Tuesday, September 04, 2012

Walkman

ยุควอคล์แมน เราเดินไปกับเสียงเพลง และ ม้วนเทป เราฟังดนตรีตั้งแต่ต้นจนจบอย่างช้าๆ ไปพร้อมกับการเดินทาง ยุคของนักเดิน ไม่ว่าแต่ละก้าวจะสูงชันเพียงใด เราไม่เคยหยุดเดิน แม้มาถึงทางแยกของชีวิต เท้ายังก้าวต่อไป ไม่เคยมีอะไรมาหยุดจังหวะก้าวของเราได้ เราไม่เคยหยุดเดินเลยในแต่ละวัน

(มัทธิว 6:14)

ผู้ที่ไม่ให้อภัย คือผู้ที่ทำลายสะพานที่เขาเองจะต้องข้าม. หากท่านให้อภัยความผิด ที่ผู้อื่นกระทำต่อท่าน พระบิดาเจ้าของท่านในสวรรค์ ก็จะทรงให้อภัยแก่ท่านด้วย (มัทธิว 6:14)

Monday, September 03, 2012

โลก

โลกนี้มิอยู่ด้วย มณี เดียวนา - ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง - ปวงธาตุต่ำกลางดี ดุลยภาพ - ภาคจักรพาลมิร้าง เพราะน้ำแรงไหน ฯ ภพนี้มิใช่หล้า หงส์ทอง เดียวเอย - กาก็เจ้าของครอง ชีพด้วย - เมาสมมุติจองหอง หินชาติ - น้ำมิตรแล้งโลกม้วย หมดสิ้นสุขศานต์ - อังคาร กัลยาณพงษ์

รักออกแบบไม่ได้

คุณเคยมีความรักไหม ความรักของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน แต่มันก็คือความรัก ความรักของผม ผมไม่เรียกมันว่าความรักด้วยซ้ำไป ผมเรียกมันการพลี ดอกไม้แห่งความรักของผมมันไม่ได้บานง่ายๆ สิบปีมันจะบานสักครั้ง ผมไม่รู้ด้วยว่ามันจะบานเมื่อไร และเพื่อใคร จนเมื่อมันผลิดอกออกผลขึ้นมา มันก็ยากเกินจะควบคุม ดังนั้น ผมจึงไม่เคยมีความรักครั้งเล็ก มีแต่ความรักครั้งใหญ่ มันหยั่งรากลึกเกินกว่าจะควบคุมหรือขุดรากมันออกโดยง่าย ความรักมันพาเราไปพลี พาเราในทุกที่ ไปทุ่มเททุกอย่างที่เรามี ให้จนหมดแต่มันไม่เคยหมด มันยังคงเขย่าถอนหัวใจเรา แม้ว่าขาของเราจะขาดลงไป แต่หัวใจเราไม่เคยหยุดเต้น แม้ว่าเราจะเผชิญกับความเจ็บปวดมากมาย แต่ปากของเรายังภาวนาให้คนรักในดวงใจมีความสุข เวลาที่ผมรัก ผมขอแค่ให้คนที่เรารัก เห็นความรักในตัวเรา แม้ว่าเราจะไม่ได้มาครอบครอง แต่อย่างน้อยขอให้รู้ว่าเรา รัก ก็พอแล้ว ความเจ็บปวดจากการสูญเสีย หรือ ไม่ได้มา นั้นน้อยนัก มันไม่เท่ากับการที่ใครสักคนที่เรารักไม่เห็น ความรักของเรา เราไม่ได้เป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบ เรามีเวลาเข้มแข็งและอ่อนแอ สุขและทุกข์ แต่ความรักมันมากกว่าสิ่งนั้น ถ้ามันยัง มันก็ยังทำงานของมันไป เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะหยุดลงเมื่อใด ที่สำคัญเราไม่อาจรู้ ไม่อาจออกแบบมันได้เลย เราอาจดัดแปลงสัมพันธภาพแต่เราออกแบบความรักไม่ได้ เมื่อเรายังรักก็คือรัก แม้ลมหายใจสุดท้ายขาดช่วงลงไป ลมหายใจของเราก็ยังโชยกลิ่นใครคนนั้นออกมา ก็แค่ความรัก ก็ยังรัก ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

Tuesday, August 28, 2012

สวะ

ศาสตราจารย์ผู้ปราดเปรื่องแสวงหาสัจจะ - เขาด้นดั้นขึ้นเขาไปพบผู้ที่ได้ชื่อว่า ลุธรรม - เมื่อพบกัน เขาตั้งคำถามแรกว่า ข้าอยากรู้เหลือเกินว่าชีวิตคืออะไร - ตาเฒ่าหันมาตอบว่า สวะทั้งนั้น เจ้าเศษสวะจงไปเสียให้พ้น - ศาสตราจารย์ควันออกหูด้วยมิคาดคิดว่าจะเจอกับคำตอบที่ด่าทอเช่นนี้ - ชีวิต คือ เศษสวะ เศษสวะ จริงๆ มีแต่ผู้รู้กระมังที่เห็นเป็นสวะ ส่วนผู้มืดบอดยังมองเห็นเป็นของดี สวยงาม น่ายึดถือ

Monday, August 27, 2012

มีและเป็นอย่างไรถึงจะไม่ทุกข์

ชีวิตคนเราส่วนใหญ่หมุนเวียนไปตามความอยาก มีความอยากเป็นตัวผลักดันให้โลดแล่นไป ความอยากของคนเรานั้นจะว่าไปก็หนีไม่พ้นความอยากมี กับความอยากเป็น เช่น อยากมีเงินมีทอง อยากมีชื่อเสียงเกียรติยศ หรืออยากเป็นคนเด่นคนดัง เป็นนักกีฬา เป็นดารา แต่ไม่ว่าจะมีอะไรหรือเป็นอะไร ถ้าอยากมีอยากเป็นแล้วก็ทำให้ทุกข์ทั้งนั้น ไม่ใช่ทุกข์เพียงเพราะมีความอยากเท่านั้น แม้ได้มีได้เป็นสมอยากในที่สุดก็ทุกข์เช่นกัน ทันทีที่มีความอยากขึ้นมาใจก็เป็นทุกข์แล้ว เพราะว่ายังไม่ได้สมอยาก ระหว่างที่ดิ้นรนขวนขวายไปหาสิ่งนั้นมาก็ทุกข์อีก ต้องเจออุปสรรคมากมายกว่าจะฟันฝ่าจนได้มา ครั้นได้มาแล้วก็ทุกข์ในการที่ต้องรักษา ต้องดูแล กลัวคนจะมาแย่งเอาไป ครั้นสิ่งที่หามาได้เกิดเสื่อมไปหรือถูกคนแย่งชิงไป ก็ทุกข์อีก เห็นได้ว่าทุกขั้นตอนของความอยาก เริ่มจากการมีความอยาก ไปจนถึงการตอบสนองความอยาก และรักษาสิ่งที่ตนอยากเอาไว้ ล้วนเต็มไปด้วยความทุกข์ เราทุกข์เพราะกลัวความพลัดพรากสูญเสีย จึงต้องดิ้นรนเพื่อป้องกันการพลัดพรากสูญเสียเอาไว้ แต่บ่อยครั้งก็ไม่สามารถป้องกันไว้ได้ เพราะความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดาของชีวิต แต่ถึงแม้ความพลัดพรากสูญเสียยังไม่เกิด ทรัพย์สมบัติของเรายังคงอยู่ในสภาพเดิม เราก็หนีความทุกข์ไม่พ้น แต่คราวนี้ทุกข์เพราะอยากได้อันใหม่ที่ดีกว่า คนที่มีรถราคาแพงหลายล้านบาท ยากนักที่จะพอใจกับรถคันเดิม ส่วนใหญ่อยากได้รถคันใหม่ที่แพงหรือแรงกว่าเดิม อาหารอร่อยก็เช่นกัน แม้ว่าจะชอบแค่ไหน แต่เมื่อกินไปทุกวันๆ ๆ ก็เบื่อได้ ทั้งๆ ที่รสชาติก็เหมือนเดิม มีอะไรก็ตามถ้าเรามีไม่เป็นก็ทุกข์ได้ทั้งนั้น พระพุทธองค์เคยตรัสกับนางวิสาขาซึ่งเศร้าโศกเสียใจที่หลานสาวตาย พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ถ้าคนในกรุงสาวัตถีน่ารักเหมือนหลานของนาง นางจะรักเขาเหมือนหลานไหม นางวิสาขาตอบว่ารัก พระองค์จึงถามต่อว่าคนในกรุงสาวัตถีตายวันละกี่คน นางตอบว่ามากจนนับไม่ได้ พระองค์จึงถามว่า ถ้าเช่นนั้นนางไม่ต้องเศร้าโศกทั้งวันทั้งคืนดอกหรือ แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า วิสาขาเอย ผู้ใดมีสิ่งที่รักร้อยสิ่ง ผู้นั้นก็ทุกข์ร้อย ผู้ใดมีสิ่งที่รักเก้าสิบ ผู้นั้นก็ทุกข์เก้าสิบ ผู้ใดมีสิ่งที่รักแปดสิบ ผู้นั้นก็ทุกข์แปดสิบ ผู้ใดมีสิ่งที่รักเพียงหนึ่ง ผู้นั้นก็ทุกข์หนึ่ง ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก ไม่มีความคับแค้นใจ การมีสิ่งที่น่าพึงพอใจคือสาเหตุแห่งทุกข์ เพราะเมื่อได้มาแล้วก็ต้องมีจากพราก เป็นธรรมดาของโลก ถ้าไปยึดในความมีหรือยึดติดถือมั่นในสิ่งที่มีแล้วก็เตรียมใจทุกข์ได้เลย มีอะไรก็ตาม ถ้าไม่อยากทุกข์ ก็อย่าไปยึดมั่นในสิ่งนั้น คือมีโดยใจไม่ได้เข้าไปยึดครอง พูดอีกอย่างหนึ่ง ให้เรามีเหมือนกับไม่มี ทีนี้เราลองหันมาดูความเป็นบ้าง ใคร ๆ ก็อยากเป็นคนเก่ง แต่พอรู้ว่ามีคนอื่นเก่งกว่า ก็ไม่สบายใจ เกิดความอิจฉาริษยา ถ้ามีใครมาวิจารณ์ว่าไม่เก่ง ก็โมโห หรือเล่นกีฬาแล้วแพ้ก็เป็นทุกข์ ทั้งๆ ที่การแพ้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ทุกข์เพราะว่าฉันเป็นคนเก่ง คนเก่งต้องไม่แพ้ ในทำนองเดียวกันใครที่เป็นคนเด่นคนดัง แต่ถ้าไปไหนไม่มีคนทักหรือคนรู้จัก ก็เป็นทุกข์ แม้แต่ความเป็นแม่เป็นพ่อ ทันทีมีความสำนึกขึ้นมาว่าฉันเป็นพ่อเป็นแม่ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คืออยากจะให้ลูกเคารพเชื่อฟัง ไม่อยากให้โต้เถียงเรา นี่เป็นกิเลสอย่างหนึ่งที่ติดมากับความเป็นแม่หรือความเป็นพ่อ แต่พอลูกไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวังก็เป็นทุกข์ เรียกว่าความเป็นแม่ความเป็นพ่อมันกัดเรา มีตัวอย่างแม่คนหนึ่งที่กลุ้มใจเรื่องลูก ลูกเอาแต่เล่นเกมออนไลน์ การบ้านไม่ทำ การเรียนไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น เรียกให้มากินข้าวก็ไม่กิน นอนก็ไม่เป็นเวล่ำเวลา พอแม่ว่ากล่าวมาก ๆ ลูกก็ไม่พอใจตามประสาวัยรุ่น จนถึงกับปั้นปึ่ง ไม่พูดกับแม่ แม่ก็น้อยอกน้อยใจว่าอุตส่าห์เลี้ยงลูกมาด้วยความรัก แต่ลูกมาทำกับแม่อย่างนี้ จึงยื่นคำขาดว่า ถ้าลูกไม่พูดด้วยแม่จะโดดตึก แล้วลูกก็ไม่พูดกับแม่จริงๆ แม่เสียใจมากจึงกระโดดตึกตายจริง ๆ อย่างนี้เรียกว่าถูกความเป็นแม่ทำร้ายเอา คือไปยึดถือกับความเป็นแม่มาก สำคัญว่าฉันเป็นแม่ ดังนั้นลูกต้องเชื่อฟังฉัน ต้องไม่เย็นชากับฉัน แต่เมื่อไม่ได้รับสิ่งนั้นจากลูก ก็น้อยเนื้อต่ำใจ หัวใจสลาย จนทำร้ายตัวเอง ไม่ว่าเป็นอะไรก็ตามย่อมทุกข์ได้ทั้งนั้น เพราะว่าเรามักจะเป็นกันไม่ถูก นั่นคือไปยึดความเป็นนั่นเป็นนี่เอาไว้ ทั้งๆ ที่มันเป็นแค่สมมุติ เด็กนักเรียนที่สอบได้ที่ ๑ จากโรงเรียนในชนบท อาจจะคิดว่าตัวเองเก่ง แต่ที่จริงมันเป็นแค่สมมุติที่หาความแน่นอนไม่ได้ เพราะพอไปเรียนในกรุงเทพ ฯ กลับสอบได้อันดับท้าย ๆ แต่ถ้าหากว่าเรารู้ทันว่าความเป็นคนเก่งนั้นเป็นเรื่องสมมุติ เราก็พร้อมที่จะปล่อยวางได้ และไม่ไปเป็นทุกข์กับมันยามมันเสื่อมสลายไป หรือในยามที่คนอื่นเขาไม่รับรู้สมมุติเหล่านั้น จะมีอะไรก็ต้องมีให้ถูก คือไม่ยึดมั่นถือมั่น พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและความพลัดพรากสูญเสีย จะเป็นอะไรก็เป็นให้ถูก คือรู้ว่าสิ่งที่เป็นนั้นเป็นแค่สมมุติ จะเป็นคนเก่ง คนดัง คนใหญ่คนโต เป็นอธิบดี ปลัดกระทรวง หรือผู้อำนวยการ ก็ล้วนเป็นสมมุติที่พร้อมจะแปรเปลี่ยนไป ไม่มีวันยั่งยืนได้ และถึงแม้จะยังไม่แปรเปลี่ยน แต่มันก็เจือไปด้วยทุกข์ แต่ถ้าให้ดีที่สุดก็คือคือว่าไม่สำคัญมั่นหมายว่ามีหรือเป็นอะไรเลย เคยมีพราหมณ์ผู้หนึ่งเห็นพระพุทธองค์ว่ามีผิวพรรณวรรณะผ่องใส จึงถามพระองค์ว่า ท่านเป็นเทวดาหรือ พระพุทธองค์ทรงตอบปฏิเสธ พราหมณ์ถามต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นท่านคงเป็นคนธรรพ์ พระองค์ก็ปฏิเสธอีก พราหมณ์จึงพูดต่อว่า ท่านคงจะเป็นยักษ์แน่ พระองค์ก็ปฏิเสธ พราหมณ์จึงพูดว่า ท่านคงจะเป็นมนุษย์กระมัง พระพุทธองค์ทรงตอบว่าไม่ได้เป็น สุดท้ายพราหมณ์ก็เลยถามว่า ถ้าเช่นนั้นท่านเป็นอะไร พระองค์ทรงตอบว่า กิเลสที่เป็นเหตุให้ได้ชื่อว่าเป็นเทวดาก็ดี เป็นคนธรรพ์ก็ดี เป็นยักษ์ก็ดี เป็นมนุษย์ก็ดี เราได้ละหมดแล้ว สุดท้ายพระองค์ก็ตรัสกับพราหมณ์ว่า จงถือว่าเราเป็นพุทธะเถิด พระพุทธองค์ไม่ทรงถือว่าพระองค์เป็นอะไรเลย แต่หากจะเรียกขาน ก็ขอให้เรียกพระองค์ว่าพุทธะ ทั้งนี้เพราะพระองค์ตระหนักว่าการเป็นอะไรก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องสมมติ ถ้าเข้าไปยึดมั่นสำคัญหมายก็ทำให้เป็นทุกข์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจะมีหรือเป็นอะไรก็ตาม อย่าเผลอเข้าไปยึดมั่นสำคัญหมายว่านั่นเป็นตัวเราหรือของเราจริง ๆ มิฉะนั้นจะถูก “ตัวกู ของกู”กัดเอาจนหาความสุขไม่ได้ ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

สงครามพลังงานในแคสเปียน

พลังงานเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับชาติมหาอำนาจทั้งหลาย แม้ชาติเหล่านี้จะพยายามหาพลังงานทดแทน แต่ต้องยอมรับว่า น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าส ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ดี - ความขัดแย้งที่น่าสนใจอีกสมรภูมิจึงอยู่ที่ สงครามพลังงาน - ต่อกรณีที่ รัสเซีย หมีขาว ก่อสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านทางใต้อย่าง จอร์เจีย ในดินแดน เซาท์ โอเซียเทีย หรือการปราบพวกกบฎเชชเนีย ที่อยู่ติดกับพรมแดน จอร์เจีย ได้แสดงออกว่า รัสเซีย พยายามแพร่ขยายกองกำลังลงใต้เพื่อเพิ่มอิทธิพลทางพลังงานของตน แต่คงมิใช่ น้ำมันในอาหรับ แบบสมัยที่ส่งกองกำลังเข้าไปในอัฟกัน - แหล่งพลังงานที่ถูกค้นพบแหล่งใหญ่ที่สุด คือ ในทะเลสาปแคสเปียนที่อยู่ใต้อิทธิพลของทั้ง อิหร่าน อาเซอไบจัน คาซัก จอเจียร์ เตริกเมนิสถาน - เหตุนี้รัสเซียจึงต้องส่งกองกำลัแผ่อิทธิพลลงมาทางใต้ เพราะจุดนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่รัสเซียจะมีก๊าสเพียงพอที่จะส่งไปยังยุโรปใต้ ตามเส้นทางที่กำลังมีโครงการสร้างท่อก๊าส เซาท์สตรีม ที่ยาวกว่า 3300 กิโลเมตร ที่จะพาดผ่าน จอร์เจีย ตุรกี บัลแกเรีย ต่อไปจนถึง อิตาลี - ในขณะที่จีนแผ่อิทธิพลมาทางทิศตะวันออกผ่าน เตริกเมนิสถานและคาซัก อเมริกาก็มีฐานสำคัญที่ซาอุกลับพบอุปสรรคชิ้นสำคัญ คือ อิหร่าน ที่อเมริกา กาหัวเป็นศัตรู ในระดับเดียวกับ เกาหลีเหนือและซีเรีย เพราะอิหร่านคือกระดูกชิ้นโตที่ขวางคออเมริกาเหนือแหล่งน้ำมันและก๊าสแห่งนี้ - ในภาพคือเมือง บากู เมืองหลวงของอาเซอไบจัน ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ณ วันนี้ บากูเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดเมืองหนึ่งในภูมิภาคเอเชียกลางและคอเคซัสไปแล้ว เพราะตั้งอยู่ในแหลมที่ยื่นเข้าไปใน แคสเปียน - แคสเปียนเดิมมีปลาชื่อดัง คือ เสตอเจียน ที่ไข่ของมันคือ คาเวียร์ ราคาสูงลิบ แต่วันนี้ พลังงาน ได้กลายเป็นขุมทองแห่งใหม่ไปแล้ว แคสเปียน กำลังกลายเป็นดินแดนที่มีความขัดแย้งมากที่สุดอีกแห่ง รองๆจากอาหรับเลยที่เดียว

สัจจะแห่งรัก

ผู้ที่รักย่อมเจ็บปวด ผ่านความเจ็บปวดเราจึงได้เรียนรู้ชีวิต ผ่านความรัก เราจึงถูกตรึงตรา บดขยี้ จนแหลกเหลว เราจะทำอะไรได้เล่า
นอกจากสยบยอมแก่ความรักและความเจ็บปวดในหัวใจตนเอง นั่นคือ สัจจะ

Sunday, August 26, 2012

ความจริง

ไม่ว่ายากดีมีจน ไม่ว่ามีชื่อเสียงเกริกไกร เราหนีความจริงที่ว่า วันนึง ความตายจะมาจับตัวเราไปไม่ได้ ไม่มีใครวิ่งหนี ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย พ้น นี่คงเป็นสิ่งที่เรียกว่า ความเสมอภาคอย่างแท้จริง

Friday, August 24, 2012

แผนที่ในมุมอื่น

ในภาพแสดงออกว่า ศาสนา มีอิทธิพลต่อมนุษย์ในชาติต่างๆอย่างไร แผนที่นี้แสดงนัยมุมกลับว่า สีอ่อนทั้งหลายล้วนคือผู้ทรงอิทธิพลทางโลกแห่งการเมืองและเศรษฐกิจ ในขณะที่สีแก่ คือ ชาติกำลังพัฒนาหรือต้องพัฒนาทั้งหลาย ครานึงท่านผู้นำยุคนั้นกล่าวว่า ศาสนาคืออุปสรรคต่อการพัฒนา แต่ในทางกลับกัน การพัฒนาอาจกลายเป็นอุปสรรคสำหรับความสุขก็ได้ น่าสนใจว่าอีกสัก 50 ปีแผนที่นี้จะเป็นอย่างไร

การเปิดเสรีภาคบริการในกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะของรัฐ ในกฎหมายองค์การการค้าโลกและกฎหมายยุโรป

หนังสือเล่มนี้ให้ภาพการเปิดเสรีในกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะของรัฐ ที่มีจุดกำเนิดจากแนวคิดการเปิดเสรีทางการค้าและบริการในกิจการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกิจการเหล่านี้มีความหลากหลายกันไปในแต่ละชาติ ในประเทศที่ใช้ระบบคอมมอน ลอว์จะเน้นบทบาทภาคเอกชนมากกว่ารัฐ ใช้พลังของตลาดและลดบทบาทของรัฐลงไปกำกับดูแล เช่น ในอังกฤษและอเมริกา ที่น่าสนใจคือการปรับตัวของประเทศในระบบซีวิลลอว์ที่แนวคิดเรื่องรัฐและกฎหมายมีความเข้มแข็ง เข้มข้นกว่า จนรัฐเข้าไปแทรกแซงกระบวนการเปิดเสรี อย่างฝรั่งเศสนั้นมีแนวคิดทางชาตินิยมสูงจะยอมรับการเปิดเสรีในกิจการนี้ยากที่สุด ในขณะที่เยอรมันเป็นชาติที่มีพลวัตรการปรับตัวสูงจนสร้างหน้าที่ของรัฐแบบใหม่ให้พร้อมรับกับพลังของการตลาดที่เข้ามา หนังสือจะให้ภาพของ กฎหมาย การตีความ ที่ยังมีปัญหาความพร่าเลือน หาขอบเขตไม่ได้ของถ้อยคำหลายประการ ความยากของเรื่อง คือ การปะทะกันของ รัฐกับตลาด ภาคมหาชนกับเอกชน ความร่วมมือกับการแข่งขัน การหาจุดสมดุลในกิจการที่มีทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์สาธารณะ กิจการที่ตลาดทั้งช่วยพัฒนาและตลาดพบข้อจำกัดของตนเอง กิจการที่รัฐกำลังหาบทบาทใหม่ของตนเอง ที่สำคัญ เป็นกิจการเพื่อความอยู่รอดของระบบหลายระบบในโลก ทั้ง สื่อสาร พลังงาน ขนส่ง น้ำ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เสวน ซิมอน นัก กม จากJustus - Liebeg - Universität Gießen - Germany เขียนหนังสือเล่มนี้ไว้เมื่อปี 2008 ในฐานะดุษฏีนิพนธ์ เป็นหนังสือดีในภาษาเยอรมันที่น่าจะเป็นประโยชน์กับวงการกฎหมายเมืองไทยที่กำลังมีปัญหาในกิจการนี้เช่นกัน

Thursday, August 23, 2012

lost in translation

คนที่ขาดแคลนนั้นมีชีวิตอยู่กับการต่อสู้ดิ้นรน คนที่สมบูรณ์พูลสุขมีชีวิตกับความมั่งคั่งทางวัตถุ จนบางคนมีเงินบริจาคให้คนกลุ่มแรก แต่ความทุกข์ไม่จำกัดรูปแบบ คนที่มีมากอาจ หลงทาง ไปในความหรูหราจนชาชิน และดูเหมือนชีวิตจะไม่มีความสุขอันใด lost in translation ภาพยนตร์ที่บอกเราถึงการหลงทางของคนที่แล่นอยู่บนคลื่น ไม่ว่ายากดีมีจนเราล้วนมีหนทาง และหลงทางได้ บางครั้งความยากจนสร้างหนทางที่ชัดเจน มันอาจดีกว่า ความร่ำรวยที่พาเราหลงทาง

เรียนโท กฎหมายเยอรมัน ฉบับ ริงค์ไซด์

ทำไมต้องเยอรมัน - การมาเรียน กม เยอรมัน เป็นความฝันของพวกอยากลองของอย่างผม แต่ที่น่าสนใจและเป็นแรงจูงใจให้มาเรียน เพราะ เยอรมัน คือ ต้นตำรับ กม ซีวิล ลอว์ ที่แจ่มมากประเทศนึง กม เยอรมัน รับเอา กม โรมัน มาปรับปรุงให้เป็นระบบ เคยได้อ่านมาว่า กม เยอรมัน รับผ่านมาทางบรรดา ไกเซอร์ ที่ปกครองแว่นแคว้นต่างๆ ที่สมัยหลายร้อยปีก่อนจะนิยมไปรับเอา รีต ของ โรมันมาใช้ ทำนองไทยเรารับเอา รีต อินเดีย ผ่านเขมร อย่างไรอย่างนั้น ที่สำคัญ ในหลวง ร.5 ท่านเคยเป็นมิตรกับ ไกเซอร์ วิลเฮม สมัยล่าเมืองขึ้น ไทยเรารอดมาได้เพราะ เยอรมันช่วยคานอำนาจของ นโปเลียนที่ 3 และในหลวงท่านจึงโปรดระบบกฎหมายเยอรมันพอๆกับกองทัพแบบเยอรมัน หยิบเอา ปวศ มาดู มันก็น่าสนใจ และเป็นเหตุให้ผมมาเรียนที่นี่ - เตรียมใจ - การมาเรียนที่นี่ยากแน่ๆ ดังนั้น เตรียมใจไว้เลยว่าต้องมาเจอหิน คนที่ชอบคิดบวกอาจกลายเป็นคนคิดลบไปได้เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น มีการศาสนา สวดมนต์ ไหว้พระ เป็นมาบ้างจะได้เปรียบ รักจะมาอย่ากลัว แต่บอกให้รู้จะได้เตรียมใจพร้อมรับ อย่าเครียด ปล่อยวาง และยอมรับว่ามันยาก แต่อย่าคิดมากจนกลัว บางทีโดนขู่มากๆกลายเป็นความกดดันอันหนักอึ้ง อันนี้ไม่ดี - ภาษา - ภาษาเยอรมันที่เรียนมาจากเกอเธ่ ขั้นพื้นๆแกรมม่านั้นต้องแน่น ถ้าเป็นระดับสอบเดเอชฮา จะมีภาษาวิชาการให้เรียน เคล็ดลับ คือ ต้องสนใจแกรมม่าให้แม่นในช่วงต้น แต่พอไปคอร์สปลายๆอย่าไปเทใจมาก ต้องฝึก พูด อ่าน เขียน ฟัง ให้ดี เพราะเด็กเอเซีย ตายมาหลายศพเพราะคะแนนแกรมม่าสัดส่วนจะลดลงเรื่อยๆ แกรมม่าจำเป็นในช่วงต้น แต่พอตอนหลังอย่าไปคิดมันมากให้เน้นทักษะการใช้งานให้มาก - เพื่อน - ช่วงเรียนภาษาอย่ามีเพื่อนคนไทยมาก ภาษาจะไม่พัฒนา ให้มีเพื่อนต่างชาติเยอะๆ ใครคิดถึงบ้าน หาเพื่อนคนไทยเป็นที่พึ่ง ไม่ดีแน่ เพราะคือการปิดโอกาสตัวเองในการใช้ภาษาเยอรมัน แม้เพื่อนต่างชาติจะงูปลาเหมือนกันก็ยังดีที่ได้ดิ้นรน - เรียน กม ช่วงเทอม 1 - จะเน้น สามวิชา คือ แพ่ง อาญา มหาชน แพ่งนั้นมันส์ดีเขาจะฝึกให้เราแก้เคส โดยการตั้งข้อเรียกร้องต่างๆทางแพ่ง เราต้องใช้ กม ทั้งประมวล ไปพร้อมๆกัน ไม่ใช่ตอบแบบมาตราย่อยๆแบบบ้านเรา เขาใช้ข้าม บรรพ อาญา แนะนำให้อ่าน ตำรา อ.คณิต ณ นคร มาก่อนเลย แนวเดียวกัน ส่วนมหาชนนั้น เน้นเรื่อง การใช้อำนาจรัฐของฝ่ายต่างๆ ที่เยอรมันมันจะงงๆเพราะว่ามันเป็นรัฐซ้อรัฐ และเรื่อง สิทธิและเสรีภาพ อ่านตำรา อ.บรรเจิด เรื่องสิทธิและเสรีภาพมาก่อนก็จะดี - เทอม 2 จะสอบปากเปล่า 3 วิชา และสัมมนา 1 วิชา ปากเปล่าคือ วิชาที่เราจะเขียน Magister Arbeit กับตัวที่เหลือ เช่น อย่างผม เขียนในทาง มหาชนเศรษฐกิจ ก็จะต้องสอบ อาญา และ แพ่ง มหาชนทั่วไปไม่ต้องสอบ เวลาสอบปากเปล่าจะต้องตอบแข่งกับนักศึกษาคนอื่น เคล็ดคือ ต้องตอบหลักการให้ครบตั้งแต่ต้น ห้ามฟันธงก่อน ต้องไล่สาย มิเช่นนั้นคะแนนจะห่วย ผมเคยพลาดมาบ้าง ต่อมา ห้ามปราณีต้องไร้มารยาทและต้องแข่งขัน อย่าทำตัวหงิมๆแบบเอเซียเด็ดขาด พูดให้มาก คนอื่นพลาดเราเสยทันที ผมเคยลองมาใช้วิธีนี้ คะแนนพุ่ง เขาชอบมวยไฟเต่อร์แบบบัวขาว 5555 สัมมนา 1 วิชา มีพรีเซนน่าห้องด้วย ห้ามกลัวพูดผิด พูดไปตามความเข้าใจ ไม่ต้องกลัวแกรมม่าผิด ให้มันไหล ระเบิดออกมา จะคะแนนดี - พอผ่านมาสองภาคปัญหาที่อาจประสบ คือ อาการอ่อนแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ ใครเกิดไม่ไหวขึ้นมา แนะนำว่า อย่าท้อ และอย่าลุย ให้ขอโปรพักก่อน สัก 2-3 อาทิตย์ก็ได้ ไปเที่ยว ไปออกกำลังกาย ปั่นจักรยานบ้าง เพื่อเรียกพลังกลับมา จะทำให้เขียนงานได้ดี - Magister Arbeit - ก่อนมาเราควรรู้ว่าเราชอบอะไรมาก่อน กม ไหนที่ชอบจะช่วยให้เราไม่นะจังงังไร้ทิศทาง ใครจะมาเรียน ต้องมี กม ในดวงใจไว้นะครับ หัวข้อบางทีโปรเราเขาจะบอกให้ เราก็ค้นก็เขียนไปเต็มที่ งานของ ป โท นั้นทำไปทำมาอาจขยายต่อไปทำ ป เอกได้ครับ - ขอจบเท่านี้ถ้ามีอารมณ์และอะไรจะเขียนให้อ่านใหม่ครับ (ข้อมูลมาจากประสบการณ์การเรียน กม ที่ ม.ลุดวิก มิวนิก นะครับ ม.อื่น Ich weiss noch nicht ! )

วันที่ถอดหมวก

จากผ่านพบไม่ผูกพัน ผันมาสู่ วิหารที่ว่างเปล่า และ วันที่ถอดหมวก ผมไม่รู้เหมือนกันว่า หนังสืออ่านเราหรือเราอ่านหนังสือ หนังสือบางเล่มถูกเราอ่าน อ่านหลายครั้ง แต่ละครั้งเราจะพบอะไรใหม่ในบรรทัด หรือ เรากำลังค้นพบตนเอง เสกสรรค์คนที่อ่านตัวเองแล้วถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ วันที่ถอดหมวก หนังสือที่เป็นกระจกส่องตัวเรา

นรชาติวางวาย

วันนี้ได้อ่านหนังสือชื่อ แผนที่โลกาภิวัฒน์เล่มนี้ อ่านไปได้ข้อสรุปว่า กระบวนการแห่งสังสารวัฎยังคงหมุนไปไม่หยุดหย่อน การดิ้นรนของมนุษย์ในยุคการไล่ล่าทรัพยากร การแข่งขัน การก่อการร้าย การแสวงหาน้ำมัน สงคราม การอพยพ การผลิตอาวุธ กาารสร้างอิทธิพลทางทหาร และบรรดากิจกรรมในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ทุกชาติเป็นผู้เล่น มิตร ศัตรู ถาวรและชั่วคราว โลกหลายศูนย์อำนาจ การปรับตัวของมหาอำนาจเดิม การเกิดขึ้นของมหาอำนาจใหม่ การเปิดตัวของทวีปแอฟริกา ทุนนิยมในจีน ไทยเราเป็นเพียง กระรอกน้อยในซาฟารีที่มีสัตว์ใหญ่มากมาย การได้เห็นและบริโภคข้อมูลเป็นอาหารจานโปรดของผู้คน แต่สำหรับผมมันค่อยๆกลายเป็นความสะอิดสะเอียน แต่ก็ดีที่ทำให้ผมนึกถึง บ่อปลา เล้าเป็ด ดงกล้วย ป่ามะม่วง รั้วชะอม ยุ้งข้าว ของบ้านเดิมในต่างจังหวัด บางทีกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าชีวิตคืออะไร เราก็เสียเวลาไปกับความอยากรู้อยากลองมาครึ่งชีวิต แต่มีอยู่ท่านที่เดินทางมาค่อนโลก ค่อนชีวิต แล้วสรุปแนวมาง่ายๆให้เราได้ใช้ นั่นคือ ความพอเพียง ปล่อยวาง .......นั่นคือจุดเจือจางของสังสารวัฏไปสู่ความสงบร่มเย็น

Tuesday, August 21, 2012

flower

Forgive is the most beautiful flower in this world.
Picture - Van Gogh’s Branches with Almond Blossom

Monday, August 20, 2012

in God

เมื่อเธอรัก อย่าได้พูดว่า ... พระผู้เป็นเจ้าอยู่ในดวงใจเรา แต่ควรพูดว่าเราอยู่ในดวงใจพระผู้เป็นเจ้า - คาลิล ยิบราน

Saturday, August 18, 2012

forget me not

"Forget Me Not" Lucie Silvas
Forget me not, I ask of you. Wherever your life takes you to. And if we never meet again. Think of me every now and then. We had just one day to recall. Now all I want is something more. Than just a fading memory. Left wondering what could have been. Isn't it a shame, that when timing's all wrong. You're doing what you never meant to, There's always something that prevents you. Well I believe in fate, it had to happen this way. But it always leaves me wondering whether... In another life we'd be together. We should feel lucky we can say... we've always got yesterday. And as I leave it all behind. You're still emblazoned in my mind. And for that very special day. Nobody loved me in that way. Forget me not, I ask of you. Wherever your life takes you to. And if we never meet again. Think of me every now and then.

Tuesday, August 14, 2012

วาระ เวลา

วาระ เวลา มิได้หมายถึง โมง ยาม ที่กำหนดเอาตามดวงตาวันหรือจันทรา แต่มันคือ จิตใจ ที่เคลื่อนคลี่กำหนดให้เราเดินไปทำบางสิ่งบางอย่าง บางการกระทำ มันมีเวลาเริ่มอย่างไม่พูดพร่ำทำเพลง ชีวิตมันใช่ของเราหรือ บางทีมันเหมือนการลื่นไถลลงในหุบห้วยเชี่ยวกราก เราถูกซัดสาดไปจนหมดเวลาแล้วเราอาจเจอกับลำธารไหลเรื่อยเย็นใจ วาระเวลา มันจึงเป็นกระบวนการผลัดเปลี่ยน ผลิดอก ดำรง และปลดเปลื้องตัวมัน ชีวิตเป็นสิ่งหมุนเวียน มิใช่เส้นตรง มันคือวังวนของอารมณ์ความรู้สึกที่พาเราไป พาเราทำ และพาเราเลิกลาจากมา ถ้อยคำมิได้สำคัญเท่าจิตใจ บางทีถ้อยคำมีไว้เพื่ออะไรบางอย่าง จงอย่าเชื่อถ้อยคำ แต่ให้เชื่อจิตใจตัวเอง ยามที่ต้องทนทุกข์เพราะใจมันยังอดทน แต่แล้ววันนึงใจอาจเคลื่อนคลายกลายเป็นอิสระ นั่นคือ หมด วาระ เวลา ชีวิตมีวาระ เวลาที่ต้องรุกเข้า คงอยู่ และถอยออก ยามถอยออกคือการผ่อนพัก ยามเลิกรา คือ อิสระ เพราะหมดวารเวลา สุดท้าย ความตายกำลังกินกลืนเราในทุกโมงยาม ไม่มีใครเหลือรอด ไม่มีสิ่งใดควรแค่การยึดถือ มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

Thursday, August 09, 2012

ขุนเขาแห่งความตาย

โลกนั้น ในบางทิวทัศน์ประกอบด้วยขุนเขาอันสลับซับซ้อน ขุนเขาเป็นสันฐานของการชนและการดันตัวขึ้นของแผ่นเปลือกโลก ลักษณะของขุนเขาใช่หรือไม่ที่ในด้านหนึ่งทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆจากเบื้องล่างได้ทั้งหมด แต่อีกด้านมันคือการปืดล้อมตัวเองไว้ในความสูงชัน
ใช่หรือไม่ที่ยอดเขาตระหง่านง้ำนั้นมีพื้นที่น้อยเกินไปให้กับการมีชีวิตอย่างธรรมดา มีคนมากมายพยายามพิชิตยอดเขา พิชิตพื้นที่ที่ดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้เพียงเพื่อเป้าหมายบางอย่าง รายทางของภูเขาใหญ่ๆ อย่าง เคทู แอลไพน์ หรือ หิมาลัย ล้วนปักป้ายในบางจุดด้วยศพของเหล่านักพิชิต คนเรามักหาวิธีเสริมส่งความภูมิใจด้วยการพิชิตยอดเขา ลูกแล้ว ลูกเล่า ลูกแล้ว ลูกเล่า จนกว่าเขาจะกลายเป็น ผู้ปักป้ายบอกทางเสียเอง ผู้ยิ่งใหญ่ประดามีและเคยมีในโลก ล้วนคือผู้พิชิต หรือ ครั้งนึงเคยเป็น ผู้อยากพิชิตยอดเขา ยิ่งจำนวนยอดเขาที่พิชิตได้มีมากเพียงใด ยอดเขาในจิตใจก็ยิ่งสูงล้ำขึ้นเรื่อยๆ แต่นั้นก็อีก ชีวิตมักออกบัตรเชิญ ในนาม ความอยู่รอดธรรมดาๆ ไปกระทั่งถึง ความต้องการในการพิสูจน์ตนเอง สุนทรวจีเสริมกำลังใจ ปรัชญาชีวิต และแม้แต่ศาสนา ก็กลายมาเป็นเครื่องรางของนักเดินทางที่ต้องนำติดตัวไป เราทุ่มเทชีวิตทั้งหมดไปกับ ขุนเขาของเรา เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ต่ำบ้าง สูงบ้าง เมื่อเราไปถึง เราอาจสร้างบ้านบนนั้น ไม่อยากออกไปไหน จนกว่าความตายจะมาเยือน จึงไม่น่าแปลกใจ ยิ่งกาลผ่านเวลาเปลี่ยน เราล้วนต่างโดดเดี่ยวมากขึ้น เพราะเราล้วนนอนหลับลึกขึ้นลึกขึ้นในหุบเขาส่วนบุคคล จากจุดเริ่มต้น เราอาจเคยติดต่อกับใบไม้ ผีเสื้อ และหนอนน้อยข้างทางกลับบ้าน เรื่องที่เกิดขึ้นในวัยเยาว์ล้วนแสดงออกว่าเราเคยเป็นสิ่งมีชีวิตในที่ราบ เราติดต่อสัมพันธ์กันในแนวราบ เราสนใจทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว เราเคยมีเพื่อนมากมาย แต่เพื่อนของเราน้อยลงเรื่อยๆนับแต่เราเริ่มรู้จักเพื่อนคนแรกจนถึงคนสุดท้าย เราเคยสนใจรั้วของทุกโรงเรียน แต่ความสนใจเราลดลงเมื่อเรามี โรงเรียนของเรา มีหลายอย่างมากมายในวัยเยาว์ที่เราไม่รู้ แต่มันหมดความน่าสนใจลงเมื่อเรามี ตัวเราและของเรามากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งรายรอบหยุดลง เมื่อ ขุนเขาแห่งความตาย ของเราได้ปิดล้อมเราไว้หมดแล้ว ขุนเขาของเรา ที่เรียกว่า ความตายนั้น ดูไม่ผิดอะไร จากขุนเขาเรารบรากันในนามของ เพศ ชาติ อุดมการณ์ ความคิด ความขัดแย้งประดามีล้วนเกิดจากคนที่อยู่ต่างขุนเขา แล้วจะไม่เรียกว่าขุนเขาแห่งความตายได้อย่างไร ที่สนามบิน เด็กแขก กับ เด็กฝรั่ง ต่างเล่นกัน วันนึงที่ผ่านไปของเด็กแขก สังคมจะค่อยๆสร้างขุนเขารายล้อมตัวเขา และวันนึงเขาจะมาพบเพื่อนเล่นรายทางของเขาที่สนามรบแห่งใดบนโลก กาลเวลาที่ผ่าน สายน้ำที่แห้งขอด ดินแดงระแหงระเหิด ในภาวะบนขุนเขา ชีวิตคือความตายทั้งเป็น มีแต่ผู้ที่เห็นตนเองและขุนเขาของตนเองเท่านั้นที่จะรอด ทางขึ้นยิ่งคดเคี้ยวเพียงใด ทางกลับแทบจะไม่ต้องกล่าวถึง ,,,,,,,,,,,,,, ในหนทางแห่งขุนเขา ขุนเขาแห่งความตาย เมื่อเราตระหนักรู้ เทือกเขาอาจถล่มทลายลงต่อหน้า

Tuesday, August 07, 2012

สงคราม สันติภาพ และสายน้ำ

สันติภาพเป็นสิ่งประหลาด หลายครั้งมันเกิดขึ้นผ่านสงคราม ในเยอรมนี ทุกวันนี้มีสันติภาพยิ่ง ใครจะเชื่อว่าประเทศที่สวยงามแห่งนี้ครั้งนึงคือผู้ก่อการยุทธครั้งใหญ่ในโลกถึงสองครั้ง ผมชอบปั่นจักรยานไปในชนบท มันสวยงาม มีทุ่งฮอพ บาร์เล่ย์ โบสถ์เล็กๆ น่ารัก ลำธารใสราวกระจก ผู้คนพึงใจกับการนอนอาบแดด ปล่อยให้เวลาไหลผ่านไปในอนันตกาล ความเร็วของโลก แท้จริงคือความเร็วของใจเราเอง การปล่อยเวลาให้ผ่านไป การหยุดให้แสงแดดได้อาบไล้เรือนร่าง ในโลกดิจิตมันคือความล้มเหลว แต่ในโลกแห่งความสุขมันคือศิลปะ สงครามก็มีในสภาวะที่เรียกว่า สันติ คือสงครามการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันในหมู่มนุษย์ สงครามในจิตใจ เมื่อการล่าไล่ไขว่คว้าบังเกิด เราได้นับหนึ่งแล้วกับสงครามไม่ว่ามันจะสิ้นสุดลงที่การนองเลือดหรือใหม่ ที่ยุโรปนั้น ผู้คนปากกัดตีนถึบกันมิใช่น้อย สภาวะอากาศในยามหนาวนั้นโหดร้ายเป็นอย่างยิ่ง นี่ละมังที่ชนอารยันทั้งหลาย จึงพากันไล่ล่าเมืองขึ้น แสวงหาน้ำมัน ถ่านหิน มาปรนเปรอความอุ่นแก่ตน ยามเย็นที่ระเบียงห้อง เมื่อผมมองไปยังทิศเหนือให้สบายใจเพราะเป็นทิศทางสู่ชนบท แต่พอมองไปยังทิศใต้ ใจจะเกิดความหนักขึ้นน้อยๆ เพราะนั่นหมายถึงการเรียน การอ่าน การค้นคว้า บางทีผมมองว่า การมีความรู้ กับ การมีความสุข มันเป็นคนละทิศทางเลย ชีวิตแบบเปรียบเทียบ ยามไม่มีเงินมาก ไม่มีความรู้อะไรมาก ใจสบายในยึดถือ ยามทรัพย์สินสมบูรณ์ ความรู้มากมาย ใจมิเคยได้พักเพลา ในสันติภาพก็มีสงคราม สงครามความรู้ ข้อมูลที่วิ่งวนในจิตใจและหัวสมอง ชีวิตในช่วงการแข่งขันมันเหมือนสายน้ำไหลย้อนกลับเข้าไปในแผ่นดิน มันต้องฝืนสภาวะและแรงเสียดทาน เหมือนปลาแซลมอนที่ว่ายขึ้นไปเหนือน้ำ อนิจจา ปลาเหล่านี้ ว่ายไปวางไข่ แล้วก็ ตายลง ชีวิตชาวบ้านที่พลโลกเยาะขัน ดุจสายน้ำไหลไปตามทางของมัน ไหลเอื่อยสู่ทะเล ช้าๆ และหลอมกลืนเข้ากับมหาสมุทร มันสวยงาม มีความสุขอันยิ่งใหญ่โอบล้อม สงคราม สันติภาพ สายน้ำ ใครเลยจะรู้รส ถ้ามิเคยลิ้มลอง
(ภาพ - เกาะเฟราเอิน คีมเซ บาเยิน)

ดีที่สุด

บางทีการที่ต้องอยู่ในโลก มันพัดพาเราไปไกลถึงเพียงไหน ไม่อาจรู้ จากริมคันนา มาไกลถึงต่างแดน ระหว่างทางที่ไกลห่างเรามักบอกกับตัวเองว่าต้องดีขึ้น จนลืมบอกตัวเองอย่างแต่ก่อนว่าทำดีที่สุดแล้ว ยิ่งดีขึ้น ยิ่งไกลห่าง ดีที่สุด คือ หนทาง
ไม่ว่าดีหรือเลว ขาวหรือดำ มันดีที่สุดทุกอย่าง โลกนี้ดีที่สุด ทุกอย่างที่เรา มิตรและศัตรูทำ ล้วนดีที่สุด ในความจริง มีแต่สิ่งที่ดีที่สุด ไม่มีการแบ่งแยกว่า ปฏิกูลเลวกว่าบุปผา ไม่มีจริงๆ

Saturday, August 04, 2012

การทำลายการผูกขาดทางเศรษฐกิจตามแนวทางของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

1. บทนำ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 นั้นนับเป็นรัฐธรรมนูญที่บรรจุหลักการทางเศรษฐกิจไว้มากที่สุดรัฐธรรมนูญหนึ่ง จนอาจกล่าวได้ว่านอกจากรัฐธรรมนูญจะมีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชนแล้วยังมีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ ( öffentliches Wirtschaftsrecht ) และเป็นรัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจ ( Wirtschaftsverfassungsrecht) อีกด้วย คำว่ากฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจนั้นหมายถึง บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับการทางเศรษฐกิจ การจัดระบบอำนาจของรัฐและองค์กรอื่นในการมีบทบาททางเศรษฐกิจ ในการจะปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจเพื่อทำลายการผูกขาดนั้นจำต้องเข้าใจภาพรวมของกฎหมายเศรษฐกิจทั้งระบบซึ่งในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างประเทศเยอรมนีเป็นตัวแบบในการพิจารณา ในวงวิชาการของประเทศเยอรมันได้แบ่งประเภทของกฎหมายเศรษฐกิจ ออกเป็น 3 ประเภท กฎหมายอาญาทางเศรษฐกิจ ( Wirtschaftsstrafrecht )เช่น กฎหมายความผิดว่าด้วยการใช้เชค การฉ้อโกงในธุรกรรมคอมพิวเต่อร์ กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ ( öffentliches Wirtschaftsrecht ) และกฎหมายเอกชนทางเศรษฐกิจ ( Wirtschaftsprivatrecht) เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายบริษัทมหาชน ในส่วนของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ ( öffentliches Wirtschaftsrecht ) นั้นสามารถแยกย่อยออกได้เป็น 4 ประเภท คือ รัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจ ( Wirtschaftsverfassungsrecht) กฎหมายปกครองทางเศรษฐกิจ ( Wirtschaftsverwaltungsrecht) กฎหมายการแข่งขันภาคมหาชน ( öffentliches Wettbewerbsrecht) และกฎหมายแข่งขันทางการค้า ( Wettbewerbsrecht) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 นั้นมีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจ คือ บทบัญญัติแห่งกฎหมายสูงสุดที่กำหนดกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจของประเทศและเจตนารมณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นบรรดากฎเกณฑ์สูงสุดทางเศรษฐกิจของรัฐนั้นๆ ซึ่งจากคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันได้วางหลักการที่เรียกว่า ความเป็นกลางทางเศรษฐกิจของรัฐธรรมนูญ ( wirtschaftspolitischen Neutralität des Grundgesetzes) อันมีเนื้อหาว่า ฝ่ายนิติบัญญัติจะบัญญัติกฎหมายโดยคำนึงถึงหลักการทางเศรษฐกิจหลักการใดหลักการหนึ่งไม่ได้แต่ต้องคำนึงหลักการทางเศรษฐกิจทุกหลักการไปพร้อมกัน จากหลักการดังกล่าวประกอบกับ หลักความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ที่กฎเกณฑ์ต่างๆจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ตามความในมาตรา 6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 นั้นย่อมหมายความว่า การออกกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติและกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจะต้องคำนึงถึงหลักการทั้งหลายทางเศรษฐกิจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญประกอบกัน ในประเทศไทยเรานั้นบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ยังมีน้อย ดังนั้นการพิจารณาหลักการทางเศรษฐกิจที่บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงเป็นสิ่งสำคัญประการแรกที่ต้องพิจารณา 2.หลักการทางเศรษฐกิจในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 การที่รัฐธรรมนูญมีความเป็นกลางทางเศรษฐกิจทำให้รัฐธรรมนูญคือแหล่งรวมอุดมการณ์ ( Staatsbestimmung ) และเป้าหมาย (Staatsziel) ทางเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติถึงหลักการทางเศรษฐกิจไว้หลายมาตราและหลากหลายอุดมการณ์ ดังนี้ 2.1 หลักการเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ หลักการนี้เชื่อในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดย บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ดำเนินการผ่านการใช้สิทธิและเสรีภาพของตน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยสิทธิและเสรีภาพที่เกี่ยวข้องได้แก่ มาตรา 41 สิทธิและเสรีภาพในทรัพย์สิน ซึ่งถูกจำกัดโดยมาตรา 42 ในกรณีการเวนคืน สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามมาตรา 43 และอาจรวมถึง มาตรา 45 ในส่วนของการโฆษณา สิทธิและเสรีภาพทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจเสรีทำงานผ่านการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชน สิทธิและเสรีภาพที่กล่าวมาได้รับการขยายความต่อไปถึงการที่รัฐต้องสนับนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด โดยรัฐต้องไม่ประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชนตามความในมาตรา 84 ( 1) 2.2 หลักการการประกันกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรัฐ ( หลักการกำกับตลาดโดยรัฐ) แม้บทบาทหลักในทางเศรษฐกิจจะอยู่ในมือของเอกชนและตลาด แต่ในรัฐธรรมนูญยังกำหนดบทบาทของรัฐในการประกันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในวงวิชาการกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจของเยอรมนี ได้สร้างหลักการพื้นฐานในการแบ่งความรับผิดชอบงานทางเศรษฐกิจออกเป็น ความรับผิดชอบในการดำเนินการ ( Erfüllungsverantwortung ) ความรับผิดชอบในการประกัน ( Gewährleistungsverantwortung ) และ การเรียกคืนภารกิจในกรณีเอกชนดำเนินการไม่สำเร็จตามเป้าหมาย ( Auffangverantwortung ) ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้กำหนดหน้าที่หลักในการดำเนินการ( Erfüllungsverantwortung ) ไว้กับเอกชน โดยรัฐจะทำการเรียกคืนภารกิจ( Auffangverantwortung ) ได้ในกรณีต่างๆ เช่น การรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือ การจัดให้มีสาธารณูปโภค ตามความตอนท้ายของ มาตรา 84 ( 1) ในส่วนของความรับผิดชอบในการประกัน ( Gewährleistungsverantwortung )แม้เอกชนจะมีบทบาททางเศรษฐกิจผ่านกลไกตลาด แต่การใช้กลไกดังกล่าวอาจเกิดกรณีที่ตลาดไม่อาจจัดการได้ ( Marktversagen ) เช่น กรณีกิจการผูกขาดโดยธรรมชาติ กรณีการผูกขาดทางการค้า กรณีสินค้าสาธารณะ กรณีข้อมูลของตลาดไม่สมบูรณ์ เมื่อกลไกตลาดไม่อาจจัดการได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้ามามีส่วนดำเนินการควบคู่ไปกับการใช้กลไกตลาด ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติถึงความรับผิดชอบในการประกัน ( Gewährleistungsverantwortung ) ไว้สองกรณี คือ 2.2.1 กรณีกิจกรรมทั่วไปทางเศรษฐกิจ ในมาตรา 84 (5) กำหนดให้รัฐกำกับการประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดทุกชนิด และคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นหน้าที่ในการกำกับการทางเศรษฐกิจของรัฐในความหมายอย่างกว้าง ( Regulierung im weiteren Sinn ) อันหมายถึงบทบาทของรัฐในการกำกับกลไกตลาดในสินค้าและบริการทั่วไป ไม่ให้เกิดการผูกขาด 2.2.2 กรณีกิจกรรมสาธารณูปโภค ในกิจการสาธารณูปโภค นั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติหน้าที่ของรัฐไว้หลายกรณีทั้ง กรณีที่รัฐมีหน้าที่ในการดำเนินการ( Erfüllungsverantwortung ) โดย มาตรา 84 ( 10) กำหนดให้รัฐจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐในทางเศรษฐกิจ ในส่วนหน้าที่ของรัฐในการการประกัน ( Gewährleistungsverantwortung ) ในตอนท้ายของมาตรา 84 (10) กำหนดให้รัฐมีหน้าประกันมิให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอยู่ในความผูกขาดของเอกชนอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งหากแปลความหน้าที่ทั้งสองประการไปพร้อมกันจะพบว่าในกิจการสาธารณูปโภค รัฐธรรมนูญได้เขียนเปิดโอกาสให้กิจการดังกล่าวดำเนินการได้ทั้งโดยรัฐและเอกชน ดังนั้นในกรณีกิจการรัฐวิสาหกิจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงไม่มีบทบัญญัติห้ามการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ( Privatisation ) แต่ประการใด กลับเปิดโอกาสให้มีการแปรรูปฯ ได้ แต่สาระสำคัญอยู่ที่เมื่อมีการแปรรูปแล้วรัฐมีหน้าที่ประกันมิให้เกิดการผูกขาด อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดกรอบการแปรรูปกิจการสาธารณูปโภคไว้อย่างชัดแจ้ง ในมาตรา 84 ( 11 ) ที่บัญญัติให้การดำเนินการใดที่เป็นเหตุให้ โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดจะกระทำมิได้ กรณีนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อจำกัดของรัฐไม่ว่าจะโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือบริหาร ในการห้ามแปรรูปโครงข่ายต่างๆในทางเนื้อหา ( materielle Privatisierung ) แต่อนุญาตให้แปรรูปได้เฉพาะในเชิงรูปแบบ ( formelle Privatisierung ) โดยการจัดตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนที่รัฐถือหุ้นมากกว่ากึ่งหนึ่ง นอกจากนี้หากแปรความมาตรา 84 ( 11 ) ประกอบกับมาตรา 84 ( 5) ( 10) จะเห็นว่ารัฐยังมีหน้าที่ในการประกันการแข่งขัน การป้องกันการผูกขาด ในกิจการสาธาณูปโภคที่มีโครงข่ายเหล่านี้ด้วย ซึ่งกิจการเหล่านี้มีลักษณะพิเศษตรงที่ โครงข่ายต่างๆมีลักษณะการผูกขาดโดยธรรมชาติ ( natural Monopol ) และมีลักษณะตลาดแบบคอขวด ( bottle neck ) ซึ่งไม่จำต้องมีการลงทุนโดยเอกชนให้ซ้ำซ้อนมิเช่นนั้นจะเกิด ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ( sunk cost ) จึงต้องการกำกับกิจการที่แตกต่างไปจากกลไกการกำกับการแข่งขันสินค้าและบริการปกติ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะเป็นจริงได้ โดยอาศัยการออกกฎหมายในระดับ พระราชบัญญัติ เช่น กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม กฎหมายพลังงาน เป็นต้น 2.3 หลักการอื่นๆในทางเศรษฐกิจ นอกจากหลักการเสรีนิยมแล้วรัฐธรรมนูญยังบัญญัติหลักการทางเศรษฐกิจอื่นๆอีกเช่น ส่วนที่ 9 ของหมวดสิทธิและเสรีภาพได้บัญญัติหลักการในเรื่อง รัฐสวัสดิการ หรือ Welfare State หลักการเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในมาตรา 78 (1) และมาตรา 83 หลักการเรื่องเศรษฐกิจของท้องถิ่นในมาตรา 78(3) เป็นต้น หลักการต่างๆที่กล่าวมาเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะต้องแปรหลักการทางเศรษฐกิจต่างๆผสมผสานกันเพื่อทำให้หลักการทางเศรษฐกิจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ให้มากที่สุด 3.ปัญหาความไม่สอดคล้องของกฎหมายเศรษฐกิจไทยกับรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฯ 50 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่บัญญัติหลักการทางเศรษฐกิจไว้ค่อนข้างหลากหลายและมีการให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อ หลักการแข่งขันเสรีเป็นธรรมที่ไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด ซึ่งในประเทศไทยการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจนอกจากเป็นปัญหาสำคัญในตัวของมันเองแล้วยังนำไปสู่การผูกขาดอำนาจทางการเมืองอีกด้วย และนี่คือ “ที่มาของเผด็จการนายทุนพรรคการเมือง” ที่อาศัยความอ่อนแอของระบบกฎหมายสถาปนาอำนาจของตนเองเหนือระบอบประชาธิปไตย และเมื่อพิจารณากฎหมายเศรษฐกิจในระดับพระราชบัญญัติหลายฉบับยังพบว่า หลักการพื้นฐานต่างๆยังไม่สอดรับกับหลักการทางเศรษฐกิจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีปัญหาดังนี้ 3.1 กลไกของกฎหมายการแข่งขันทางการค้ายังมีความอ่อนแอ กลไกการควบคุมการแข่งขันทางการค้ายังอ่อนแอมาก ทั้งนี้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ายังคงมีบทบาทน้อยมากในการควบคุมการแข่งขันทางการค้าไม่ให้เกิดพฤติกรรมการผูกขาด คณะกรรมการยังคงเป็นหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ที่อิทธิพลของทุนและการเมืองสามารถแทรกแทรงได้ง่าย ในเยอรมนีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานในระดับ สหพันธ์ ที่มีอำนาจวินิจฉัยกรณีการแข่งขันทางการค้าโดยทำงานเชื่อมโยงกับศาลแพ่ง และแม้ในระดับกฎหมายยุโรป การแข่งขันทางการค้าและกลไกป้องกันการผูกขาดถือเป็นหัวใจของ กฎหมายยุโรปก็ว่าได้ หลักคิดทางเสรีนิยมนั้น คือ การต่อต้านการผูกขาดอำนาจทุนทางเศรษฐกิจที่อาจลุกลามไปสู่การผูกขาดอำนาจการเมือง สำหรับประเทศไทยเรา หากกลไกการควบคุมการผูกขาดยังอ่อนแอเช่นนี้ สภาพช่องว่างระหว่างชนชั้นต่างๆจะยิ่งห่างออกไป ทรัพยากรจะกระจุกตัวอยู่ที่นายทุนผูกขาดและก่อผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดหรือบรรเทาเบาบางลงได้ 3.2 กลไกกฎหมายรัฐวิสาหกิจในกิจการสาธารณูปโภคยังไร้ทิศทาง กิจการรัฐวิสาหกิจนอกจากจะมีผลต่อชีวิตประชาชนแล้ว ยังเป็นแหล่งสะสมทุนของนักการเมืองที่สำคัญ นโยบายรัฐวิสาหกิจไทยกำลังมาถึงทางแพร่งระหว่าง การผูกขาด กับ การแข่งขัน การแปรรูปฯกับการทำงานแบบราชการ การไม่มีระบบการจัดการโครงข่ายพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาสัญญาสัมปทาน ความไร้ประสิทธิภาพในการให้บริการในกิจการที่ยังเป็นของรัฐ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเสรีนิยม กลุ่มทุนผูกขาด กลุ่มสหภาพ และ เอ็นจีโอ ทำให้สภาพของกิจการเหล่านี้ยังไร้ทิศทาง กรณีกิจการโทรคมนาคมนั้นมีการสร้างตลาด มีการแข่งขันและการกำกับดูแลโดย กสทช. แต่กิจการอื่นๆที่มีการแปรรูปอย่าง ปตท.กลับนำไปสู่การผูกขาด ไม่มีการแบ่งแยกบริษัทโครงข่ายออกจากบริษัทที่ให้บริการซึ่งทำให้เกิดความได้เปรียบผู้แข่งขันรายอื่น นอกจากนี้ พรบ ทุนรัฐวิสาหกิจ มุ่งเน้นไปที่การแปลงสภาพ รัฐ ให้กลายเป็นเอกชน โดยไม่คำนึงถึงการสร้างตลาดและการแข่งขันในกิจการที่มีโครงข่ายที่มีเทคนิกพิเศษต่างๆมากมาย ภาคการเมืองยังขาดองค์ความรู้ในการมองระบบที่ควรจะเป็นจนนำไปสู่การออก กฎหมายและการสร้างกลไกการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ การกำกับดูแลยังคงมีความอ่อนแอทั้งระบบและนำไปสู่การสะสมทุนของพรรคการเมืองต่างๆที่นำมาใช้ผูกขาดอำนาจการเมืองอีกต่อหนึ่ง 3.3 โครงสร้างของกฎหมายภาษียังไม่สามารถนำไปสู่การมีรัฐสวัสดิการ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวอย่างของเยอรมนีนั้น เมื่อกลไกการแข่งขันทางการค้าดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการกำกับดูแลของหน่วยงานต่างๆ จะทำให้ จีดีพี ของประเทศมีปริมาณมหาศาล เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีการเก็บภาษีชนชั้นสูงกับชนชั้นกลางลดหลั่นลงมาในปริมาณที่มาก จนประเทศมีเงินมีสร้างระบบรัฐสวัสดิการ ในประเทศไทยเรามีการพูดถึงภาษีมรดกมานาน แต่ยังไม่มีการนำมาบัญญัติไว้ เนื่องเพราะชนชั้นสูง นายทุนพรรคการเมืองคงไม่ออกกฎหมายที่มีผลกระทบกับตนเอง ดังนั้นประเทศไทยเรานอกจากการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจแล้ว โครงสร้างกฎหมายภาษียิ่งทำให้การกระจายทรัพยากรต่ำลงไปอีก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นช่องทางให้ นายทุนผูกขาดทางการเมือง นำไปหาประโยชน์เชิงนโยบาย การปรับปรุงกฎหมายเรื่องนี้อย่างจริงจังจะทำให้ประเทศเกิดรัฐสวัสดิการที่วางอยู่บนเหตุและผล มากกว่าความรู้สึก 3.4 เศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจชุมชนยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน การพัฒนเศรษฐกิจไทยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาเน้นไปที่ เมือง และอุตสหกรรม จนทำให้ชุมชนท้องถิ่นเสียสมดุล อย่างไรก็ตามภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง แนวความคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจชุมชนกลับมามีอิทธิพลในสังคม จนมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามในทางกฎหมายนั้นยังไม่มีการกำหนดนิยาม ความหมายหรือแปรความหลักการดังกล่าวออกมาอย่างชัดเจน ต่างโดยสิ้นเชิงกับหลักการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาอย่างเป็นระบบ จนอาจกล่าวได้ว่า ในทางนิติบัญญัติแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจชุมชน ยังเป็นเรื่องที่ยังไม่มีพัฒนาการที่ชัดเจน แต่กิจกรรมต่างๆเป็นเรื่องในทางความเป็นจริง ( de facto ) มากกว่าการทำให้หลักการทางรัฐธรรมนูญเป็นจริงด้วยกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ นอกจากนี้วิถีการเพาะปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยวที่นำประชาชนไปผูกพันไปตนเข้ากับอุตสาหกรรมเกษตรที่มีต้นทุนการผลิตสูงยังคงเป็นปัญหาหลักที่เกษตรกรต้องพึ่งพาระบบใหญ่ การส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในระดับปัจเจกจะช่วยปลดแอกประชาชนออกจากการพึ่งพาระบบใหญ่ กฎหมายที่ปกป้อง คุ้มครอง ส่งเสริม แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจึงควรมีความชัดเจนมากกว่านี้ 4.ข้อเสนอแนะ 4.1 จัดตั้ง คณะกรรมการกำกับการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานระดับชาติแยกออกจากกระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่กำกับการแข่งขันทางการค้าในตลาดสินค้าและบริการต่างๆ 4.2 จัดตั้ง คณะกรรมการกำกับโครงข่ายสาธารณูปโภค มีหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการที่มีโครงข่ายพื้นฐานของรัฐ โดยยุบรวม กสทช เป็นกรรมการชุดหนึ่งในคณะกรรมการกำกับโครงข่ายสาธารณูปโภคนี้ 4.3 กิจการของรัฐที่มีการแปรรูปฯ ต้องมีการแยกบริษัทโครงข่ายฯออกจากบริษัทที่ให้บริการ โดยบริษัทโครงข่ายเป็นของรัฐภายใต้บังคับของมาตรา 84 ( 11 ) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บริษัทโครงข่ายและโครงข่ายสาธารณูปโภคในรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีการแปรรูปฯ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับโครงข่ายสาธารณูปโภค 4.4 ปฏิรูปกฎหมายภาษี เพื่อนำไปสู่การกระจายรายได้และสร้างรัฐสวัสดิการ 4.5 ส่งเสริมมาตรการทางกฎหมายที่สนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจชุมชน และ สิทธิชุมชน เคียงคู่กับ การปกครองส่วนท้องถิ่น

Saturday, March 10, 2012

บ้าจริง


ผมมาถึงมิวนิกราวเดือนเมษายนปี 2008 ในวันที่ฟ้าหม่นๆเหมือนวันนี้ในปี 2012

จิตใจของผมวุ่นวายสับสนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผมมาที่นี่ ไปที่โน้น ทำสิ่งต่างๆมากมาย

ชีวิตผมเหมือนเพิ่งคลานออกมาจากเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ที่ผมถูกเขย่าอยู่ในนั้นมาตั้งแต่ 2008

มันบ้าฉิบหายชีวิตนี้ พอได้สติผมเลยกลับมาที่ที่ผมเคยอยู่ ที่บล็อกแห่งนี้

มันเหมือนบ้านที่มุงด้วยฟางหลังเล็กๆที่ผมเคยอยู่

ให้ตายเถอะ ผมเหนื่อยสัตว์ๆ ที่เยอรมันผมแทบไม่ได้เป็นตัวของตัวเองเลย
หัวใจเย็นๆผมหายไปไหนไม่รู้ เหลือแต่ใจดวงร้อนๆผ่าวๆ

ภาษากวีของผมกลายเป็นภาษาแข็งๆ

ผมอ้วนขึ้นเป็นตัน

กลายเป็นคนใจร้อน

มองโลกในแง่ร้ายกว่าเดิมมาก

เอาชีวิตของผมคืนมา

ไร้รูป ไร้ตน พเนจร เจ้าสำราญ
กลายเป็น เรื้อนรูป แล้งตน คนจร เจ้าทุกข์ ไปเสียฉิบ

โอ้ มายกอด มายหลอดบุดดา

-----------------

อย่างไรก็ได้กลับมาบ้านแล้ว
พักสักแปปเดี็๋ยวคงดีเอง

บุญรักษา ชีวาสดชื่น