Wednesday, November 15, 2006

การใช้และการตีความกฎหมายในวิกฤตการณ์บ้านเมือง

ตีพิมพ์ในมติชนรายวัน วันศุกร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ศกนี้

สืบเนื่องจากบทความเรื่อง ตัดสิทธิเลือกตั้งย้อนหลังได้ ของท่าน ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ที่ได้กล่าวถึงปัญหาการใช้และการตีความกฎหมายของนักกฎหมายลายลักษณ์อักษร ทำให้ผู้เขียนนึกถึงกรณีการตีความกฎหมายในสองกรณีสำคัญ ที่มีปัญหาแบบนี้เช่นเดียวกัน จึงเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อขยายภาพปัญหาดังกล่าวให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น
.....................................
กฎหมาย คือ บรรทัดฐานทางสังคมชนิดหนึ่ง ที่เข้าไปเกี่ยวพันกับบริบททางสังคมแทบจะทุกส่วน เพราะบรรทัดฐานที่ชื่อว่ากฎหมาย คือสิ่งที่สังคมผู้เจริญแล้วย่อมต้องให้ความเคารพ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการระงับข้อพิพาทขัดแย้ง และจัดสรรส่วนที่พึงมีพึงได้ให้กับผู้สมควรมีสมควรได้นั่นเอง

เมื่อพิจารณาวิกฤตการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะพบว่าประเด็นปัญหาทางการเมืองที่นำไปสู่การวิวาทะสำคัญในเกือบทุกกรณีจะมีการให้ความเห็นในทางกฎหมาย จากนักวิชาการ ทนายความ เจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทั่งตุลาการ และในกือบทุกกรณีการให้ความเห็นก็มีความแตกต่างหลากหลาย จนบางครั้งผู้ที่มิใช่นักกฎหมายพลอยเกิดความสับสนว่า ความเห็นของนักกฎหมายคนใดเป็นความเห็นที่ถูกต้อง

ด้วยเหตุนี้ภาวะการณ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่ภาวะการณ์ที่ดีสำหรับ “กฎหมายบ้านเมือง” เป็นแน่แท้ เพราะ กฎหมายมีลักษณะสำคัญประการหนึ่ง คือ ต้องมีความชัดเจนแน่นอน ซึ่งความชัดเจนแน่นอน จะนำไปสู่ ความเชื่อถือของประชาชนในประเทศที่อยู่ในบังคับของกฎหมายนั้นๆ และหากประชาชนให้ความเชื่อถือก็ย่อมส่งผลสะท้อนกลับ ถึง การลงหลักปักฐานของ “กฎหมาย” ในฐานะบรรทัดฐานทางสังคมที่มีความมั่นคงและหนักแน่นยิ่งขึ้น

ในบทเรียนของการศึกษากฎหมาย หรือ วิชานิติศาสตร์นั้น มีหัวใจที่สำคัญยิ่งไปกว่า ตัวบทกฎหมายที่แสดงออกเป็นบทบัญญัติในมาตราต่างๆ คือ “นิติวิธี” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของวิชานิติศาสตร์ที่ไม่มีในศาสตร์อื่น “นิติวิธี” หมายถึง แนวความคิดที่ฝังตัวอยู่ในบ่อเกิดทางกฎหมายชนิดต่างๆ รวมทั้ง วิธีการใช้ วิธีการตีความกฎหมาย ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ ปรมาจารย์กฎหมายแห่งสำนักธรรมศาสตร์ เคยกล่าวไว้ว่า “ตัวบทกฎหมายเป็นร่างกาย ในขณะที่นิติวิธี คือวิญญาณกฎหมาย”

ด้วยเหตุนี้ นักกฎหมายคนใดที่ใช้และตีความกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงนิติวิธี ผู้นั้นย่อมมีแต่ ร่างกายของนักกฎหมาย แต่หามีวิญญาณของนักกฎหมายไม่ ดังนั้นการเป็นนักกฎหมายที่มีร่างกายและวิญญาณของนักกฎหมาย คือ ต้องสามารถนำตัวบทกฎหมาย และนิติวิธี หลอมรวมเข้าเพื่อใช้ และตีความกฎหมายให้เกิด “ความยุติธรรม” อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของ วิชานิติศาสตร์

เมื่อพิจาณาถึง วิชานิติศาสตร์ อาจกล่าวอีกนัยนึงว่า ตัวบทกฎหมาย เป็น “ศาสตร์ที่อุดมไปด้วยตรรกะ” ในขณะที่นิติวิธี คือ “ศิลปะในการนำตรรกะต่างๆมาใช้และตีความ” ให้มีความสอดคล้องกับสภาพสังคม ณ ขณะนั้น ดังนั้น นักกฎหมายคนใดที่ใช้และตีความกฎหมายอยู่บนพื้นฐานของตัวบทกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว จึงอาจกล่าวได้ว่า นักกฎหมายผู้นั้น คือ นักกฎหมายที่มีแต่ “ศาสตร์” แต่ไม่มี “ศิลป์” นักกฎหมายผู้นั้นจึงเป็นเพียงเหยื่อ ของ “ตาข่ายแห่งเหตุผลอันแห้งแล้ง และไม่มีความเป็นธรรม”

ตัวอย่างของการใช้และการตีความกฎหมายในวิกฤตการณ์บ้านเมือง ที่พอจะยกขึ้นมาแสดงให้เห็นถึง ความบกพร่องในทาง นิติวิธี ซึ่งบทความนี้จะขอยกขึ้นแสดงในสองกรณี คือ 1.กรณีการใช้และการตีความบทบั ญญัติมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ 2. กรณีการใช้และการตีความคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง

1.กรณีการใช้และการตีความบทบัญญัติมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

วิวาทะเกี่ยวกับ บทบัญญัติมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีทั้งผู้ให้การสนับสนุนการใช้มาตรา 7 เพื่อขอนายกฯพระราชทาน และผู้คัดค้านการใช้มาตรา 7 โดยฝ่ายที่คัดค้านประกอบด้วยฝ่ายรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าที่ตีความการขอนายกฯพระราชทานตามมาตรา 7 ว่าเป็นการถอยหลังประเทศไทยกลับสู่ระบอบสมบูรณญาสิทธิราช นั้น จะเห็นได้ว่า ในกรณีวิวาทะเกี่ยวกับมาตรา 7 นั้น หากนักกฎหมาย มาทบทวนการใช้นิติวิธีในทางกฎหมาย โดยคำนึงถึงประเภทของบทบัญญัติของกฎหมาย ที่แบ่งเป็น “บทกฎหมายทั่วไป” ( Jus generale) กับ “บทกฎหมายเฉพาะ” ( Jus speciale) จะพบว่า วิกฤตการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น ล้วนมีสาเหตุมาจาก “ระบบรัฐธรรมนูญล่ม” เนื่องจาก กลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐถูกแทรกแซง ทั้งกลไกการตรวจสอบการเข้าสู่อำนาจโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กลไกลการตรวจในระบบรัฐสภา และกลไกการตรวจสอบขององค์กรอิสระ ซึ่งกรณีนี้ นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า “ปัญหาระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่ทำงานเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น” ดูจะเป็นคำกล่าวที่เลื่อนลอยและขาดการพิจารณาบริบททางสังคมควบคู่ไปกับการใช้กฎหมายโดยสิ้นเชิง

เมื่อระบบรัฐธรรมล่ม เนื่องจาก กลไกตามรัฐธรรมนูญไม่อาจทำงานได้ นั่นหมายความว่า บทบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในมิติต่างๆ เริ่มมีปัญหาการสูญเสียคุณค่าทั้งในเชิงตัวบทกฎหมายและเจตนารมณ์ กระทั่งการเดินหน้าฝืนใช้บทบัญญัติต่างๆต่อไปยิ่งทำให้เกิดวิกฤติของประเทศรุนแรงขึ้น เช่น วิกฤติการรักษาการณ์ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ยาวนาน วิกฤตการณ์เลือกตั้งที่ดูจะไม่มีวันจบสิ้น วิกฤตการณ์ความแตกแยกทางสังคมที่อาจกลายเป็นวิกฤติการณ์การนองเลือดที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้าไม่นาน

บทบัญญัติต่างๆที่ตีความกันจนเกิดปัญหามากมายนั้น แท้จริงคือ “บทกฎหมายเฉพาะ” ที่เมื่อพิจารณาในเชิงนิติวิธีแล้ว เมื่อบทกฎหมายเฉพาะใช้บังคับไม่ได้ หรือ บังคับใช้แล้วเกิดผลประหลาด การใช้และการตีความกฎหมายก็ต้องกลับไปสู่ “บทกฎหมายทั่วไป” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการใช้และตีความกฎหมาย ก็คือ การอ้างเหตุผลว่า “รัฐธรรมนูญมาตราต่างๆยังคงใช้บังคับได้ก็ต้องใช้บังคับต่อไป” ทั้งที่ในความเป็นจริง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยส่วนใหญ่ ได้สูญเสียคุณค่า ทั้งในเชิงตัวบทบัญญัติและในเชิงเจตนารมณ์มาเนิ่นนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ สิทธิและเสรีภาพ (คดีทนายสมชาย คดีตากใบ คดีการฆ่านายเจริญ วัดอักษร ) หน้าที่ของชนชาวไทย (กรณีการเลี่ยงภาษีของอดีตนายกฯทักษิณ ) การเข้าสู่อำนาจโดยการเลือกตั้ง ( กรณี สาม กกต.ที่ต้องคำพิพากษาจำคุก) การตรวจสอบถ่วงดุลโดยระบบรัฐสภา การแทรกแซงองค์กรอิสระ กระทั่ง การทำลายหลักการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยการเข้าแทรกแซงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีการใช้และตีความโดยอ้าง “บทกฎหมายเฉพาะ”ในเรื่องต่างๆดูจะเป็นการใช้ และตีความกฎหมาย เพื่อ กฎหมาย มากกว่า ที่จะเป็นการใช้และตีความกฎหมายเพื่อ “ประโยชน์สุข”ของสังคม

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการบางท่าน ได้ออกมาอธิบาย พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ทั้งที่มีอยู่ในหมวดสองของรัฐธรรมนูญ (พระมหากษัตริย์) และพระราชอำนาจที่แทรกตัวอยู่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหมวดอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงคำอธิบายถึง พระราชอำนาจใน “บทกฎหมายเฉพาะ” ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่เมื่อปรากฏว่าบทกฎหมายเฉพาะต่างๆ ไม่อาจใช้แก้ไขเยียวยาปัญหาประเทศได้ ในเชิง นิติวิธี ก็ต้องมีการกลับไปใช้ “บทกกฎหมายทั่วไป” ซึ่งก็คือ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 บททั่วไป ซึ่งมาตรา 7 ก็เป็นบทบัญญัติที่มีอยู่ใน หมวดที่ 1 บททั่วไปของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นสถานะของมาตรา 7 จึงมีลักษณะเป็น “บทกฎหมายทั่วไป” ของรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุดังกล่าวการหยิบยกมาตรา 7 ขึ้นกล่าวอ้างจึงไม่ได้มีความผิดพลาดแต่ประการใด แต่ทั้งนี้การหยิบยกมาตราดังกล่าวขึ้นใช้ จะต้องมีการพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าเรื่องที่หยิบยกมาตรา 7 ขึ้นใช้นั้น เป็นเรื่องที่ไม่มี “บทกฎหมายเฉพาะ”ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวมาบังคับใช้ได้

สำหรับความเห็นส่วนตัว การใช้ และตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 7 สามารถกระทำได้ ในฐานะ “บทกฎหมายทั่วไป” ซึ่งกรณีดังกล่าวก็จะต้องทำการพิเคาระห์ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขว่ามีความหมายอย่างไร และการพิเคราะห์ประเพณีที่ว่า ก็คือ การพิเคราะห์ถึงแก่นแท้ และรากเหง้าของ “จิตวิญญาณประชาชาติ” (Volkgeist) ของประเทศไทยให้มีความชัดเจน ซึ่งในกรณีนี้มิใช่การพิเคราะห์พระราชอำนาจที่มีลักษณะเป็น “บทกฎหมายเฉพาะ” ตั้งแต่หมวดที่ 2 ของรัฐธรรมนูญฯเป็นต้นไป แบบที่นักวิชาการหลายคนทำกัน จนมีข้อทักท้วงว่า การใช้รัฐธรรมนูญฯมาตรา 7 เป็นการถอยหลังเข้าคลอง

และกรณีการพิเคราะห์ถึง “จิตวิญญาณประชาชาติ” ดังกล่าว ต้องมีการศึกษาถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทย ในประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่องยาวนาน มิใช่ พิเคราะห์โดยคำนึงถึง ทฤษฎีแบบฝรั่ง ซึ่งมิใช่บรรพบุรุษของประเทศไทยแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น ในความเห็นของผม การใช้และการตีความมาตรา 7 ของนักกฎหมายบางท่าน ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 7 หากพิเคราะห์ในแง่นิติวิธี การใช้ การตีความ“บทกฎหมายทั่วไป” ( Jus generale) แล้ว “บทกฎหมายเฉพาะ” ( Jus speciale) แล้ว ดูเหมือนว่า ความคิดเห็นของนักกฎหมายบางท่าน ดูจะเป็นใช้และตีความกฎหมายที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งในแง่ เทคนิกการใช้และตีความกฎหมาย และการแก้ปัญหาสังคมไปพร้อมๆกัน

กรณีความเป็นไปได้ในการใช้มาตรา 7 ก็คือการใช้มาตรา 7 ในฐานะ “บทกฏหมายทั่วไปเพื่อการปฏิรูปการเมือง” ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในแง่ นิติวิธี และในแง่รัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir Constituant) โดยเหตุผลที่สภาพของระบบรัฐสภาไม่อาจนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองตาม ช่องทางเดิมในมาตรา 313 ของรัฐธรรมนูญได้นั่น ซึ่งหากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ จะพบว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่เจ็ด ก็ทรงเคยใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดังกล่าวร่วมกับคณะราษฎร จนนำไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

2. กรณีการใช้และการตีความคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง

หลังจากที่ศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาให้จำคุก สาม กกต. ประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่ตามมา คือ ปัญหาที่ว่า กกต.ทั้งสามพ้นจากตำแหน่ง กกต.แล้วหรือยัง กรณีดังกล่าวนักกฎหมายส่วนใหญ่มีความเห็นว่า กกต.ทั้งสามหลุดพ้นจากตำแหน่ง กกต.โดยนักกฎหมายบางส่วนได้ให้เหตุผลตามมาตรา 137 (4) ของรัฐธรรมนูญฯที่ให้นำมาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญฯมาใช้บังคับ

ซึ่งในกรณีมาตรา 106 ที่อนุโลมมาใช้บังคับกับคุณสมบัติของคณะกรรมการเลือกตั้งนั้น บัญญัติไว้ว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง .....(3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณีดังกล่าว หากพิจาณาแล้วจะพบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมพ้นสภาพทันทีเนื่องจาก คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล อันเกิดจากคำพิพากษา กรณีดังกล่าวหากพิเคราะห์เจตนารมณ์ของมาตรา 137 ที่อนุโลมมาตรา 106 มาใช้จะพบว่า รัฐธรรมนูญเรียกร้องให้ ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งจะต้องเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน จึงจะสามารถทำหน้าที่กรรมการการเลือกตั้งได้ กรณีดังกล่าว กกต.แม้จะถูกคุมขังและต่อมาได้รับการปล่อยตัวก็ต้องถือว่า กรรมการการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่า กกต.จะตัดสินใจลาออกหรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ก็มีความเห็นทางกฎหมาย ที่ใช้และตีความมาตรา 137 และ 106 ของรัฐธรรมนูญฯ โดยอธิบายว่า “รัฐธรรมนูญฯมาตรา 106 นั้น ใชบังคับในกรณีที่ กกต.ต้องคุมขังโดยหมายของศาล เฉพาะในวันเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้น กรณีนี้ กกต.ไม่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากไม่ได้ถูกคุมขังในวันเลือกตั้ง” กรณีการตีความดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า มีปัญหาในเชิงการตีความที่ติดยึดกับถ้อยคำในมาตรา 106 ที่ว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง” ซึ่งหากตีความในลักษณะดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลประหลาด สามประการ

ประการที่หนึ่ง หาก กรรมการการเลือกตั้งคนใดถูกคุมขังโดยหมายของศาล ในวันที่มิได้มีการเลือกตั้ง กกต.ผู้นั้นก็มีคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการการเลือกตั้งได้

ประการที่สอง หากกรรมการการเลือกตั้งคนใดถูกคุมขังโดยหมายของศาล และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว คำถามที่ตามมาคือ กกต.ก็ยังสามารถทำหน้าที่ในคุกต่อไปได้ และเมื่อถึงวันเลือกตั้ง กกต.ทั้งสามก็จะพ้นจากตำแหน่ง แล้วใครจะเป็นผู้จัดการการเลือกตั้ง

ประการที่สาม หากกรรมการการเลือกตั้งคนใดถูกคุมขังโดยหมายของศาล และต่อมาศาลให้ประกันตัว กรณีดังกล่าวประเทศไทยเราก็จะมี กกต.ที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก ซึ่งคาดว่า กกต.คงไม่สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ให้เป็นที่เชื่อถือของประชาชนได้

จะเห็นได้ว่าตัวอย่างของการใช้และตีความประเด็นปัญหาการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง คือตัวอย่างของการตีความกฎหมายที่ไม่มีความสอดคล้องทั้งในแง่เจตนารมณ์และในแง่ของสถานการณ์บ้านเมือง เป็นการตีความที่ติดอยู่ “ตรรกะทางภาษากฎหมาย” ที่คับแน่นและตีบตันจนก่อให้เกิดผลประหลาด

ตัวอย่างการใช้ตีความกฎหมายทั้งสองกรณีเป็นตัวอย่างที่ดีของ นักกฎหมายที่ต้องประสาน “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ในการใช้กฎหมายให้เป็นหนึ่งเดียว ยิ่งในภาวะวิกฤตการณ์ทางเมืองแล้ว การใช้และตีความกฎหมายจะต้องคำนึงถึง บริบททางสังคม ณ ขณะนั้นควบคู่ไปด้วย เพราะกฎหมาย มิใช่มีขึ้น เพื่อรักษาตัวของมันเองไว้เท่านั้น แต่กฎหมายมีภารกิจที่สำคัญกว่า คือ การเยียวยาสังคมทั้งในยามสงบและยามวิกฤติเท่าที่กฎหมายจะทำได้

..............

หมายเหตุ

นิติวิธี เป็นบทเรียนในวิชา กฎหมายแพ่งหลักทั่วไป ศึกษาตอนปี ๑ ถือเป็นหัวใจของนักกฎหมายเลยก็ว่าได้ ผมได้เรียนกับ อ.สมยศ เชื้อไทย ทุกวันนี้ยังชอบนั่งุคยกับ อาจารย์อยู่บ่อยๆ คนนี้ครับของจริง ไม่ย้อมแมวขาย

12 comments:

Anonymous said...

นิติรัฐ (คน) ไม่มี นิติวิธี
นิติรัฐ (หลัก)มีนิติวิธี
บราโว้ บราโว้ มาตรา ๗

Anonymous said...

อ่านบทความนี้แล้วทึ่งครับ

โดยเฉพาะเรื่อง มาตรา 7

เหมือนดูสารคดีสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งติดอยู่ในป่านับสิบปีแล้วยังคิดว่าสงครามยังไม่จบ

ผมว่าถ้าคุณรู้จักนิติวิธีจริงๆ
ก็ควรที่จะกลับไป "อ่าน" รัฐธรรมนูญปี 40มาตรา 201 อีกครั้ง

หรือถ้าคุณมั่นใจว่ารักท่านจริงอย่างที่เขียนเคยแสดงออกทางบล็อกไว้ครั้งหนึ่งก็ควรกลับไป "ฟัง"พระราชดำรัสที่เกี่ยวกับมาตรา 7 อีกครั้ง

Anonymous said...

โต้แย้ง สิ โต้แย้ง

Anonymous said...

ผมรักในหลวง ไม่ได้หมายความว่าโต้แย้งด้วยเหตุผลไม่ได้

ความรักที่คุณหมายถึง มันงี่เง่าสิ้นดี

รัฐ คือ ตัวข้า ยิ่งใหญ่ชะมัด

Anonymous said...

ผมยก 313 ไม่ได้ยก 201

การกลับไปดู 201 ก็กลับสู่ลายลักษณ์อักษรที่ตายแล้วอยู่ดี

นี่ คือ ตัวอย่าง ของ Positivism ที่ไม่มี นิติวิธีทางสังคมวิทยา และ นิติวิธีทางประวัติศาสตร์

หรือบางพวกอาจรังเกียจ ประวัติศาสตร์ของตนเอง ก็เป็นได้

Anonymous said...

อยากจะยกอะไรก็ยกตามใจ

นี่หรือนักกฎหมายที่มีนิติวิธี

Anonymous said...

จะโต้แย้งด้วยหลักวิชาก็โต้แย้งสิครับ คุณไม่เอ่ยนาม
ทำไมต้องตามกัดจิกโดยไม่มีหลักวิชามาโต้แย้งด้วย ผมอ่านของเมฆบ้าแล้วพึ่งค้นพบว่ากฎหมายมีอะไรมากกว่าที่รู้ กรณีนี้ผมว่าเมฆบ้าเขียนได้สมเหตุสมผลสมความจริง

Anonymous said...

เวลานี้มีการเลือกตั้งเพื่อให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ถ้าไม่มีสภาที่ครบถ้วน ก็ไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ฉะนั้นต้องขอให้ไปปรึกษากับผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เมื่อก่อนมีศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา เดี๋ยวนี้มีศาลหลายอย่าง เมื่อมีก็ต้องให้ดำเนินการให้ ฉะนั้นขอให้ไปปรึกษากันกับศาลอันอื่นด้วย จะทำให้บ้านเมืองปกครองแบบประชาธิปไตยไปได้ อย่าไปคอยที่จะให้ขอนายกฯ พระราชทาน เพราะขอนายกฯ พระราชทานไม่ได้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะ อะไรก็ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย


ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด อ้างไม่ได้ มาตรา 7 มี 2 บรรทัด ว่าอะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีหรือตามที่เคยทำมา ไม่มี เขาอยากจะได้นายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องของการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบขอโทษ พูดแบบมั่ว พูดแบบไม่มีเหตุมีผล สำคัญอยู่ที่ท่านที่เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา มีสมอง ที่แจ่มใส ควรจะสามารถที่จะไปคิดวิธีที่จะ ปฏิบัติ คือ ปกครองต้องมีสภา สภาที่ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วนเขาว่าไม่ได้ แต่อาจจะหาวิธี ที่จะตั้งสภาที่ไม่ครบถ้วนแต่ทำงานได้ ก็รู้สึกว่าจะมั่วอย่างที่ว่า แต่ขอโทษอีกทีนะที่ใช้คำว่ามั่ว ไม่ถูกไม่ทราบใครจะทำมั่ว แต่ว่าปกครองประเทศมั่วไม่ได้ ที่จะคิดอะไรแบบว่าทำปัด ๆ ไปให้เสร็จ ๆ ไป ถ้าไม่ได้เขาก็โยนให้พระมหากษัตริย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่วอย่างอื่น พระมหากษัตริย์ไม่มีหน้าที่ที่จะไปมั่ว ก็เลยจะต้องขอร้องฝ่ายศาลให้คิดให้ช่วยกันคิด


เดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไป เขาหวังในศาลโดยเฉพาะศาลฎีกา ศาลอื่น ๆ เขายังบอกว่าศาลขึ้นชื่อว่าเป็นศาลดี ยังมีความซื่อสัตย์สุจริต มีเหตุมีผลและมีความรู้ ท่านได้เรียนรู้กฎหมายมา และพิจารณาเรื่องกฎหมายที่จะต้องศึกษาดี ๆ ประเทศจึงจะรอดพ้นได้ ถ้าไม่ทำตามหลักกฎหมาย หลักของการปกครองที่ถูกต้อง ประเทศชาติไปไม่รอด อย่างที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะว่าไม่มีสภา สมาชิกสภาถึง 500 คนทำงานไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาดูว่า จะทำอย่างไรสำหรับให้ทำงานได้ จะมาขอให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตัดสิน ก็อาจจะว่ารัฐธรรมนูญนี้พระมหากษัตริย์เป็นคนลงพระปรมาภิไธย ก็เดือดร้อน แต่ว่าในมาตรา 7 นั้นไม่ได้บอกว่า พระมหากษัตริย์สั่งได้ ไม่มี ลองไปดูมาตรา 7 เขาเขียนว่า ไม่มีในบทบัญญัติแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่ามีพระมหากษัตริย์ที่จะมาสั่งการได้ แล้วก็ขอยืนยันว่า ไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายพระราชบัญญัติต่าง ๆ ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ อย่างที่เขาขอ ขอให้มีพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ไม่เคยมีข้อนี้ มีนายกฯ แบบมีการรับสนองพระบรมราชโองการตามที่ถูกต้อง ทุกครั้ง



มีคนเขาอาจจะมาบอกว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ทำตามใจชอบ ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ตั้งแต่เป็นมามีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แล้วก็ทำมาหลายสิบปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ถ้าทำไปตามใจชอบ ก็คงจะทำบ้านเมืองล่มจมไปนานแล้ว แต่ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจชอบ แล้วถึงเวลาถ้าเขาจะทำตามที่เขาขอ เขาก็จะต้องด่าว่านินทาพระมหากษัตริย์ว่าทำตามใจชอบ ซึ่งไม่ใช่กลัว ถ้าต้องทำก็ต้องทำ แต่ว่ามันไม่ต้องทำ ต้องตอนนี้อยู่ที่ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นสำคัญที่จะบอกได้ ศาลอื่น ๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลอะไร ไม่มีข้อที่จะอ้างได้มากกว่าศาลฎีกาที่จะมีสิทธิที่จะพูดที่จะตัดสิน

Anonymous said...

นัยที่แท้ ตามข้อความข้างบน คือ นัยแห่งการเมืองแบบอุเบกขา

หากคุณจะด่าผมก็ด่าไป ตามความสะใจและรสนิยม
หากจะวิจารณ์เนื้อหาก็วิจารณ์กันถ้าหากจะวิจารณ์

สำหรับผมบทความเรื่องพระราชอำนาจของใครหลายคนก็แค่สะกิดตัวบทมาเขียน ค้นประวัติศาสตร์หน่อยก็เท่านั้น ไม่เห็นมีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจ

แต่สาระของผม คือ กฎหมายมันมิใช่เพียง ลายลักษณ์ แต่มันมีฟังชั่นของมัน ถ้ามันไม่ทำงาน มันติดขัด มันก็ใช้ไม่ได้ เมื่อใช้บทกฎหมายเฉพาะไม่ได้จริงๆ ก็ใช้ บทกฎหมายทั่วไป เมื่อไม่มีกฎหมายลายลักษณ์ก็ใช้กฎหมายประเพณี เมื่อไม่มีประเพณีก็ใช้หลักกฎหมายทั่วไป ก็เท่านั้น

หากจะด่า ก็ด่าได้ ขำๆ ชินซะแล้ว

เมฆบ้า

Anonymous said...

ผมว่าการนำรัฐยุคที่มีรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบกับยุคสมัย ร.7กับคณะราษฎรน่าจะเป็นการเปรียบเทียบที่ผิดเพราะ สภาพของรัฐของสมัย ร.7 กับคณะราษฎร ต่างกันมาก

เอามาเปรียบกันไม่ได้

เหมือนพระราชอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับระบอบประราชธิปไตยนั่นแหละ

มันเป็นคนละระบบโครงสร้างอำนาจกัน

ผมคิดว่า มาตรา 7 แบบที่ อธิการบดีธรรมศาสตร์เสนอทำได้ คือ ให้นายกลาออกแล้วในหลวงตั้งรัฐบาลพระราชทาน

เพราะรัฐธรรมนูญมันไม่ได้บอกไว้ว่ารัฐบาลรักษาการลาออกแล้วกรณีต้องทำอย่างไร

ต้องมีเหตุก่อน แล้วจึงมีพระราชอำนาจพิเศษ ที่หล่นลงมาสู่พระหัตถ์

ไม่ใช่ไปดึงอำนาจมาเอง

อย่างนั้นต้องเรียก รัฐประหารด้วยราชอำนาจ

เพราะเป็นการดึงอำนาจไปจากคณะตัวแทนของประชาชนไปสู่พระหัตถ์

crazycloud said...

เรื่องนี้ นิติรัฐ วิเคราะห์ไว้ถูกต้อง

การขอนายก ฯ เพราะ มีเงื่อนไขก่อน คือ ทักษิณออกไป พอออกไปแล้วเกิดช่องว่าง หานายกไม่ได้เลยขอนายกพระราชทาน

สำหรับผม ณ ขณะนั้น ผมไม่สนใจอะไรทั้งนั้น นอกจาก ปฏิรูปการเมือง ให้ได้

ผมอยากกลับมาสุภาพตั้งนานแล้ว เพราะบ้ามานาน ขอบคุณที่รอมชอม คุณ เซมัวร์ เวลาเข้าบล้อกผมคล้ายหมาบ้าเข้าไปทุกวัน

เชื่อว่ามีคนเข้าด่าซ้ำ ตามสบายครับท่าน

Anonymous said...

โอ้ย กูอยากด่ามึง กูอยากด่ามึง

555 กูบ้าตามมึงไปอีกคนแล้ว มึงรู้มั้ย

ตั้งแต่กูเข้ามาเล่นบล็อกมึงนะ

กูอยากด่ามึงทุกวันโว้ย ด่าเช้า ด่าเที่ยง ด่าเย็น ด่าก่อนนอน เหมือนกินยาวันละ 4 เวลาเลย

กูอยากด่ามึง

ไม่ใช่พวกนิติรัฐ แต่จะกัดคนอยากดัง

ไม่ได้หมั่นไส้ความดังของคุณนะ

แต่ว่าไม่ชอบบรรดาถ้อยคำท่คุณชอบผูกขาดความดี เช่น ผมเรียนมาด้วยภาษีประชาชน ผมอยากตอบแทนชาติ ฯลฯ

เหล่านี้ ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนก็มีจิตใจรักชาติทั้งนั้นละ

ถ้าแน่จริงทำไมตอนคุณฟ้องศาลปกครอง คุณไม่ฟ้องโดยไม่ใช้ชื่อ Anonymous ละ จะได้ทำเพื่อชาติแบบติดทองหลังพระจริงๆ

555
นักวิชาการรุ่นพี่