Tuesday, October 31, 2006

การปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์ : บริบทที่แตกต่างจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑

การปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์ : บริบทที่แตกต่างจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑

ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ จำวันที่ไม่ได้

นักวิชาการหลายท่านได้เริ่มออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองผ่านกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเริ่มขึ้น แต่ละท่านก็มีหลักการพื้นฐานในการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้แตกต่างกันออกไป บางท่านก็เสนอแนะให้มีการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาเป็นหลักการในการพิจารณาแก้ไข บางท่านก็เสนอแนะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางท่านก็เสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยเน้นให้น้ำหนักไปที่ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และหลักวิชา ซึ่งทั้งหมดพอจะสรุป หลักการเบื้องต้นที่ใช่ในการพิจารณาทั้งสิ้น สามหลักการ คือ การอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญฉบับเดิม การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการร่างรัฐธรรมนูญโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์

หลักการทั้งสามเป็นหลักการที่มองถึงกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยที่ต้องมีการผสมผสานหลักการทั้งสามเข้าด้วยกันอย่างมีดุลยภาพ เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิมก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มีคุณภาพในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังปฏิเสธไม่ได้อีกถึงการรับฟังความคิดความเห็นของประชาชนในเชิงลึกซึ่งจะนำไปสู่การได้ข้อมูลพื้นฐานประกอบการร่างรัฐธรรมนูญที่มีคุณภาพ และเราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การร่างรัฐธรรมนูญเป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพิเศษ จึงจำเป็นต้องอาศัยนักกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน

นอกจากการประสานหลักการทั้งสามเข้าด้วยกันในการปฏิรูปการเมืองแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมีความเป็นห่วง คือ กระบวนการในการพิจารณาทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นในบริบทสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า เรากำลังอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งโดยหลัก “อิทัปปัจจยตา” แล้ว โลกาภิวัตน์ย่อมส่งผลกระทบถึง ระบอบทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และบริบทอื่นๆแทบจะทุกมิติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การทบทวนดังกล่าว เราต้องมีความเข้าใจพื้นฐานก่อนว่า รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่ไม่อาจแยกขาดจากบริบทต่างๆที่ความสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง และพึงตั้งสติให้มั่นว่า การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๓๘ เป็นการปฏิรูปการเมืองที่ยืนอยู่ในบริบททางสังคมที่แตกต่างไปจากการปฏิรูปการเมืองในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้การทำความเข้าใจบริบทการเมืองที่มีความแตกต่างกันของการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ กับการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สังคมทุกภาคส่วนจะต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องแรก ก่อนที่จะทำการปฏิรูปการเมือง ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการผสมผสานหลักการสามประการข้างต้น และต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า รัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมาย เป็นเพียงสถาบันทางสังคมอย่างหนึ่งในบรรดาสถาบันทางสังคมอื่นๆ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหาสังคมควบคู่ไปกับเครื่องมือทางสังคมชนิดอื่นๆ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวจะทำให้เรามองสังคมในภาพรวมได้ออก และจะได้จัดวางตำแหน่งแห่งที่ ของรัฐธรรมนูญ สถาบันที่รัฐธรรมนูญก่อตั้ง ตลอดจนกระบวนการในรัฐธรรมนูญ ได้อย่างถูกต้องตามความจริงและสอดคล้องกับบริบทสังคมนั่นเอง

การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ : กับการเกิดขึ้นของภาคการตลาดในยุคโลกาภิวัตน์
กำเนิดของการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ มีจุดเริ่มต้นที่ต้องย้อนหลังกลับไปในสมัยรัฐประหารในปี พ.ศ.2534 โดย รสช. ซึ่งต่อมาเหตุการณ์ได้พัฒนากลายเป็น เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ.2535 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ถือได้ว่าเป็น ยุคเริ่มต้นของภาคการตลาดในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งในสมัยนั้นยังใช้คำว่าโลกานุวัตรอยู่ ความเบื่อหน่ายทางการเมืองของประชาชนได้ก่อให้เกิดแรงขับดันกลายเป็น กระแสเรื่องการปฏิรูปการเมือง ที่รัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปะอาชา เป็นผู้นำทางการเมืองที่ปฏิบัติตามพันธะสัญญาทางสังคม จนในที่สุดประเทศไทยก็มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใช้ในปี พ.ศ.2540 พร้อมๆกับการเจริญเติบโตของภาคการตลาดโลกาภิวัตน์อันมี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำ ในนามอัศวินคลื่นลูกที่สาม

หากมองถึง กระบวนการปฏิรูปการเมืองในขณะนั้น จะพบว่าปัญหาสำคัญทางการเมืองมีอยู่มากมายหลายปัญหา ซึ่ง ศาตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้สรุปถึงบริบททางการเมือง ณ ขณะนั้นไว้ ว่าเป็นปัญหาที่ตัวแก่นกลางของอำนาจ ระหว่างอำนาจสามฝ่ายคือ อำนาจรัฐที่ใช้โดย “องค์กรทางการเมือง” อำนาจรัฐที่เป็นกลไกประจำในระบบราชการ และอำนาจที่ใช้โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในสภาพที่ไม่สมดุล ทำให้เกิดการขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ ต่างๆจนนำไปสู่ปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการปกครอง ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งทางออกที่สำคัญคือ การปฏิรูปการเมืองตามแนวทาง Constitutionalism โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างรัฐธรรมนูญที่เข้าไปจัดการความไร้เสถียรภาพ และการสร้างกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคพลเรือน

ด้วยเหตุข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นมรรคที่มีความสอดคล้องกับ ทุกข์ ทางการเมือง ณ ขณะนั้น จากแนวความคิดดังกล่าว ได้นำไปสู่การจัดทำรายงานการวิจัย เพื่อจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการเมือง ซึ่งเสนอต่อ คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ทั้งสิ้น 15 เรื่อง ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่มุ่งเข้าไปจัดการทำให้อำนาจมีเสถียรภาพ ตรวจสอบได้ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน จนในที่สุดแนวความคิดต่างๆที่อยู่ในการรายงานการวิจัยชุดดังกล่าว ก็กลายเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ที่มุ่งตอบคำถามและแก้ปัญหาในบริบทการเมือง ณ ขณะนั้น โดยที่สังคมไทยไม่อาจทราบได้ถึง การเจริญเติบโตของภาคส่วนใหม่ที่มีความร้ายกาจยิ่งกว่า ภาครัฐบาล (Government Sector)


การทุบทำลายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยภาคการตลาด (Market Sector) ที่ผสานตัวกับภาคการเมือง (Goverment Sector)

ในช่วงเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญฯสามารถแก้ปัญหา การเมืองเก่าได้ดีในระดับหนึ่ง มีนักการเมืองหลายท่านต้องเว้นวรรคทางการเมืองไปโดยผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมๆไปกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในหลายประการ ทั้งการเสนอร่างกฎหมายสู่สภา การเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การทำประชาพิจารณ์ และรัฐบาลก็เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น จากมาตรการสร้าง Strong Executive ซึ่งมาตรการสร้างเสถียรภาพเหล่านี้ สอดรับได้ดี กับการเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย ที่ต่อมาสามารถเอาชนะการเลือกตั้งด้วยนโยบาย “ประชานิยม” ซึ่งช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของพรรคด้วยการเอาชนะใจคนในระดับรากแก้ว พร้อมๆไปกับการได้รับเสถียรภาพทางการเมืองจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ณ ขณะนั้น คือ จุดเปลี่ยนและบททดสอบสำคัญของรัฐธรรมนูญและประเทศชาติ ที่ต้องแบกรับการบริหารประเทศโดย พรรคไทยรักไทย ที่ควบรวม ภาครัฐบาล (Government Sector) และภาคการตลาด (Market Sector) เข้าด้วยกัน และนั่น คือ บริบททางสังคมใหม่ ที่กำลังคืบคลานเข้ามาทุบทำลายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ในบทความเรื่อง ดุลยภาพทางสังคมกับการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ ผมได้กล่าวถึง ภาคการตลาด ว่ามีธรรมชาติพิเศษ คือ “ภาคการตลาดมีหน้าที่พิเศษที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ผลิตสินค้าและบริการเพื่อการจำหน่ายเพื่อสนองตอบต่ออุปสงค์และอุปทานของตลาด มีความสามารถพิเศษในการสร้างความมั่งคั่งด้วยวิธีการต่างๆไม่ว่าจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มของภาคตลาด ในยุคโลกาภิวัตน์ได้ก่อตัวจนกลายเป็น บรรษัทขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะผูกขาดทางเศรษฐกิจ ผูกขาดต้นทุนต่างๆกระทั่ง ต้นทุนทางวัฒนธรรมเหนือรัฐชาติ จนอาจกล่าวได้ว่า ภาคตลาด เป็นภาคที่ทรงพลานุภาพที่สุด ในสังคมโลกภิวัฒน์ เพราะภาคการตลาดมีความสามารถในการใช้พลังเงินตรา เข้าไปมีอิทธิพลเหนือ ภาครัฐบาลที่ฉ้อฉล กระทั่ง ภาคพลเรือนที่ไร้คุณภาพได้ไม่ยากนัก”

จากธรรมชาติดังกล่าว อาจสรุปได้อย่างตรงไปตรงมาว่า ภาคการตลาดมีธรรมชาติที่สำคัญ ดังนี้
ภาคการตลาด ขับเคลื่อนหน้าที่ของตนเองด้วย “ความโลภ”
ภาคการตลาด มีวิธีการดำเนินการของตนเอง ที่ไม่มีการคำนึงถึง คุณธรรม จริยธรรมทางสังคม และกฎหมาย หรือ อาจกล่าวได้ว่า จริยธรรมของภาคการตลาด คือ ความไม่มีจริยธรรมใดๆเลยก็ว่าได้
ภาคการตลาด มีความสามารถของพลังเงินตราในการควบรวม (Take Over) ภาครัฐบาล(Government) บนวัฒนธรรมอำนาจ และควบรวมภาคพลเรือน (Civil Sector) บนวัฒนธรรมอุปถัมป์ ได้ไม่ยากนัก

คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนดำรงอยู่ใน นโยบายทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้ปีกของ “พรรคไทยรักไทย” ทั้งสิ้น ซึ่ง ธรรมชาติเหล่านี้ได้แสดงอานุภาพในการบดขยี้ทำลายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างไม่มีชิ้นดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีหลักฐานยืนยันว่ารัฐธรรมนูญถูกทำลายแทบจะทุกหมวด เช่น

การละเมิดสถาบันกษัตริย์และศาสนาเป็นการทำลายรัฐธรรมนูญฯในหมวด ๑ และ ๒ เพราะ ภาคการตลาดไม่มีความสนใจสถาบันทางสังคมใดๆ นอกจากสถาบันแห่งเงินตรา และองค์กรโลกบาล

กรณีการหายตัวทนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีนโยบายฆ่าตัดตอน กรณีการสังหารประชาชนที่ตากใบ และกรือเซะ เป็นการทำลายสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญฯ หมวด ๓ เพราะภาคการตลาดชอบการสั่งการบังคับบัญชาที่เด็ดขาดเหมือนสั่งลูกน้องในบริษัท

กรณีการเลี่ยงภาษีของนายทักษิณ เป็นการทำลายหน้าที่ของชนชาวไทย ในรัฐธรรมนูญฯ หมวด ๔ เพราะภาคการตลาดคำนึงถึงแต่การลดต้นทุนการผลิต และการเลี่ยงภาษีก็เป็นวิธีการลดต้นทุนที่ภาคการตลาดทำอยู่เป็นประจำ

กรณีการซื้อรัฐสภา เป็นการทำลายสถาบันทางการเมืองในระบอบการปกครองแบบรัฐสภา ทำลายการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะภาคการตลาดคำนึงถึงการบังคับบัญชาแบบเบ็ดเสร็จในลักษณะของ CEO

กรณีการโกงการเลือกตั้ง เป็นการทำลายระบบการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง เพราะภาคการตลาด เป็นนักยุทธศาสตร์ที่มุ่งเอาชนะคะคานกันในทางธุรกิจที่แปลงรูปมาเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่มีเงินตราเป็นยุทธปัจจัยโดยไม่สนใจว่าวิธีการในการเอาชนะจะถูกต้องหรือไม่

กรณีการแทรกแซงองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นการทำลายระบบการตรวจสอบทางการเมือง เพราะภาคการตลาด เป็นภาคที่มุ่งเน้นความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการจึงไม่ต้องการการตรวจสอบที่เป็นการเพิ่มต้นทุนและถ่วงเวลาในการบริหาร

กรณีนโยบายผู้ว่า CEO และการไม่จ่ายเงินงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น เป็นการทำลายระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น และภูมิภาคอย่างยับเยิน เพราะภาคการตลาดมีระบบการบริหารที่มุ่งเน้นการสั่งการจากส่วนกลาง
กรณีการโอนสัมปทานให้กับสิงคโปร์ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นทำลายผลประโยชน์สาธารณะของภาคพลเรือน เพราะภาคการตลาดเป็นภาคที่ไม่มีความกตัญญูต่อแผ่นดิน ประชาชน และผลประโยชน์ของประเทศชาติ

สิ่งเหล่านี้ คือ ประจักษ์หลักฐานที่ชัดเจน ถึงซากปรักหักพังของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ถูกทุบทำลายอย่างไม่ชิ้นดี จาก พรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองที่มีกำเนิดจากภาคการตลาด ที่ไม่มีกฎหมายอยู่ในสายตา ที่ไม่คำนึงถึงสิ่งใด นอกกำไรสูงสุดของตนเองและพวกพ้อง ทั้งหมด คือที่มาของความล่มสลายของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มีต้นตอมาจากเลือดและน้ำตาของเหล่าวีรชนเดือนพฤษภา

บริบทสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์ : โจทย์ข้อใหญ่ในการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒

จากการรวบรวมข้อเสนอแนะของผู้เขียน ในรายงานการวิจัย เรื่อง การใช้และข้อค้นพบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้พบข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขและเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯอยู่มากมายหลายประการ ทั้งในส่วนของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ การปรับปรุงระบบการเลือกตั้ง การแก้ไขเรื่องการเป็นสมาชิกอย่างน้อย 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง การจัดระบบตรวจสอบถ่วงดุลใหม่ การแก้ไขเรื่องการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ และข้อเสนอแนะอื่นๆอีกมากมาย ผู้เขียนพบว่า ข้อเสนอแนะบางข้อเสนอ เป็นข้อเสนอโดยตรงจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน บางข้อเสนอเป็นข้อเสนอจากภาคประชาชน บางข้อเสนอเป็นข้อเสนอจากนักวิชาการ ซึ่งบรรดาข้อเสนอต่างๆเหล่านี้ ได้นำไปสู่คำถามสำคัญของผู้เขียนว่า ข้อเสนอต่างๆเป็นข้อเสนอที่วางอยู่บนพื้นฐานทางสังคมวิทยาการเมืองหรือไม่ หรือเป็นเพียงข้อเสนอที่ต้องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

หากคำตอบออกมาในกรณีแรกก็คงไม่มีปัญหาอะไรเพียงแต่ต้องคิดค้นและตั้งคำถามต่อไปมาตรการทางกฎหมายที่เสนอสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ถูกทุบทำลายโดยภาคการตลาดได้หรือไม่ แต่หากคำตอบออกมาในกรณีที่สองคือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ที่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ จะไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียน จึงมีความคิดว่า การปฏิรูปเมืองครั้งที่ ๒ ที่กำลังจะเกิดจะขึ้น ควรมีการพิจารณาบริบททางสังคมการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ให้แจ่มชัด ว่า ทุกข์ทางสังคมครั้งใหญ่ครั้งนี้มี สาเหตุ หรือ สมุทัย มาจากสิ่งใด เพื่อค้นหามรรควิธีที่สามารถแก้ปัญหาทางสังคมให้จงได้ ในเบื้องต้นผู้เขียนได้ค้นพบว่า สาเหตุหลักของปัญหาทางการเมือง คือ โลกาภิวัตน์ ที่มีภาคการตลาดเป็นตัวนำ ในการควบรวม ภาครัฐบาล และภาคพลเรือนที่อ่อนแอ ดังนั้นฐานคิดในเบื้องต้นในการปฏิรูปการเมือง และการบูรณะรัฐธรรมนูญ จึงมีโจทย์ที่ผู้เขียนโยนสู่สังคมให้ขบคิดทั้งสิ้นสามประการ คือ

๑.จะทำอย่างไรในการลดบาททางการเมืองของภาคการตลาดโลกาภิวัตน์ ในการเข้าควบรวม ภาครัฐบาลและภาคพลเรือน
๒.จะทำอย่างไรในการเปลี่ยนแปลงบทบาทของภาครัฐบาลที่ต้องทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าผลประโยชน์ของภาคการตลาด
๓.จะทำอย่างไรให้ภาคพลเรือนสามารถมีส่วนในการป้องกันตนเองจากภาครัฐบาลและภาคการตลาด และเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในทางความจริงให้มากที่สุด
๔.จะทำอย่างไรในการวางสิ่งกีดขวางทางกฎหมายและสถาบันทางสังคมอื่นๆเพื่อป้องกันการท่วมทะลักของโลกาภิวัตน์ในระบบโลก
๕.จะทำอย่างไรให้ ภาคพลเรือน ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ขึ้นเป็นผู้นำเหนือภาครัฐบาล และภาคการตลาดได้อย่างแท้จริง

หากการปฏิรูปการเมืองไม่อาจตอบคำถามหรือแก้โจทย์ทั้งห้าข้อได้ ผมคิดว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในครั้งนี้ จะไม่มีคำตอบให้กับการดำรงคงอยู่ของประเทศชาติ อย่างแน่นอน นอกจากนี้หากพิจารณาตามหลักอริยสัจ ๔ ประการแล้ว การไขโจทย์ทั้ง ๕ ข้อ คือ เทียนส่องให้เห็นภูมิประเทศทางสังคม เพื่อก้าวเดินสู่ การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า การอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญฉบับเดิม การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการร่างรัฐธรรมนูญโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ที่มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนอไว้แล้ว


ศาสตรา โตอ่อน
เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง






8 comments:

Anonymous said...

๑.การลดบทบาทภาคการตลาดในทางการเมือง น่าจะหาวิธีลดต้นทุนทางการเมือง (Political Transaction) เพราะต้นทุนทางการเมืองที่เป็นอยู่มีราคาแพงมาก
ถ้าจะลงเลือกตั้ง ก็ต้องใช้เงินมหาศาล
ถ้าเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ก็ต้องใช้คนถึง 50,000 คน

๒.ส่วนมาตรกรการป้องกันกระแสโลกาภิวัฒน์ ดูเป็นเรื่องยาก เพราะหลายเรื่องเราผ่านขั้นตอนที่ต้องป้องกัน มาถึงระยะที่ต้องแก้ไขแล้ว

crazycloud said...

ต้นทุนทางการเมืองที่แพง คือ หนทางในการสกัด คนรุ่นใหม่ทีอยากทำงานเพื่อชาติไปจำนวนมากมาย

ถ้าลองไปดูที่ต่างจังหวัดจะพบว่า ส.ส.คือผู้รับเหมา และส.ส.คนต่อมาก็คือลูกผู้รับเหมา

ผมว่าลองคิดแบบหลุดกรอบว่า จะลดต้นทุน หรือ ตัดต้นทุนอย่างไร

ผมเคยมีข้อเสนอบ้าๆ คือ ต้องจัดตั้งสถาบันอบรมผู้ที่อยากจะสมัครรับเลือกตั้ง ว่ต้องผ่านหลักสูตรการศึกษาสัก สามปี

ปีที่หนึ่ง ให้เรียนสรรพวิชา
ปีทีสอง ให้ไปฝึกงานกับภาคประชาชน ไปทำงานโรงงาน ไปทำนา ทำไร่
ปีที่สาม ให้ไปปฏิบัติธรรม เจริญภาวนา

หลังจากนั้น ถึงจะได้รับใบอนุญาต ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ถึงเวลานั้น ผมคนนึงคงต้องไปเข้าหลักสูตรกับเขา ไม่ใช่เพราะ อยากมีตำแหน่งทางการเมือง แต่ ต้องฝึกวิชาระงับโทสะเพิ่มเติมอีกหลายยก

Anonymous said...

Pretty good analysis. The Marget-driven politic is not only a problem in Thailand, but in the US and Europe as well. But their people (all) are more care about their right, and protect it.

Thai democracy is less efficiency because most Thai people are weak, including uneducation, compromise behavior, and corruption. (see more Fringer.org blog)

So the duty of the lawyers is making the law that can serve to all people, not only rich people, or educated people. It's not easy!!

Soulseeker said...

ปัจจัยก่อตั้งพลังทางการเมืองแนวนอนที่ไมเคิล ไรท์ เสนอไว้ในมติชนสุดสัปดาห์น่าสนใจยิ่งนัก

รากของเราคือการเมืองแนวตั้ง(จากบนลงล่าง จากล่างสู่บน)

แนวนอน(civil ที่ผู้เขียนพูดถึง)ร่อยหรอ หรือว่ากำลังก่อเกิดก็ต้องมีอำนาจแนวตั้งมาทำให้แท้งหรือแคระอยู่ร่ำไป

เริ่มต้นแบบง่ายๆที่สุดคือการเจรจา ให้ความหมาย กำหนดนิยามและสนับสนุน ให้แก่พลังภาคแนวนอน (พลังประชาชนนี่แหล่ะ)ให้มากที่สุด (เสียดาย "กระบวนการ"พันธมิตร-ที่มิใช่พันธมิตรโดยห้าคนนั่นนะครับ กำลังก่อร่างสร้างตัวโดยจุดยืนและตื่นตัวเรื่องประโยชน์ส่วนรวม มันกลับถูกแช่แข็งไปก่อน)

ประชาชนต้องมีawarenessเรื่องสิทธิก่อน แล้วเข้าจะร่วมตัวกันเพื่อสิทธิของเขา ไม่ใช่อุปถัมภ์นิยม

ส่วนตอนนี้ผมในฐานะชนชั้นกลางขี้บ่นฟูมฟาย ไม่ค่อยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อบ้านเมือง ก็ต้องภาวนาให้ผู้ใหญ่ใจดี(ขอให้เป็นอย่างนั้น) ที่มีอำนาจอยู่ในตอนนี้ทำให้ภาพที่สมควร รัฐธรรมนูญอันสมควรเกิดขึ้น

แต่สุดท้ายหากผู้คนไม่มีawarenessหรือว่า มีแต่ไม่มีช่องให้เข้าใช้สิทธิหรือรักษาสิทธิ

พัฒนา social instruments กันให้ตาย ผู้ใช้ไม่กล้าใช้ ใช้ไม่เป็น ก็ไร้ประโยชน์

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เมฆบ้าทำนั้นคือเมล็ดพันธ์ชั้นดีที่จะเสริมพลังภาคแนวนอนให้แข็งแกร่ง

ถ้าเสรีชน(ตามสมอ้าง) ไม่เข้าใจเมฆบ้า ก็ต้องยืนมองแล้วคอย

เพราะพายุทุนนิยม-บริโภคนิยม กำลังก่อตัว เป็นมหาวายุ เดี๋ยวพวกเราก็ต้องถูกพัดมาอยู่ที่เดียวกัน

ที่แนวรบแห่งทุนนิยมสามานย์กับกลุ่มพลังประโยชน์สาธารณะโหมรันกัน "พลเมืองโลก" กำลังก่อตัว มิได้จำกัดอยู่ที่ขอบเขตชาติ ศาสนา หรือสัฒนธรรม

ด้านหนึ่งไร้ราก แต่อีกด้านหนึ่งคือแนวร่วมของพลังที่กว้าง

แล้วคงต้องก่ออิฐก่อดินสร้างกันขึ้นมาใหม่กันเอง

Anonymous said...

คุณศาสตรา
คุณเสนออะไรเลื่อนลอยอีกแล้ว
ช่วยเสนอ "แนวทางการปฏิรูปตัวคุณเองหน่อย"

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงไท่ตกม้าตายคดีชินที่ศาลปกครองนะ 555

crazycloud said...

เมฆน้อยลอยอยู่บนฟ้า ลัน ลา ลัน ลา ลัน ลา

ถ้าคดีแพ้ ก็อุทธรณ์ซิครับ ถ้าแพ้อีกก็ต้องยอมรับ ว่าต่อไปนี้ ประเทศไทยได้กลายเป็นเมืองขึ้นของสิงคโปร์

Gelgloog said...

น่าสนใจดีครับ แม้มันจะไม่ใช่ของใหม่ แต่ก็เป็นของที่ไม่เคยเกิดขึ้นในบ้านเมืองเราเลย สุดท้ายแล้วภาพประชาธิปไตยในเชิงลึกที่มีภาคประชาชนในมุมกว้างมันจะเกิดหรือไม่ ก็ต้องวัดกันที่หลายๆอย่างหละ เดอะ โชมัสโ ปงลานสะออน เอ้ย โก ออน

แต่แน่นอนเลยว่าคงไม่เข้าหลักสูตรอบรมของคุณเมฆาแน่ๆ อันนี้คงไม่ว่ากันนะท่าน 555

crazycloud said...

ผมเป็นคนสุภาพ ฮา ฮา

ผมไม่ด่าใครหรอก เว้นไว้แต่เหลืออด โดยเพาะพวกปัญญาชนฝรั่งทั้งหลาย