Tuesday, May 15, 2007

กรณีภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม : กรณีรุมทึ้งประเทศไทย



นับแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ ภาคเศรษฐกิจไทยเกือบทั้งระบบได้กลายเป็นเพียง “แมวน้ำ” ใน “ดงฉลาม” เศรษฐกิจภาคแล้วภาคเล่าได้ตกอยู่ในอุ้งมือของนักไล่ล่าอาณานิคมชาวต่างชาติแทบจะเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน การธนาคาร ภาคอุตสาหกรรมหนัก ทั้งซีเมนต์ เหล็ก ปิโตรเคมี จนบรรดาตระกูลนายทุนไทยแทบจะสูญพันธ์ออกจากระบบเศรษฐกิจ เหลือรอดอยู่เพียงไม่กี่ตระกูล ซึ่งตระกูลที่เหลือรอดส่วนใหญ่ก็มักประกอบธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ในรูปแบบของการได้รับสิทธิสัมปทานจากรัฐ และบางตระกูลก็มีการหลีกเลี่ยงกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยการขายกิจการให้ต่างชาติทั้งต่างด้าวในแถบเอเซีย และยุโรป

ดังนั้นหากมองถึงผู้เล่นภาคเอกชนในกิจการโทรคมนาคมซึ่งแท้จริงมีสถานะเป็นเพียง ผู้ร่วมการงาน “บริการสาธารณะ”ตามสัญญาสัมปทาน เท่านั้น จะพบว่า มีผู้เล่นทั้งหมด กำลังสำแดงบทบาทรุกคืบเข้าครอบงำภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ภาคสุดท้ายที่ยังอยู่ในอาณัติของประเทศไทย ก็คือ ภาคโทรคมนาคม อันมีผลประโยชน์ของชาติและประชาชนสถิตย์อยู่มากมายมหาศาล

เมื่อวันอังคารที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐ คตส.ได้มีการนำเสนอความเห็นให้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ กับ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม ซึ่งกรณีดังกล่าว นอกจากแสดงออกถึงความไม่สุจริตของรัฐบาล ณ ขณะนั้น แล้ว กรณีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม โดยมีการออกมติ ครม.ตามหลังมาให้มีการหักภาษีสรรพสามิตฯออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องส่งให้กับรัฐวิสาหกิจ ยังเป็นการแสดงออกถึง ขบวนการรุมทึ้งประเทศไทย โดยองค์กรรัฐ องค์กรภาคเอกชนทั้งไทย และเทศ ทั้งที่มีฐานะถูกต้องตามกฎหมาย และผิดกฎหมาย ในการเข้าทำลายผลประโยชน์ในกิจการโทรคมนาคมอย่างอุกอาจ

๑. ลำดับขั้นตอนการรุมทึ้งกิจการโทรคมนาคม

ปี ๒๕๔๖ เป็นปีที่รัฐบาลทักษิณกำลังก้าวถึงจุดสุดยอดทางการเมือง โดยปีนั้นเป็นปีที่มีการประชุม APEC ซึ่งประเทศไทยรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพเพื่อต้อนรับบรรดาผู้นำจากต่างประเทศหลายสิบชีวิต นอกจากนั้นในปี ๒๕๔๖ ต้องถือว่าเป็นปีแห่งการเริ่มต้นการรุมทึ้งประเทศไทยในกิจการโทรคมนาคมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยขบวนการดังกล่าวดำเนินไปภายใต้ความร่วมมือของทั้งองค์กรในภาครัฐบาลและ ภาคเอกชน อย่างแข็งขัน โดยการกุมบังเหียนของผู้นำประเทศตามระบบการรวบอำนาจเข้าสู่ท่านผู้นำ ซึ่งขั้นตอนในการรุมทึ้งประเทศไทย มีจุดเกิดเหตุ ณ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)นั้น มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ ๑ การตั้งอัตราการเรียกเก็บภาษี เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๖ ครม.มีมติอนุมัติ พรก.ภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม โดยกำหนดในอัตราเพดานสูงสุดร้อยละ ๕๐ โดยไม่มีเหตุผลสมควรทั้งในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายภาษีอากร

ขั้นตอนที่ ๒ แปลงค่าสัมปทานเกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีโดยให้รัฐวิสาหกิจจ่ายภาษีแทนเอกชน ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖ ครม.มีมติอนุมัติการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของกิจการโทรคมนาคม ในกิจการโทรศัพท์พื้นฐาน จากรายรับจากการให้บริการโทรศัพท์ในประเทศ ร้อยละ ๒ และกิจการโทรศัพท์มือถือร้อยละ ๑๐ โดยให้เอกชนนำภาษีที่เสียหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องส่งให้กับรัฐวิสาหกิจตตามสัญญาสัมปทาน

ขั้นตอนที่ ๓ กำหนดแนวทางการรีดค่าสัมปทานจากรัฐวิสาหกิจ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ครม.มีมติกำหนดแนวทางการหักค่าภษีสรรพสามิตฯออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องส่งแก่รัฐวิสาหกิจ โดยในกรณีของโทรศัพท์พื้นฐาน ซึ่งรัฐวิสาหกิจเป็นผู้จัดเก็บรายรับจากค่าบริการ กำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องจัดส่งภาษีให้กับเอกชนเป็นผู้นำไปชำระ ส่วนกรณีโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายรับค่าบริการ กำหนดให้เอกชนหักภาษีสรรพสามิต ออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องส่งคืนให้รัฐวิสาหกิจ ซึ่งโดยสรุปทั้งสองกรณี คือ การกำหนดให้รัฐวิสาหกิจ ต้องเสียภาษีสรรพสามิตแทนเอกชน

ขั้นตอนที่ ๔ ซ้ำเติมโดยการรีดภาษีจากรัฐวิสาหกิจ พรก.ภาษีสรรพสามติกิจการโทรคมนาคมกำหนดให้ รัฐวิสาหกิจ เช่น ทีโอที ต้องเสียภาษีดังกล่าวตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้อีกด้วย กรณีดังกล่าว เท่ากับ ทีโอที ต้องเสียภาษีจากรายรับในกิจการที่ตนเอง และเสียภาษีแทนเอกชนไปพร้อมกัน โดยกรณีนี้ เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๘ กรมสรรพสามิตได้ตอบข้อหารือว่า “การที่ ทีโอที เป็นผู้ประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตหรือสัมปทานจากรัฐ จึงมีหน้าที่เสียภาษี” แต่กรณีเอกชนที่เป็นผุ้รับสัมปทานกลับให้รัฐวิสาหกิจเป็นผุ้เสียภาษีแทนซึ่งกรณีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อรัฐวิสาหกิจ คือ ทีโอที อย่างชัดเจน

ขั้นตอนที่ ๕ เอกชนที่ไม่เกี่ยวข้องโยนภาระภาษีให้กับทีโอที การหักค่าภาษีสรรพสามิตฯออกจากส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานนั้น นอกจากจะมีปัญหาความไม่เป็นธรรมแล้ว บริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญา กับ CAT ได้ฉวยโอกาสนำภาษีสรรพสามิตฯมาหักออกจากเงินค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (Access Charge) ที่ต้องส่งให้กับทีโอที ทั้งที่สัญญาการเชื่อมโยงโครงข่ายไม่ได้มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทานตามขอบเขตที่ มติ ครม.ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖ กำหนดไว้แต่ประการใด นับเป็นการฉวยโอกาสของภาคเอกชนที่ไร้จริยธรรมโดยสิ้นเชิง

ขั้นตอนทั้งห้าขั้นตอนที่ดำเนินไปนั้น ได้สร้างความเสียหายให้กับ ทีโอที เป็นจำนวนเงินมากมายมหาศาล แต่ก่อนที่เราจะไปพิจารณาว่าเกิดความเสียหายอะไรขึ้นบ้างนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นลำดับต่อไป คือ สถานะของมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖ และ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

๒.สถานะของมติคณะรัฐมนตรี กับการแปรสัญญาสัมปทานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หากพิจารณาโดยใช้มุมมองแบบนักกฎหมายบ้านเมือง (Positivism ) ถึงสถานะของ พรก.ภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม พรก.ดังกล่าวถือได้ว่ามีผลใช้บังคับ เนื่องจากได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยว่า พรก.ดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแต่ประการใด กรณีจึงส่งผลให้ ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานภาครัฐหรือ ภาคเอกชน มีหน้าที่จะต้องชำระภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมโดยถ้วนทั่ว และเสมอหน้ากัน ( Equality before The Law)
แต่ด้วยผลของมติ ครม.ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖ และ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖
ทำให้รัฐวิสาหกิจ คือ ทีโอที ต้องเป็นผู้แบกรับหน้าที่ในการชำระภาษีดังกล่าวแทนเอกชน โดยที่ ทีโอที ก็ต้องชำระภาษีในส่วนของตนเองด้วย กรณีดังกล่าวจึงเห็นได้ชัดว่า รัฐบาล ณ ขณะนั้น มีมติ ครม.ออกมา เพื่อทำลายล้างรัฐวิสาหกิจ และผลักดันประเทศให้มีการเปิดเสรีแก่ภาคเอกชน อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งๆที่ ประเทศไทยนั้นมีความผูกพันตามข้อตกลงการเปิดเสรีบริการโทรคมนาคมภายในสิ้นปี ๒๕๔๙ ตามกรอบข้อตกลงที่มีกับองค์การการค้าโลก (World Trade Organisation) เฉพาะกิจการ โทรเลข เทเล็กซ์ เท่านั้น กรณีการดำเนินนโยบายเปิดเสรีโดยใช้มติ ครม.แบบล้นเกินกว่ากรอบความผูกพันที่มีตามข้อตกลงระหว่างประเทศ จึงเป็นเครื่องแสดงออกถึง ความไร้อารยะธรรมในทางกฎหมายของรัฐบาลในห้วงปี ๒๕๔๖ อย่างชัดเจน
นอกจากการใช้มติ ครม.ดังกล่าวจะเป็นการดำเนินการแบบล้นเกินจากความผูกพันในทางระหว่างประเทศแล้ว หากพิจารณาถึงสถานะในทางกฎหมายของมติ ครม.จะพบว่า มติ ครม.แท้จริงแล้วไม่ได้มีสถานะเป็นกฎหมายแต่ประการใด ซึ่งส่งผลทำให้ มติ ครม.ไม่อาจมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของสัญญาสัมปทาน โดยการกำหนดให้นำภาษีสรรพสามิตไปหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ ที่เป็นข้อสัญญาข้อหนึ่งในสัญญาสัมปทานได้ ซึ่งการแก้ไขสัญญาสัมปทานนั้น จะทำได้ก็แต่โดยผลของกฎหมาย ซึ่งในที่นี้ก็ คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.๒๕๓๕ เท่านั้น

ดังนั้นหากพิจารณาถึงสถานะในทางกฎหมายของ มติ ครม.ดังกล่าว โดยสรุปจะพบว่า

๑.มติ ครม.ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖ และ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ไม่มีค่าบังคับเป็นกฎหมาย
๒.มติ ครม.ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖ และ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ มีผลเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของสัญญาสัมปทานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
๓.มติ ครม.ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖ และ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ได้ทำลายหลักการขั้นตอนในดำเนินการและบริหารสัญญาสัมปทานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.๒๕๓๕

ทั้งหมดแสดงออกถึง การใช้อำนาจรัฐแบบอุกอาจ การใช้ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจโดยขาดเหตุผลและนิติวิธี และยังเป็นเครื่องแสดงออกถึงไร้อารยะธรรมในการปกครองประเทศโดยหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน

๓.ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐวิสาหกิจ

กรณีการเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมได้สร้างความเสียหาย ต่อรัฐวิสาหกิจ คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดังนี้
๑.ภาระภาษีที่ ทีโอที ต้องชำระในนามของเอกชนคู่สัญญาสัมปทาน จำนวนทั้งสิ้น ๓๑,๒๓๑ ล้านบาท โดยแยกเป็น AIS จำนวน ๒๙,๑๒๑ ล้านบาท TRUE จำนวน ๑,๔๓๓ ล้านบาท และ TT &T จำนวน ๖๗๗ ล้านบาท
๒.ภาระภาษีที่ ทีโอที ต้องชำระในนามของตนเอง จำนวน ๗๓๕ ล้านบาท
๓.การสูญเสียรายได้จากค่า แอกเซสชาร์จ ที่คู่สัญญาสัปมทานของ บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำนวน ๖,๑๕๐ ล้านบาท โดยแยกเป็น DTAC จำนวน ๓,๖๕๕ ล้านบาท True Move จำนวน ๑,๖๑๐ ล้านบาท และ DPC จำนวน ๘๘๔ ล้านบาท
รวมความเสียหายทั้งสิ้น เป็นจำนวนเกือบ สี่หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินทั้งหมดที่สูญเสียไปได้ตกไปอยู่ในมือ ของบริษัทเอกชนที่ดำเนินการกิจการโทรคมนาคมแทบจะทุกบริษัท และยังเป็นผันแปรค่าสัมปทานเพื่อดูดกระแสเงินเข้าสู่ส่วนกลาง ที่มุ่งเน้นการบริหารงานแบบ CEO ที่สถาปนาระบบการควบคุมกระแสเงินสด เพื่อเอื้อประโยชน์ในทางการเมืองและเศรษฐกิจให้กับตนเองและพวกพ้อง พร้อมกับการทำลายรัฐวิสาหกิจอันเป็นสมบัติสาธารณะ

จากเหตุผลข้างต้น กรณีภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม จึงเป็น กรณีการรุมทึ้งประเทศไทย จากเหล่ากระสือทุนนิยมทั้งไทยและเทศอย่างเป็นระบบและขบวนการ และผลที่เกิดขึ้นสอดรับกับเอกสารวิจัยส่วนบุคคล ลักษณะวิชา การเศรษฐกิจ เรื่อง การแปรสัญญาร่วมการงานด้านกิจการโทรคมนาคม :กรณีศึกษาเฉพาะกลุ่มสัญญาบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และกลุ่มสัญญาบริการโทรศัพท์พื้นฐาน ของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐรัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ ๑๔ ผู้หนึ่ง อย่างแยกกันไม่ออก

๔.บทสรุป

กรณีภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมได้ให้บทเรียนที่สำคัญที่ทุกภาคทุกฝ่ายในสังคมไทยต้องเรียนรู้ถึง พิษภัยของการใช้อำนาจในทางกฎหมายโดยไม่ถูกต้องชอบธรรม การดำเนินนโยบายในทางเศรษฐกิจแบบล้นเกินกว่ากรอบข้อตกลงในทางกฎหมายระหว่างประเทศ การปล้นสดมภ์รัฐวิสาหกิจที่เป็นสมบัติสาธารณะ การสถาปนาระบบการควบคุมกระแสเงินสดเพื่อการใช้จ่ายงบประมาณในระบบ CEO อย่างไร้กรอบขอบเขต ซึ่งทั้งหมดอาจสรุปลงในคำไทยแท้สั้นๆ คือคำว่า “ โกง ” โดยเบื้องหลัง การ “ โกง ” อันสลับซับซ้อนผ่านตัวบทกฎหมายและมติ ครม. ย่อมมีนักกฎหมายรุ่นลายครามเป็นเงาทะมึนอยู่เบื้องหลัง และสิ่งคนไทยจะต้องเรียนรู้ คือ ประเทศแห่งนี้ คือที่ตั้งของ ซ่องโจรทางเศรษฐกิจแห่งวิทยาลัยทำลายอาณาจักร วิทยาลัยอันกว้างใหญ่และไร้ที่ทางสำหรับการบ่มเพาะเมล็ดพันธ์ทางศีลธรรม

4 comments:

Anonymous said...

หนักแน่น เจงๆ พี่กรู
ใจถึง ใจถึง

Anonymous said...

อาจารย์ศาสตรา เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับร่างหรือไม่ครับ เพราะเห็นนักวิชาการ 76 ท่าน ออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นชื่อท่านอาจารย์เลย และที่นักวิชาการไม่เห็นด้วยจะคว่ำร่าง ฯ ท่านว่าเป็นอย่างไร

crazycloud said...

ผมเคยเขียนบทความ การปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์จำนวน สี่บทความ เคยตีพิมพ์ในไทยโพสต์ ผู้จัดการ ในพับลอว์ และในบล็อกนี้

ลองอ่านดูก่อน แล้วจะพบคำตอบ

ของผม

Anonymous said...

อ่านแล้วครับ ไม่รู้เรื่องเลย ทำไงดี