Wednesday, November 15, 2006

การปฏิรูปอำนาจทางการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์ มุมมองใหม่ในการปฏิรูปการเมือง

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

สังคมการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นสังคมที่มีความสัมพันธ์ของภาคส่วนทางสังคมอย่างน้อยที่สุด ๓ ภาคส่วน คือ ภาครัฐบาล (Government Sector) ภาคพลเรือน (Civil Sector) และ ภาคการตลาด (Market Sector) ในบทความ เรื่องการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกิวัฒน์ : บริบทที่แตกต่างจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นแล้วถึงปัญหาการเมืองไทยว่ามีที่มาจาก การที่ภาคการตลาดได้ใช้บรรดาเครื่องมือทั้ง ทุน เงินตรา และ ข้อมูลข่าวสาร เข้าควบรวม ภาครัฐบาล และภาคพลเรือน ให้อยู่ภายใต้อาณัติของตน ระบอบทักษิณ จึงเป็นระบอบที่รวบรวมคุณลักษณะของ ภาคการตลาด ภาครัฐบาล และภาคพลเรือนไว้เป็นหนึ่งเดียว

เมื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร จนสามารถขับไล่ “ระบอบทักษิณ” ไปได้ในระดับหนึ่ง แท้จริงแล้วความสำเร็จเล็กๆที่เกิดขึ้นมีที่มาจากการใช้ เครื่องมือทางสังคมดั้งเดิม คือ การรัฐประหาร และ การใช้ข้อมูลข่าวสารทีวีผ่านดาวเทียม เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นของระบอบทักษิณ อย่างต่อเนื่องซึ่งประสบความสำเร็จเฉพาะในเมืองหลวงและเขตเมืองในต่างจังหวัด

จากลักษณะของสังคมโลกาภิวัฒน์ และบทเรียนทางการเมืองที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ถอดบทเรียนสำคัญ ของเหตุการณ์ทั้งที่เกิดขึ้นก่อนและหลังเหตุการณ์ ๑๙ กันยายน ว่าเป็นการต่อสู้กันของอำนาจจำนวนสามคู่ สำคัญ

คู่แรก คือการต่อสู้กันของ อำนาจภาครัฐบาล(Government Power) กันเอง ระหว่าง อำนาจของรัฐบาลรักษาการณ์ใน “ระบอบทักษิณ” กับอำนาจทางการทหารของคณะปฏิรูปฯ ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การต่อสู้ของอำนาจคู่นี้เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว

คู่ที่สอง คือ การต่อสู้กันระหว่าง อำนาจภาครัฐบาล(Government Power) ของคณะปฏิรูปฯ กับอำนาจ “ทุน” (Capital Power) ของ “ระบอบทักษิณ”

และคู่ที่สาม คือ การต่อสู้กัน ระหว่าง อำนาจข้อมูลข่าวสาร (Information Power) ของระบอบทักษิณ กับ อำนาจของพลเรือนแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มี นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้กุม อำนาจข้อมูลข่าวสาร (Information Power)

จากการต่อสู้กันของอำนาจทั้งสามคู่ เราจะพบว่า ในบรรดาอำนาจและเครื่องมือที่ฝากฝ่ายต่างๆใช้ นั้น สามารถแบ่งอำนาจออกได้เป็นสามประเภท คือ อำนาจของภาครัฐบาล(Government Power) อำนาจ “ทุน” (Capital Power) ของภาคการตลาด และ อำนาจข้อมูลข่าวสาร(Information Power) ของภาคการตลาดและภาคพลเรือน อำนาจทั้งสามคือเหตุปัจจัยในสร้างจุดพลิกผัน จนสังคมไทยเดินมาถึงวาระของการปฏิรูปการเมืองตามกลไกและกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) ในที่สุด

ดังนั้น การเพ่งพินิจถึงความดำรงอยู่ของอำนาจทั้งสาม จึงเป็นบริบทพื้นฐานที่สังคมพึงตั้งสติก่อนที่จะมีการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปอำนาจทางการเมืองที่ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย

๑.อำนาจและสถาบันการเมืองในระบอบการปกครองแบบรัฐสภา

เมื่อกล่าวถึงการปฏิรูปการเมือง สิ่งที่นักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จะต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับแรก คือ ข้อความคิดว่าด้วยอำนาจและสถาบันทางการเมือง เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะ รัฐธรรมนูญ คือ บทบัญญัติของกฎหมาย ที่มีภารกิจสำคัญ ในการวางระบอบการปกครอง จัดวางตำแหน่งแห่งที่ของอำนาจ และสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลกันระหว่างอำนาจต่างๆ ทั้งหมด คือ กรอบแนวความคิดแบบ Classic ที่นักวิชาการส่วนใหญ่ใช้เป็นจุดตั้งต้นในการพิจารณาถึงการปฏิรูปการเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและสถาบันทางการเมือง

สำหรับประเทศไทย นั้น เป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แบบรัฐสภา ซึ่งแบ่งแยกอำนาจและสถาบันทางการเมือง ออกเป็นสามส่วน คือ อำนาจนิติบัญญัติ ที่ใช้โดยรัฐสภา อำนาจบริหารที่ใช้โดยคณะรัฐมนตรีและระบบราชการ อำนาจตุลาการที่ใช้โดยศาล โดยทั้งสามอำนาจมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันละกัน อำนาจนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบอำนาจบริหารโดยการตั้งกระทู้ถาม และอภิปรายไม่ไว้วางใจ อำนาจบริหารตรวจสอบอำนาจนิติบัญญัติโดยการยุบสภา ในขณะที่อำนาจตุลาการมีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่ตนมีเขตอำนาจ นอกจากนี้ผลจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ ได้ทำเกิดระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรอิสระขึ้นมากมายหลายองค์กร โดยอำนาจทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองมีจุดเกาะเกี่ยวกับ พรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้ง และการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทั้งหมดคือลักษณะโดยทั่วไป ของ อำนาจและสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ของประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดปัญหาวิกฤตประเทศจนนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ ผู้เขียนมีความเชื่อว่า ประเด็นในการพิจารณาเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องวางฐานคิดโดยคำนึงถึง อำนาจและสถาบันการเมือง ตามตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญแบบ Classic อย่างแน่นอน ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า การตั้งฐานคิด จาก มุมมองดังกล่าว ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยแก้ปัญหาและปฏิรูปอำนาจและสถาบันการเมืองในระบอบรัฐสภาได้ และสมมุติฐานดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้จากแนวความคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปอำนาจเพื่อการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ฯ 2540 ซึ่งเคยมีผู้ให้ความเห็นไว้มากมายหลายประเด็น


๒.แนวความคิดของภาคส่วนต่างๆเกี่ยวกับการปฏิรูปอำนาจเพื่อการแก้ไข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

เมื่อพิเคราะห์บริบททางการเมืองภายในภาคอำนาจของรัฐบาล จะพบว่า ผลของการควบรวมภาคการตลาดเข้ากับภาครัฐบาล ประกอบกับมาตรการของรัฐธรรมนูญฯ ๒๕๔๐ ในการสร้าง Strong Prime Minister และการแทรกแซงองค์กรอิสระด้วยอำนาจ “ทุน” ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคส่วนย่อยๆภายในภาครัฐบาล(Government Sector) ทั้งผลกระทบต่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านที่ไม่สามารถทำการตรวจสอบรัฐบาลได้ ผลกระทบต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฝ่ายรัฐบาลที่ไม่มีความเป็นอิสระ ผลกระทบต่อการทำงานตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขององค์กรอิสระที่ทำให้เกิดคำถามจากสังคมในมากมายหลายกรณี แรงกดดันเหล่านี้ได้ผันแปรความคิดของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในภาคส่วนต่างๆจนกลายเป็นข้อเสนอแนะที่ส่วนใหญ่มุ่งผลทำให้อำนาจของฝ่ายบริหารอ่อนตัวลง และเสริมความแข็งแกร่งของภาคการตรวจสอบ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้ทำการรวบรวมข้อเสนอแนะในการปฏิรูปทางการเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องอำนาจทางการเมืองไว้มากมายหลายถึง ๕๐ ประเด็น ซึ่งโดยสรุป สามารถแบ่งแยกประเด็นที่มีนักวิชาการเสนอไว้สามประเด็นหลัก คือ

๒.๑ประเด็นเกี่ยวกับการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองในภาครัฐบาล ซึ่งครอบคลุมถึงระบบการเข้าสู่อำนาจที่มีความเกี่ยวพันขององค์ประกอบสามประการ คือ ทั้งในส่วนของ พรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้ง และการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองได้มีข้อเสนอสำคัญ เช่น การขจัดคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ที่ต้องสังกัดพรรคภายใน ๙๐ วันก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อทำให้ ส.ส.มีอิสระมากขึ้น และอำนาจของพรรคการเมืองอ่อนตัวลง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีข้อเสนอสำคัญ คือ การเสนอให้มีศาลเลือกตั้ง เพื่อทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ปลดแอกผลการเลือกตั้งออกจากอำนาจทุนและอำนาจรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งเกินไป และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระก็มีข้อเสนอสำคัญ คือ ให้ตัดองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่มีที่มาจากพรรคการเมืองออก เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระและกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

๒.๒ประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการใช้อำนาจอธิปไตย โดยฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ตลอดจนระบบการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจระหว่าง คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการใช้อำนาจอธิปไตย ได้มีข้อเสนอสำคัญ เช่น การลดบทบาทของพรรคการเมืองในวุฒิสภา การห้ามถือสัมปทานของรัฐและการถือหุ้นของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรขยายไปถึงภรรยาและบุตรทั่งไม่บรรลุนิติภาวะด้วย การจัดให้มีองค์กรพิจารณาชี้ขาดในกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลกระทำการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ การจัดโครงสร้างและวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญให้มีความเหมาะสม

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบถ่วงดุล ได้มีข้อเสนอสำคัญ เช่น การขจัดคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ที่ต้องสังกัดพรรคภายใน ๙๐ วันก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อทำให้ ส.ส.มีอิสระมากขึ้นในการตรวจสอบคณะรัฐมนตรี การลดจำนวนเสียงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีจากสองในห้าเหลือหนึ่งในห้า เพื่อให้การตรวจสอบนายกรัฐมนตรีทำได้ง่ายขึ้น

๒.๓ ประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ได้มีข้อเสนอสำคัญ ในการลดการแทรกแซงทางการเมืองในการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ การกำหนดตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เพิ่มเติม การกำหนดให้การยื่นถอดถอนนักการเมืองทำได้ง่ายขึ้น การกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถยื่นเรื่องให้ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพได้

เมื่อพิจารณา ข้อเสนอแนะในประเด็นหลักทั้งสามประเด็น จะพบว่าข้อเสนอต่างๆเป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาไปที่ตัว “องค์กรผู้อำนาจ” “ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลภายระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจ” และ “ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” เพื่อลดความเข้มแข็งของ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี สร้างเสริมระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจ และ ลดอิทธิพลของพรรคการเมืองในองค์กรอิสระเพื่อเสริมสร้างการตรวจสอบ ซึ่งข้อเสนอโดยส่วนใหญ่ ถือเป็นข้อเสนอที่ยืนอยู่บนฐานการจัดการอำนาจ ตามกรอบแนวความคิดแบบ Classic ผสมผสานกับความพยายามในการกำจัดอำนาจของ “ทุนใหญ่” หรือ “ทุนโลกาภิวัตน์” ออกจากอำนาจของภาครัฐบาล

โดยสรุป ข้อเสนอของนักวิชาการ นักการเมือง ภาคส่วนต่างๆ และประชาชน คือ ความพยายามในการปฏิรูปการเมือง บนพื้นฐานของแนวความคิดในทฤษฎีทางรัฐธรรมนูญ พร้อมๆไปกับความพยายามในการขจัด ลดทอน ควบคุม ภาคการตลาด (Marget Sector) จากการใช้อำนาจของภาครัฐบาล (Government Sector) หรืออาจเรียกว่า ทฤษฎีแก้ ของปัญหา การทับซ้อนของผลประโยชน์ (Conflict of Interest) นั่นเอง

๓.อำนาจอ่อน (Soft Power) นวัตกรรมอำนาจของภาคการตลาดในยุคโลกาภิวัฒน์

จากข้อเสนอแนะของภาคส่วนต่างๆทำให้เกิดนิมิตหมายที่ดีที่สังคมไทยได้เริ่มตระหนักรู้ถึง อำนาจทุนของภาคการตลาด(Marget Sector) ที่เข้ามาแย่งยึด อำนาจรัฐบาลของภาครัฐบาล(Government Sector) จนก่อความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับประเทศชาติ สิ่งเหล่านี้ผู้เขียนอยากที่จะขยายภาพของภาคการตลาดให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ให้รู้ไส้สนกลในของภาคการตลาดอย่างสั้นๆในเวลาการอ่านอันรวดเร็ว เพื่อสังคมไทยจะได้เข้าใจพัฒนาการ โครงรสร้าง เครื่องมือของภาคการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการำรงอยู่ของ อำนาจชนิดใหม่ ที่มีนอกเหนือไปจากอำนาจของภาครัฐบาล(Government Power) และ อำนาจ “ทุน” (Capital Power) อันได้แก่ อำนาจอ่อน หรือ Soft Power นั่นเอง

ในยุคโลกาภิวัตน์ ถือเป็นยุคสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร หรือ สังคมทั่วไปรับรู้ในนามของ ยุคทองของเศรษฐกิจแห่งคลื่นลูกที่ ๓ ที่มี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวขบวน คลื่นลูก ๓ เป็นคลื่นที่เกิดตามมาหลังจาก คลื่นลูก ๒ คือ เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมและการส่งออก และคลื่นลูกที่ ๑ คือ เศรษฐกิจแบบเกษตรกรรม การเกิดขึ้นของคลื่นทางเศรษฐกิจได้ทำให้กระบวนการผลิตสินค้า พัฒนาจาก สินค้าเกษตร ไปสู่สินค้าอุตสาหกรรม ซึ่ง Benjamin R. Barber เรียกผลิตผลทางเศรษฐกิจเหล่านี้ว่าเป็น สินค้าแข็ง (Hard Good) ที่เป็นฐานในการสะสมอำนาจทุน(Capital Power) และ อำนาจของภาครัฐบาล(Government Power) ซึ่งถือเป็น อำนาจแข็ง (Hard Power)

“สินค้าแข็ง” หรือ “อำนาจแข็ง” หมายความว่า สินค้า หรือ อำนาจเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สังเกต แลเห็น รับรู้สัมผัสด้วยความรู้สึกได้ง่าย ในส่วนของอำนาจนั้น รวมถึงอำนาจทางการทหาร อำนาจของระบบราชการ อำนาจเงินตราด้วย ซึ่ง “สินค้าแข็ง” หรือ “อำนาจแข็ง” เหล่านี้หากนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีต่อสังคม ภาคการตลาด (Marget Secor) และภาครัฐบาล (Government Sector) ก็จะถูกกระบวนการจาก ภาคพลเรือน (Civil Sector) ต่อต้านในรูปแบบต่างๆทั้งการชุมนุมประท้วง การบอยคอตสินค้า การต่อต้านอำนาจด้วยวิธารรุนแรงจนถึงขั้นนองเลือด ทั้งนี้เนื่องจาก ภาคพลเรือน เป็นภาคผู้รับผลจาก “กระบวนการผลิต” และ “กระบวนการใช้อำนาจ” นั่นเอง

สำหรับในระบบเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์นั้น บทบาทของเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ได้ถูกลดทอนลงไป พร้อมๆกับการมีอิทธิพลของ เศรษฐกิจในภาคบริการ ซึ่งถือเป็น สาระสำคัญ และวิธีการของ ภาคการตลาดในยุคโลกาภิวัตน์ โดยในส่วนของภาคบริการนั้น เราอาจแบ่งภาคบริการได้สามประเภท ดังนี้

(๑) ภาคบริการแบบดั้งเดิม ประกอบไปด้วยผู้ให้บริการประชาชนโดยตรงแบบดั้งเดิม เช่น การขนส่ง การรักษาโรค คนรับใช้ เจ้าของโรงแรมและผู้ช่วย นักบิน เป็นต้น
(๒) ภาคบริการแบบให้ความสะดวกกับระบบ ประกอบไปด้วยผู้ให้บริการในระบบต่างๆทั้งระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม อาทิ นักกฎหมาย นักบัญชี นักเศรษฐศาสตร์ นายธนาคาร ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายละการวางแผน เป็นต้น
(๓) ภาคบริการโทรสาระบันเทิง (Infotainment Telesector) ผู้ที่สร้าง สื่อ สัญลักษณ์ การสร้างคำ การสร้างภาพลักษณ์ การสร้างความรู้สึก ลงในข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร การบันเทิง เช่น นักโฆษณา นักประชาสัมพันธ์ นักเขียน ปัญญาชน ครู นักเทศน์ นักการเมือง ซึ่งมีภาคนี้มีหน้าที่สำคัญในการ ถอดรื้อ จิตวิญญาณของสังคมและประชาชน และ ประกอบ จิตวิญญาณนั้นใหม่เพื่อบังคับบัญชาสังคมไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ

จากพัฒนาการของ ภาคการตลาดและบริบทการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า พรรคไทยรักไทย นอกจากจะใช้อำนาจทุน(Capital Power) และ อำนาจของภาครัฐบาล(Government Power)ในการล้างผลาญประเทศชาติแล้ว พรรคไทยรักไทยที่มีหัวหน้าพรรคและที่ปรึกษาหลายคนที่มีความช่ำชองในเศรษฐกิจสมัยใหม่ ได้ใช้อำนาจชนิดใหม่ที่มีที่มาจากภาคบริการโทรสาระบันเทิง (Infotainment Telesector) มาใช้ในการคอบครอง ภาครัฐบาล และภาคพลเรือน ผ่านกระบวนการการสร้างภาพลักษณ์ สร้างความรู้สึก ถอดรื้อ ทำลาย จิตวิญญาณทางสังคมเดิม และประกอบใหม่ในทิศทางที่พรรคไทยรักไทยต้องการ ซึ่งอำนาจเหล่านี้ เป็นอำนาจที่สังเกตและตรวจสอบได้ยาก เพราะอำนาจเหล่านี้มาในรูปแบบที่อ่อนน้อมและสวยงาม แต่เป็นอำนาจที่กินลึกลงไปถึงจิตใจคน ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น อำนาจอ่อน หรือ Soft Power ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการใช้อำนาจเหนือ “จิตวิญญาณของภาคพลเรือนรากแก้ว”

อำนาจอ่อน หรือ Soft Power คือ อำนาจใหม่ที่สังคมไทยต้องเรียนรู้นอกเหนือไปจาก อำนาจแข็ง ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งหากมองในแง่ของ ศาสตร์ อำนาจอ่อนคือ ศาสตร์แห่งสื่อ (Mediology) ที่สะกดประเทศ สะกดจิตสำนึกของประชาชน โดยใช้เครื่องมือทั้งการสร้างนิยาย สร้างภาพฝัน สร้างภาพลักษณ์ การโจมตีทางจิตใจ เพื่อเปลี่ยนภาคพลเรือน ที่ชอบออกต่อต้าน กับ อำนาจแข็ง ไปเป็น ผู้สยบยอม กระทั่งกลายเป็นเพียง “ผู้บริโภคความจริงเสมือน” ที่ถูกร่ายมนต์โดยโทรสาระบันเทิง (Infotainment Telesector)

หากจะกล่าวให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่าน ได้เกิดกระบวนการโทรสาระบันเทิง (Infotainment Telesector) หรือ กระบวนการใช้ อำนาจอ่อน หรือ Soft Power แทบจะทุกวัน ผ่านรายการโทรทัศน์ การโฆษณาโครงการของรัฐบาลโดยใช้งบของหน่วยงานราชการ การจัดงานบันเทิงการเมืองในพื้นที่ต่างๆ การจัดรายการวิทยุซึ่งส่งผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน กระทั่งการสร้างภาพยนตร์ เรื่อง ตาดูดาว เท้าติดดิน ที่ลาโรงไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่ พรรคไทยรักไทย ได้ใช้เครื่องมือทั้งหมดของ ภาคบริการโทรสาระบันเทิง เพื่อเสริมสร้างฐานอำนาจของตนเอง นอกเหนือไปจาก อำนาจทุน(Capital Power) และ อำนาจของภาครัฐบาล(Government Power)

การดำรงอยู่ของ อำนาจอ่อน (Soft Power) ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับอำนาจข้อมูลข่าวสาร(Information Power) อันสามานย์ คือ สิ่งที่สังคมไทยต้องรู้เท่าทัน เพื่อการปฏิรูปการเมือง จะได้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง และถือเป็น ส่วนต่อขยายเพิ่มเติม จากมาตรการแยกสลายอำนาจ “ทุน” (Capital Power) ออกจาก อำนาจของภาครัฐบาล(Goverment Power) ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้เขียนคิดว่า นักวิชาการ นักการเมือง และภาคส่วนต่างๆ หลายท่านกำลังขบคิดกันอยู่

๔.การควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจข้อมูลข่าวสาร (Information Power)

ในบรรดาข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง ข้อเสนอที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ตรงเป้าตรงประเด็นที่สุด คือ ข้อเสนอของคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ที่เสนอให้มีการปฏิรูปสื่อ ซึ่งเธอได้ให้มุมมองของการปฏิรูปทั้งในแง่ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งการปฏิรูปสื่อ แท้จริง ก็คือ การปฏิรูปอำนาจข้อมูลข่าวสาร หรือ อำนาจอ่อน นั่นเองดังนั้น ข้อเสนอในการปฏิรูปสื่อ จึงควรเข้ามาผูกโยงสัมพันธ์กับ การปฏิรูปการใช้สื่อของ ภาคการตลาด และภาคการเมือง ที่ต้องมีการควบคุม ตรวจสอบ ถ่วงดุล (Check and Balance) ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่า นักวิชาการสาขากฎหมายรัฐธรรมนูญและรัฐศาสตร์ ควรจะมีการยกระดับมุมมองหลักการแบ่งแยกอำนาจ ของ มองเตสกิเยอร์ ที่มีหัวใจ คือ ตรวจสอบถ่วงดุล ว่าหมายถึง การแบ่งแยกอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การตรวจสอบถ่วงดุลในทางข้อมูลข่าวสาร และการมีระบบตรวจสอบการใช้ข้อมูลข่าวสารทางการเมือง
ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอประการสำคัญ ของผู้เขียน ที่เป็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการปฏิรูปอำนาจทางการเมือง จึงมีดังนี้

๑.การจัดให้มีมาตรการควบคุมการเสนอข่าวสารของพรรคการเมือง
๒.การจัดให้มีมาตรการควบคุมการเสนอข่าวสารโครงการของส่วนราชการที่มีลักษณะส่อไปในทางเอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม
๓. การจัดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยการให้พรรคฝ่ายค้าน และภาคพลเรือนสามารถใช้สื่อเพื่อตรวจสอบภาครัฐบาล
๔.การควบคุมการใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของพรรคการเมือง รัฐบาล และหน่วยงานราชการ
๕.การจัดให้มี องค์กรสื่ออิสระ ของภาคพลเรือน ที่ปราศจากการแทรกแซง ของอำนาจรัฐบาล และ อำนาจทุนของภาคการตลาด
๖.การจัดให้ องค์กรตุลาการ มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้สื่อของภาคการเมืองและภาคการตลาดโดยไม่เป็นธรรม

ข้อเสนอดังกล่าว ดูเป็นข้อเสนอที่คิดนอกกรอบ แต่หากพิจารณากรอบทางประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ในความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้มีอำนาจกับพลเรือนจะพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนายทาส กับทาส เป็นเพียงอำนาจเหนือทางร่างกาย ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าศักดินากับพลเรือน เป็นเพียงอำนาจเหนือที่ดิน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับพลเรือนเป็นเพียงอำนาจทางการเมืองเหนือสิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบของประโยชน์สาธารณะ ความสัมพันธ์ระหว่างทุนนิยมกับพลเรือน เป็นเพียง อำนาจทุน เงินตรา ทีมีเหนือทรัพยากรของพลเรือน

แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้กุมอำนาจข้อมูลข่าวสาร กับภาคพลเรือน คือ อำนาจเหนือจิตใจ ที่พร้อมร่ายมนต์ ให้พลเรือน ยอมละทิ้ง ซึ่ง ทรัพยากร สิทธิและเสรีภาพที่ชอบธรรม ที่ดิน กระทั่ง การยอมตนลงเป็น ทาส ของภาคการตลาดสามานย์ ที่ใช้อำนาจทุนแย่งยึดอำนาจจากภาคการเมือง และใช้อำนาจของข้อมูลข่าวสาร หรือ อำนาจอ่อน (Soft Power) อันชั่วร้าย แย่งยึดหัวใจคนไทยเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง


ศาสตรา โตอ่อน
นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง

No comments: