
ใน นิติรัฐ หรือ รัฐที่มีการปกครองโดยถือกฎหมายเป็นใหญ่นั้น ฝ่ายนิติบัญญัติมีความผูกพันในการบัญญัติกฎหมายให้มีความชอบธรรม ซึ่งความชอบธรรมในการบัญญัติกฎหมายจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อการบัญญัติกฎหมายมีการคำนึงหลักการสำคัญอย่างน้อยที่สุดสามประการ คือ หลักความแน่นอนของกฎหมาย หลักการห้ามกฎหมายมีผลย้อนหลัง และหลักความเสมอภาค
กล่าวโดยเฉพาะหลักการห้ามกฎหมายมีผลย้อนหลัง ซึ่งกำลังเป็นหัวข้อวิวาทะสำคัญที่มีผู้ออกมาให้ความเห็น กระทั่งมีการนำความเห็นต่างๆไปขยายผลทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มพวกของตน อย่างมากมาย สิ่งที่ปรากฏ คือ ความไม่ชัดเจนในการปรับใช้หลักการดังกล่าวกับกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นหลายกรณี หรือกระทั่ง กรณีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
หลักการห้ามกฎหมายมีผลย้อนหลัง ถือ เป็นหลักการพื้นฐานในการบัญญัติกฎหมายที่สำคัญ โดยหลักการดังกล่าวมีเนื้อหาที่สำคัญ คือ การห้ามกฎหมายมีผลย้อนหลังไปก่อผลร้ายต่อการกระทำที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่การย้อนหลังอันเป็นโทษทางอาญานั้น จะกระทำไม่ได้โดยเด็ดขาด โดยนัยของหลักการดังกล่าวทำให้เกิดประเด็นพิจารณาว่า
๑.กฎหมายสามารถย้อนหลังไปเป็นคุณกับประชาชนได้หรือไม่ กรณีย้อนหลังไปเป็นคุณกับประชาชนนั้นสามารถทำได้ เช่น กรณีการกำหนดอัตราเบี้ยบำนาญของข้าราชการเพิ่มขึ้น ก็สามารถนำอัตราที่เพิ่มขึ้นไปคำนวณกับเวลาที่ได้เคยทำงาน ก่อนวันที่จะมีกฎหมายดังกล่าว เพื่อรับเบี้ยบำนาญเพิ่มขึ้นได้
๒.กฎหมายสามารถย้อนหลังไปลงโทษทางอาญาได้หรือไม่ กรณีโทษทางอาญาไม่สามารถย้อนหลังได้ เนื่องจากโทษทางอาญามีผลกระทบต่อสิทธิในชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของประชาชน กรณีดังกล่าว จึงไม่สามารถย้อนหลังไปลงโทษการกระทำที่ล่วงไปแล้วไม่ได้โดยเด็ดขาด
๓.กฎหมายสามารถย้อนหลังไปก่อผลร้ายอื่นๆนอกเหนือจากโทษทางอาญาได้หรือไม่ กรณีผลทางกฎหมายอื่นๆนอกเหนือไปจากโทษทางอาญานั้นสามารถย้อนหลังได้ แต่การย้อนหลังจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการชั่งน้ำหนักระหว่าง หลักการที่สำคัญ สองหลักการ คือ หลักความแน่นอนของกฎหมาย และ หลักเหตุผลในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
หลักความแน่นอนของกฎหมาย เป็นหลักการที่ผู้บัญญัติกฎหมายจะต้องพิจารณาว่า กฎหมายจะต้องมีความแน่นอนเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าการกระทำของตน ณ ขณะที่ลงมือ ไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นผลร้ายกับตน ลักษณะเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้เสรีภาพของตน อันเป็นหลักการสำคัญของ นิติรัฐ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น รัฐ มีหน้าที่ที่จะต้องปกป้อง สิทธิและเสรีภาพดังกล่าว โดยทำให้กฎหมายที่บัญญัติมีความแน่นอนให้มากที่สุด
หลักเหตุผลในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เป็นหลักการที่ผู้บัญญัติกฎหมายจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและเหตุผลในการบัญญัติกฎหมายให้ย้อนหลัง โดยคำนึงถึงความเสียหายที่มีต่อประโยชน์สาธารณะ โดยอาจกำหนดมาตรการหรือผลในทางกฎหมายให้ย้อนหลังไปปกป้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ผลในทางกฎหมายดังกล่าว อาจย้อนหลังไปเป็นคุณหรือสร้างผลร้ายก็ได้
ดังนั้นในการกรณีการย้อนหลังของกฎหมายไปก่อผลร้ายอื่นๆนอกเหนือไปจากโทษทางอาญานั้น ผู้บัญญัติกฎหมายจะต้องทำการชั่งน้ำหนักเหตุการณ์บ้านเมือง บริบทแวดล้อมของสังคม ณ ขณะนั้นว่า มีความสอดคล้องกับหลักการใดมากกว่ากัน หากพิจารณาแล้วเห็นว่า การสร้างความแน่นอนทางกฎหมายมีน้ำหนักมากกว่า การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ กรณีจึงไม่อาจบัญญัติกฎหมายให้ย้อนหลังไปก่อผลร้ายได้ แต่หากการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะมีน้ำหนักมากกว่า การสร้างความแน่นอนทางกฎหมาย กรณีนี้ก็สามารถบัญญัติกฎหมายให้ย้อนหลังไปก่อผลร้ายอื่นๆนอกจากโทษทางอาญาได้
ดังนั้น หากพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองโดยปรับกับหลักการดังกล่าวจะเห็นได้ว่า
กรณี ประกาศ คปค.ฉบับที่ ๒๗ สามารถย้อนหลังเป็นการก่อผลร้ายได้ ทั้งนี้เนื่องจาก ความเลวร้ายของนักการเมืองไทยในระบอบทักษิณมีลักษณะเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะอย่างชัดเจน และการปกป้องประโยชน์สาธารณะย่อมมีน้ำหนักที่มากกว่าการปกป้องเสรีภาพโดยการสร้างความแน่นอนทางกฎหมายให้กับนักการเมืองที่มีพฤติกรรมชั่วร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย
กรณีคำวินิจฉัยคดียุบพรรค อย่างน้อยที่สุดก็ยืนอยู่บนพื้นฐานของการชั่งน้ำหนักระหว่างหลักความแน่นอนทางกฎหมาย และหลักเหตุผลในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ซึ่งตุลาการเสียงข้างมากได้บรรยายอย่างชัดเจนว่า “ระบอบทักษิณ” ได้ทำลายประโยชน์สาธารณะต่างๆลงอย่างมากมาย ซึ่งกรณีจะเห็นว่า ความเลวร้ายดังกล่าว มีน้ำหนักมหาศาลมากกว่า การปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของนักการเมืองเลวอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเหตุนี้คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตัดสิทธินักการเมืองทั้ง ๑๑๑ คนจึงสอดคล้องกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ในบริบทปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง
กรณีคำคัดค้านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคโดย ๕ คณาจารย์จากนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มีการพิจารณาประเด็นการย้อนหลังของกฎหมายโดยคำนึง หลักความแน่นอนของกฎหมาย แต่เพียงประการเดียว โดยไม่ได้มีการพิจารณา หลักเหตุผลในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวจึงแสดงออกอย่างชัดเจนว่านักวิชาการทั้งห้าท่านได้ใช้กฎหมายโดยมิได้คำนึงถึงบริบทสังคม ที่เสียหายไปกับระบอบทักษิณอย่างมากมาย ซึ่งกรณีที่ตุลาการรัฐธรรมนูญได้ยกแสดงในคำวินิจฉัยอย่างละเอียดนั้นมิใช่ประโยชน์สาธารณะที่กฎหมายจะต้องคุ้มครองหรอกหรือ ซึ่งความซื่อตรงต่อความรู้แบบถ่ายสำเนาเอกสารของนักวิชาการกลุ่ม ดังกล่าว ณ วันนี้ กำลังถูกนำไปขยายผลโดยเหล่าสาวกผู้สมาทานตนกับ “ลัทธิไทยรักไทย” อย่างไม่ลืมหูลืมตา
กรณีการยกเลิก ประกาศ คปค.ฉบับที่ ๒๗ หากมีการยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าวจริงจะทำให้นักการเมืองทั้ง ๑๑๑ คน ที่ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา ๕ ปี สามารถกลับมาฟื้นคืนชีพทางการเมืองได้ทันทีโดยไม่ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทั้งนี้เนื่องจากหากมีประกาศฉบับใหม่ออกมายกเลิก ประกาศฉบับใหม่ย่อมเป็นกฎหมายที่มีผลย้อนหลัง ซึ่งกรณีนี้โดยปริยายย่อมมีลักษณะการย้อนหลังเป็นคุณกับนักการเมืองทั้ง ๑๑๑ คน ผลที่ตามมาคือนักการเมืองเหล่านั้น ย่อมฟื้นคืนชีพทางการเมืองได้โดยไม่ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมแต่อย่างใด นี่ไม่ใช่คำแนะนำทางกฎหมาย แต่คือการเตือนภัยให้สังคมเฝ้าระวังการนิรโทษกรรมนอกแบบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ให้ดี
ศาสตรา โตอ่อน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต