Tuesday, October 03, 2006

ดุลยภาพทางสังคมกับการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์


ดุลยภาพทางสังคมกับการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์


ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ จำวันที่ไม่ได้

ผู้เขียนเป็นหนึ่งในหกนักวิชาการของเครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปรูปการเมือง ที่ได้ออกไปแสดงความคิดเห็นต่อต้านกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) โดยแสดงความคิดความเห็นคัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญฯที่จัดทำขึ้นโดยคณะนักกฎหมายของนายมีชัย ฤชุพันธ์อย่างเปิดเผย ต่อหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประเด็นต่างๆผู้เขียนเห็นว่าจะต้องมีการอธิบายข้อบกพร่องของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สังคมได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อจุดประสงค์บริสุทธิ์ คือ การให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) กลายเป็นหนทางไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง ให้จงได้ ซึ่งการพิจารณาการร่างรัฐธรรมนูญฯท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่สงบเรียบร้อยเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพิจารณากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปพร้อมกับการพิจารณาบริบททางสังคมควบคู่กันไป

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) กับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนทางสังคม

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีจุดเริ่มต้นจากสมัชชาแห่งชาติ 2000 คน ซึ่งมีวิธีการสรรหาจากระเบียบการสรรหาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากนั้นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติจะเลือกกันเองจนเหลือสมาชิก 200 คน โดยส่งรายชื่อให้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้คัดเลือกเหลือ 100 คน เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคู่ไปกับคณะกรรมาธิการยกร่าง ซึ่งมีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 25 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะมนตรีความมั่งคงเลือกจำนวน 10 คน ซึ่งจะทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะนำไปให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญพิจารณาเสนอความคิดเห็น ซึ่งท้ายที่สุดจะนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปให้ประชาชนแสดงประชามติ (Referundum)


เมื่อพิจารณาถึงองค์กรที่มีส่วนต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ จะพบว่า มีหลายองค์กรที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะผู้สร้างระเบียบการคัดสรรสมัชชาแหง่ชาติ สมัชชาแห่งชาติที่จะกลายร่างเป็น สภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ คปค.แต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ และประชาชน ซึ่งแต่ละองค์กรมีความสำคัญที่แตกต่างกัน
เมื่อพิจารณากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะพบว่าจุดสำคัญที่เป็นจุดชี้ขาดในเนื้อหาของการก่อร่างสร้างตัวของบทบัญญัติ มีอยู่หลายจุด ตั้งแต่


๑.การคัดสรรสมัชชาแห่งชาติซึ่งต้องมีการจัดทำบัญชีรายชื่อประชาชนจำนวน 2000 คน ว่าสมัชชาจะมีหน้าตาอย่างไร

๒.การคัดเลือกสมัชชาแห่งชาติกันเองจนเหลือ 200 คน จะมีการแทรกแซงด้วยอำนาจชนิดต่างๆหรือไม่

๓.จากข้อ ๑ และ ๒ จะส่งผลกระทบไปสู่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีรูปร่างหน้าตาแบบใด

๔.คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะมีรูปร่างหน้าตาแบบใด

จุดสำคัญเหล่านี้ คือ จุดยุทธศาสตร์สำคัญในการช่วงชิงพื้นที่ทางความคิด ที่ทุกภาคส่วนในสังคมควรให้การจับตามองว่า ประเทศไทยจะได้บุคคลจากภาคส่วนใด เข้าไปปฏิบัติภารกิจสำคัญนี้ ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจภาคส่วนทางสังคม (Sectors) บนบริบทแห่งโลกาภิวัตน์ ควบคู่ไปด้วย

ภาคส่วนทางสังคม (Sector) บนบริบทการเมืองแบบโลกาภิวัตน์

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่ การรัฐประหาร และการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) ในที่สุด มีต้นตอสำคัญมาจากการเสียสมดุลทางสังคมอย่างร้ายแรง ซึ่งมีโลกาภิวัตน์เป็นสาเหตุหลัก ดังนั้น การทำความเข้าใจภาคส่วนทางสังคมที่สำคัญในยุคโลกาภิวัตน์ จึงเป็นจุดตั้งต้นในการพิจารณาการปฏิรูปการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางใด ซึ่งสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์ไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตามประกอบไปด้วยภาคส่วนที่สำคัญสามภาคส่วน

ภาคพลเรือน (Civil Sector) ภาคประชาชน หรือ ภาคประชาสังคม ประกอบไปด้วยพันธมิตรของประชาชนในวงกว้าง ที่ทำหน้าที่ในการเรียกร้องสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะประชาชน ภาคส่วนเหล่านี้ จะมีความเข้มแข็งในการเรียกร้องสิทธิต่างๆเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้าง “คุณภาพของประชาสังคม” ไปพร้อมๆกับการขยาย “แนวร่วมของประชาสังคม” ซึ่งหากได้รับความร่วมมือที่ดี ก็จะกลายเป็น “ประชาสังคมคุณภาพ” ซึ่งมีพลังการเคลื่อนไหวทางสังคมในระดับสูงได้ หากภาคพลเรือน ไร้โอกาสในการเข้าถึงความรู้ และไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะเข้าใจความซับซ้อนของโลกาภิวัฒน์ ภาคพลเรือนก็จะเป็นได้แค่ พลังประชาชนที่กลายเป็นเหยื่อของโลภิวัฒน์ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ “อนาธิปไตย” หรือประชาชนบางกลุ่ม อาจถูกลดทอนคุณภาพจนกลายเป็นประชาชนใน “ประชาธิปไตยแบบรับจ้าง”ก็ย่อมได้

ภาครัฐบาล ( Government Sector) รัฐบาลเป็นภาคที่ภาคพลเรือนได้มอบอำนาจ เพื่อใช้อำนาจให้เกิดการบังคับการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในการรักษากฎหมาย ความมั่นคงของชาติ เก็บภาษีอากร จัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ซึ่งภาครัฐบาลนั้นหากหมดซึ่งความชอบธรรม ก็อาจถูกภาคพลเรือนเรียกคืนอำนาจได้ ทั้งโดยรูปแบบทางกฎหมาย และฉันทามติโดยธรรมชาติ (เช่นกรณีรัฐประหารในประเทศไทย) ภาครัฐบาลที่ดีจะทำงานสนองตอบต่อประโยชน์สาธารณะเพื่อภาคพลเรือน แต่หากเป็นรัฐบาลที่เลวก็จะทำงานสนองตอบต่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง โดยไม่สนใจต่อผลประโยชน์สาธารณะ

ภาคตลาด ( Market Sector) มีหน้าที่พิเศษที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ผลิตสินค้าและบริการเพื่อการจำหน่ายเพื่อสนองตอบต่ออุปสงค์และอุปทานของตลาด มีความสามารถพิเศษในการสร้างความมั่งคั่งด้วยวิธีการต่างๆไม่ว่าจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มของภาคตลาด ในยุคโลกาภิวัตน์ได้ก่อตัวจนกลายเป็น บรรษัทขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะผูกขาดทางเศรษฐกิจ ผูกขาดต้นทุนต่างๆกระทั่ง ต้นทุนทางวัฒนธรรมเหนือรัฐชาติ จนอาจกล่าวได้ว่า ภาคตลาด เป็นภาคที่ทรงพลานุภาพที่สุด ในสังคมโลกภิวัฒน์ เพราะภาคการตลาดมีความสามารถในการใช้พลังเงินตรา เข้าไปมีอิทธิพลเหนือ ภาครัฐบาลที่ฉ้อฉล กระทั่ง ภาคพลเรือนที่ไร้คุณภาพได้ไม่ยากนัก

ดุลยภาพทางสังคมที่เปลี่ยนไปภายหลังรัฐประหาร

เมื่อพิจารณาบทบาทของภาคส่วนทางสังคมในยุคทักษิณจะพบว่า ภาคการตลาด (Marget Sector) เป็นภาคที่มีบทบาทนำในสังคมไทยอย่างชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจาก “ระบอบทักษิณ” มีรากฐานของพลังอำนาจมาจากเงินตราและชื่อเสียงในทางธุรกิจในตลาดข้อมูลข่าวสาร บทบาทนำดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาคการตลาดเท่านั้น แต่ยังถักทอพลังของการตลาดให้มีอิทธิเหนือ ภาคการเมือง ( Government Sector) และภาคพลเรือน (Civil Sector) ได้อย่างมากมายมหาศาล

ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า สังคมไทยในยุคทักษิณ มีภาคการตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนสังคมให้เดินหน้าการพัฒนาประเทศไปด้วยการผนึกเอา กลไกของรัฐบาล อันมีคณะรัฐมนตรี รัฐสภา องค์กรอิสระ และศาล ทำหน้าที่ตามที่ภาคการตลาดบงการบัญชา และการหลอมรวมเอาภาคพลเรือนส่วนใหญ่ ทั้งที่อยู่ในเมืองและต่างจังหวัดให้กลายเป็นเครื่องมือของภาคการตลาดที่ผสมตัวกับภาครัฐบาลเป็นที่เรียบร้อย ด้วยการนำเสนอ “เมนูนโยบายประชานิยม” เพื่อสร้างความชอบธรรมและเพิ่มช่องทางในการจับจ่ายเมนูนโยบายให้เกิดขึ้นกับ “กลุ่มลูกค้าทางการเมือง” โดยมิได้เล็งเห็นถึง ความมีอยู่ของภาคพลเรือน ที่เป็น “ประชาสังคมคุณภาพ”

จากเหตุปัจจัยข้างต้น สังคมไทยในยุคทักษิณ จึงเป็นยุคที่ ภาคการตลาดซึ่งหลอมรวมตัวกับภาครัฐบาล ได้สร้างแรงกดทับมหาศาล ลงบนภาคพลเรือนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งแน่นอน สิ่งที่ภาคการตลาดให้ความสนใจมากที่สุด ก็คือ การลงทุน ระบบเงินตรา ผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ โดยมิพักต้องกล่าวถึง คุณธรรมและจริยธรรมแต่ประการใด ซึ่งนั่นทำให้ภาคการตลาดสามารถใช้พลังอำนาจของตน และพลังอำนาจของรัฐบาล ดำเนินกิจกรรมด้วยแรงขับของธรรมชาติแห่ง “ความโลภ” โดยการเข้า แย่งยึดทรัพยากรทางสังคมของภาคพลเรือน กระทั่งการทุบทำลาย ต้นทุนทางสังคมของภาคพลเรือน ผ่านเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพ ทั้ง “การบัญญัติกฎหมายโดยเนติบริกร” “การหลีกเลี่ยงกฎหมาย” “การใช้องค์กรรัฐเป็นเครื่องมือทำงานสนองตอบต่อตลาดมากกว่าประโยชน์สาธารณะ” กระทั่งการใช้ “เทคนิกการโฆษณาประชาสัมพันธ์” โดยการปิดบังข้อมูลบางส่วนที่ภาคการตลาดเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์กับตนเองและการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับภาคการตลาดในปริมาณที่เกินสมควร” เพื่อเปลี่ยนภาคพลเรือนที่ขาดความสามารถในการเข้าถึงความรู้ให้กลายเป็น “ทาสของภาคการตลาด” และ “สาวกทางการเมือง” ไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้กระบวนการจัดตั้งการเคลื่อนไหวโดย “เงินตรา” ก็นำไปสู่ “ประชาธิปไตยแบบรับจ้าง” ซึ่งทำให้ บางส่วนของ ภาคพลเรือน มิได้มีลักษณะเป็น ประชาสังคมที่มีคุณภาพเพียงพอในการดำเนินหน้าที่เรียกร้องสิทธิต่างๆเพื่อประโยชน์สาธารณะ

การก่อตัวของกระบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเวลาต่อมา คือ การปรากฏตัวของ “ภาคพลเรือน” ที่ไม่สามารถแบกรับแรงกดดันที่ภาคการตลาด และภาครัฐบาลกระทำต่อตนเองได้ องค์ประกอบของภาคพลเรือนในบริบทต่างๆได้มีการนำปัญหาของตนขึ้นเป็นวาระในการชุมนุมประท้วง มาตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา จนเหตุการณ์พัฒนาไปถึงขั้นที่จะมีการปะทะกันระหว่าง “ภาคพลเรือน” ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “ประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” กับ “ภาคพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตยแบบรับจ้าง” ซึ่งในที่สุด รัฐประหาร ได้กลายเป็นเครื่องมือในการคลี่คลายความขัดแย้งดังกล่าว

การรัฐประหารจนนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญใหม่ และมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ส่งผลกระทบสำคัญ ต่อภาคส่วนทางสังคมหลายประการ

ประการแรก การรัฐประหารทำให้ ภาคการตลาดในระบอบทักษิณ แยกตัวออกจาก ภาครัฐบาล เพียงชั่วคราวซึ่งไม่อาจรับประกันได้ว่าจะกลับมารวมตัวกันอีกเมื่อใด ปรากฏการณ์นับจากนี้จะมีการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้นมากมาย และภายในภาคหน้า เงินตรา จะกลับมาประสานกลุ่มการเมืองต่างๆเข้าด้วยกันอีกครั้ง

ประการที่สอง ภาครัฐบาลมีอิสระมากขึ้นในการดำเนินการบริหารประเทศ รัฐบาลชุดใหม่จะดำเนินการบริหารได้มีอิสระมากขึ้น โดยไม่มี ภาคการตลาดเข้ามาแทรกแซงมากนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของสังคมที่มีต่อภาคการตลาด และ ประชาธิปไตยรับจ้าง มากน้อยเพียงใด

ประการที่สาม ภาคพลเรือนที่เหนื่อยล้ากับการชุมนุมประท้วง เริ่มมีความหวังกับการบริหารประเทศ จนหลงลืมว่า การรัฐประหาร คือจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การเริ่มนับหนึ่งของการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒

ดังนั้น หากตรวจแถวภาคส่วนทางสังคม ณ ปัจจุบัน จะพบว่า ภาคส่วนที่อิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของประเทศมากที่สุด ณ ขณะนี้ คือ ภาครัฐบาล อันมีหน่วยงานต่างๆทั้ง คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ศาล สมัชชาแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งระบบราชการ ในขณะที่พรรคการเมืองไม่มีความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆได้

ในขณะที่ ภาคการตลาด ก็อ่อนประสิทธิภาพลงไป แม้ว่าจะมีความพยายามในการใช้ การข่าว การสร้างพันธมิตรนอกประเทศเพื่อปิดล้อม กระทั่งการใช้ “ประชาธิปไตยแบบรับจ้าง” อยู่ก็ตาม แต่การดำเนินการต่างๆยังถูกควบคุมอย่างเข้มข้น โดย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

สำหรับภาคพลเรือนนั้น ต้องยอมรับว่า แบ่งได้เป็นสองฝ่าย คือ “ฝ่ายประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” กับ “ภาคพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตยแบบรับจ้าง” ซึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมนับจากนี้ จะตกอยู่ในมือของ“ฝ่ายประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” ที่ต้องมีการระดมสรรพกำลังเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆของตนอย่างถูกต้อง เพื่อผลสำคัญในการนำผลประโยชน์สาธารณะที่ถูกภาคการตลาดแย่งยึดไปกลับคืนมา ซึ่งในที่นี้รวมถึง การเข้าไปมีส่วนสำคัญในวางรากฐานของประเทศชาติ ในกระบวนการปฏิรูปการเมืองผ่านการเข้ามีส่วนร่วมทางในการร่างรัฐธรรมนูญตามกระบวนการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การปรับดุลยภาพทางสังคมเพื่อผลสำเร็จในการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์

ในยุคโลกาภิวัตน์อันมีภาคการตลาดเป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนสังคมที่ยึดถือ “การขยายตัวของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” เป็นสรณะ ได้เกิดกระบวนการทุบทำลายระบบศีลธรรมทางการเมืองของภาครัฐบาลให้เสียหายมากยิ่งขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า “ภาครัฐบาลดำเนินการเพื่อเป้าหมายของภาคการตลาดมากกว่าผลประโยชน์สาธารณะ” กระบวนการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนเป็นความเดือดร้อนของภาคพลเรือนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติไทย ด้วยเหตุนี้ การปรับดุลยภาพทางสังคมจึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องทบทวนก่อนที่ประเทศชาติกำลังก้าวเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปการเมืองโดยการร่างรัฐธรรมนูญฯ

ในความเห็นของผู้เขียนนั้น ภาคพลเรือนถือเป็นผู้ก่อตั้ง ภาครัฐบาลและจัดให้มีภาคการตลาด เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาคประชาสังคมต้องมาก่อน เนื่องจากอำนาจหน้าที่และความชอบธรรมของสถาบันอื่นๆล้วนมีที่มาจากภาคพลเรือนทั้งสิ้น ภาครัฐบาลจึงควรมีหน้าที่สำคัญในการผลักดันให้มีการสร้างและรักษากฎเกณฑ์ภายในเพื่อสนองตอบต่อภาคพลเรือน และควบคุมภาคการตลาดให้ทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ รัฐบาลจึงควรมีความสำคัญเป็นอันดับสอง และภาคการตลาดที่สามานย์จึงควรถูกควบคุมให้มีบทบาทอยู่ในลำดับสุดท้าย

เมื่อภาคพลเรือนมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อมา คือ การทำความเข้าใจถึงคุณภาพของภาคพลเรือน ว่าภาคส่วนย่อยภายในภาคพลเรือนมีลักษณะเป็น “ประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” หรือ ภาคพลเรือนประชาธิปไตยแบบรับจ้าง” ซึ่งปัญหาคุณภาพของภาคพลเรือนก็เป็นจุดชี้ขาดประการสำคัญว่า การปฏิรูปการเมืองจะดำเนินไปในทิศทางทีมีคุณภาพหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการสร้างพันธมิตรทางการเมืองภายในภาคพลเรือน ขึ้นมาอีกครั้ง โดยพันธมิตรภาคพลเรือนต้องเป็น พันธมิตรที่มีคุณภาพทางความรู้ ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของสมาชิกภาคประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร พันธมิตรเหล่านี้จะเบ่งบานออกเป็นช่อดอกไม้ที่สวยงาม และมีนัยในการยกย่องประชาชนในความหมายที่แท้จริง และต้องมีการทำความเข้าใจกับภาคพลเรือนให้ทราบโดยทั่วกันว่า ศัตรูที่แท้จริงของประโยชน์สาธารณะไม่ใช่มีเพียง ภาครัฐบาลที่ฉ้อฉลเท่านั้น แต่รวมถึง ภาคการตลาด ที่ไม่มีความกตัญญูต่อแผ่นดิน ประชาชน และผลประโยชน์ของประเทศชาติ อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ พันธมิตรจาก “ประชาสังคมแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” จงรวมกันเข้า เพื่อช่วงชิงพื้นที่ และยึดกุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ใน “ค่ายกลรัฐธรรมนูญ” ที่ “พ่อมดรัฐธรรมนูญ” สร้างเอาไว้ แล้วจงเคลื่อนตัวไปมีส่วนในการเขียน “กฎกติกาที่มีประชาสังคมไทยเป็นใหญ่” เพื่อให้ประเทศไทยดำรงคงอยู่ต่อไปท่ามกลางโลกาภิวัตน์ที่สร้างและขับเคลื่อนโดยภาคการตลาดอันแสนสามานย์

ศาสตรา โตอ่อน
เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง




11 comments:

Etat de droit said...

มันมีชุดเหตุผลอยู่ ๒ ชุด

ชุดแรก ต้องเข้าไปช่วยกันสิ เดี๋ยวมันทำเละหมด

ชุดสอง ไม่เอาอ่ะ ที่มามันสกปรก

เลือกทางไหน ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน

หากเลือกโดยสุจริต ก็น่ายกย่องทั้งนั้น

ยังไงก็จะเป็นกำลังใจให้

แต่ผมเป็นพวกแบบที่สอง ขอยืนดูห่างๆละกัน

crazycloud said...

ด้วยความสุจริตใจ กระผมเองกล่าวได้เต็มปาก ผมเองก็อยากเห็นสังคมประชาธิปไตย แบบเต็มใบ เช่นเดียวกัน

ผมเคยรู้สึกคับข้องกับ การไม่เคารพกฎหมาย มาโดยตลอด จนในปี 44 ผมเป็นนักศึกษาคนนึงที่ออกไปแจกใบปลิวโจมตีศาลรัฐธรรมนูญในคดีซุกหุ้น จน สันติบาลตามมาจับที่ ธรรมศาสตร์

นับแต่น้นมา ผมคิดอย่างเดียวว่า จะทำอย่างไร ให้ นิติรัฐกลับมาให้ได้

พูดกันตรงๆ ผมก็ไม่ใคร่จะเห็นด้วยกับรัฐประหาร เท่าใด
แต่ผมเข้าใจมันได้ และ ผมเองก็ไม่อยากตาย หากการชุมนุมในวันที่ 20 เกิดขึ้น ผมมีแม่ที่ผมรัก มีพ่อที่ผมรัก รอดูอนาคตอยู่ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเข้าใจแง่ดีของรัฐประหาร อย่างน้อยก็ต่อชีวิตผมและเพื่อนพันธมิตรผู้อื่น

สำหรับแนวของผม เมื่อเกิดความผิดพลาดในชีวิตเกิดขึ้น ผมมักจะคิดว่า The Show must go on!
ประเทศก็เหมือนคน ย่อมทำผิด และเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือต่างๆเท่าที่มีอยู่ให้ดีที่สุด

ซึ่งการจะทำสิ่งใดให้สำเร็จ ในโลกความเป็นจริง นั้น มีข้อจำกัด และการเอาชนะข้อจำกัด ก็ต้องอาศัยกลยุทธ ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ นั้น อยู่ที่ฟ้า ดังนั้นจึงไม่ง่ายที่จะบรรลุซึ่งอุดมคติ อุดมการณ์

ถึง เพื่อนใน Paradigm 2 ขอให้เชิดชูอุดมการณ์บริสุทธิ์ต่อไป ผมขอยืนอยู่ใน Paradigm 1 เพื่อเพื่อนประชาผู้ยากไร้ ไปยืนอยู่ในจุดที่พวกคุณยืนให้ได้มากที่สุด ซึ่งเพื่อนประชาผู้ยากไร้เหล่านี้มีมากมายเหลือเกิน ซึ่งนั่นในชีวิตนี้ ผมกับคุณคงไม่ได้เจอกัน

จนกว่า คุณจะเปลี่ยนใจมายืนใน Paradigm เดียวกับผม ข้างๆเพื่อนประชาผู้ยากไร้

crazycloud said...

ขำๆ ผมได้ยืนดูดบุหรี่ในห้องน้ำ กับ ปีศาจของพวกคุณๆ คือพลเอก เรืองโรจน์ และ พลอากาศเอก ชลิต
ครั้งหนึ่งในชีวิต

Anonymous said...

ผมก็ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคดีซุกหุ้นในปี 44

เพราะเป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่บอกว่า "กระแส" คือตัวตัดสินปัญหาในสังคม

อย่างไรก็ตามผมพยายามเคารพในสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อการเกิดขึ้นของนิติรัฐ

วันนี้เรื่องเดิมๆเกิดขึ้นอีกครั้ง...

วันนี้ชื่นชมในความมุ่งมั่นของเมฆบ้านะ

วันนี้โอกาสของคุณมาถึงแล้ว

ขอให้บรรลุอุดมคติ อุดมการณ์

crazycloud said...

ขอบคุณที่เข้าใจ และ ขออภัยในความแข็งกร้าว

ขอให้ผมมีโอกาสด้วยเถอะ เพราะสิ่งที่ผมจะดีใจที่สุด คือ โอกาสที่ผมจะทำอะไรให้กับประเทศชาติได้บ้าง

ประชาธิปไตย สำหรับผม คือ

"การบำรุงประโยชน์สุขแก่ราษฎร เท่าที่คนหนึ่งคนจะทำได้"

Anonymous said...

อาศัยอำนาจอะไรไปทำครับคุณ จะอ้างที่มาจากอะไร ถามเสียงประชาชนแล้วเหรอ ประชาชนส่วนใหญ่ (ที่แท้จริง)จะมีส่วนร่วมตรงไหน แล้วจะรู้ได้ไงวะว่ามันดี
รัฐธรรมนูญแม่งเป็นเจตจำนงค์ และจิตวิญญาณร่วมกันของประชาชาติ ไม่ใช่หรือว่ะ ว่าแต่จริงๆทำให้ใครและใครให้ทำ อาศัยอำนาจอะไร ผมคนนึงหละที่ไม่เห็นด้วย

หากเราเห็นด้วยกับรัฐประหาร ก็ไม่ควรเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย ถามว่าภายใต้กระบอกปืนที่หันเข้าหาคุณ และคำสั่งที่ยัดเยียดใส่คุณโดยห้ามทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้ ในฐานะนักกม.จะทำอะไรได้ บอกได้คำเดียวว่าเราก็แบนมันซะ (จะอารยะขัดขืนหรือไม่ร่วมสังฆกรรม ฯลฯ ก็ว่ากันไป)ไม่ใช่เรียงหน้าเข้าแถว ตบเท้าไปช่วยเหลือเกื้อกูล ยังไงก็ไม่งดงามหรอก ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลอะไร

crazycloud said...

เหอ เหนื่อยจริงๆ

Anonymous said...

ยินดีกับคำสั่งรับฟ้องของศาลปกครองด้วยครับพี่
สู้ให้เต็มที่เลยนะครับพี่ ไว้ว่างๆ ผมต้องขอหาโอกาสคาราวะสุราพี่ซักหลายจอกหน่อยแล้ว

Anonymous said...

หวัดดีไอ้โตส...

ขอแทรกเรื่องส่วนตัวนะครับ...และขอไม่พูดถึงเรื่องที่นายกำลังต่อสู้อยู่นะ..

ไม่น่าเชื่อว่าเราได้ยินชื่อเพื่อนของเราผ่านทางทีวีเมื่อ 2 วันก่อน เลยได้รู้ว่านายมาได้ "ไกล" มากๆ ...

เอาล่ะเพื่อน... หลังจากอยู่ กทม. มาก็หลายปี ตอนนี้เรากำลังจะกลับไปเริ่มชีวิตใหม่ที่ลพบุรีล่ะนะ และคงหาโอกาสใช้ net ไม่ได้ง่ายๆ ทิ้งอีเมล์เบอร์โทรฯ มือถือนายไว้ที่ e-mail ของน้องเราข้างล่างนะ... ถ้าไม่งั้นเราจะให้น้องเรา (ที่ตอนนี้เรียนอยู่ rsu) ไปตามล่านายเอง!

ปล. เราไม่ได้อยู่ข้างสนธิ แต่ที่แน่ๆ เราอยู่ "ตรงข้าม" กะไอ้เหลี่ยมแน่ๆ

HOPE THIS MESSEGE FINDS YOU!!


Your friend.
แคป (from Banjongratt school)

my sister's e-mail: artiris_71@hotmail.com

my e-mail: xymm_c@yahoo.com
my blog: http://xymm.pantown.com

Anonymous said...

เห็นมึงในสื่อช่วงนี้ แล้วนึกถึง แมท เดม่อน ในเรื่อง Rainmaker ไม่ใช่ฟามหล่อ แต่คือฟามสด และเลือดแห่งการต่อสู้แบบคนหนุ่ม กับเรื่องราวที่ผ่านอุปสรรคมาบ้าง ยังไงหวังว่าท่านตุลาการทั้งหลาย คงเหมือนแกรนด์จูรี่ในเรื่องนั้นบ้าง กร้าบพ้ม

ว่างๆ กูโทรไป ตอนนี้อยู่ไกล

Anonymous said...

เราเป็นกำลังใจให้โตนะ แม้ว่าเราอาจเห็นต่างจากโตบ้างก็ตาม
pattaya