยับ

๖.การใช้อำนาจทั้งสามเข้าแย่งยึด ประโยชน์สาธารณะ (Public Interest)ที่สงวนไว้สำหรับภาคพลเรือนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในกรณี การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การโอนสัมปทานให้กองทุน Temasek

ประจักษ์หลักฐานที่กล่าวมาล้วนเป็นความจริงที่แสดงให้เห็นถึง ความดำรงอยู่ของภาคพลเรือนในกฎหมายรัฐธรรมนูญและสังคมโลกาภิวัตน์ที่มีความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งความจริงเหล่านี้เป็นสิ่งต้องมีการทบทวนกันให้ชัดเจนว่า การปฏิรูปการเมือง การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีมาตรการอย่างไรในการขจัดปัญหาต่างๆและทะลายข้อจำกัดของภาคพลเรือนในการปกป้องตนเองจากสังคมโลกาภิวัฒน์ไปพร้อมกับการมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตนเองในการดำรงคงอยู่อย่างมี “สุขภาวะ”ในสังคมโลกาภิวัตน์ ที่ได้สร้างข้อจำกัดให้ภาคพลเรือนอย่างมากมาย

ข้อจำกัดของในการใช้อำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือน

ในสังคมโลกาภิวัตน์ ภาคพลเรือนกลายเป็นเพียงผู้ถูกกระทำจากทั้งภาครัฐบาลและภาคการตลาด โดยที่ภาคพลเรือนไม่สามารถต่อสู้ ป้องกันตนเองจากอำนาจต่างๆได้อย่างเต็มที่ ภาคพลเรือนจึงต้องทำการต่อต้านอำนาจด้วยเครื่องมือทางสังคมเท่าที่ตนมี แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ จะบัญญัติรับรองความมีอยู่ของภาคพลเรือนในรูปแบบต่างๆไว้ แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพของกระบวนการบังคับใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จะพบว่าภาคพลเรือนยังมีข้อจำกัดในการใช้สิทธิและอำนาจของภาคพลเรือนอยู่มากมายหลายประการ อาทิ

๑.ข้อจำกัดในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพ เมื่อพิจารณากลไกในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะพบว่า ไม่มีกระบวนการในการบังคับการตามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็เป็นเพียงองค์กรให้คำปรึกษาและเสนอแนะเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการบังคับการทางกฎหมาเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด ดังนั้นภาคพลเรือนจึงต้องทำการดิ้นรนบังคับการตามสิทธิของตนที่ถูกละเมิด โดยการพึ่ง กระบวนการยุติธรรมในระบบต่างๆ ซึ่งก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กระบวนการยุติธรรม ของประเทศไทย เป็นกระบวนการที่ไม่เอื้อสำหรับภาคพลเรือนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ กำลังอำนาจที่เพียงพอ

๒.ข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เมื่อพิจารณามาตรการในการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทั้งการเสนอร่างกฎหมายต่อสภา การยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการรับฟังความคิดเห็นโดยการทำประชาพิจารณ์ จะพบว่าภาคพลเรือนยังคงประสบปัญหาการเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งนี้เนื่องจากขั้นตอนในการเข้าถึงการมีส่วนร่วมมีความสลับซับซ้อน มีขั้นตอนในการดำเนินการที่ภาคพลเรือนต้องเป็นแบกรับภาระทั้งในแง่ของจำนวนประชาชน งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ ตลอดจนขั้นตอนในการพิจารณาเรื่องต่างๆที่ภาคประชาชนเสนอไปมักถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขในภายหลัง หรือกระทั่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่แทบไม่มีผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินโครงการภาครัฐที่มีผลกระทบต่อประชาชน

๓.ข้อจำกัดในการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อพิจารณานโยบายของภาครัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า นโยบายต่างๆมีลักษณะสวนทางกับหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่น นโยบายส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญการบริหารราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ซึ่งสังเกตได้จากความพยายามในการรวบอำนาจของท้องถิ่นกลับมาที่ผู้ว่าราชการจังหวัด การใช้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปมีอิทธิพลเหนือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกระจายงบประมาณลงสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีความโปร่งใส หรือกระทั่งการใช้อิทธิพลของ ส.ส.ในพื้นที่เข้าไปมีบทบาทในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นทำให้ท้องถิ่นไม่อาจดำเนินภารกิจให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น แต่กลับกลายเป็นเพียงบานอำนาจทางการเมืองของส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเท่านั้น

๔.ข้อจำกัดในการตรวจสอบอำนาจรัฐบาลของภาคพลเรือน เมื่อพิจารณามาตรการในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ จะพบว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คือกลุ่มองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของภาคพลเรือนจากการใช้อำนาจของภาครัฐบาล อย่างไรก็ตามอิทธิพลของภาครัฐบาลได้เข้าไปแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระฯจนองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องคุมครองภาคพลเรือนได้เต็มที่นัก นอกจากนี้องค์กรอิสระบางองค์กรที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกลับไม่มีอำนาจในการเสนอเรื่องการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขึ้นสู่การพิจารณาขององค์กรตุลาการแต่อย่างใด ในขณะองค์กรอิสระที่เหลือก็มีขั้นตอนการดำเนินการรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนที่สลับซับซ้อนจนประชาชนไม่อาจเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายนัก สิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดของภาคพลเรือนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของตนเอง

๕.ข้อจำกัดในการปกป้องตนเองจากอำนาจทุน ในยุคโลกาภิวัฒน์สิ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อภาคพลเรือน คือการที่ภาคการตลาดเข้าทำการควบรวมภาครัฐบาล ซึ่งหมายถึงการควบรวมกันระหว่าง อำนาจทุนกับอำนาจรัฐบาล โดยภาคการตลาดจะเข้าไปทำการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐบาลที่ต้องสนองตอบต่อผลประโยชน์สาธารณะให้ไปสนองตอบต่อผลประโยชนส่วนตน กรณีนี้สังเกตได้จากปัญหา การเจรจาลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่เข้าไปทำลายวิถีชีวิตของเกษตรกร กรณีปัญหาการค้าปลีก ที่กลุ่มทุนต่างชาติได้เข้ามาทำลายการค้าของชุมชนและท้องถิ่น กรณีการวางท่อก๊าซในโครงการต่างๆ ซึ่งที่สุดแล้วภาคพลเรือนก็มีหนทางในการปกป้องตนเองเพียงการชุมนุมประท้วง การใช้สิทธิทางศาลซึ่งยังคงมีอุปสรรคจากการพิจารณาคดีที่ล่าช้า และการเรียกร้องให้ภาครัฐบาลเข้าไปจัดการปัญหาให้กับตนเอง ซึ่งยังไม่เพียงพอที่ภาคพลเรือนจะปกป้องตนเองจากอำนาจทุนโลกาภิวัฒน์ที่ชั่วช้าได้

๖.ข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ในยุคโลกาภิวัตน์อำนาจใหม่ที่มีอิทธิพลเหนือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ก็คือ อำนาจข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอำนาจดังกล่าวจะใช้ไปเพื่อการประชาสัมพันธ์สินค้าของภาคการตลาด และประชาสัมพันธ์นโยบายของภาครัฐบาลอย่างบิดเบือน อำนาจข้อมูลข่าวสารทรงอิทธิพลยิ่งในการเปลี่ยนวิถีชีวิตของประชาชนให้กลายเป็นเพียงผู้บริโภคสินค้า และสาวกทางการเมืองที่มืดบอด กรณีเหล่านี้สังเกตได้จากวิถีชีวิตของภาคพลเรือนได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ลัทธิบริโภคนิยมในทางเศรษฐกิจและ ลัทธิประชานิยมในทางการเมือง ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรจนนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม ความเครียด หนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้น กระทั่งวามขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งทั้งหมดล้วนมีสาเหตุมาจากการที่ภาคพลเรือนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและการบริหารงานของภาครัฐบาลไม่สามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตอบโต้กับข้อมูลข่าวสารที่ถูกบิดเบือนได้อย่างทั่วถึง

ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปอำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือน
จากปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดในการใช้อำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือน ผู้เขียนได้จัดทำข้อเสนอแนะเบื้องต้นในการปฏิรูปอำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือนในยุคโลกาภิวัตน์ไว้ทั้งสิ้นหกประการ คือ

๑.การจัดกลไกการปกป้องสิทธิและเสรีภาพที่เป็นรูปธรรม โดยให้ประชาชนสามารถยื่นฟ้องหน่วยงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่กระทำการละเมิดสิทธิและเสรีภาพต่อองค์กรตุลาการได้โดยตรง และให้อำนาจคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสามารถสอบสวนและยื่นเรื่องให้องค์กรตุลาการวินิจฉัยกรณีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

๒.การลดอุปสรรคในการเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการลดจำนวนประชาชนที่มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายลงเหลือห้าพันคน และให้สิทธิประชาชนในการเข้าร่วมการพิจารณาออกกฎหมายที่ตนเองเสนอร่วมกับรัฐสภา การลดจำนวนประชาชนที่มีสิทธิยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหลือห้าพันคน และปรับปรุงระบบการทำประชาพิจารณ์ให้เป็นระบบประชามติของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐบาล

๓.การส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการมีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจของท้องถิ่นที่เข้มแข็ง โดยการบังคับใช้กลไกทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายให้มีความเคร่งครัด ชัดเจนและเหมาะสมกับสภาพภารกิจของท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถร้องเรียนกรณีการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อองค์กรตุลาการทีมีอำนาจหน้าที่โดยตรง

๔.การเปิดโอกาสให้ภาคพลเรือนใช้สิทธิทางศาลเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้มากขึ้น โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถฟ้องคดีต่อองค์กรตุลการได้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีการดำเนินการใดๆของภาครัฐบาลและภาคเอกชนที่มีลักษณะขัดแย้งกบผลประโยชน์สาธารณะ

๕.การปฏิรูปกฎหมายมหาชนในทางเศรษฐกิจเพื่อการปกป้องประโยชน์สาธารณะ นอกจากการาตรการในการปฏิรูปการเมืองแล้ว ควรมีมาตรการในการปฏิรูปกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจและการบังคับใช้กฎหมามหาชนทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ภาครัฐบาลเข้าไปมีบทบาทในการควบคุมระบบเศรษฐกิจ อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อผลสำคัญในการลดความเชี่ยวกรากของกระแสทุนในยุคโลกาภิวัฒน์มิให้เข้ามาทำลายวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

๖.การจัดตั้งองค์กรสื่ออิสระที่ภาคพลเรือนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ควรมีการจัดตั้งองค์กรสื่ออิสระที่มีกำลังส่งสัญญาณกระจายทั่วพื้นที่ของประเทศ โดยให้ภาคพลเรือนมีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างแท้จริง ทั้งนี้รายได้ขององค์รสื่ออิสระควรมีที่มาจากภาษีที่จัดเก็บจากการโฆษณา และการเก็บภาษีรายการโทรทัศน์บันเทิง

No comments: