Friday, October 27, 2006

เมื่อนิติรัฐปะทะนิติโลก


16 ตุลาคม 2549 11:46 น.

"...ปัญหาคือธุรกิจในเครือชินคอร์ป มาจากการรับสัมปทานจากรัฐ...แต่ต้องไม่ลืมหลักทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้จะทำกำไรได้ก็ต้องอยู่ในขอบเขต แต่การโอนหุ้นชินให้เทมาเส็ก ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ซ้ำยังผิดกฎหมายหลายฉบับอย่างชัดเจน"

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : * ปกรณ์ พึ่งเนตร
-------------------
หากยังอยู่ในบรรยากาศการชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เหมือนเมื่อหลายเดือนก่อน ข่าวศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม รับฟ้องในคดีที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต ขอให้ศาลมีคำสั่งไปยังหน่วยงานภาครัฐให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานของกิจการในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น หลังเทขายหุ้นล็อตใหญ่ให้กับกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ คงกลายเป็นข่าวใหญ่และเรียกเสียงเฮได้ลั่นท้องถนน
แต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน ทำให้กระแส "รุกไล่" พ.ต.ท.ทักษิณ คลายตัวลง และข่าวนี้ก็กลายเป็นข่าวเล็กๆ ที่ประดับอยู่บนหน้า 1 หนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับเท่านั้น


อย่างไรก็ดี การยื่นฟ้องบริษัทยักษ์ใหญ่ของตระกูลนายกรัฐมนตรี โดยนักกฎหมายรุ่นใหม่วัยเพียง 28 ปี อย่าง นายศาสตรา โตอ่อน อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจศึกษาไม่น้อย โดยเฉพาะกับมุมมองและกระบวนการคิดของเขา กับความหาญกล้าท้าทายอำนาจด้วยตัวบทกฎหมาย ในห้วงที่บารมีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังฉายแสงปกคลุมอยู่ในประเทศนี้

"การฟ้องคดีของผมคือการขออำนาจศาลเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะจากทุนโลกาภิวัตน์" ศาสตรา ซึ่งออกตัวว่าเขาคือศิษย์เก่าสวนกุหลาบ สถาบันเดียวกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เอ่ยขึ้นนำ

เขาอธิบายว่า กระแสโลกในปัจจุบันคือโลภาภิวัตน์ ซึ่งส่งผลให้เกิดระบบเชื่อมต่อของทุนนิยม ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของทุนอย่างขนานใหญ่ โดยจุดประสงค์ของโลกาภิวัตน์ก็คือทุนเสรี และทลายสิ่งกีดขวางที่ป้องกันการเคลื่อนย้ายของทุน

"ต้องยอมรับว่าเมืองไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะรับทุนเหล่านี้ได้ ทั้งในแง่ปัจจัยพื้นฐานและคน เพราะการเข้ามาของทุนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาทิเช่น ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต วิถีชุมชน และวัฒนธรรม"

ศาสตรา บอกว่า ทุนโลกาภิวัตน์ไม่สนใจกฎระเบียบ มีการใช้นอมินี ใช้ที่ปรึกษากฎหมายเพื่อชี้ช่องจัดการทุกอย่าง เพื่อหวังผลอย่างเดียวคือกำไรสูงสุด

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเองก็มีระบบกฎหมายคุ้มครองกระแสรุกคืบของทุนเหล่านี้ ได้แก่รัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ โดยหลักการของกฎหมายมหาชนคือคุ้มครองปกป้องประโยชน์สาธารณะ เพื่อเป็นฐานการดำรงอยู่ของประเทศ และแม้กฎหมายมหาชนจะไม่มีประมวล แต่ก็แทรกตัวอยู่ในกฎหมายฉบับต่างๆ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปจัดการดูแลผลประโยชน์ของสาธารณะ

"เมื่อแนวคิดโลกาภิวัตน์ไม่สนใจกฎระเบียบ ขณะที่บ้านเราก็มีกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ จึงเกิดการปะทะกันระหว่างนิติโลกกับนิติรัฐ บางคนบอกว่านิติรัฐไม่มีอีกแล้วในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ผมอยากจะบอกว่าการฟ้องคดีของผมก็คือการยืนยันว่านิติรัฐยังมีอยู่"

ศาสตรา อธิบายต่อว่า กระบวนการโอนหุ้นชินก็คือหนึ่งในกระแสโลกาภิวัตน์ แต่ปัญหาก็คือ ธุรกิจในเครือชินคอร์ปมาจากการรับสัมปทานจากรัฐ ซึ่งรากเหง้าของสัญญาสัมปทาน ก็คือประโยชน์สาธารณะที่รัฐยังไม่อาจทำเองได้ จึงให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานไปทำแทน

"แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมหลักของมัน คือต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้จะทำกำไรได้ ก็ต้องอยู่ในขอบเขตการปกป้องประโยชน์สาธารณะ แต่การโอนหุ้นชินให้เทมาเส็กไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ซ้ำยังผิดกฎหมายหลายฉบับอย่างชัดเจน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า การโอนกิจการต้องได้รับอนุญาตจาก กทช."

ศาสตรา ชี้ว่า การโอนหุ้นชินไม่ได้ดำเนินการในกรอบคิดของการเป็นกิจการที่รับสัมปทานจากรัฐเลย คิดแต่ว่าเป็น Freedom of Contract ซึ่งมันเป็นหลักการระหว่างเอกชนกับเอกชน จึงส่งผลให้สัญญาสัมปทานไม่ชอบด้วยกฎหมาย

"จริงๆ เรื่องนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของหน่วยราชการที่ต้องยกเลิกเพิกถอน เมื่อหน่วยราชการไม่ทำ ผมจึงต้องทำเอง"

เมื่อถามถึงแนวโน้มของคดี ศาสตรา ออกตัวว่า ไม่อยากพูดไปล่วงหน้า แต่ก็มั่นใจในข้อกฎหมายเต็มร้อย ที่สำคัญคือหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับฟ้องคดี เขาได้รับจดหมายจากที่ปรึกษากฎหมายในสิงคโปร์ เรียกร้องให้ไปตรวจสอบบริษัทอื่นๆ ด้วย

"ผมตอบกลับไปว่าไม่ใช่หน้าที่ผม เพียงแต่กรณีของหุ้นชิน เจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำงาน ผมจึงต้องยื่นฟ้องแทน แต่ก็น่าสังเกตว่าประเด็นนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ปรึกษากฎหมายของสิงคโปร์ก็ยอมรับแล้วใช่หรือไม่ว่าการโอนหุ้นนั้นผิดกฎหมาย"

เมื่อถามถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากในที่สุดศาลปกครองสั่งให้เพิกถอนสัมปทานจริงๆ ศาสตรา บอกว่า มีอยู่ 3 แนวทาง คือ

1.เอกชนรายเดิมได้ประกอบกิจการต่อไป แต่แนวทางนี้มีเงื่อนไขว่า การทำผิดสัญญาของเอกชนต้องเกิดจากเหตุสุดวิสัยเท่านั้น
2.หน่วยงานราชการเข้าไปควบคุมกิจการเอง ด้วยการเข้าไปทำแทนเอกชนรายเดิม
และ 3.ยึดกิจการกลับมาเป็นของรัฐ แล้วให้รัฐเป็นผู้บริหารจัดการภายใต้โครงสร้างเดิมของบริษัท

"คดีนี้จะมีส่วนสำคัญมาก ผลของคำพิพากษาจะเป็นตัวชี้ขาดว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปในทิศทางใด" ศาสตรา ระบุ

ส่วนที่มองว่าการยึดสัมปทานกลับมา อาจทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายในสายตานักลงทุนต่างชาตินั้น ศาสตรา บอกว่า จริงๆ แล้วแม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นต้นตำรับของทุนนิยมเอง ก็ปฏิเสธบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคของตน

"กรณีตัวอย่างก็คือ การที่ซีนุก(ไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น) ที่รัฐบาลจีนถือหุ้นใหญ่ จะเข้าไปซื้อกิจการยูโนแคล บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ประกอบกิจการด้านพลังงานของอเมริกา แต่ถูกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติด้วยเสียงท่วมท้นคัดค้านการขายยูโนแคลให้กับซีนุก"

ศาสตรา บอกด้วยว่า จริงๆ แล้วคดีนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะเป้าหมายของเขาไม่ได้อยู่แค่การเพิกถอนสัมปทานกลุ่มชิน แต่เขามองไกลไปถึงการปฏิรูประบบกฎหมายของประเทศครั้งใหญ่ เพื่อผล 3 ประการ คือ

1.คัดกรองนักลงทุนต่างชาติไม่ให้เข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของไทย

2.สร้างตัวบทกฎหมายเพื่อลงโทษเอกชนที่หลีกเลี่ยงกฎหมายในการดำเนินธุรกิจอย่างเฉียบขาด

และ 3.สร้างเสริมกระบวนการตรวจสอบ โดยดึงสถาบันทางสังคมในประเทศไทยที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบให้มากที่สุด

"การสร้างเสริมการตรวจสอบโดยภาคประชาชนจะเป็นการขยายฐานตุลาการภิวัตน์ ทำให้ประเทศไทยสามารถยืนอยู่ได้ในกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะเราไม่สามารถไว้ใจการทำหน้าที่ของระบบราชการเพียงด้านเดียวได้อีกต่อไป ดังนั้นภาคประชาสังคมต้องช่วยกันตรวจสอบและนำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่คนไทยทุกคนเป็นหมาเฝ้าบ้านของตัวเอง"

5 comments:

Gelgloog said...

ภายใต้โลกแบบโพสต์ๆ เราคงหลีกเลี่ยงปรากฏการณ์แบบ 'ization' ได้ยากอะนะ

ที่สำคัญก็คือ เราจะพร้อมรับมันได้แค่ไหน??

ซึ่งถ้าอิงหลักจากการวิเคราะห์ขอบคุณเมฆ เราก็จะเห็นได้ว่ามันไม่พร้อมในหลายๆด้านอะนะ

สำหรับผมคิดว่าทุกอย่างมันมีดี มันมีเลว มันเหมือนเป็นเหรียญสองด้าน ตรงนั้นมันก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเราจะเปิดรับไอ้ที่ดีๆได้แค่ไหน และจะปิดป้องไอ้ที่มันเลวได้มากมั้ย

ถ้ารับมาซี้ซั๊ว อันนี้ก็ตัวใครตัวมันหละท่าน

Anonymous said...

At 5:20 AM, Crazycloud said...
ยอดคนในเมืองไทย ขวัญใจผมมีห้าคน
๑.ในหลวง ร.๙
๒.ในหลวง ร.๕
๓.หลวงพ่อพุทธทาส
๔.มรว.คึกฤทธิ์
๕.ปรีดี พนมยงค์

ยอดคนของโลก ขวัญใจผมห้าคน

๑.พระพุทธเจ้า
๒.คานธี
๓.เมฆบ้า อิคคิวซัง
๔.เช กูว่าร่า
๕.ขงเบ้ง

กู said
ยอดคนในเมืองไทย ที่ผมอยากปาขี้มี 5 คน
1. นายศาสตรา
2. นายเมฆบ้า
3. นายอิคคิวซัง
4. นายทักษิณ
5. นายสนธิ

crazycloud said...

โยกซ้าย โยกขวา โยกซ้าย โยกขวา

โยกคอมมิว โยกเสรี โยกคอมมิว โยกเสรี

มหกรรมหลบขี้ เปรต โมหะ ขอรับ

เอ้า โยกซ้าย โยกขวา เอ้าคุณทักษิณระวัง

ว้าย คุณสนธิ หน้าเหลืองเลย ไม่ใจ๋ นั่นผ้ากู้ชาติ

Anonymous said...

ขำดีว่ะ ผมว่า คุณเมฆบ้านี่บ้าดีจริง ชอบ ชอบ !

Anonymous said...

หล่อ หล๊อ หล่อ หล๊อ หล๊อ หล่อ

แหม รูปคุณศาสตรา นี่ช่างหล่อจริงๆ นะคะ
(หล่อไม่เสร็จเหมือนเสาโฮปเวลล์เลยคะ)

คนรักศาสตรา
www.sartra-lover.com