Sunday, June 28, 2009

เกร็ดในระบบกฎหมายสื่อเยอรมนี ต่อกรณีบทบาทสื่อไทย


ผู้เขียนได้มีโอกาสมาพำนักอยู่ในประเทศเยอรมนี และได้มีโอกาสพลิกค้นตำรับตำราเกี่ยวกฎหมายสื่อของเยอรมนี จนค้นพบว่าระบบกฎหมายสื่อของเยอรมนีมีประเด็นที่น่าสนใจศึกษาอยู่มากมาย และประเด็นทางกฎหมายเหล่านั้น น่าจะนำไปสู่การขบคิดพิจารณาเพื่อหาคำตอบสำหรับบ้านเราได้ไม่มากก็น้อย

บทบาทของสื่อไทยกำลังเผชิญความท้าทายอย่างใหญ่หลวงในภาวะบ้านเมืองที่เกิดวิกฤตไม่หยุดหย่อน จนผู้เขียนเห็นว่า “ ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกิดจากภาวะ วิกฤตที่สุด ( Chaos ) ของสื่อไทย” ซึ่งภาวะวิกฤตดังกล่าวมีสาเหตุมาจากบทบาทหน้าที่ของสื่อเอง ผู้ให้สัมภาษณ์ กระทั่งบทบาทที่ผิดพลาดของรัฐในการควบคุมสื่อ กรณีที่ผู้เขียนพยายามหยิบยกประเด็นในระบบกฎหมายสื่อของเยอรมนี ( Medienrecht) ก็เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้โปรดพิจารณาทบทวนบทบาทของตนและเข้าทำการคลี่คลาย Chaos สื่อ เพื่อคลีคลาย Chaos ทางการเมืองได้ต่อไป

กรณีความผิดฐานเผยแพร่ความคิดเห็นทางการเมืองที่เป็นอันตรายต่อระบบประชาธิปไตย
ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนีเป็นประเทศที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้สื่อเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของพรรคนาซีสมัย อดอฟ ฮิทเล่อ เรืองอำนาจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดการใช้กลยุทธ์โฆษณาประชาสัมพันธ์นโยบายชาตินิยมสุดขั้วผ่านทางสื่อที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น การตระหนักถึงความร้ายแรงของการใช้สื่อจนนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้หล่อหลอมหลักกฎหมายอาญาของเยอรมนีไว้ในมาตรา ๘๖ ของประมวลกฎหมายอาญา ( Strafgeseztbuch ) ในฐานความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่วาระทางการเมืองขององค์กรทางการเมืองที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ( Verbreiten von Propagandamitteln verfassungwurdriger Organisationen) เช่น วาระทางการเมืองของพรรคนาซีเยอรมนีเป็นต้น ฐานความผิดดังกล่าวแสดงออกอย่างชัดเจนว่า สื่อไม่ได้เป็นช่องทางที่เปิดกว้างที่ใครก็สามารถแสดงความคิดความเห็นได้ทุกอย่างโดยไม่มีขอบเขต
ปัญหาที่ต้องพิจารณาตามมา คือ ขอบเขตในการแสดงความคิดเห็นนั้นดำรงอยู่ในแต่ละประเทศแต่ละสังคมอย่างไร ต่อกรณีความผิดอาญาตามมาตรา ๘๖ ของประมวลกฎหมายอาญาเยอรมันนั้น หากใช้มุมมองในเชิงสังคมวิทยากฎหมายจะพบว่า ฐานความผิดดังกล่าวเกิดขึ้น จากประสบการณ์ของสังคมเยอรมนีที่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ผลของการใช้สื่อเพื่อโฆษณาความคิดความเชื่อผิดๆของพรรคนาซี นั้นส่งผลกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด ด้วยเหตุนี้ความผิดฐานดังกล่าวจึงถูกบัญญัติไว้ในหมวดความผิดว่าด้วย “การกระทำอันเป็นผลกระทบต่อนิติรัฐและประชาธิปไตย” ( Gefaerdung des demokratischen Rechtsstaates) อันเป็นความผิดที่มีลักษณะเฉพาะตัวในสังคมเยอรมันที่ไม่มีเหมือนชาติอื่น เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการบัญญัติความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ก็ด้วยเหตุผลทางสังคมวิทยาและอุดมการณ์เฉพาะของประเทศไทย คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งก็เป็นอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลกที่สืบสายมาจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ดังนั้น งานทางนิติศาสตร์ของนักนิติศาสตร์และบรรดานักวิชาการไทยสายก้าวหน้าในความพยายามที่จะล้มล้างบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แท้จริงจึงหาใช่งานในทางนิติศาสตร์โดยแท้ไม่ แต่กลับเป็นงานในทางการเมืองในการเปลี่ยนความคิดความเชื่อของประชาชนที่ยืนอยู่บนอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เสียมากกว่า

หรือ กระทั่งความพยายามในการโจมตีล้มล้างองค์กรหรือสถาบันทางรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่ม คือ ข้อเท็จจริงที่สื่อต้องพิจารณาถึงบทบาทของตนในการที่จะต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของการเผยแพร่อุดมการณ์ที่ขัดต่ออุดมการณ์ของประเทศ ในขณะเดียวกันบทบาทของรัฐในการเข้าไประงับยับยั้งการใช้สื่อเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ต่างๆที่ขัดต่ออุดมการณ์ของประเทศแท้จริงเป็นหน้าที่โดยชอบธรรมหาใช่การแทรกแซงสื่อแต่อย่างใด

กรณีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเยอรมนีมาตรา ๘๖ และความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แสดงออกอย่างชัดเจนว่ากฎหมายได้ทำหน้าที่จัดวางบทบาทของสื่อต่อกรณีการกระทำที่เป็นอันตรายต่ออุดมการณ์ของประเทศ ดังนั้น สื่อจึงมีบทบาทเชิงรุกไปกระทำการ โดยการไม่เผยแพร่ความคิดใดที่ขัดต่ออุดมการณ์ของชาติ มิใช่ทำหน้าที่ผู้รายงานคำพูดของผู้ให้สัมภาษณ์ฝ่ายต่างๆโดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์และความถูกต้อง และในขณะเดียวกันรัฐเองก็ต้องรู้หน้าที่ของตน มิใช่ในฐานะผู้ร่วมรบในสงครามข่าวสาร หากแต่ผู้ดูแลรักษาอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในการเข้าไปจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อด้วยมาตรการทางกฎหมายที่ถูกต้องและได้สัดส่วน

บทบาทของสื่อสารมวลชนและของรัฐต่อ ความจริงแท้ของข้อมูล ที่เผยแพร่ผ่านสื่อ
ในระบบกฎหมายสื่อเยอรมนี สิทธิและเสรีภาพของสื่อต้องมีขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ ( Informationsinteresse der Allgemeinheit : Public Informationsystem ) ข้อมูลสาธารณะที่สื่อนำเสนอจะเป็นเครื่องมือที่ประชาชนใช้ในการกำหนดการตัดสินของตนในหลายๆด้านมิใช่เพียงแต่เพียงในทางการเมือง เช่น การเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นหากข้อมูลสาธารณะเป็นข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพการดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
มาตรา ๕ วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญเยอรมนี ได้บัญญัติรับรองสิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น (Meinungsfreiheit,Freedom of Speech) ซึ่งการแสดงความคิดเห็นของประชาชนนั้นนอกจากจะถือเป็นสิทธิมนุษยชน ( Menschenwuerde : Humanright) แล้วยังถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีความเกี่ยวโยงกับสิทธิและเสรีภาพของสื่อ เพราะข้อมูลสาธารณะที่ถ่ายทอดผ่านสื่อย่อมต้องมีที่มาจากพูดคุย แสดงความคิดเห็นของประชาชน ทั้งประชาชนทั่วไป และผู้ที่เป็นแหล่งข่าว
ในระบบกฎหมายสื่อเยอรมนี สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนประกอบไปด้วย สิทธิในการสร้างความคิดเห็นของตนเอง ( Meinungbildung ) และ การแสดงความคิดเห็นออกมาให้ปรากฏ ( Meinungsaeusserung) คุณค่าของคำพูดไม่ใช่สิ่งสำคัญ การแสดงความคิดเห็นทุกอย่างต้องได้รับการปกป้อง อย่างไรก็ตามพรมแดนแห่งสิทธิที่ได้รับการคุ้มครอง (Schutzbereich ,sphere of right) ไม่รวมไปถึง การพูดโกหก ต่อสื่อสาธารณะ
กรณีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ( Bundesverfassungsgericht ) ที่สำคัญ อาทิ คดี Sterbehilfe , คดี Auschwitzluege และคดี Bayer-Aktionaere โดยศาลรัฐธรรมนูญฯได้วางหลักการไว้ว่า “ ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง หรือ ข้อมูลที่ผิดพลาด ไม่อยู่ในพรมแดนแห่งสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ”
เมื่อพิจารณาการแปลความของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี อาจนำไปสู่ข้อสรุปว่า “ การแสดงความคิดเห็นหรือข้อมูลของประชาชนไม่ว่าจะในสื่อสาธารณะหรือไม่ จะได้รับการคุ้มครองก็ต่อเมื่อ ความคิดเห็นนั้นเป็นความจริง ไม่มีการโกหก” ดังนั้นบทบาทของสื่อที่ถูกต้องจะต้องคัดกรองข้อมูลและชี้ขาดกับสังคมผ่านการรายงานข่าวสารว่า ข้อมูลความจริงเป็นเช่นใด มิเช่นนั้น ผลร้ายแรงที่ตามมา คือ ผลประโยชน์ของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ ( Informationsinteresse der Allgemeinheit: Public Informationsystem) จะถูกกระทบกระเทือนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบนำไปสู่การตัดสินใจกำหนดชะตาชีวิตของตนในสังคมตลอดจนอุดมการณ์ทางการเมืองที่ผิดพลาด และความวุ่นวายทางการเมืองก็จะตามไม่หยุดหย่อนจากความคิดความเชื่อที่ผิดของประชาชนที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของ “การโกหก” ซึ่งผิดทั้ง ศีลธรรม ศาสนธรรม และหลักการที่ชอบธรรมแห่งกฎหมาย

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเห็นว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆผ่านสื่อเป็นสิ่งที่ชอบธรรมที่ประชาชนสามารถกระทำได้ แต่การแสดงความคิดความเห็น ต้องไม่กระทบต่ออุดมการณ์ของประเทศชาติ ซึ่งมีกฎหมายคอยปกป้องรักษาอุดมการณ์เหล่านั้นอยู่ ในขณะเดียวกัน การแสดงความคิดเห็นต้องยืนอยู่บนฐานความจริง ซึ่งจะส่งผลดีต่อข้อมูลสาธารณะที่มีความเที่ยงแท้แน่นอน และประชาชนสามารถนำไปใช้ตัดสินใจกำหนดชะตาชีวิตของตนได้

สื่อสารมวลชน รัฐ ประชาชน จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของระบบข้อมูลข่าวสารสาธารณะให้ดี เพราะในยุคข้อมูลข่าวสารครอบโลก ข้อมูลเป็นตัวกำหนดความคิด ทิศทาง การขับเคลื่อนของสังคม โดยเฉพาะสื่อ มิใช่จะนั่งคำนึงถึงแต่ อัตราการโฆษณา และปากท้องของตัวเอง แม้ว่าสังคมจะเป็นที่ทางให้ทุกคนได้ทำมาหากิน แต่สำหรับสื่อ การคำนึงถึงแต่การหากินนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม มิเช่นนั้น พระสงฆ์อาจจะออกมากบอกได้เช่นกันว่า อาตมาบิณทบาตรหากินไปวันๆ หากเป็นเช่นนั้น ใครกันจะสอนธรรมะของพระพุทธเจ้าให้ลูกหลานเรา และโลกของเราคงไม่ใช่โลกมนุษย์ แต่เป็นโลกของ คน ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่มีหน้าที่ ทำมาหากิน เท่านั้น

ศาสตรา โตอ่อน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

4 comments:

มด / เกอเธ่ said...

ชอบครับ อ.โต อ่านแล้วได้ความรู้ดี

อยากอ่านที่อ.เขียนเกี่ยวกับ ระบบกฎหมายของเยอรมันอีกอ่ะครับ

crazycloud said...

มด เหรอ สบายดีเปล่า ไม่ค่อยได้ทักใน Hi5 ตอนนี้อยู่ เยอรมัน หรือ สวิส ครับ

มด / เกอเธ่ said...

กลับไทยมาแล้วครับ
เพิ่งกลับมาช่วงสิ้นปี
เห็นพี่จิ๊ดก้อกลับมาแล้วนี่ครับ
ไว้อ.โตกลับมาไปบริกบาร์กันๆๆ

อยากรู้เรื่องเมฆบ้าที่อ.ใช้เป็นนามปากกา เลยไปหาซื้อหนังสือ เมฆบ้า เซนนอกรีต ขบถ และนักปฏิรูป มา
ทึ่งเหมือนกันว่า อิกคิวซัง ที่เคยดูการ์ตูนกันตอนเด็กๆสามารถนอกกรอบได้ขนาดนั้น เคยอ่าน นิกานเซนของ มรว.คึกฤทธิ์ (เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง) ก็ยังไม่หลุดโลกขนาดนี้เลย....

ปล. แล้วอ.โตต้องเรียนอยู่ที่นู้นอีกนานไหมครับ มดกลับมาก็ทำงานเลย เหนื่อยมากก อยากมีอารมณ์หลุดพ้นอะไรบ้าง แต่บ่วงเยอะเลย ไหนจะเลี้ยงดูพ่อแม่ เลี้ยงแฟน กินเหล้า 555

crazycloud said...

อยากมีอารมณ์หลุดพ้น
๑.ห้ามอยากหลุดพ้น
๒.เห็นบ่วง

เมฆบ้า เซน เน้น การรู้ตัวเอง
ไม่เน้นธรรมะยืดยาด
เพราะ ธรรมะ คือ สภาวะในกายในใจ

มีสติ คือรู้กายรู้ใจ
มีปัญญา คือ ประจักษ์แจ้งว่า กายใจ เป็นไตรลักษณ์
คือ เปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) บีบเค้น (ทุกขัง) ไม่ใช่ตัวเรา (อนัตตา)

ห้ามเข้าใจ แต่ต้องรู้สึกในกายในใจ
ถ้าเข้าใจ มันเป็นแค่การทำงานของความคิดและสมอง

สั้นๆนิ