Wednesday, January 24, 2007

การตัดสัญญาณโครงข่ายโทรคมนาคม กับประกาศ กทช.ว่าด้วยการปล้นโครงข่ายโทรคมนาคมไทย


การตัดสัญญาณโครงข่ายโทรคมนาคม
กับ ประกาศ กทช.ว่าด้วยการปล้นโครงข่ายโทรคมนาคมไทย

ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ วนเดียวกันนี้

สืบเนื่องจากกรณีที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทศท.ได้ดำเนินการตัดสัญญาณโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีการเชื่อมต่อโครงข่ายฯระหว่าง โครงข่ายของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับ โครงข่ายของบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ กสท.จำนวนสามล้านเลขหมาย โดยมีสาเหตุจากการที่บริษัทเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สองบริษัท ไม่ยอมชำระราคาค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (Access Charge) ทำให้รัฐอาจสูญเสียรายได้กว่า 240,000 ล้านบาท

กรณีที่เกิดขึ้น มีความเกี่ยวพันกับการกระทำผิดกฎหมายอยู่หลายกรณี ซึ่งในแต่ละประเด็น บริษัทเอกชนคู่สัญญา บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติจะต้องแสดงบทบาทในการทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่างถูกต้องและโปร่งใส

ประเด็นที่หนึ่ง การไม่ปฏิบัติตามสัญญาของบริษัทเอกชนคู่สัญญา โดยการไม่ชำระค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (Access Charge)

โครงข่ายโทรคมนาคมไทย แบ่งได้เป็นสองประเภท ประเภทแรก คือ โครงข่ายที่รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ดำเนินการสร้างเอง รัฐวิสาหกิจที่ว่าก็คือ ทศท.และกสท. กับโครงข่ายที่เกิดขึ้นตามสัญญาสัมปทานในเทอมแบบ BTO (Built Transfer Operate) ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้ดำเนินการสร้างโครงข่าย แล้วโอนโครงข่ายให้ตกเป็นของรัฐ และมีสิทธิให้บริการจนกว่าอายุสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง โครงข่ายโทรคมนาคมทั้งสองชนิด จึงเป็นทรัพย์สินสาธารณะเพื่อใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะ โดยในปัจจุบันโครงข่ายทั้งหมดอยู่ในความครอบครองดูแลโดย ทศท.แล กสท.

สืบเนื่องจากอดีตที่การให้บริการโทรศัพท์มือถือ ของบริษัทเอกชนคู่สัญญาสัมปทานกับ กสท.มีปัญหาการให้บริการกับลูกค้า ตลอดจนปัญหาคุณภาพของสัญญาณ ต่อมาจึงได้ตกลงทำสัญญาเชื่อมโยงโครงข่าย ฯ ระหว่างโครงข่ายของ กสท.และโครงข่ายของ ทศท.โดยที่ ทศท.ต้องเป็นผู้ลงทุนในอุปกรณ์ที่ใช้แปลงสัญญาณเพื่อให้สามารถโทรติดต่อข้ามระบบกันได้ ดังนั้นในข้อตกลงดังกล่าวจึงมีการกำหนดให้เอกชนคู่สัญญาสัมปทานของ กสท.ต้องจ่ายค่าเชื่อมโครงข่าย (Access Charge) 200 บาทต่อเลขหมายโดยจำนวนเงินดังกล่าวสามารถนำไปหักออกจาก ค่าสัมปทานที่เอกชนต้องจ่ายให้กับ กสท. ดังนั้นผลของสัญญาดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับเอกชนแต่ประการใด

ด้วยเหตุนี้การที่เอกชนสองบริษัท คือ ทรูมูฟ และดีแทค ไม่ยอมชำราคาค่าเชื่อมโครงข่าย(Access Chrage) จึงเป็นการ ผิดสัญญา ซึ่ง ทศท.มีอำนาจสั่งให้คู่สัญญาเชื่อมโยงโครงข่าย คือ กสท.ดำเนินการให้เอกชนชำระราคาค่าเชื่อมโยงโครงข่าย ซึ่งหาก กสท.ไม่ดำเนินการ ทศท.ก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้ กสท.ชำระค่าเชื่อมโยงโครงข่ายได้ เพราะเนื่องจากสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบริการสาธารณะ

นอกจากนี้การที่เอกชนไม่ยอมจ่ายค่า Access Charge ผลที่ตามมาเท่ากับว่า เอกชนดำเนินการแปรสัญญาสัมปทานโดยพลการ ทั้งนี้เนื่องจาก หากเอกชนไม่ต้องจ่ายค่า Access Charge เงินจำนวนดังกล่าว ก็ต้องจ่ายให้กับ กสท.ในฐานะค่าสัมปทานอยู่ดี ดังนั้นกรณีหากปล่อยให้เอกชนดำเนินการเช่นนี้ ก็เท่ากับว่า “อำนาจของเอกชน” สามารถชนะ “อำนาจมหาชน” อันเป็นหัวใจสำคัญของสัญญาสัมปทานได้ กรณีนี้ กสท.และ ทศท.ต้องร่วมกันหารือเพื่อสกัดมิให้เอกชนทั้งไทย และที่มียังมีปัญหา นอมินีต่างด้าว เช่น กรณีบริษัท ดีแทค ซึ่งถือหุ้นโดย Telenor ประเทศนอรเวย์ เข้ามารุกล้ำอำนาจมหาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยของประชาชนชาวไทยทุกคน

นอกจากนี้องค์กรที่ควรมีบทบาทในการดำเนินการเข้าแก้ไขในเรื่องนี้ คือ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.ที่ต้องทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติ คือเงินรายได้ของรัฐที่อาจสูญเสียไป มิใช่ปล่อยให้เอกชนดำเนินการต่างๆโดยที่ กทช.นั่งอยู่เฉยๆ ซึ่งเงินรายได้อันเกิดจากสัญญานี้ล้วนได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมายหลายฉบับ ทั้ง กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม และกฎหมายว่าทุนรัฐวิสาหกิจ

กรณีปัญหาประการแรกนี้ ทศท. กสท. และ กทช. ในฐานะองค์กรของรัฐ มีพันธะหน้าที่ต่อประชาชนในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งอยู่เหนือและสำคัญกว่าผลประโยชน์ของเอกชน มิเช่นนั้นแล้วการนิ่งเสียก็จะกลายเป็นการกระทำความผิดทางอาญาฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นได้

ประเด็นที่สอง มาตรการในการตัดสัญญาณโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นมาตรการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การดำเนินกิจการโทรคมนาคมนั้น มีลักษณะเป็นบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชน ความข้อนี่หมายความว่า กิจการโทรคมนาคมไม่ได้มีลักษณะเป็นกิจการในทางธุรกิจการค้าเพื่อการแสวงหากำไรเป็นหลัก บทบาทของผู้ดำเนินการไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชนจึงมีพันธะผูกพันในการดำเนินกิจการโทรคมนาคมในฐานะที่กิจการดังกล่าวเป็น “บริการสาธารณะ”

บริการสาธารณะ มีรูปแบบในการจัดทำได้สองรูปแบบใหญ่ คือ รัฐเข้าไปดำเนินการเองในรูปแบบการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ และการให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดทำผ่านระบบการทำสัญญาทางปกครอง ซึ่งไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตามในการดำเนินกิจการบริการสาธารณะนั้นจะต้องตกอยู่ภายใต้หลักการประการสำคัญ คือ หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ ซึ่งหมายความว่า กิจการใดที่เป็น บริการสาธารณะจะสะดุดหยุดลงด้วยเหตุผลหนึ่งเหตุผลใดไม่ได้

จากกรณีปัญหาการที่บริษัทเอกชนจะไม่ชำระค่าใช้และเชื่อมโยงโครงข่าย (Access Charge) แม้ว่าจะมีลักษณะเป็นการผิดสัญญาการใช้และเชื่อมโยงโครงข่ายก็ตาม แต่กรณีนี้ไม่เป็นเหตุในอันที่บริษัท ทีโอที จะอ้างมาใช้เพื่อตัดสัญญาณโครงข่ายโทรคมนาคมได้ทั้งนี้เนื่องจาก การตัดสัญญาณจะส่งผลกระทบทำให้ บริการสาธารณะในกิจการโทรคมนาคมเกิดปัญหาการสะดุดหยุดลงบางส่วน กรณีดังกล่าวมีความแตกต่างจากสัญญาทางแพ่งที่คู่สัญญาสามารถไม่ชำระหนี้ตอบแทนจนกว่าอีกฝ่ายจะชำระหนี้ตอบแทนตามที่ผูกพันการตามสัญญา

นอกจากนี้ การตัดสัญญาณดังกล่าว ยังมีลักษณะเป็นการตัดสัญญาณโครงข่ายโทรคมนาคมของชาติด้วยกันเอง ทั้งนี้เนื่องจากที่ได้กล่าวแล้วว่า โครงข่ายโทรคมนาคมในปัจจุบันล้วนเป็นโครงข่ายของประเทศทั้งหมดไม่ว่าจะครอบครองอยู่โดยบริษัท ทีโอที บริษัท กสท. หรือบริษัทเอกชนคู่สัญญาสัมปทานก็ตาม

ด้วยเหตุผลดังกล่าว การดำเนินการตัดสัญญาณโครงข่ายโทรคมนาคมของบริษัท ทีโอที จึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีความเหมาะสมกับการให้บริการกับประชาชน

ประเด็นที่สาม ต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดมาจากการออกประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคม ( Interconection Charge)

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้ออกประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๙ โดยกำหนดให้นิติบุคคลเอกชนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม มีสิทธิในการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ทั้งที่ กฎหมายแม่บทของประกาศดังกล่าว คือ พระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ ไม่ได้ให้อำนาจไว้

โดยใน มาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ ได้กำหนดหลักการให้แต่เฉพาะผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเองเท่านั้นที่สามารถทำการใช้และเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคมได้ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)และบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ ๓ ที่ได้รับอนุญาตใหม่จาก กทช. เท่านั้นที่เป็นผู้รับใบอนุญาตและมีโครงข่ายเป็นของตนเอง อันเป็นหน่วยงานที่สามารถใช้และเชื่อมโยงโครงข่ายตามมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙

แต่ในประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคม นาคม แห่งชาติว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ข้อ ๑๒๖ กลับกำหนดให้นิติบุคคลเอกชนผู้รับใบอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา สามารถใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายได้ ทั้งที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง เพราะไม่ได้มีการลงทุนโครงข่าย แต่รัฐได้ใช้เงินภาษีอากรของประชาชนลงทุนไว้แต่เดิมโดย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) ได้รับโอนกรรมสิทธิโดยชอบธรรม

กรณีจึงเป็นการออกประกาศที่เกินกว่าขอบเขตของมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ อย่างชัดเจน จากเหตุผลข้างต้นย่อมส่งผลให้ ประกาศดังกล่าวมีปัญหาความไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการเปิดโอกาสให้ นิติบุคคลเอกชนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เข้ามามีสิทธิเสมือนเป็นเจ้าของโครงข่ายกิจการโทรคมนาคมทั้งที่นิติบุคคลเอกชนเหล่านั้นไม่ได้มีความเป็นเจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคมแต่ประการใด

นอกจากนี้ ยังปรากฏกรณีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า นิติบุคคลเอกชนที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมหลายราย เช่น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้มีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือไม่ ซึ่งหากปล่อยให้ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป ย่อมอาจส่งผลทำให้นิติบุคคลต่างด้าวซึ่งยังมีปัญหาการประกอบกิจการตามสัญญาสัมปทานที่ผิดกฎหมายอยู่ เข้ามามีสิทธิเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคม อันจะส่งผลทำให้นิติบุคคลต่างด้าวมีสิทธิเหนือโครงข่ายโทรคมนาคมของชาติ ทั้งยังมีโอกาสล่วงรู้ความลับข้อมูลการสื่อสารของประชาชน ซึ่งอาจเกิดความเดือดร้อนเสียหายทั้งในปัจจุบันและอนาคตและอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

กรณีการตัดสัญญาณโครงข่ายของบริษัททีโอทีที่เกิดขึ้นจนเกิดเป็นคดีความในศาลปกครอง นั้นมีประเด็นที่สังคมต้องจับตามอง มากไปกว่าชัยชนะของเอกชน คือ การออกกฎเกณฑ์ของ กทช.เปิดทางให้เอกชนเข้ามามีสิทธิเหนือโครงข่ายโทรคมนาคมของชาติ การทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของ ทีโอที และสมบัติชาติ คือ โครงข่ายโทรคมนาคมที่กำลังถูกทุนนิยมทั้งไทยและต่างด้าวเข้าแย่งยึดไปเป็นของตนเอง โดยไม่มีความกตัญญูรู้คุณแผ่นดิน

ศาสตรา โตอ่อน
นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

Friday, January 19, 2007

Friday Tag


Fraiday Tag

ผมโดนแทค

คาดว่าแทค ที่มีผู้ริเริ่มเล่นคงคล้ายกับอีมอญซ่อนผ้า ตุ้กตาอยู่ข้างหลัง
ใครถูกตี ต้องละเลงวาดอักษรไถ่ถอนตัวตนลงบนพื้นแคนวาสบอกเกลอ มิฉะนั้นจะเป็นการเสียมารยาท อย่างแรง

เรื่องการเสียมารยาทเนี่ย ผมก่อเวรกรรมไว้เยอะ คราวนี้ขอทำกรรมดีซะหน่อย

มาครั้งนี้เมื่อ น้องยาราติโอ้ และสวีทเนเฟอตารี่ ทอดไมตรีให้เกียรติแทค ไฉนคนถ่อยเยี่ยงผม จะปฏิเสธได้

พูดถึงตัวผม ผมค่อนข้างรู้จักดี ผมเพราะผมอยู่กับผมบ่อยมาก และผมมันตามผมไปทุกที่ ชาตินี้ผมกับผมจึงไม่อาจแยกขาดจากกันได้ จนกว่าผมกับผมจะตายจากกันไป

๑.ผมเกิดในตระกูลชาวนาเจ็ดชั่วโคตร ดังนั้นภาพที่ผมเห็นจนชินตาแต่เด็ก คือนานาสารพัดกิจกรรมของชาวนาที่เหน็ดเหนื่อย ร้อนและคันเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งต่างจากคนในเมืองแสนสบายโดยสิ้นเชิง

๒.ผมออกจากบ้านไปเรียนตั้งแต่หกขวบ ดังนั้นตัวผมจึงมีความอ่อนแอบางประการ โดยเฉพาะเรื่องความรัก เนื่องจากต้องห่างแม่ตั้งแต่เด็ก เวลาเหงาผมชอบคิดถึงตอนเด็ก ที่ผมชอบนั่งดูทีวี รวมทั้ง รายการจิ๋วแจ๋วเจอะโลก ของคุณปิ่น แล้วแม่ผมจะทำกับข้าว ไป ผมนั่งดูทีวีไป ชำเลืองแม่และก็ดมกลิ่นกับข้าวไป แม่ผมชอบฟังเพลงลูกทุ่ง พุ่มพวง เปิดสลับกับมาดอนน่า ฮาฮา ขณะบรรเลงเพลงปลาร้าหลนตำรับคุณนายกำนัน

๓.การมาอยู่กรุงเทพท่ามกลางดงเท้าเด็กวัด บีบบังคับให้ผมต้องลุกขึ้นสู้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นส่วนหนึ่งของผมจึงมีนิสัย สัตว์ป่าแอบแฝงอยู่ ถ้าผมเป็นหมูน้อย ผมก็เป็นหมูป่า ไม่ใช่หมูบ้าน ดังนั้นเวลาธาตุหมูป่าผมสำแดงเดช (ยามจำเป็น) พวกหมูบ้านจึงรับกันไม่ค่อยได้ ข้อนี้ผมคงต้องปรับปรุงให้นิ่งกว่านี้

๔.ผมเป็นคนชอบศิลปะมากกว่ากฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเขียนกวี การถ่ายภาพ วาดภาพ ด้วยเหตุนี้ตอนเรียนธรรมศาสตร์ผมจึงไม่ค่อยสนใจเรียน และใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฝึกวิชานอกห้องเรียนนานาชนิด ความฝันแท้จริงของผม คือ สถาปนิก ครับ

๕.ผมเป็นคนบ้า

จบแล้ว ผม ที่ผมรู้จัก

ขอต่อการละเล่น แทค ให้กับ

แทน โซลซีคเค่อร์

เจต โลกากู

เล็กปริญญา

เกลกลูก

และ ลีโอ

.................

บุญรักษา ชีวาสดชื่น

................

เมฆบ้า

Wednesday, January 17, 2007

เซน คือเหลี่ยมใดในพุทธ


เซนคือเหลี่ยมใดในพุทธ

พุทธ มีเหลี่ยมคูสำคัญสามเหลี่ยมใหญ่

เหลี่ยม หนึ่ง คือ ระบบศีลธรรม ที่ทำให้คนเป็น คนดี เพื่อให้สังคมดี ไม่เบียดเบียนกัน ข้อนี้มีในทุกศาสนา ทุกความเชื่อ ทุกลัทธิ ยกเว้นลัทธิวิปลิศอย่าง ศาสนาทุน

เหลี่ยมสอง คือ บรมธรรม ที่เป็นปรมัตถสัจจะ อันเป็นตัวความรู้ที่มุ่งอธืบายสัจจะ ซึ่งในระบบความรู้แบบปรัชญา พุทธบรมธรรมถูกจัดเป็นเพียงปรัชญาสายจิตนิยม โดยนักวิชาการฝ่ายตะวันตกผู้มืดบอด

เหลี่ยมสาม คือ ตัวการปฏิบัติธรรม เพื่อเข้าถึงสัจจะ การปฏิบัติธรรมไม่ได้มีขึ้นแล้วหยุดลงตรงที่การทำให้คนเป็นคนดีตามระบบศีลธรรมเท่านั้น แต่ไปไกลถึงขั้น การปลดปล่อยตนเองให้หลุดพ้นจากกรงขังแห่งอุปาทาน กิเลส อาสวะ อนุสัย ทั้งปวง เพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นเสรีชนอย่างแท้จริง ผ่านการวิปัสสนา กรรมฐาน อันเป็นอริยธุระ

เซน นั้น คือ การแลเห็นธรรมชาติภายในตนซึ่งไร้ธรรมชาติ

เซน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ระบบศีลธรรมมากนัก

เซน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตำราอรรถาธิบายบรมธรรมเท่าใด

แต่เซนมุ่งเน้น ประสบกการณ์การทำซาเซน การเอาชนะความทุกข์โดยการแลเห็นธรรมชาติซึ่งไร้ธรรมชาติในจิตใจของตนเอง ผ่านการรู้แจ้งด้วยเหตุผลเชิงประจักษ์

เซน จึงท้าทายความคิดของคนให้ละทิ้งเปลือกทั้งปวง กระทั่งคัมภีร์ยืดยาวลงทั้งหมด

บางท่านถึงกับเอาตำราไตรปิฎกมาเผาเลยก็มี

บางท่านไปใช้ชีวิตอยู่ใต้สะพานกับขอทาน

บางท่านไปใช้ชีวิตในซ่องโสเภณี

บางท่านแสดงออกโดยการท้าทาย ด่าทอ

เขาเหล่านั้นมีจุดหมายสำคัญ คือ ปลุกชนทุกชั้นให้ตื่นขึ้นมาสัมผัสความจริงโดยไม่สนใจเปลือกป้ายทางสังคมใดๆ

เซน มีแก่นประการเดียว คือ การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงประสบการณ์แห่งการตื่นรู้

หากจะนับเซนเป็นเหลี่ยมใดในพุทธ เซนก็คือเหลี่ยมแห่งการปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของพุทธ

ทั้ง เซน และ การปฏิบัติธรรม จึงเป็นเพชรยอดมงกุฎของพุทธ

เพชร แม้ตกหล่นอยู่ที่ใด ในโคลนตรม ย่อมต้องคือเพชร

และเพชรแห่งพุทธ มิได้อยู่ในแหล่งสุดหล้าฟ้าเขียว หากแต่อยู่ในใจของท่านทุกคน

เมื่อใดที่ท่านลงมือแสวงหา เมื่อนั้น เซน ย่อมต้องมาเยี่ยมเยื่อนท่าน อย่างไม่ต้องสงสัย

แล้วเมื่อนั้น รอยยิ้มแห่งปัญญา จะผลิบานที่พวงแก้มของจิตเดิมแท้

...............

บุญรักษา ชีวาสดชื่น
..............

เมฆบ้ามหาศาล

Saturday, January 13, 2007

รถเมล์สาย ๕๖


รถเมล์สาย ๕๖

สมัยผมยังเป็นเด็กน้อย เริ่มเข้ากรุงเทพฯมาเรียน ม.๑ ใหม่ๆ สมัยนั้นผมมีถิ่นพำนักอยู่ ณ อารามหลวงชั้นเอกแถวสำเพ็ง

งานอดิเรกยามว่างจากงานอารามหลวงกุลีไร่กรรมกร ในบ่ายวันเสาร์หรืออาทิตย์ นอกจากไปอ่านหนังสือแถววังบูรพาแล้ว ผมยังชอบเดินทางไปในที่ต่างๆที่ผมอยากไป มั่วๆไปแบบบักหำน้อยตะลุยกรุง

อยู่มาวันหนึ่ง ผมเกิดนึกถึงหนังสือเรียนวิชาต่างๆสมัยประถม ผมจำได้ว่าทุกเล่ม มักจะเขียนว่า จัดจำหน่ายโดยศึกษาภัณฑ์พานิช ราชดำเนิน ตอนประถมตามประสาเด็กบ้านนอก ผมเลยวาดจินตนาการว่า ศึกษาภัณฑ์มันต้องเป็นร้านที่ใหญ่มาก มีเครื่องเรียนเครื่องเขียนเต็มไปหมด น่าตื่นตาตื่นใจเป็นแน่

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงปักใจว่า เอาล่ะ วันนี้เราต้องออกท่องเที่ยวในเมืองใหญ่โดยมีจุดหมายที่ ศึกษาภัณฑ์พานิช สนุกล่ะตู

ผมเดินออกมาที่ป้ายรถเมล์หน้าวัด แล้วคอยมองว่ามีรถเมล์สายใดบ้างที่ผ่านราชดำเนิน เพราะศึกษาภัณฑ์มันอยู่ราชดำเนิน ฉลาดไหมล่ะ

ในที่สุด ผมก็พบหนทางแห่งการเดินทางอันน่าตื่นเต้นของผม รถเมล์สาย ๕๖ มีข้อความเล็กๆบ่งบอกว่าผ่านหลายสถานที่มาก แต่มีคำว่า “ราชดำเนิน” รวมอยู่ในข้อความบนป้ายข้างรถ “มันล่ะตู”

รถเมล์ ๕๖ กระชากออกตัวอย่างแรง รถวิ่งขึ้นสะพานพระปกเกล้า ฯ คูแฝดของเมโมเรี่ยล บริด ผมเพิ่งรู้ว่า ราชดำเนิน คงอยู่แถวฝั่งธนกระมัง ฉลาดไหมล่ะ ผม รถเมล์วิ่งมาถึงสี่แยกแล้วเลี้ยวเข้าถนนอสรภาพ อู่ทองใน

เห็นกรมหลวงชุมพรด้วย จากนั้นรถแล่นผ่านมาถึงสี่แยกศิริราช แล้วเลี้ยวขวาตรงขึ้นไปที่ถนนจรัลสนิทวงศ์ ราชดำเนินนี่ไกลเหมือนกันแฮะ

รถวิ่งมาบนถนนจรัลฯวิ่งไปเรื่อยจนถึงปิ่นเกล้า โอ้โหนั่นห้างพาต้าที่มีโฆษณาในทีวีนี่หว่า เราได้มาเห็นแล้วหรือนี่

รถวิ่งต่อมาบนถนนจรัล ฯผมเริ่มไม่รู้จักเส้นทาง เริ่มลนลาน ว่าทำไมมันไม่ถึงราชดำเนินซะที

รถวิ่งมาเรื่อย มาเรื่อย จนมาเลี้ยว ขวาขึ้นสะพานซังฮี้ คราวนี้งงเป็นไก่ตาแตก รถก็ติดมาก ผมนับเวลาตอนนี้ปาเข้าชั่วโมงครึ่งสำหรับการเดินทางไปศึกษาภัณฑ์

พอลงจากสะพาน ผมจำไม่ได้ว่ารถเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาต่อมาไม่รู้อีกกี่ที่ ผมเริ่มสับสน เราหลงทางรึเปล่า ทำไมไม่ถึงราชดำเนินซะที

ในที่สุดรถก็มาถึงราชดำเนิน และผมก็มองเห็น ศึกษาภัณฑ์พานิช เป็นร้านใหญ่โตทีเดียว แต่ผมหมดความตื่นเต้นไปเยอะ เพราะความกลัวหลงทางเล่นงานเอาเหนื่อย เวลาผ่านไปนานพอดู ผมเลยรีบเข้าไปเดินข้างในศึกษาภัณฑ์ พรางคิดในใจว่า ในที่สุดเราก็มาถึงจนได้เล่นเอาเหนื่อย
.........................................
ได้เวลาที่ผมจะกลับแล้ว ผมมองไปที่ป้ายข้างรถเมล์ดูว่า จะมีคำว่า จักรวรรดิ ติดอยู่บนป้ายรถเมล์คันใดหรือไม่ ในที่สุดผมก็เจอ เจอมันบนป้ายรถเมล์สาย ๕๖ สายเดิม ผมกระโดดขึ้นรถ รถแล่นมาสิบนาทีก็ถึง วัดจักรวรรดิราชวาส ถิ่นพำนักของผม

ผมรู้สึกโล่งใจที่กลับมาถึง วัดจนได้ วัดของผมกับศึกษาภัณฑ์แท้จริงห่างกันเพียงสิบนาทีเท่านั้น
ผมนี่โง่ชะมัด ผมไม่รู้ต่างหาก

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ คือ เมื่อผมรู้แล้ว ความกลัว ความสงสัย ความเหนื่อย ก็หายไป

นับแต่นั้นผมก็ยังมีโอกาสขึ้นรถเมล์สาย ๕๖ ของชีวิตอีกหลายครั้ง ขึ้นด้วยตัวเอง หลงด้วยตัวเอง เหนื่อย ทุกข์ ด้วยตัวเอง และหาทางลงด้วยเอง

จนถึงวันนี้ ราชดำเนิน ศึกษาภัณฑ์ เยาวราช เวิ้งนาครเขษม สำเพ็ง สะพานหัน พาหุรัด สนามหลวง วัดพระแก้ว พระอาทิตย์ พระจันทร์ ท่าเตียน ศิลปากร ท่าช้าง วังหลัง โต๊ะสนุก วงเหล้า วงหมากรุก โรงน้ำชา โพไซดอน ชองเซลิเซ่ (เมืองไทย) ดูดวง ส่องพระ ธรรมศาสตร์ จุฬา สุรา นารี ความทุกข์ ความสุข ความอยาก ความใคร่ ความกลัว ความทรมาน ความเจ็บปวด การเมือง การต่อสู้ การสัปปะยุทธ การชกต่อยแบบข้างถนน การโดนคนเอาตีนตะบันหลัง หมัดตะบันหน้า การด่าทอ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความมีมิตรไมตรี เธอ เธอ เธอ กระทั่งเธอ กระทั่งความรัก กระทั่งความหอมหวาน กระทั่งความเจ็บปวดรวดร้าวแหลกลาญ และอีกนานาประการ

ทั้งหมด เป็นเพียง รถเมล์สาย ๕๖

นี่คือวันหนึ่ง วันเล็กๆ ของเด็กเล็กๆที่เดินทางคนเดียวในเมืองใหญ่ อย่างไม่รู้อะไรเลย
เช้าวันเด็ก ผมตกเครื่องบินไปอุบลฯ บางทีการตกเครื่องบินก็มีข้อดีเหมือนกัน นอนยาวๆ
...................................
ขอให้เด็กทุกคนเดินทางในถเมล์ชีวิตของเธอต่อไป
จงเดินทางเด็กๆ
และจงเดินทางอย่างปลอดภัย
เพราะ ฉันเชื่อในความมีสติปัญญาของพวกเธอ
แล้ว เธอทั้งหลายจะได้เรียนรู้ ว่ารสชาติแห่งความสุขที่แท้เป็นอย่างไร
................................
คำขวัญวันเด็กแด่คุณหนูๆจากบางตอนของเพลงวันเด็ก ของพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง

“เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันพรุ่ง เด็กคือสายรุ้งงามหลากสีสัน
อยากให้โลกสวยต้องช่วยให้เด็กมีฝัน เด็กคือบุคคลสำคัญ ให้วันเด็กมีหลายวัน”
..............................
รักเด็ก
...................
เมฆบ้า The Kind

Wednesday, January 10, 2007

วันที่ไม่มีอะไรจะเขียน


วันที่ไม่มีอะไรจะเขียน

“วันที่ไม่มีอะไรจะเขียน” มันจะมีอะไรเขียนได้ยังไง ก็ไม่แน่
ถ้าวันไหนเป็น “วันที่มีอะไรจะเขียน” วันนั้นมันก็เป็นวันที่มีอะไรจะเขียน

ว่าจะเขียนเรื่องการเมือง แต่ก็ไม่มีอะไรจะเขียน
ว่าจะเขียนเรื่องความรัก แต่ก็ไม่มีอะไรจะเขียน
ว่าจะเขียนเรื่องกฎหมาย แต่ก็ไม่มีอะไรจะเขียน
ว่าจะเขียนเรื่องสังคม แต่ก็ไม่มีอะไรจะเขียน
ว่าจะเขียนเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่มีอะไรจะเขียน
ว่าจะเขียนเรื่องศาสนา แต่ก็ไม่มีอะไรจะเขียน

เรื่องของเรื่อง ก็คือ ไม่มีอะไรจะเขียน เลยมาเขียนเรื่อง “วันที่ไม่มีอะไรจะเขียน”
วันที่ไม่มีอะไรจะเขียน จึงเป็นวันที่มีสาระสำคัญอยู่อย่างเดียว คือ ไม่มีอะไรจะเขียน
ด้วยเหตุนี้ บทสาธยายขนาดมินิคอกเทลนี้ จึงชื่อว่า วันที่ไม่มีอะไรจะเขียน

แต่ที่แน่ๆ “วันที่ไม่มีอะไรจะเขียน” เป็นคนละวันกับ “วันที่ไม่รู้จะเขียนอะไร”
“วันที่ไม่มีอะไรจะเขียน” คือวันที่ผมนั่งมองความเป็นไปแบบไม่คิดอะไร
ไม่แน่วันพรุ่งนี้ ผมอาจมีอะไรจะเขียน

……………………………

เมฆบ้ามหาศาล

Wednesday, January 03, 2007

งานเลี้ยง


งานเลี้ยง

หลังจากนักรบพเนจรกรำศึกมาเนิ่นนาน มิมีสิ่งใดจะดีไปกว่าการได้เลี้ยงฉลองอยู่กับคนแวดล้อมใกล้ชิด
วิสัยแห่งสงครามคือการต่อสู้ฟาดฟัน แต่ละฝ่ายก็ทำไปเพื่อจุดยืนของตนเอง
แต่จุดยืนที่นักรบพเนจรสรรเสริญ คือจุดยืนเพื่อชาติบ้านเมืองเท่านั้น

นักรบพเนจรสอดตัวเองเข้าไปในกระโจม ด้วยใจหวังได้ดื่มน้ำเย็น แลฟังเสียงคีตการขานขับ
เขาหวังเพียงโอบกอดคนที่รัก พร้อมพรรคมิตรสหายคนคุ้นเคย

แต่บัดนั้น บรรดาเหล่าสหาย ทั้งน้องพี่ เพื่อน คนที่เขาเคารพ กระทั่ง คนที่เขารัก กลับจ้วงแทงมีดร้าย ลงกลางหัวใจของนักรบพเนจร

เป็นชะตากรรมอันร้ายกาจที่สุด ที่นักรบพเนจร ได้เจอ

ความหวานหอมของงานเลี้ยง แท้จริง มีขึ้นเพื่อฆาตกรรม เขา นักรบพเนจร

ผู้เลือดโซมกาย และ หัวใจแตกสลาย

ช่างน่าตลกขบขันยิ่งนัก

สิ่งสุดท้ายในห้วงหัวใจของเขา คือ ซาตานตนใดที่ชักนำเขาเหล่านั้นให้ทำเช่นนี้

ชะตา กรรม ของ นักรบพเนจร ผู้ขาดไร้กระทั่งความสำราญ ในยามที่เขาเจ็บปวด

ขอวิญญาณของนักรบพเนจร จงไปสู่สุคติเทอญ

ขอวิญญาณของเหล่าสหายและคนรัก จงไปสู่สุคติเทอญ ขอให้ผลบาปอย่าได้ตกติดไปกับเขา

ขอวิญญาณของประเทศชาติบ้านเมือง จงไปสู่สุคติเทอญ

...........

สิ่งใดร้ายกว่ายาพิษ ? หัวใจของมนุษย์นั่นไง
...........
บุญรักษา ชีวาสดชื่น
เมฆบ้า