Tuesday, December 26, 2006
๔๙ ปีแห่งการสู้รบปรบมือกับตัวเอง
ปี ๒๕๔๙ เป็นปีที่ผมจะไม่มีวันลืม เพราะปีนี้ที่ใกล้จะล่วงเลย เป็นปีที่ผมได้ผ่านสงครามอันยิ่งใหญ่ คือ สงครามกับตัวตนของตนเอง
สงครามภายในจิตใจ คือ สงครามชนิดที่สำคัญที่สุด และวิสัยแห่งสงครามย่อมมีชนะบ้าง แพ้บ้าง เป็นธรรมดา ผลชี้ขาดของสงครามนั้น มีปัจจยตาแวดล้อมหลายประการ ทั้งความอดทน ความเข้มแข็ง จังหวะ เวลา โอกาส ฟ้า ดิน กระทั่งกรรมเก่าที่ได้ทำเอาไว้
พูดถึงความพ่ายแพ้ ปีนี้เป็นปีที่ผมพบกับความพ่ายแพ้ต่อตัวเองอย่างมากมายมหาศาล
ทั้งความพ่ายแพ้ต่อโทสะ ที่ต้อนรับผมตั้งแต่ต้นปี
ความพ่ายแพ้ที่ไม่อาจให้อภัยกับระบอบทักษิณผู้โหดร้ายกับประชาชน จนต้องออกไปด่าทอ บริภาษ
ความพ่ายแพ้ที่ไม่อาจรักษาสติบางส่วนได้เมื่อเผชิญสมรภูมิการต่อสู้ทางการเมือง
ความพ่ายแพ้ที่ไม่อาจอดรนทนต่อความเห็นที่แตกต่างในสถานการณ์บ้านเมืองที่เลวร้าย
ความพ่ายแพ้และอ่อนแอเกินไปกับความรักที่กลับมาทวงถามอีกครั้ง
ความพ่ายแพ้ที่ไม่อาจทำหน้าที่ของคนรัก ที่ผมไม่อาจหันแก้มซ้ายให้ตบได้ (ข้อนี้ผมคงต้องเรียนรู้จาก จีซัส มหาบุรุษแห่งความรัก)
สำหรับชัยชนะ หรือสิ่งที่เรียกว่าชัยชนะ ก็มีไม่น้อย
ผมดีใจที่ได้ทำหน้าที่ของคนรักอย่างสุดกำลังความสามารถที่ผมทำได้ ในสถานการณ์ที่ผมหมดแรงกับมัน
ผมดีใจที่ผมได้ทำหน้าที่ปกป้อง ประเทศชาติ อย่างสุดความสามารถ แม้ว่าประเทศชาติของเรากำลังจะล่มสลายในกำมือของ คมช. ผู้มืดบอดก็ตาม
ผมดีใจที่ผมสามารถเอาชนะจิตใจของตัวเองได้บางส่วนจนสามารถทำใจให้สงบได้ในระดับนึง
สำหรับชื่อเสียง ชื่อเสีย ทางสังคม
สำหรับสมัชชาแห่งชาติ สภายุง
สำหรับทุนการศึกษาไปเรียนนอก บางระมัน
ผมมองว่ามันเป็นเพียงฝุ่นผง เอาไว้เป่าเล่น
กล่าวโดยภาพรวมผมพอใจกับตัวเองบางเรื่อง และไม่พอใจตัวเองบางเรื่อง
แต่นั่นก็อีก ความพอใจ หรือ ไม่พอใจล้วนเป็นมายาการทั้งสิ้น
ปีนี้ ใกล้หมดเวลาของมัน ตามหมุดเข็มที่มนุษย์กำหนด
ผมเคยเฝ้ารอหมุดเข็มบางประการที่ใครบางคนปักทำเครื่องหมายเอาไว้ แต่ยิ่งใกล้ปีใหม่ การนับถอยหลังของผมเพื่อเฉลิมฉลองความสุขก็ยิ่งห่างไกลออกไปเรื่อยๆ
บางที่โลกนี้ก็แปลก ธรรมชาตินี้ซิยิ่งแปลก หรือว่า พระเจ้าและธรรมชาติเหงามาก จึงสร้างมนุษย์ให้เป็นหุ่นไขลานไว้ดูเล่น ลานของมนุษย์แท้จริง คือ กรรม ที่ กำ จิตใจเราอยู่นั่นเอง
ผมจะเดินต่อไปบนจุดหมายที่มาถึงอยู่ตลอดเวลา ไม่ดิ้นรน ค้นหา เฝ้ารอ สิ่งใด จนกว่า กรรม ที่ธรรมชาติแอบไขลานให้ผมมานับหมื่น นับแสนปี จะหยุดแรงลง
........................................................
วันเสาร์ที่ผ่านมา ผมไปสอนหนังสือนักศึกษาที่น่ารัก ณ จังหวัด หนองคาย สอนเลิกประมาณบ่ายสอง ก็ตีรถจากหนองคายมาที่อุดร แวะทานกาแฟกับลูกศิษย์ อันประกอบด้วย มะเดี่ยว มะนุช มะวิว และมะสันต์ จากนั้นขึ้นรถจากอุดร ไปนครพนม อีกประมาณห้าชั่วโมง เพื่อไปร่วมงานหมั้นของเพื่อน งานหมั้นแบบประเพณีผสม ระหว่าง ไทย ญวน จีน เจ้าสาวเป็นคนเชื้อสายเวียดนามคาดว่าคงอพยพมาพร้อมลุงโฮ งานหมั้นนี่ก็สนุกดี
ผมรับหน้าที่ถ่ายรูปให้กับ ว่าที่เจ้าสาวและเจ้าบ่าว ผมพยายามอย่างที่สุดที่จะทำหน้าที่ตากล้อง การถ่ายรูปให้ดีต้องใส่ความรู้สึกลงไปด้วย และผมก็ทำมันได้ในระดับที่สุดความสามารถ
งานหมั้นของเพื่อนกระผม คงทดแทนสิ่งที่ผมเคยเฝ้ารอได้กระมัง ไม่รู้สิ ปล่อยไปตามเวรกรรม
ขากลับ ยามดึก ระหว่างทางโดยสาร ผมปรับเบาะรถ แล้วแหงนหน้าขึ้นมองเวิ้งฟ้า เหนือภูพาน
ดาวเด่น นับแสนยังทอแสงระยิบระยับ ผมคิดคำนึงในจิตใจว่า เมื่อหมื่นปีที่แล้ว ขณะที่มนุษย์ยังไม่มีภาษาไว้เรียกขาน คงมีหนุ่มสาวคู่ใดคู่หนึ่ง นอนดูดวงดาวนับแสนอยู่ด้วยกัน
เขาอาจรักกัน รักกันโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งนั้นเรียกว่า ความรัก
เขาอาจให้กัน โดยไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่านั้น คือการให้
เขาทั้งคู่อาจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน โดยไม่รู้ว่านั้น คือ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน
และเมื่อถึงเวลาใครบางคนอาจตายจากไปก่อน และปล่อยให้ใครอีกคนร้องไห้ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ความตายได้พัดพรากคนที่เขารักไปเสียแล้ว
เขาคนนั้นอาจรู้แต่เพียงว่า มีของเหลวไหลออกจากดวงตา โดยที่เขาไม่ต้องฝืนต้านหรือข่มใจ
ธรรมชาติและพระเจ้าเท่านั้นที่รู้ ว่าใครจะอยู่ที่ไหนเมื่อไร
มนุษย์ตัวน้อยเช่น เขา และ ผม หรือใคร ก็ไม่อาจฝืนต้าน
ไม่ว่าจะใน พ.ศ.ใดก็ตาม
.....................................................
รถโดยสารแวะพักที่โคราช ตอนเที่ยงคืน
ผมเดินงัวเงียลงมาจากรถ สมองมึนๆงงๆ
ขณะนั่งอยู่ที่โต๊ะ สหายเก่าเอ่ยขึ้นว่า ปีนี้ช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน
นั่นสิ ผมก็รู้สึกเช่นนั้น รู้สึกว่าปีที่ผ่านมาผมเหมือนคนครึ่งหลับครึ่งตื่น
บางทีความอ่อนแอภายใน กับภาวการณ์ภายนอกอาจชักพาผมไปสู่จุดใดจุดหนึ่งในห้วงทะเลแห่งจิตวิญญาณ
ผมรู้สึกว่า สุขภาพของย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น สูบบุหรี่มากขึ้นกว่าเดิมมาก ผู้คนใกล้ชิดล้วนหลบลี้หนีหน้า
รู้สึกได้อย่างชัดเจนว่า ความเศร้าบางประการแล่นลึกอยู่ในจิตวิญญาณ
ผมคงต้องเฝ้าดูมันต่อไป ต่อไป และต่อไป
และขอให้ผลบุญที่ผมทำในปีนี้ ช่วยเป็นแรงขับดันให้บรรลุมรรคผลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
..................
ฝากคำทิ้งท้าย จากกวีศรีชาวนา
จิต ดุจนาไร่
ประสบการณ์ ดุจ คันไถพรวนดิน
ความทุกข์ ดุจเมล็ดพันธ์พืช
ปัญญา ดุจต้นกล้า
มรรคผล ดุจ รวงข้าวสีทองผ่องอำไพ
................
สุขสันต์วันปีใหม่
บุญรักษา ชีวาสดชื่น
เมฆบ้ามหาศาล
Saturday, December 16, 2006
เชื้อราแห่งโลก
โลกมีธรรมชาติของตัวมัน จะกล่าวให้กว้างไปกว่าธรรมชาติในแง่วัตถุ ก็หนีไม่พ้นธรรมชาติในจิตใจมนุษย์
โลกทุกวันนี้ เปลี่ยนสีสันไปเป็นอันมาก และแน่นอนที่สุด ธรรมชาติในจิตใจมนุษย์ คือ กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโลก นอกเหนือไปจากแรงเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็กที่ทำให้โลกหมุนได้
จากการพิสูจน์ทดลอง ด้วยเหตุผลเชิงประจักษ์ ที่มีประสบการณ์อันไม่อาจแบ่งแยก แทนค่าได้แน่นอน ผมพบว่าโลกทุกวันนี้ถูกขับเคลื่อน ด้วยความโลภ
ความโลภ เป็นตัวสร้างศาสนาทุน ศาสนาตลาด ขึ้นมามีอิทธิพลเหนือ ศาสนาปรมัตถ์ เหนือกรอบศีลธรรม จารีตประเพณี ขนบธรรมเนียม กระทั่ง กฎหมาย
ศาสนาทุนกำลังปิดล้อมหัวใจผู้คน เพราะศาสนาทุนเข้ากันได้ดีกับธาตุแท้ที่สำคัญอันสถิตย์อยู่ในตัวมนุษย์ คือ ความโลภ ความอยาก ความใคร่ ซึ่งพุ่งผ่านเข้าออกทางประสาทสัมผัสทั้งหก ให้เราได้เสพกินกันอย่างไม่หยุดยั้ง เรียกว่า อิ่มท้อง อิ่มตา อิ่มหู อิ่มรสชาติ อิ่มกลิ่น อิ่มเอมอบอวลไปทั้งเรือนร่าง กระทั่งจิตใจ
เมกะ นิวยอร์ค มหาวิหารทุนยังคงขมักเขม้นผลิตชุดความคิด เขียนพระธรรมของศาสนาทุนอย่างไม่หยุดหย่อน
เหล่านักวิชาการ นักการเมือง นักการธนาคาร นักกฎหมาย นักธุรกิจ โบรกเกอร์ ทั่วโลก ยังคงพร่ำบ่นและสวดอ้อนวอนถึงพระผู้เป็นเจ้า ผ่านพิธีกรรมทางศาสนา ณ ที่วิหารของพวกเขา ทั้งใน มหาวิทยาลัย ในสภา สำนักงานกฎหมายในตึกสูงระฟ้า ในตลาดหุ้น ตลาดเงิน บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคาร ทีวี วิทยุ ระบบเครือข่ายครอบโลก โดยมีเทคโนโลยีบุญบนป้ายไฟ วิ่งกันขวักไขว้ ไปมาเพื่อบอกอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ดัชนีตลาดหุ้น ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าซื้อขายล่วงหน้า
มนุษยโลก ก็มิน้อยหน้า ในนามของสาวกแห่งตลาด เขาทั้งหลายในฐานะพลโลกผู้บริโภค ด้วยความเคารพและศรัทธาเขาต่าง ยกย่องบูชา พระผู้เป็นเจ้าของเขา ผ่านการทำงานอันแสนเหน็ดเหนื่อย เช้ายันค่ำ เพื่อพรจากพระเจ้า เป็นเงินตรา เพื่อซื้อหา บริขารของสาวกทุน ตั้งแต่เสื้อผ้ายี้ห้อดัง รถคันงาม บ้านหลังหรู นาฬิกาเรือนโก้ กระทั่งกอดก่ายความสุขในโรงแรมระดับห้าดาว พร้อมทั้งหลับฝันไปกับอัตราตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงในบัญชีเงินฝาก จำนวนหนี้สิน และสินค้าตัวใหม่ที่เขาต้องการ
วัยรุ่นก็มิน้อยหน้า ในนามสาวกผู้ป็นความหวัง ของศาสนจักรทุน เขาเหล่านั้นล้วนชื่นชมยินดี ที่จะสวดอ้อนวอนถึง พระผู้เป็นเจ้า โดยการเดินทางไปอย่างสมัครใจ เพื่อเข้ารีตแห่งยุคสมัย เขาต่างยึดเอาวิถีดาราบ้ากามในฮอลลีวู้ดเป็นสรณะ ยึดเพลงฮิบ ฮอป เป็นบทสวด ยึดเอาท่าเต้นของบรรดาสตาร์ทั้งหลายเป็นท่ากราบกรานต่อวิถีทุนวัฒนธรรม เขาเหล่านั้นสมัครใจที่จะเสพสังวาสกันอย่างครึกโครม โดยไม่สนใจขนบประเพณีอันเก่ากรึครึเคร่ง และเขาจะยินดียิ่งในการพัฒนาร่างกายให้มีสัดส่วนสวยงาม โดยการสมัครเป็นสมาชิกของสถานออกกำลังแบบเรียกเก็บรายเดือน หรือไม่ก็นำเงินไปซื้อยาลดความอ้วน
โลกทั้งโลกกำลังเริงโลดไปบนฟลอร์ที่มีเหล่า นักบุญทุน เป็นดีเจ มุนษย์เป็นตัวละครสำคัญที่กระโดดโลกไหลไปบนเวทีชีวิต อย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย
ศาสนาทุน จึงเป็นศาสนาหลักที่ครอบงำธรรมชาติแห่งโลก
ครอบงำ ระบอบการเมือง
ครอบงำ ระบอบการบริโภค
ครอบงำ ระบอบวัฒนธรรม
ครอบงำ ความคิด ความรู้สึก
ครอบงำแบบกินลึกลงถึงจิตใจ
มันบงการเรา ช่วงใช้เรา สิงสู่เรา เหล่ามนุษย์ มันอาจทำให้ผู้ชายลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งรถคันงามที่สุด หรือกระทั่งปลดตะขอยกทรงสตรีได้อย่างง่ายดาย
เราสามารถเข้าถึงมันได้ ง่ายๆ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังนครเมกะแต่อย่างใด ศาสนาทุนอยู่รายรอบตัวคุณ ที่หน้าบ้าน บนเตียง ในผับบาร์ ในห้องน้ำ ในโรงแรม บนเครื่องบิน บนเสื้อผ้า กระทั่งโถปัสสาวะ
ศาสนาทุนไม่เบื้องต้น เบื้องปลาย มันสิงสู่อยู่ทุกที่ หากเพียงคุณสวดภาวนาถึงมัน ด้วยความโลภอันเปี่ยมล้นในหัวใจของคุณ พระเจ้าแห่งทุนจะมาเยี่ยมเยือนคุณอย่างง่ายดาย
................................
ผมลอง ล่องลอยออกไปที่อวกาศ และมองลงมาที่โลก ผมพบว่าโลกมนุษย์กำลังกลายเป็นเหมือน แอปเปิ้ล เน่าๆ ที่มนุษย์เกาะกินเป็นเชื้อรา ผมเลยฉุกคิดขึ้นได้ว่า บางทีธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ หรือพระเจ้าแท้ๆ อาจจงใจสร้างความโลภ ความบาป มาให้มนุษย์ เพื่อที่จะวางกำนดเวลาแห่งการสิ้นอายุขัยของตัวมนุษย์เอง และเพื่อที่จะให้โอกาสสัตว์โลกชนิดอื่นได้มาใช้ชีวิตบนแอปเปิ้ลใบเน่าต่อจากมนุษย์
ผมจึงภาวนาว่า อย่าได้เกิดเป็นสัตว์โลกต่อจากยุคของมนุษย์อีกเลย
คิดได้ดังนี้ จึงโล่งสบายในจิตใจ
ก่อนร่อนไหลลงในสังคมมนุษย์ เชื้อราหย่อมเล็กๆ ในมหาจักรวาล
..............
บุญรักษา เชื้อราสดชื่น
Tuesday, November 21, 2006
“จับตาขบวนการปล้นชาติ ปล้นโครงข่ายโทรคมนาคมไทย"
กราบเรียนพี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพ
สถานการณ์บ้านเมืองกำลังอยู่ในวาระแห่งการปฏิรูปการเมือง ซึ่งจุดเริ่มต้นสำคัญในการปฏิรูปการเมืองอยู่ที่การสร้างระบบกลไกที่มีประสิทธิภาพในการกวาดล้างการทุจริตคอรัปชั่น และ ขจัดการแทรกแซงองค์กรอิสระ โดยการนำเสนอวาระดังกล่าวให้ปรากฏสู่สาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง มีความวิตกห่วงใยยิ่ง ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความพยายามของกลุ่มทุนโทรคมนาคมที่จะเข้ามายึดโครงข่ายโทรคมนาคม สมบัติของชาติที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการลงทุนมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่ง กทช. กลับมองไม่เห็นความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น กลับเร่งรัดผลักดันให้มีการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม IC (Interconnection) ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ เพื่อใช้อ้างเป็นเหตุผลที่จะไม่จ่ายค่าเชื่อมโครงข่ายตามสัญญาสัมปทาน โดยมีรายละเอียดคือ
ความย้อนถึง สมัยแห่งการปฏิรูปประเทศ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่พระองค์ได้ทรงดำเนินรัฐประศาสนโยบายในการนำพาประเทศชาติ ประชาชน ให้รอดพ้นจากภัยคุมคามของลัทธิจักรวรรดินิยม โดยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ จนนำพาสยามรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติได้นั้น คุณูปการที่พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชทานไว้แก่ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย มีความกว้างขวางครอบคลุมกิจการของประเทศสยามในหลายมิติ ทั้งมิติทางการเมือง การปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูปกฎหมาย ตลอดจนการปฏิรูประบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ จนประชาชนชาวไทยได้มีความอยู่ดี กินดี ตลอดมา
กล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กิจการสื่อสาร กิจการโทรคมนาคม พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงมีบทบาทในการวางรากฐานการสื่อสารของประเทศนับเนื่องแต่รัชสมัยของพระองค์ กระทั่งในกาลต่อมา กิจการสื่อสารและโทรคมนามคมได้รับการพัฒนาจนเจริญรุดหน้าขึ้นเป็นกิจการที่มีความทันสมัย โดยอาศัยโครงข่ายโทรคมนาคมที่กว้างขวางครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เป็นฐานทางเทคโนโลยีที่สำคัญ อันประชาชน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้าง และสงวนไว้ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ทั้งเพื่อการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคง และประโยชน์สาธารณะ โครงข่ายโทรคมนาคมจึงถือเป็นสมบัติชาติที่ถักทอระบบการสื่อสารของชาติให้มีความก้าวหน้ามาเนิ่นนานนับร้อยปี
แต่แล้ว เมื่อพิจารณาสถานการณ์ของประเทศไทยในยุคโลกาภิวัตน์ ที่แสนยานุภาพของการยึดครองแปรเปลี่ยนจาก “อำนาจของเรือปืน” ไปเป็น “อำนาจทุน” จะพบว่า สถานการณ์ของประเทศไทยตกอยู่ในภาวะที่อันตรายยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากได้ปรากฏพฤติกรรมของกลุ่มทุนโทรคมนาคม ที่ได้ใช้ “อำนาจทุน” เข้าลิดรอนผลประโยชน์ของชาติในกิจการโทรคมนาคม กระทั่งกำเริบเสิบสานจนมีการใช้อำนาจทุนเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมืองในทุกรูปแบบ ไม่เลือกว่าจะเป็นยุคของ “ระบอบทักษิณ” หรือ “รัฐบาลชั่วคราว” เข้าคุมบังเหียนในการกำหนดกติกาโทรคมนามค อันเป็นการใช้อำนาจทางกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้เกิดการแย่งยึดโครงข่ายโทรคมนาคมอันเป็นสมบัติชาติไปเป็นของตนเอง
สถานการณ์ที่อันตรายยิ่งดังกล่าว ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดผ่านพฤติกรรมของกลุ่มบุคคล ดังนี้
๑.การผิดนัดไม่ชำระราคาการใช้โครงข่ายตามสัญญาโดยไม่มีเหตุผลสมควร
สัญญาที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคมอันเอกชนได้ทำกับรัฐนั้น โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นสัญญาที่มีขึ้นเพื่อจัดตั้งและดำเนินบริการสาธารณะ เพื่อการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของชาติ ผลประโยชน์สาธารณะ โดยเสรีและเป็นธรรม ซึ่งบรรดาสัญญาต่างๆได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายบ้านเมือง ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๔ และพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งทำให้สัญญาต่างๆยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าอายุสัญญาจะสิ้นสุดลง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่กลุ่มทุนจะสามารถกล่าวอ้างไม่ปฏิบัติการตามสัญญาดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผิดนัดไม่ชำระราคาการใช้โครงข่ายกิจการโทรคมนาคมอันเป็นสัญญาที่กลุ่มทุนโทรคมนาคมมีข้อผูกพันในการชำระราคากับรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน จนเป็นเหตุทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่จะนำไปพัฒนาประเทศเป็นจำนวนมากมายมหาศาล พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการลิดรอนส่วนอันพึงมีพึงได้ของประเทศชาติ ที่สังคมทุกภาคส่วนควรเฝ้าจับตาเป็นประการแรก
๒.การออกประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนโทรคมนาคม กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม อนุญาตแต่เฉพาะผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเองเท่านั้นที่จะสามารถทำการเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคมของตนเองเข้ากับผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมรายอื่น การที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้ออกประกาศกำหนดให้ กลุ่มทุนโทรคมนาคม ที่มีฐานะเป็นเพียงคู่สัญญาสัมปทานสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายกิจการโทรคมนาคมได้นั้น จึงเป็นการออกกฎเกณฑ์ที่อยู่นอกเหนืออำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะการออกกฎเกณฑ์เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนโทรคมนาคมได้เชื่อมโยงโครงข่ายฯทั้งที่ตนไม่มีสิทธิ เป็นการออกกฎเกณฑ์ที่ไม่มีความเป็นธรรมเนื่องจาก กลุ่มทุนโทรคมนาคมไม่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง แต่โครงข่ายที่ครอบครองอยู่ล้วนเป็นสมบัติของชาติที่กลุ่มทุนจะต้องโอนให้กับรัฐวิสาหกิจตามสัญญาแบบ BTO (สร้าง โอน บริหาร) เป็นการออกกฎเกณฑ์ให้กลุ่มทุนโทรคมนาคมใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ชำระราคาการใช้โครงข่ายตามสัญญาโดยไม่มีเหตุผลสมควร และประการสำคัญที่สุด เป็นการออกกฎเกณฑ์เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนโทรคมนาคมเข้าแย่งยึดโครงข่ายโทรคมนาคมอันเป็นสมบัติชาติไปเป็นของตนเอง
๓.การใช้ความพยายามในการเข้ายึดโครงข่ายกิจการโทรคมนาคมของชาติโดยฝีมือของกลุ่มทุนโทรคมนาคม
กลุ่มทุนโทรคมนาคมได้ทำการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ตนครอบครองอยู่โดยไม่มีสิทธิ โดยอ้างเหตุผลตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ที่บัญญัติมาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนโทรคมนาคม ทั้งนี้เนื่องจากตามกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคมนั้น อนุญาตให้เฉพาะ ในระหว่างผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองเท่านั้นที่สามารถทำการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของตนเองเข้าด้วยกัน แต่กรณีดังกล่าวโครงข่ายโทรคมนาคมที่กลุ่มทุนโทรคมานคมทำการใช้และเชื่อมต่อนั้นไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่มทุนโทรคมนาคมแต่ประการใด แต่แท้จริงแล้ว โครงข่ายโทรคมนาคมดังกล่าวเป็นสมบัติของรัฐวิสาหกิจตามผลของสัญญาแบบ BTO (สร้าง โอน บริหาร) จึงหาได้เป็นโครงข่ายโทรคมนาคมของกลุ่มทุนโทรคมนาคมแต่ประการใด พฤติกรรมดังกล่าวจึง เป็นการละเมิดต่อกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม เป็นการละเมิดต่อสัญญา BTO และเป็นการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมในการเข้าแย่งยึดโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานมาเป็นของตนเอง
พฤติกรรมทั้งสามประการดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อโครงข่ายโทรคมนาคมไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕และประชาชนชาวไทยทุกคน ทั้งที่เสียชีวิตไปแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ ได้ร่วมกันสร้างบ้านแปงเมือง พัฒนา ถักทอ โครงข่ายกิจการโทรคมนาคมจนเจริญรุดหน้าตราบจนถึงปัจจุบัน
เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง จึงขอฝากความวิงวอนไปยัง ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ได้โปรดพิจารณาตรวจสอบและดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ของตน เพื่อขจัดภัยคุกคามต่อโครงข่ายกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นสมบัติของชาติต่อไป
ทั้งนี้ฝากคำวิงวอนถึง ประชาชนทุกหมู่เหล่าในการสร้างเสริมหลักการเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยการลดการใช้บริการในรูปแบบต่างๆของกลุ่มทุนโทรคมนาคม และแสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าของสมบัติของชาติ และขอเรียกร้องให้ กทช.พิจารณาใคร่ครวญวิถีชีวิตของตนเองว่าจะทำหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะตามอาณัติที่กฎหมายให้ไว้ หรือ จะยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมายทุกรูปแบบ ที่ไม่ต่างจาก กกต.
เจริญ คัมภีรภาพ
บรรเจิด สิงคะเนติ
คมสันต์ โพธิ์คง
ศาสตรา โตอ่อน
เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง
Friday, November 17, 2006
บทกวีที่ทรงอิทธิพลยิ่งต่อชีวิตข้าพเจ้า
บทกวีที่ทรงอิทธิพลยิ่งต่อชีวิตข้าพเจ้า
อัลมิตรา เอ่ยเอื้อนวจีกล่าวถาม “โด้โปรดเฉลยแก่เราถึง ความรัก”
เมื่อความรักร้องเรียกเธอ จงตามมันไป
แม้วางหนทางแห่งรัก จะขรุขระหรือสูงชันเพียงใด
และเมื่อปีกของมันโอบกอดรอบกายเธอ จนหนามแหลมอันซ่อนอยู่ใต้ปีกเสียดแทงหัวใจของเธอ จงยอมทน
และเมื่อมันพูดกับเธอ จงเชื่อตาม
แม้ว่าเสียงของมันจะทำลายความฝันของเธอ
ดังลมเหนือพัดกระหน่ำสวนดอกไม้ให้แหลกลาญฉะนั้น
ณ ขณะที่ความรักสวมมงกุฎหนามให้เธอ
มันก็จะตรึงกางเขนเธอ และเมื่อมันให้ความเติบโต การลิดรอนก็จะเกิดขึ้น
แม้ขณะเมื่อมันไต่ขึ้นสู่ยอดสูง และลูบไล้กิ่งก้านอันแกว่งไกวในแสงแห่งอรุณรุ่ง
ความรักก็มิหยุดที่จะหยั่งลงสู่รากลึก และเขย่าถอนส่วนทีติดตรึงมั่นกับผิวดิน
หากเธอเป็นดั่งพืชพันธ์
ความรักจะรวบรวมเธอดั่งฝักข้าวโพด
มันจะแกะเธอออกจนเปลือยเปล่า
และร่อนเธอให้ผละละร่วงจากฝัก
มันจะบดเธอเป็นผงขาว แล้วขยำเธอจนเปียก
มันจะนำเธอสู่ไฟศักดิ์สิทธิ เพื่อเธอจะได้กลายเป็นอาหารทิพย์ของพระเป็นเจ้า
….............................................
อัลมิตรา
หากเธอจะรัก และจำต้องมีความปรารถนา ก็ขอให้ความปรารถนาของเธอจงเป็นดังนี้
เพื่อจะละลายและไหลดังธารน้ำ ที่ส่งเสียงขับขานยามราตรี
เพื่อจะเรียนรู้ความเจ็บปวดรวดร้าว อันเกิดแต่ความอ่อนโยนเกินไป
เพื่อจะต้องบาดเจ็บ ด้วยความเข้าใจในความรักของตนเอง
เพื่อจะยอมให้เลือดหลั่งไหล ด้วยความเต็มใจและปราโมทย์
เพื่อจะตื่นขึ้น ณ อรุ่ณรุ่ง ด้วยดวงใจอันปิติและขอบคุณความรักอีกวันหนึ่ง
เพื่อจะหยุดพัก ณ ยามเที่ยง และเพ่งพินิจความสุขซาบซึ้ง ของความรัก
เพื่อจะกลับบ้าน ณ ยามพบค่ำ ด้วยความรู้สึกสำนึกคุณ
เพื่อจะหลับไปพร้อมกับคำสวดมนต์ภาวนาสำหรับคนรักในดวงใจ
และเพลงสรรเสริญบนริมฝีปากของเธอ
From The Prophet
KAHLIL GIBRAN
..........................................
เวลาที่ผมกลับมาอ่านลำนำของ กวีเอกชาว เลบานอน ผู้เกรียงไกรครั้งใด
ผมมักจะนึกถึง เด็กชายวัยรุ่นผู้หนึ่ง คือ ตัวผมเอง
ราวสิบห้าปีมาแล้ว ผมมักพบตัวเองเป็นหนอนบริโภคหนังสืออยู่ที่ร้านแพร่พิทยา วังบูรพา
กวีบทนี้ ผมเปิดอ่านแบบไม่เสียเงิน และมันได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในสารบรรณบทกวียอดรักในห้องส่วนตัวของผม
มันอาจเป็นเรื่อง ความรัก ที่ดูเพ้อฝันสำหรับ เด็กชาย
แต่มัน คือ เรื่องจริง อย่างจริงแท้ เลยทีเดียว
สำหรับผู้ที่ผ่านความรักอันหลากรส จะเข้าใจได้ไม่ยากว่า
ความรัก เป็นลานบดแห่งจิตวิญญาณชั้นเยี่ยม มันจะบดคุณจนเป็นฝุ่นขาว และเป่าสลายด้วยสายลม
ความรัก คือ ที่ที่ความเจ็บปวดรวดร้าวจะสำแดงบทบาทแพทย์ผู้รักษา
เมื่อถึงที่สุดแล้ว ความรักจะทำให้เราหลุดพ้นจากมัน
และเราจะกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง ในนามของ ความรัก อันพิสุทธิ์ งดงาม
ดุจเดียวกับแสงรวีฉานฉายขอบฟ้า ขับไล่ทิวากาล
และเมื่อนั้น พลังแห่งรักจักสำแดง
............................................
Love bless you all !
From My Heart
CRAZYCLOUD
Wednesday, November 15, 2006
การปฏิรูปอำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือนในยุคโลกาภิวัตน์ : การมีอำนาจเหนือภาครัฐบาลและภาคการตลาดของประชาสังคม
ในเบื้องต้น คงต้องยอมรับว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันมีที่มาจากการขับเคลื่อนของภาคพลเรือนที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีนักวิชาการบางกลุ่มออกมาให้ความคิดความเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการต่อสู้กันระหว่าง “รัฐบาลทักษิณ” กับ “กลุ่มอำนาจเก่า” และ “อำนาจทุนใหม่” กับ “อำนาจทุนเก่า” ก็ตาม ซึ่งข้อคิดเห็นดังกล่าว ก็มีความถูกต้องอยู่ในระดับนึง แต่การกล่าวอ้างเช่นนี้เป็นการมองข้ามความมีอยู่ หรือ ดูแคลน ภาคพลเรือนที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสถานการณ์ทางการเมืองให้ดำเนินมาถึงปัจจุบัน
ดังนั้น ในสถานการณ์การปฏิรูปการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งในการใช้มุมมองทางวิชาการแบบเดิมๆที่ปฏิเสธพลังขับเคลื่อนทางสังคมของภาคพลเรือนในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งโดยนัยเป็นการแสดงออกถึงความยอมจำนนต่อทฤษฎีทางความคิดที่ไม่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง เป็นการยอมจำนนต่อ ตัวบทกฎหมาย ที่ไร้แรงขับเคลื่อนและนำพาภาคพลเรือนไปสัมผัสความยุติธรรมทางสังคมได้อย่างแท้จริง
ด้วยเหตุข้างต้น การทำความเข้าใจความดำรงคงอยู่และพลังขับเคลื่อนของภาคพลเรือนในยุคโลกาภิวัตน์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการวางรากฐานทางความคิดเพื่อให้การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ดำเนินไปบนหนทางในการสร้าง “สุขภาวะ” ของภาคพลเรือนได้อย่างแท้จริง ซึ่งในเบื้องต้นต้องมีการทำความเข้าใจถึงความดำรงคงอยู่ของภาคพลเรือนในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญไปพร้อมกับการทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของภาคพลเรือนบนบริบทโลกาภิวัตน์
การดำรงอยู่ของภาคพลเรือนในกฎหมายรัฐธรรมนูญและสังคมโลกาภิวัตน์
ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ภาคพลเรือนถือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อผลสำคัญในการปกป้องหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ สิทธิและเสรีภาพ ภาคพลเรือนหรือ ประชาชน สามารถใช้อำนาจดังกล่าวได้ในสองรูปแบบ ทั้งประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) และ ประชาธิปไตยแบบทางตรง (Direct Democracy) ซึ่งจากหลักการทั้งสองหลักการได้นำไปสู่ การมีสิทธิของภาคพลเรือนในการเลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปดำรงตำแหน่งใน ภาครัฐบาล (Government Sector) ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลไปถึงการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆอีกทอดหนึ่ง
นอกจากนี้ในทฤษฎีกฎหมายรัฐธรรมนูญยังยอมรับความมีอยู่ของ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันถือเป็นปฐมฐานในการจัดให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ว่าได้ และผลของประชาธิปไตยแบบทางตรง(Direct Democracy) ก็นำไปสู่การยอมรับความมีอยู่ของอำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือน ทั้งอำนาจในการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา การยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การทำประชาพิจารณ์ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน การพัฒนาของระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มุ่งเน้นหลักการกระจายอำนาจ (Decentralisation) ก็ทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญได้เข้าไปยอมรับความมีอยู่ของอำนาจในการปกครองตนเองของภาคพลเรือน ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมุ่งสร้างระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่ตอบสนองต่อปัญหาของภาคพลเรือนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง
โดยสรุป ในกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ยอมรับ ความมีอยู่ของภาคพลเรือนไว้ในหลายจุด ซึ่งการยอมรับดังกล่าวจะช่วยให้ภาคพลเรือนสามารถปกป้องตนเองจากการใช้อำนาจของภาครัฐบาล (Goverment Sector) สามารถเรียกร้องให้รัฐจัดให้มีซึ่งกฎหมายและการบริหารที่ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพในด้านต่างๆ สามารถเข้าไปส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง และสามารถปกครองตนเองได้โดยอิสระจากภาครัฐบาล
ที่กล่าวมาข้างต้น คือ การดำรงคงอยู่ของภาคพลเรือน ในตัวบทกฎหมายซึ่งแตกต่างจากความเป็นจริงในสังคมโลกาภิวัตน์ ทั้งนี้เนื่องจากในสังคมโลกาภิวัตน์ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ระหว่าง ภาครัฐบาล(Goverment Sector) กับ ภาคพลเรือน (Civil Sector) เท่านั้น แต่จากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คงต้องยอมรับว่า ภาคการตลาดเป็นภาคที่มีส่วนสำคัญต่อบริบทแวดล้อมทั้งหมดของสังคมการเมืองไทย อันเป็นผลจากความสำเร็จของภาคการตลาด (Market Sector) ในการควบรวม ภาครัฐบาล (Government Sector) ด้วยอำนาจทุน (Capital Power) และการควบรวม ภาคพลเรือน (Civil Sector) ด้วย อำนาจข้อมูลข่าวสาร (Information Power) ซึ่งจากสถานกรณ์ดังกล่าว ได้ทำให้เกิดสถานการณ์ “สิ้นสภาพบังคับ” ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ยอมรับความมีอยู่ของภาคพลเรือน โดยสิ้นเชิง
ภาคการตลาด (Market Sector) ที่ทรงอิทธิพลยิ่งได้ใช้อำนาจทุน(Capital Power) อำนาจรัฐบาล (GovermentPower) และ อำนาจข้อมูลข่าวสาร (Information Power) ทำลายล้างความมีอยู่ของภาคพลเรือน ดังนี้
๑.การใช้อำนาจทั้งสามในการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่นในกรณีนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด กรณีตากใบ กรณี มัสยิดกรือเซะ กรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร การสังหารนายเจริญ วัดอักษร
๒.การใช้อำนาจทั้งสามในการสร้างอุปสรรคในการเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ทั้งกลไกการเสนอร่างกฎหมาย กลไกการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ตัวอย่างเช่น กรณีการรับฟังความคิดเห็นในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ) การสร้างอุปสรรคในกระบวนการยื่นถอดถอนนักการเมือง( ตัวอย่างเช่น กรณีการยื่นถอดถอนอดีตนายก ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ผู้เขียนเห็นว่าไม่สามรถทำได้เนื่องจากการบล็อกโหวตในวุฒิสภา)
๓.การใช้อำนาจทั้งสามในการทำลายการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการผนึกโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ขึ้นตรงต่อนโยบาย ขึ้นตรงต่อความคิด ของระบบการบริหารแบบบูรณาการอำนาจ (CEO) ผ่าน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (ตัวอย่างเช่น การเดินทางของสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นมาที่วัดพระธรรมกาย)
๔.การใช้อำนาจทั้งสามในการมอมเมาภาคพลเรือน ด้วยนโยบายประชานิยม สร้างกองทัพประชาธิปไตยรับจ้าง การสร้างสถานการณ์ให้เกิดความแตกแยกของภาคพลเรือน การวางแผนให้ภาคพลเรือนสองฝ่ายเข้าปะทะกัน จนเป็นเหตุให้ต้องเกิดการรัฐประหาร
๕.การใช้อำนาจทั้งสามในการเอาชนะกันในทางการเมือง โดยการซื้อเสียงจากภาคพลเรือน ทำให้เจตนารมณ์ของประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ถูกทำลายลงไปอย่างย่อยยับ
๖.การใช้อำนาจทั้งสามเข้าแย่งยึด ประโยชน์สาธารณะ (Public Interest)ที่สงวนไว้สำหรับภาคพลเรือนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในกรณี การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การโอนสัมปทานให้กองทุน Temasek
ประจักษ์หลักฐานที่กล่าวมาล้วนเป็นความจริงที่แสดงให้เห็นถึง ความดำรงอยู่ของภาคพลเรือนในกฎหมายรัฐธรรมนูญและสังคมโลกาภิวัตน์ที่มีความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งความจริงเหล่านี้เป็นสิ่งต้องมีการทบทวนกันให้ชัดเจนว่า การปฏิรูปการเมือง การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีมาตรการอย่างไรในการขจัดปัญหาต่างๆและทะลายข้อจำกัดของภาคพลเรือนในการปกป้องตนเองจากสังคมโลกาภิวัฒน์ไปพร้อมกับการมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตนเองในการดำรงคงอยู่อย่างมี “สุขภาวะ”ในสังคมโลกาภิวัตน์ ที่ได้สร้างข้อจำกัดให้ภาคพลเรือนอย่างมากมาย
ข้อจำกัดของในการใช้อำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือน
ในสังคมโลกาภิวัตน์ ภาคพลเรือนกลายเป็นเพียงผู้ถูกกระทำจากทั้งภาครัฐบาลและภาคการตลาด โดยที่ภาคพลเรือนไม่สามารถต่อสู้ ป้องกันตนเองจากอำนาจต่างๆได้อย่างเต็มที่ ภาคพลเรือนจึงต้องทำการต่อต้านอำนาจด้วยเครื่องมือทางสังคมเท่าที่ตนมี แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ จะบัญญัติรับรองความมีอยู่ของภาคพลเรือนในรูปแบบต่างๆไว้ แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพของกระบวนการบังคับใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จะพบว่าภาคพลเรือนยังมีข้อจำกัดในการใช้สิทธิและอำนาจของภาคพลเรือนอยู่มากมายหลายประการ อาทิ
๑.ข้อจำกัดในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพ เมื่อพิจารณากลไกในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะพบว่า ไม่มีกระบวนการในการบังคับการตามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็เป็นเพียงองค์กรให้คำปรึกษาและเสนอแนะเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการบังคับการทางกฎหมาเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด ดังนั้นภาคพลเรือนจึงต้องทำการดิ้นรนบังคับการตามสิทธิของตนที่ถูกละเมิด โดยการพึ่ง กระบวนการยุติธรรมในระบบต่างๆ ซึ่งก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กระบวนการยุติธรรม ของประเทศไทย เป็นกระบวนการที่ไม่เอื้อสำหรับภาคพลเรือนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ กำลังอำนาจที่เพียงพอ
๒.ข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เมื่อพิจารณามาตรการในการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทั้งการเสนอร่างกฎหมายต่อสภา การยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการรับฟังความคิดเห็นโดยการทำประชาพิจารณ์ จะพบว่าภาคพลเรือนยังคงประสบปัญหาการเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งนี้เนื่องจากขั้นตอนในการเข้าถึงการมีส่วนร่วมมีความสลับซับซ้อน มีขั้นตอนในการดำเนินการที่ภาคพลเรือนต้องเป็นแบกรับภาระทั้งในแง่ของจำนวนประชาชน งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ ตลอดจนขั้นตอนในการพิจารณาเรื่องต่างๆที่ภาคประชาชนเสนอไปมักถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขในภายหลัง หรือกระทั่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่แทบไม่มีผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินโครงการภาครัฐที่มีผลกระทบต่อประชาชน
๓.ข้อจำกัดในการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อพิจารณานโยบายของภาครัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า นโยบายต่างๆมีลักษณะสวนทางกับหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่น นโยบายส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญการบริหารราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ซึ่งสังเกตได้จากความพยายามในการรวบอำนาจของท้องถิ่นกลับมาที่ผู้ว่าราชการจังหวัด การใช้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปมีอิทธิพลเหนือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกระจายงบประมาณลงสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีความโปร่งใส หรือกระทั่งการใช้อิทธิพลของ ส.ส.ในพื้นที่เข้าไปมีบทบาทในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นทำให้ท้องถิ่นไม่อาจดำเนินภารกิจให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น แต่กลับกลายเป็นเพียงบานอำนาจทางการเมืองของส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเท่านั้น
๔.ข้อจำกัดในการตรวจสอบอำนาจรัฐบาลของภาคพลเรือน เมื่อพิจารณามาตรการในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ จะพบว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คือกลุ่มองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของภาคพลเรือนจากการใช้อำนาจของภาครัฐบาล อย่างไรก็ตามอิทธิพลของภาครัฐบาลได้เข้าไปแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระฯจนองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องคุมครองภาคพลเรือนได้เต็มที่นัก นอกจากนี้องค์กรอิสระบางองค์กรที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกลับไม่มีอำนาจในการเสนอเรื่องการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขึ้นสู่การพิจารณาขององค์กรตุลาการแต่อย่างใด ในขณะองค์กรอิสระที่เหลือก็มีขั้นตอนการดำเนินการรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนที่สลับซับซ้อนจนประชาชนไม่อาจเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายนัก สิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดของภาคพลเรือนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของตนเอง
๕.ข้อจำกัดในการปกป้องตนเองจากอำนาจทุน ในยุคโลกาภิวัฒน์สิ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อภาคพลเรือน คือการที่ภาคการตลาดเข้าทำการควบรวมภาครัฐบาล ซึ่งหมายถึงการควบรวมกันระหว่าง อำนาจทุนกับอำนาจรัฐบาล โดยภาคการตลาดจะเข้าไปทำการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐบาลที่ต้องสนองตอบต่อผลประโยชน์สาธารณะให้ไปสนองตอบต่อผลประโยชนส่วนตน กรณีนี้สังเกตได้จากปัญหา การเจรจาลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่เข้าไปทำลายวิถีชีวิตของเกษตรกร กรณีปัญหาการค้าปลีก ที่กลุ่มทุนต่างชาติได้เข้ามาทำลายการค้าของชุมชนและท้องถิ่น กรณีการวางท่อก๊าซในโครงการต่างๆ ซึ่งที่สุดแล้วภาคพลเรือนก็มีหนทางในการปกป้องตนเองเพียงการชุมนุมประท้วง การใช้สิทธิทางศาลซึ่งยังคงมีอุปสรรคจากการพิจารณาคดีที่ล่าช้า และการเรียกร้องให้ภาครัฐบาลเข้าไปจัดการปัญหาให้กับตนเอง ซึ่งยังไม่เพียงพอที่ภาคพลเรือนจะปกป้องตนเองจากอำนาจทุนโลกาภิวัฒน์ที่ชั่วช้าได้
๖.ข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ในยุคโลกาภิวัตน์อำนาจใหม่ที่มีอิทธิพลเหนือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ก็คือ อำนาจข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอำนาจดังกล่าวจะใช้ไปเพื่อการประชาสัมพันธ์สินค้าของภาคการตลาด และประชาสัมพันธ์นโยบายของภาครัฐบาลอย่างบิดเบือน อำนาจข้อมูลข่าวสารทรงอิทธิพลยิ่งในการเปลี่ยนวิถีชีวิตของประชาชนให้กลายเป็นเพียงผู้บริโภคสินค้า และสาวกทางการเมืองที่มืดบอด กรณีเหล่านี้สังเกตได้จากวิถีชีวิตของภาคพลเรือนได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ลัทธิบริโภคนิยมในทางเศรษฐกิจและ ลัทธิประชานิยมในทางการเมือง ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรจนนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม ความเครียด หนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้น กระทั่งวามขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งทั้งหมดล้วนมีสาเหตุมาจากการที่ภาคพลเรือนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและการบริหารงานของภาครัฐบาลไม่สามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตอบโต้กับข้อมูลข่าวสารที่ถูกบิดเบือนได้อย่างทั่วถึง
ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปอำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือน
จากปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดในการใช้อำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือน ผู้เขียนได้จัดทำข้อเสนอแนะเบื้องต้นในการปฏิรูปอำนาจทางการเมืองของภาคพลเรือนในยุคโลกาภิวัตน์ไว้ทั้งสิ้นหกประการ คือ
๑.การจัดกลไกการปกป้องสิทธิและเสรีภาพที่เป็นรูปธรรม โดยให้ประชาชนสามารถยื่นฟ้องหน่วยงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่กระทำการละเมิดสิทธิและเสรีภาพต่อองค์กรตุลาการได้โดยตรง และให้อำนาจคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสามารถสอบสวนและยื่นเรื่องให้องค์กรตุลาการวินิจฉัยกรณีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
๒.การลดอุปสรรคในการเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการลดจำนวนประชาชนที่มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายลงเหลือห้าพันคน และให้สิทธิประชาชนในการเข้าร่วมการพิจารณาออกกฎหมายที่ตนเองเสนอร่วมกับรัฐสภา การลดจำนวนประชาชนที่มีสิทธิยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหลือห้าพันคน และปรับปรุงระบบการทำประชาพิจารณ์ให้เป็นระบบประชามติของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐบาล
๓.การส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการมีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจของท้องถิ่นที่เข้มแข็ง โดยการบังคับใช้กลไกทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายให้มีความเคร่งครัด ชัดเจนและเหมาะสมกับสภาพภารกิจของท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถร้องเรียนกรณีการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อองค์กรตุลาการทีมีอำนาจหน้าที่โดยตรง
๔.การเปิดโอกาสให้ภาคพลเรือนใช้สิทธิทางศาลเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้มากขึ้น โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถฟ้องคดีต่อองค์กรตุลการได้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีการดำเนินการใดๆของภาครัฐบาลและภาคเอกชนที่มีลักษณะขัดแย้งกบผลประโยชน์สาธารณะ
๕.การปฏิรูปกฎหมายมหาชนในทางเศรษฐกิจเพื่อการปกป้องประโยชน์สาธารณะ นอกจากการาตรการในการปฏิรูปการเมืองแล้ว ควรมีมาตรการในการปฏิรูปกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจและการบังคับใช้กฎหมามหาชนทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ภาครัฐบาลเข้าไปมีบทบาทในการควบคุมระบบเศรษฐกิจ อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อผลสำคัญในการลดความเชี่ยวกรากของกระแสทุนในยุคโลกาภิวัฒน์มิให้เข้ามาทำลายวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
๖.การจัดตั้งองค์กรสื่ออิสระที่ภาคพลเรือนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ควรมีการจัดตั้งองค์กรสื่ออิสระที่มีกำลังส่งสัญญาณกระจายทั่วพื้นที่ของประเทศ โดยให้ภาคพลเรือนมีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างแท้จริง ทั้งนี้รายได้ขององค์รสื่ออิสระควรมีที่มาจากภาษีที่จัดเก็บจากการโฆษณา และการเก็บภาษีรายการโทรทัศน์บันเทิง
การปฏิรูปอำนาจทางการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์ มุมมองใหม่ในการปฏิรูปการเมือง
สังคมการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นสังคมที่มีความสัมพันธ์ของภาคส่วนทางสังคมอย่างน้อยที่สุด ๓ ภาคส่วน คือ ภาครัฐบาล (Government Sector) ภาคพลเรือน (Civil Sector) และ ภาคการตลาด (Market Sector) ในบทความ เรื่องการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกิวัฒน์ : บริบทที่แตกต่างจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นแล้วถึงปัญหาการเมืองไทยว่ามีที่มาจาก การที่ภาคการตลาดได้ใช้บรรดาเครื่องมือทั้ง ทุน เงินตรา และ ข้อมูลข่าวสาร เข้าควบรวม ภาครัฐบาล และภาคพลเรือน ให้อยู่ภายใต้อาณัติของตน ระบอบทักษิณ จึงเป็นระบอบที่รวบรวมคุณลักษณะของ ภาคการตลาด ภาครัฐบาล และภาคพลเรือนไว้เป็นหนึ่งเดียว
เมื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร จนสามารถขับไล่ “ระบอบทักษิณ” ไปได้ในระดับหนึ่ง แท้จริงแล้วความสำเร็จเล็กๆที่เกิดขึ้นมีที่มาจากการใช้ เครื่องมือทางสังคมดั้งเดิม คือ การรัฐประหาร และ การใช้ข้อมูลข่าวสารทีวีผ่านดาวเทียม เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นของระบอบทักษิณ อย่างต่อเนื่องซึ่งประสบความสำเร็จเฉพาะในเมืองหลวงและเขตเมืองในต่างจังหวัด
จากลักษณะของสังคมโลกาภิวัฒน์ และบทเรียนทางการเมืองที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ถอดบทเรียนสำคัญ ของเหตุการณ์ทั้งที่เกิดขึ้นก่อนและหลังเหตุการณ์ ๑๙ กันยายน ว่าเป็นการต่อสู้กันของอำนาจจำนวนสามคู่ สำคัญ
คู่แรก คือการต่อสู้กันของ อำนาจภาครัฐบาล(Government Power) กันเอง ระหว่าง อำนาจของรัฐบาลรักษาการณ์ใน “ระบอบทักษิณ” กับอำนาจทางการทหารของคณะปฏิรูปฯ ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การต่อสู้ของอำนาจคู่นี้เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว
คู่ที่สอง คือ การต่อสู้กันระหว่าง อำนาจภาครัฐบาล(Government Power) ของคณะปฏิรูปฯ กับอำนาจ “ทุน” (Capital Power) ของ “ระบอบทักษิณ”
และคู่ที่สาม คือ การต่อสู้กัน ระหว่าง อำนาจข้อมูลข่าวสาร (Information Power) ของระบอบทักษิณ กับ อำนาจของพลเรือนแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มี นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้กุม อำนาจข้อมูลข่าวสาร (Information Power)
จากการต่อสู้กันของอำนาจทั้งสามคู่ เราจะพบว่า ในบรรดาอำนาจและเครื่องมือที่ฝากฝ่ายต่างๆใช้ นั้น สามารถแบ่งอำนาจออกได้เป็นสามประเภท คือ อำนาจของภาครัฐบาล(Government Power) อำนาจ “ทุน” (Capital Power) ของภาคการตลาด และ อำนาจข้อมูลข่าวสาร(Information Power) ของภาคการตลาดและภาคพลเรือน อำนาจทั้งสามคือเหตุปัจจัยในสร้างจุดพลิกผัน จนสังคมไทยเดินมาถึงวาระของการปฏิรูปการเมืองตามกลไกและกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) ในที่สุด
ดังนั้น การเพ่งพินิจถึงความดำรงอยู่ของอำนาจทั้งสาม จึงเป็นบริบทพื้นฐานที่สังคมพึงตั้งสติก่อนที่จะมีการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปอำนาจทางการเมืองที่ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย
๑.อำนาจและสถาบันการเมืองในระบอบการปกครองแบบรัฐสภา
เมื่อกล่าวถึงการปฏิรูปการเมือง สิ่งที่นักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จะต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับแรก คือ ข้อความคิดว่าด้วยอำนาจและสถาบันทางการเมือง เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะ รัฐธรรมนูญ คือ บทบัญญัติของกฎหมาย ที่มีภารกิจสำคัญ ในการวางระบอบการปกครอง จัดวางตำแหน่งแห่งที่ของอำนาจ และสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลกันระหว่างอำนาจต่างๆ ทั้งหมด คือ กรอบแนวความคิดแบบ Classic ที่นักวิชาการส่วนใหญ่ใช้เป็นจุดตั้งต้นในการพิจารณาถึงการปฏิรูปการเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและสถาบันทางการเมือง
สำหรับประเทศไทย นั้น เป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แบบรัฐสภา ซึ่งแบ่งแยกอำนาจและสถาบันทางการเมือง ออกเป็นสามส่วน คือ อำนาจนิติบัญญัติ ที่ใช้โดยรัฐสภา อำนาจบริหารที่ใช้โดยคณะรัฐมนตรีและระบบราชการ อำนาจตุลาการที่ใช้โดยศาล โดยทั้งสามอำนาจมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันละกัน อำนาจนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบอำนาจบริหารโดยการตั้งกระทู้ถาม และอภิปรายไม่ไว้วางใจ อำนาจบริหารตรวจสอบอำนาจนิติบัญญัติโดยการยุบสภา ในขณะที่อำนาจตุลาการมีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่ตนมีเขตอำนาจ นอกจากนี้ผลจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ ได้ทำเกิดระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรอิสระขึ้นมากมายหลายองค์กร โดยอำนาจทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองมีจุดเกาะเกี่ยวกับ พรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้ง และการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทั้งหมดคือลักษณะโดยทั่วไป ของ อำนาจและสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ของประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดปัญหาวิกฤตประเทศจนนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ ผู้เขียนมีความเชื่อว่า ประเด็นในการพิจารณาเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องวางฐานคิดโดยคำนึงถึง อำนาจและสถาบันการเมือง ตามตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญแบบ Classic อย่างแน่นอน ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า การตั้งฐานคิด จาก มุมมองดังกล่าว ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยแก้ปัญหาและปฏิรูปอำนาจและสถาบันการเมืองในระบอบรัฐสภาได้ และสมมุติฐานดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้จากแนวความคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปอำนาจเพื่อการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ฯ 2540 ซึ่งเคยมีผู้ให้ความเห็นไว้มากมายหลายประเด็น
๒.แนวความคิดของภาคส่วนต่างๆเกี่ยวกับการปฏิรูปอำนาจเพื่อการแก้ไข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
เมื่อพิเคราะห์บริบททางการเมืองภายในภาคอำนาจของรัฐบาล จะพบว่า ผลของการควบรวมภาคการตลาดเข้ากับภาครัฐบาล ประกอบกับมาตรการของรัฐธรรมนูญฯ ๒๕๔๐ ในการสร้าง Strong Prime Minister และการแทรกแซงองค์กรอิสระด้วยอำนาจ “ทุน” ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคส่วนย่อยๆภายในภาครัฐบาล(Government Sector) ทั้งผลกระทบต่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านที่ไม่สามารถทำการตรวจสอบรัฐบาลได้ ผลกระทบต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฝ่ายรัฐบาลที่ไม่มีความเป็นอิสระ ผลกระทบต่อการทำงานตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขององค์กรอิสระที่ทำให้เกิดคำถามจากสังคมในมากมายหลายกรณี แรงกดดันเหล่านี้ได้ผันแปรความคิดของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในภาคส่วนต่างๆจนกลายเป็นข้อเสนอแนะที่ส่วนใหญ่มุ่งผลทำให้อำนาจของฝ่ายบริหารอ่อนตัวลง และเสริมความแข็งแกร่งของภาคการตรวจสอบ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้ทำการรวบรวมข้อเสนอแนะในการปฏิรูปทางการเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องอำนาจทางการเมืองไว้มากมายหลายถึง ๕๐ ประเด็น ซึ่งโดยสรุป สามารถแบ่งแยกประเด็นที่มีนักวิชาการเสนอไว้สามประเด็นหลัก คือ
๒.๑ประเด็นเกี่ยวกับการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองในภาครัฐบาล ซึ่งครอบคลุมถึงระบบการเข้าสู่อำนาจที่มีความเกี่ยวพันขององค์ประกอบสามประการ คือ ทั้งในส่วนของ พรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้ง และการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองได้มีข้อเสนอสำคัญ เช่น การขจัดคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ที่ต้องสังกัดพรรคภายใน ๙๐ วันก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อทำให้ ส.ส.มีอิสระมากขึ้น และอำนาจของพรรคการเมืองอ่อนตัวลง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีข้อเสนอสำคัญ คือ การเสนอให้มีศาลเลือกตั้ง เพื่อทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ปลดแอกผลการเลือกตั้งออกจากอำนาจทุนและอำนาจรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งเกินไป และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระก็มีข้อเสนอสำคัญ คือ ให้ตัดองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่มีที่มาจากพรรคการเมืองออก เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระและกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
๒.๒ประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการใช้อำนาจอธิปไตย โดยฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ตลอดจนระบบการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจระหว่าง คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการใช้อำนาจอธิปไตย ได้มีข้อเสนอสำคัญ เช่น การลดบทบาทของพรรคการเมืองในวุฒิสภา การห้ามถือสัมปทานของรัฐและการถือหุ้นของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรขยายไปถึงภรรยาและบุตรทั่งไม่บรรลุนิติภาวะด้วย การจัดให้มีองค์กรพิจารณาชี้ขาดในกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลกระทำการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ การจัดโครงสร้างและวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญให้มีความเหมาะสม
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบถ่วงดุล ได้มีข้อเสนอสำคัญ เช่น การขจัดคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ที่ต้องสังกัดพรรคภายใน ๙๐ วันก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อทำให้ ส.ส.มีอิสระมากขึ้นในการตรวจสอบคณะรัฐมนตรี การลดจำนวนเสียงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีจากสองในห้าเหลือหนึ่งในห้า เพื่อให้การตรวจสอบนายกรัฐมนตรีทำได้ง่ายขึ้น
๒.๓ ประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ได้มีข้อเสนอสำคัญ ในการลดการแทรกแซงทางการเมืองในการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ การกำหนดตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เพิ่มเติม การกำหนดให้การยื่นถอดถอนนักการเมืองทำได้ง่ายขึ้น การกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถยื่นเรื่องให้ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพได้
เมื่อพิจารณา ข้อเสนอแนะในประเด็นหลักทั้งสามประเด็น จะพบว่าข้อเสนอต่างๆเป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาไปที่ตัว “องค์กรผู้อำนาจ” “ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลภายระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจ” และ “ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” เพื่อลดความเข้มแข็งของ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี สร้างเสริมระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจ และ ลดอิทธิพลของพรรคการเมืองในองค์กรอิสระเพื่อเสริมสร้างการตรวจสอบ ซึ่งข้อเสนอโดยส่วนใหญ่ ถือเป็นข้อเสนอที่ยืนอยู่บนฐานการจัดการอำนาจ ตามกรอบแนวความคิดแบบ Classic ผสมผสานกับความพยายามในการกำจัดอำนาจของ “ทุนใหญ่” หรือ “ทุนโลกาภิวัตน์” ออกจากอำนาจของภาครัฐบาล
โดยสรุป ข้อเสนอของนักวิชาการ นักการเมือง ภาคส่วนต่างๆ และประชาชน คือ ความพยายามในการปฏิรูปการเมือง บนพื้นฐานของแนวความคิดในทฤษฎีทางรัฐธรรมนูญ พร้อมๆไปกับความพยายามในการขจัด ลดทอน ควบคุม ภาคการตลาด (Marget Sector) จากการใช้อำนาจของภาครัฐบาล (Government Sector) หรืออาจเรียกว่า ทฤษฎีแก้ ของปัญหา การทับซ้อนของผลประโยชน์ (Conflict of Interest) นั่นเอง
๓.อำนาจอ่อน (Soft Power) นวัตกรรมอำนาจของภาคการตลาดในยุคโลกาภิวัฒน์
จากข้อเสนอแนะของภาคส่วนต่างๆทำให้เกิดนิมิตหมายที่ดีที่สังคมไทยได้เริ่มตระหนักรู้ถึง อำนาจทุนของภาคการตลาด(Marget Sector) ที่เข้ามาแย่งยึด อำนาจรัฐบาลของภาครัฐบาล(Government Sector) จนก่อความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับประเทศชาติ สิ่งเหล่านี้ผู้เขียนอยากที่จะขยายภาพของภาคการตลาดให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ให้รู้ไส้สนกลในของภาคการตลาดอย่างสั้นๆในเวลาการอ่านอันรวดเร็ว เพื่อสังคมไทยจะได้เข้าใจพัฒนาการ โครงรสร้าง เครื่องมือของภาคการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการำรงอยู่ของ อำนาจชนิดใหม่ ที่มีนอกเหนือไปจากอำนาจของภาครัฐบาล(Government Power) และ อำนาจ “ทุน” (Capital Power) อันได้แก่ อำนาจอ่อน หรือ Soft Power นั่นเอง
ในยุคโลกาภิวัตน์ ถือเป็นยุคสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร หรือ สังคมทั่วไปรับรู้ในนามของ ยุคทองของเศรษฐกิจแห่งคลื่นลูกที่ ๓ ที่มี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวขบวน คลื่นลูก ๓ เป็นคลื่นที่เกิดตามมาหลังจาก คลื่นลูก ๒ คือ เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมและการส่งออก และคลื่นลูกที่ ๑ คือ เศรษฐกิจแบบเกษตรกรรม การเกิดขึ้นของคลื่นทางเศรษฐกิจได้ทำให้กระบวนการผลิตสินค้า พัฒนาจาก สินค้าเกษตร ไปสู่สินค้าอุตสาหกรรม ซึ่ง Benjamin R. Barber เรียกผลิตผลทางเศรษฐกิจเหล่านี้ว่าเป็น สินค้าแข็ง (Hard Good) ที่เป็นฐานในการสะสมอำนาจทุน(Capital Power) และ อำนาจของภาครัฐบาล(Government Power) ซึ่งถือเป็น อำนาจแข็ง (Hard Power)
“สินค้าแข็ง” หรือ “อำนาจแข็ง” หมายความว่า สินค้า หรือ อำนาจเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สังเกต แลเห็น รับรู้สัมผัสด้วยความรู้สึกได้ง่าย ในส่วนของอำนาจนั้น รวมถึงอำนาจทางการทหาร อำนาจของระบบราชการ อำนาจเงินตราด้วย ซึ่ง “สินค้าแข็ง” หรือ “อำนาจแข็ง” เหล่านี้หากนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีต่อสังคม ภาคการตลาด (Marget Secor) และภาครัฐบาล (Government Sector) ก็จะถูกกระบวนการจาก ภาคพลเรือน (Civil Sector) ต่อต้านในรูปแบบต่างๆทั้งการชุมนุมประท้วง การบอยคอตสินค้า การต่อต้านอำนาจด้วยวิธารรุนแรงจนถึงขั้นนองเลือด ทั้งนี้เนื่องจาก ภาคพลเรือน เป็นภาคผู้รับผลจาก “กระบวนการผลิต” และ “กระบวนการใช้อำนาจ” นั่นเอง
สำหรับในระบบเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์นั้น บทบาทของเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ได้ถูกลดทอนลงไป พร้อมๆกับการมีอิทธิพลของ เศรษฐกิจในภาคบริการ ซึ่งถือเป็น สาระสำคัญ และวิธีการของ ภาคการตลาดในยุคโลกาภิวัตน์ โดยในส่วนของภาคบริการนั้น เราอาจแบ่งภาคบริการได้สามประเภท ดังนี้
(๑) ภาคบริการแบบดั้งเดิม ประกอบไปด้วยผู้ให้บริการประชาชนโดยตรงแบบดั้งเดิม เช่น การขนส่ง การรักษาโรค คนรับใช้ เจ้าของโรงแรมและผู้ช่วย นักบิน เป็นต้น
(๒) ภาคบริการแบบให้ความสะดวกกับระบบ ประกอบไปด้วยผู้ให้บริการในระบบต่างๆทั้งระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม อาทิ นักกฎหมาย นักบัญชี นักเศรษฐศาสตร์ นายธนาคาร ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายละการวางแผน เป็นต้น
(๓) ภาคบริการโทรสาระบันเทิง (Infotainment Telesector) ผู้ที่สร้าง สื่อ สัญลักษณ์ การสร้างคำ การสร้างภาพลักษณ์ การสร้างความรู้สึก ลงในข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร การบันเทิง เช่น นักโฆษณา นักประชาสัมพันธ์ นักเขียน ปัญญาชน ครู นักเทศน์ นักการเมือง ซึ่งมีภาคนี้มีหน้าที่สำคัญในการ ถอดรื้อ จิตวิญญาณของสังคมและประชาชน และ ประกอบ จิตวิญญาณนั้นใหม่เพื่อบังคับบัญชาสังคมไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ
จากพัฒนาการของ ภาคการตลาดและบริบทการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า พรรคไทยรักไทย นอกจากจะใช้อำนาจทุน(Capital Power) และ อำนาจของภาครัฐบาล(Government Power)ในการล้างผลาญประเทศชาติแล้ว พรรคไทยรักไทยที่มีหัวหน้าพรรคและที่ปรึกษาหลายคนที่มีความช่ำชองในเศรษฐกิจสมัยใหม่ ได้ใช้อำนาจชนิดใหม่ที่มีที่มาจากภาคบริการโทรสาระบันเทิง (Infotainment Telesector) มาใช้ในการคอบครอง ภาครัฐบาล และภาคพลเรือน ผ่านกระบวนการการสร้างภาพลักษณ์ สร้างความรู้สึก ถอดรื้อ ทำลาย จิตวิญญาณทางสังคมเดิม และประกอบใหม่ในทิศทางที่พรรคไทยรักไทยต้องการ ซึ่งอำนาจเหล่านี้ เป็นอำนาจที่สังเกตและตรวจสอบได้ยาก เพราะอำนาจเหล่านี้มาในรูปแบบที่อ่อนน้อมและสวยงาม แต่เป็นอำนาจที่กินลึกลงไปถึงจิตใจคน ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น อำนาจอ่อน หรือ Soft Power ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการใช้อำนาจเหนือ “จิตวิญญาณของภาคพลเรือนรากแก้ว”
อำนาจอ่อน หรือ Soft Power คือ อำนาจใหม่ที่สังคมไทยต้องเรียนรู้นอกเหนือไปจาก อำนาจแข็ง ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งหากมองในแง่ของ ศาสตร์ อำนาจอ่อนคือ ศาสตร์แห่งสื่อ (Mediology) ที่สะกดประเทศ สะกดจิตสำนึกของประชาชน โดยใช้เครื่องมือทั้งการสร้างนิยาย สร้างภาพฝัน สร้างภาพลักษณ์ การโจมตีทางจิตใจ เพื่อเปลี่ยนภาคพลเรือน ที่ชอบออกต่อต้าน กับ อำนาจแข็ง ไปเป็น ผู้สยบยอม กระทั่งกลายเป็นเพียง “ผู้บริโภคความจริงเสมือน” ที่ถูกร่ายมนต์โดยโทรสาระบันเทิง (Infotainment Telesector)
หากจะกล่าวให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่าน ได้เกิดกระบวนการโทรสาระบันเทิง (Infotainment Telesector) หรือ กระบวนการใช้ อำนาจอ่อน หรือ Soft Power แทบจะทุกวัน ผ่านรายการโทรทัศน์ การโฆษณาโครงการของรัฐบาลโดยใช้งบของหน่วยงานราชการ การจัดงานบันเทิงการเมืองในพื้นที่ต่างๆ การจัดรายการวิทยุซึ่งส่งผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน กระทั่งการสร้างภาพยนตร์ เรื่อง ตาดูดาว เท้าติดดิน ที่ลาโรงไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่ พรรคไทยรักไทย ได้ใช้เครื่องมือทั้งหมดของ ภาคบริการโทรสาระบันเทิง เพื่อเสริมสร้างฐานอำนาจของตนเอง นอกเหนือไปจาก อำนาจทุน(Capital Power) และ อำนาจของภาครัฐบาล(Government Power)
การดำรงอยู่ของ อำนาจอ่อน (Soft Power) ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับอำนาจข้อมูลข่าวสาร(Information Power) อันสามานย์ คือ สิ่งที่สังคมไทยต้องรู้เท่าทัน เพื่อการปฏิรูปการเมือง จะได้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง และถือเป็น ส่วนต่อขยายเพิ่มเติม จากมาตรการแยกสลายอำนาจ “ทุน” (Capital Power) ออกจาก อำนาจของภาครัฐบาล(Goverment Power) ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้เขียนคิดว่า นักวิชาการ นักการเมือง และภาคส่วนต่างๆ หลายท่านกำลังขบคิดกันอยู่
๔.การควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจข้อมูลข่าวสาร (Information Power)
ในบรรดาข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง ข้อเสนอที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ตรงเป้าตรงประเด็นที่สุด คือ ข้อเสนอของคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ที่เสนอให้มีการปฏิรูปสื่อ ซึ่งเธอได้ให้มุมมองของการปฏิรูปทั้งในแง่ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งการปฏิรูปสื่อ แท้จริง ก็คือ การปฏิรูปอำนาจข้อมูลข่าวสาร หรือ อำนาจอ่อน นั่นเองดังนั้น ข้อเสนอในการปฏิรูปสื่อ จึงควรเข้ามาผูกโยงสัมพันธ์กับ การปฏิรูปการใช้สื่อของ ภาคการตลาด และภาคการเมือง ที่ต้องมีการควบคุม ตรวจสอบ ถ่วงดุล (Check and Balance) ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่า นักวิชาการสาขากฎหมายรัฐธรรมนูญและรัฐศาสตร์ ควรจะมีการยกระดับมุมมองหลักการแบ่งแยกอำนาจ ของ มองเตสกิเยอร์ ที่มีหัวใจ คือ ตรวจสอบถ่วงดุล ว่าหมายถึง การแบ่งแยกอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การตรวจสอบถ่วงดุลในทางข้อมูลข่าวสาร และการมีระบบตรวจสอบการใช้ข้อมูลข่าวสารทางการเมือง
ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอประการสำคัญ ของผู้เขียน ที่เป็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการปฏิรูปอำนาจทางการเมือง จึงมีดังนี้
๑.การจัดให้มีมาตรการควบคุมการเสนอข่าวสารของพรรคการเมือง
๒.การจัดให้มีมาตรการควบคุมการเสนอข่าวสารโครงการของส่วนราชการที่มีลักษณะส่อไปในทางเอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม
๓. การจัดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยการให้พรรคฝ่ายค้าน และภาคพลเรือนสามารถใช้สื่อเพื่อตรวจสอบภาครัฐบาล
๔.การควบคุมการใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของพรรคการเมือง รัฐบาล และหน่วยงานราชการ
๕.การจัดให้มี องค์กรสื่ออิสระ ของภาคพลเรือน ที่ปราศจากการแทรกแซง ของอำนาจรัฐบาล และ อำนาจทุนของภาคการตลาด
๖.การจัดให้ องค์กรตุลาการ มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้สื่อของภาคการเมืองและภาคการตลาดโดยไม่เป็นธรรม
ข้อเสนอดังกล่าว ดูเป็นข้อเสนอที่คิดนอกกรอบ แต่หากพิจารณากรอบทางประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ในความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้มีอำนาจกับพลเรือนจะพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนายทาส กับทาส เป็นเพียงอำนาจเหนือทางร่างกาย ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าศักดินากับพลเรือน เป็นเพียงอำนาจเหนือที่ดิน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับพลเรือนเป็นเพียงอำนาจทางการเมืองเหนือสิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบของประโยชน์สาธารณะ ความสัมพันธ์ระหว่างทุนนิยมกับพลเรือน เป็นเพียง อำนาจทุน เงินตรา ทีมีเหนือทรัพยากรของพลเรือน
แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้กุมอำนาจข้อมูลข่าวสาร กับภาคพลเรือน คือ อำนาจเหนือจิตใจ ที่พร้อมร่ายมนต์ ให้พลเรือน ยอมละทิ้ง ซึ่ง ทรัพยากร สิทธิและเสรีภาพที่ชอบธรรม ที่ดิน กระทั่ง การยอมตนลงเป็น ทาส ของภาคการตลาดสามานย์ ที่ใช้อำนาจทุนแย่งยึดอำนาจจากภาคการเมือง และใช้อำนาจของข้อมูลข่าวสาร หรือ อำนาจอ่อน (Soft Power) อันชั่วร้าย แย่งยึดหัวใจคนไทยเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
ศาสตรา โตอ่อน
นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง
การใช้และการตีความกฎหมายในวิกฤตการณ์บ้านเมือง
สืบเนื่องจากบทความเรื่อง ตัดสิทธิเลือกตั้งย้อนหลังได้ ของท่าน ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ที่ได้กล่าวถึงปัญหาการใช้และการตีความกฎหมายของนักกฎหมายลายลักษณ์อักษร ทำให้ผู้เขียนนึกถึงกรณีการตีความกฎหมายในสองกรณีสำคัญ ที่มีปัญหาแบบนี้เช่นเดียวกัน จึงเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อขยายภาพปัญหาดังกล่าวให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น
.....................................
กฎหมาย คือ บรรทัดฐานทางสังคมชนิดหนึ่ง ที่เข้าไปเกี่ยวพันกับบริบททางสังคมแทบจะทุกส่วน เพราะบรรทัดฐานที่ชื่อว่ากฎหมาย คือสิ่งที่สังคมผู้เจริญแล้วย่อมต้องให้ความเคารพ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการระงับข้อพิพาทขัดแย้ง และจัดสรรส่วนที่พึงมีพึงได้ให้กับผู้สมควรมีสมควรได้นั่นเอง
เมื่อพิจารณาวิกฤตการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะพบว่าประเด็นปัญหาทางการเมืองที่นำไปสู่การวิวาทะสำคัญในเกือบทุกกรณีจะมีการให้ความเห็นในทางกฎหมาย จากนักวิชาการ ทนายความ เจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทั่งตุลาการ และในกือบทุกกรณีการให้ความเห็นก็มีความแตกต่างหลากหลาย จนบางครั้งผู้ที่มิใช่นักกฎหมายพลอยเกิดความสับสนว่า ความเห็นของนักกฎหมายคนใดเป็นความเห็นที่ถูกต้อง
ด้วยเหตุนี้ภาวะการณ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่ภาวะการณ์ที่ดีสำหรับ “กฎหมายบ้านเมือง” เป็นแน่แท้ เพราะ กฎหมายมีลักษณะสำคัญประการหนึ่ง คือ ต้องมีความชัดเจนแน่นอน ซึ่งความชัดเจนแน่นอน จะนำไปสู่ ความเชื่อถือของประชาชนในประเทศที่อยู่ในบังคับของกฎหมายนั้นๆ และหากประชาชนให้ความเชื่อถือก็ย่อมส่งผลสะท้อนกลับ ถึง การลงหลักปักฐานของ “กฎหมาย” ในฐานะบรรทัดฐานทางสังคมที่มีความมั่นคงและหนักแน่นยิ่งขึ้น
ในบทเรียนของการศึกษากฎหมาย หรือ วิชานิติศาสตร์นั้น มีหัวใจที่สำคัญยิ่งไปกว่า ตัวบทกฎหมายที่แสดงออกเป็นบทบัญญัติในมาตราต่างๆ คือ “นิติวิธี” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของวิชานิติศาสตร์ที่ไม่มีในศาสตร์อื่น “นิติวิธี” หมายถึง แนวความคิดที่ฝังตัวอยู่ในบ่อเกิดทางกฎหมายชนิดต่างๆ รวมทั้ง วิธีการใช้ วิธีการตีความกฎหมาย ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ ปรมาจารย์กฎหมายแห่งสำนักธรรมศาสตร์ เคยกล่าวไว้ว่า “ตัวบทกฎหมายเป็นร่างกาย ในขณะที่นิติวิธี คือวิญญาณกฎหมาย”
ด้วยเหตุนี้ นักกฎหมายคนใดที่ใช้และตีความกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงนิติวิธี ผู้นั้นย่อมมีแต่ ร่างกายของนักกฎหมาย แต่หามีวิญญาณของนักกฎหมายไม่ ดังนั้นการเป็นนักกฎหมายที่มีร่างกายและวิญญาณของนักกฎหมาย คือ ต้องสามารถนำตัวบทกฎหมาย และนิติวิธี หลอมรวมเข้าเพื่อใช้ และตีความกฎหมายให้เกิด “ความยุติธรรม” อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของ วิชานิติศาสตร์
เมื่อพิจาณาถึง วิชานิติศาสตร์ อาจกล่าวอีกนัยนึงว่า ตัวบทกฎหมาย เป็น “ศาสตร์ที่อุดมไปด้วยตรรกะ” ในขณะที่นิติวิธี คือ “ศิลปะในการนำตรรกะต่างๆมาใช้และตีความ” ให้มีความสอดคล้องกับสภาพสังคม ณ ขณะนั้น ดังนั้น นักกฎหมายคนใดที่ใช้และตีความกฎหมายอยู่บนพื้นฐานของตัวบทกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว จึงอาจกล่าวได้ว่า นักกฎหมายผู้นั้น คือ นักกฎหมายที่มีแต่ “ศาสตร์” แต่ไม่มี “ศิลป์” นักกฎหมายผู้นั้นจึงเป็นเพียงเหยื่อ ของ “ตาข่ายแห่งเหตุผลอันแห้งแล้ง และไม่มีความเป็นธรรม”
ตัวอย่างของการใช้และการตีความกฎหมายในวิกฤตการณ์บ้านเมือง ที่พอจะยกขึ้นมาแสดงให้เห็นถึง ความบกพร่องในทาง นิติวิธี ซึ่งบทความนี้จะขอยกขึ้นแสดงในสองกรณี คือ 1.กรณีการใช้และการตีความบทบั ญญัติมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ 2. กรณีการใช้และการตีความคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง
1.กรณีการใช้และการตีความบทบัญญัติมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
วิวาทะเกี่ยวกับ บทบัญญัติมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีทั้งผู้ให้การสนับสนุนการใช้มาตรา 7 เพื่อขอนายกฯพระราชทาน และผู้คัดค้านการใช้มาตรา 7 โดยฝ่ายที่คัดค้านประกอบด้วยฝ่ายรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าที่ตีความการขอนายกฯพระราชทานตามมาตรา 7 ว่าเป็นการถอยหลังประเทศไทยกลับสู่ระบอบสมบูรณญาสิทธิราช นั้น จะเห็นได้ว่า ในกรณีวิวาทะเกี่ยวกับมาตรา 7 นั้น หากนักกฎหมาย มาทบทวนการใช้นิติวิธีในทางกฎหมาย โดยคำนึงถึงประเภทของบทบัญญัติของกฎหมาย ที่แบ่งเป็น “บทกฎหมายทั่วไป” ( Jus generale) กับ “บทกฎหมายเฉพาะ” ( Jus speciale) จะพบว่า วิกฤตการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น ล้วนมีสาเหตุมาจาก “ระบบรัฐธรรมนูญล่ม” เนื่องจาก กลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐถูกแทรกแซง ทั้งกลไกการตรวจสอบการเข้าสู่อำนาจโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กลไกลการตรวจในระบบรัฐสภา และกลไกการตรวจสอบขององค์กรอิสระ ซึ่งกรณีนี้ นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า “ปัญหาระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่ทำงานเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น” ดูจะเป็นคำกล่าวที่เลื่อนลอยและขาดการพิจารณาบริบททางสังคมควบคู่ไปกับการใช้กฎหมายโดยสิ้นเชิง
เมื่อระบบรัฐธรรมล่ม เนื่องจาก กลไกตามรัฐธรรมนูญไม่อาจทำงานได้ นั่นหมายความว่า บทบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในมิติต่างๆ เริ่มมีปัญหาการสูญเสียคุณค่าทั้งในเชิงตัวบทกฎหมายและเจตนารมณ์ กระทั่งการเดินหน้าฝืนใช้บทบัญญัติต่างๆต่อไปยิ่งทำให้เกิดวิกฤติของประเทศรุนแรงขึ้น เช่น วิกฤติการรักษาการณ์ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ยาวนาน วิกฤตการณ์เลือกตั้งที่ดูจะไม่มีวันจบสิ้น วิกฤตการณ์ความแตกแยกทางสังคมที่อาจกลายเป็นวิกฤติการณ์การนองเลือดที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้าไม่นาน
บทบัญญัติต่างๆที่ตีความกันจนเกิดปัญหามากมายนั้น แท้จริงคือ “บทกฎหมายเฉพาะ” ที่เมื่อพิจารณาในเชิงนิติวิธีแล้ว เมื่อบทกฎหมายเฉพาะใช้บังคับไม่ได้ หรือ บังคับใช้แล้วเกิดผลประหลาด การใช้และการตีความกฎหมายก็ต้องกลับไปสู่ “บทกฎหมายทั่วไป” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการใช้และตีความกฎหมาย ก็คือ การอ้างเหตุผลว่า “รัฐธรรมนูญมาตราต่างๆยังคงใช้บังคับได้ก็ต้องใช้บังคับต่อไป” ทั้งที่ในความเป็นจริง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยส่วนใหญ่ ได้สูญเสียคุณค่า ทั้งในเชิงตัวบทบัญญัติและในเชิงเจตนารมณ์มาเนิ่นนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ สิทธิและเสรีภาพ (คดีทนายสมชาย คดีตากใบ คดีการฆ่านายเจริญ วัดอักษร ) หน้าที่ของชนชาวไทย (กรณีการเลี่ยงภาษีของอดีตนายกฯทักษิณ ) การเข้าสู่อำนาจโดยการเลือกตั้ง ( กรณี สาม กกต.ที่ต้องคำพิพากษาจำคุก) การตรวจสอบถ่วงดุลโดยระบบรัฐสภา การแทรกแซงองค์กรอิสระ กระทั่ง การทำลายหลักการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยการเข้าแทรกแซงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีการใช้และตีความโดยอ้าง “บทกฎหมายเฉพาะ”ในเรื่องต่างๆดูจะเป็นการใช้ และตีความกฎหมาย เพื่อ กฎหมาย มากกว่า ที่จะเป็นการใช้และตีความกฎหมายเพื่อ “ประโยชน์สุข”ของสังคม
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการบางท่าน ได้ออกมาอธิบาย พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ทั้งที่มีอยู่ในหมวดสองของรัฐธรรมนูญ (พระมหากษัตริย์) และพระราชอำนาจที่แทรกตัวอยู่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหมวดอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงคำอธิบายถึง พระราชอำนาจใน “บทกฎหมายเฉพาะ” ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่เมื่อปรากฏว่าบทกฎหมายเฉพาะต่างๆ ไม่อาจใช้แก้ไขเยียวยาปัญหาประเทศได้ ในเชิง นิติวิธี ก็ต้องมีการกลับไปใช้ “บทกกฎหมายทั่วไป” ซึ่งก็คือ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 บททั่วไป ซึ่งมาตรา 7 ก็เป็นบทบัญญัติที่มีอยู่ใน หมวดที่ 1 บททั่วไปของรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นสถานะของมาตรา 7 จึงมีลักษณะเป็น “บทกฎหมายทั่วไป” ของรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุดังกล่าวการหยิบยกมาตรา 7 ขึ้นกล่าวอ้างจึงไม่ได้มีความผิดพลาดแต่ประการใด แต่ทั้งนี้การหยิบยกมาตราดังกล่าวขึ้นใช้ จะต้องมีการพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าเรื่องที่หยิบยกมาตรา 7 ขึ้นใช้นั้น เป็นเรื่องที่ไม่มี “บทกฎหมายเฉพาะ”ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวมาบังคับใช้ได้
สำหรับความเห็นส่วนตัว การใช้ และตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 7 สามารถกระทำได้ ในฐานะ “บทกฎหมายทั่วไป” ซึ่งกรณีดังกล่าวก็จะต้องทำการพิเคาระห์ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขว่ามีความหมายอย่างไร และการพิเคราะห์ประเพณีที่ว่า ก็คือ การพิเคราะห์ถึงแก่นแท้ และรากเหง้าของ “จิตวิญญาณประชาชาติ” (Volkgeist) ของประเทศไทยให้มีความชัดเจน ซึ่งในกรณีนี้มิใช่การพิเคราะห์พระราชอำนาจที่มีลักษณะเป็น “บทกฎหมายเฉพาะ” ตั้งแต่หมวดที่ 2 ของรัฐธรรมนูญฯเป็นต้นไป แบบที่นักวิชาการหลายคนทำกัน จนมีข้อทักท้วงว่า การใช้รัฐธรรมนูญฯมาตรา 7 เป็นการถอยหลังเข้าคลอง
และกรณีการพิเคราะห์ถึง “จิตวิญญาณประชาชาติ” ดังกล่าว ต้องมีการศึกษาถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทย ในประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่องยาวนาน มิใช่ พิเคราะห์โดยคำนึงถึง ทฤษฎีแบบฝรั่ง ซึ่งมิใช่บรรพบุรุษของประเทศไทยแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น ในความเห็นของผม การใช้และการตีความมาตรา 7 ของนักกฎหมายบางท่าน ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 7 หากพิเคราะห์ในแง่นิติวิธี การใช้ การตีความ“บทกฎหมายทั่วไป” ( Jus generale) แล้ว “บทกฎหมายเฉพาะ” ( Jus speciale) แล้ว ดูเหมือนว่า ความคิดเห็นของนักกฎหมายบางท่าน ดูจะเป็นใช้และตีความกฎหมายที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งในแง่ เทคนิกการใช้และตีความกฎหมาย และการแก้ปัญหาสังคมไปพร้อมๆกัน
กรณีความเป็นไปได้ในการใช้มาตรา 7 ก็คือการใช้มาตรา 7 ในฐานะ “บทกฏหมายทั่วไปเพื่อการปฏิรูปการเมือง” ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในแง่ นิติวิธี และในแง่รัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir Constituant) โดยเหตุผลที่สภาพของระบบรัฐสภาไม่อาจนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองตาม ช่องทางเดิมในมาตรา 313 ของรัฐธรรมนูญได้นั่น ซึ่งหากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ จะพบว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่เจ็ด ก็ทรงเคยใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดังกล่าวร่วมกับคณะราษฎร จนนำไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
2. กรณีการใช้และการตีความคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง
หลังจากที่ศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาให้จำคุก สาม กกต. ประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่ตามมา คือ ปัญหาที่ว่า กกต.ทั้งสามพ้นจากตำแหน่ง กกต.แล้วหรือยัง กรณีดังกล่าวนักกฎหมายส่วนใหญ่มีความเห็นว่า กกต.ทั้งสามหลุดพ้นจากตำแหน่ง กกต.โดยนักกฎหมายบางส่วนได้ให้เหตุผลตามมาตรา 137 (4) ของรัฐธรรมนูญฯที่ให้นำมาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญฯมาใช้บังคับ
ซึ่งในกรณีมาตรา 106 ที่อนุโลมมาใช้บังคับกับคุณสมบัติของคณะกรรมการเลือกตั้งนั้น บัญญัติไว้ว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง .....(3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีดังกล่าว หากพิจาณาแล้วจะพบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมพ้นสภาพทันทีเนื่องจาก คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล อันเกิดจากคำพิพากษา กรณีดังกล่าวหากพิเคราะห์เจตนารมณ์ของมาตรา 137 ที่อนุโลมมาตรา 106 มาใช้จะพบว่า รัฐธรรมนูญเรียกร้องให้ ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งจะต้องเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน จึงจะสามารถทำหน้าที่กรรมการการเลือกตั้งได้ กรณีดังกล่าว กกต.แม้จะถูกคุมขังและต่อมาได้รับการปล่อยตัวก็ต้องถือว่า กรรมการการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่า กกต.จะตัดสินใจลาออกหรือไม่ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ก็มีความเห็นทางกฎหมาย ที่ใช้และตีความมาตรา 137 และ 106 ของรัฐธรรมนูญฯ โดยอธิบายว่า “รัฐธรรมนูญฯมาตรา 106 นั้น ใชบังคับในกรณีที่ กกต.ต้องคุมขังโดยหมายของศาล เฉพาะในวันเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้น กรณีนี้ กกต.ไม่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากไม่ได้ถูกคุมขังในวันเลือกตั้ง” กรณีการตีความดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า มีปัญหาในเชิงการตีความที่ติดยึดกับถ้อยคำในมาตรา 106 ที่ว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง” ซึ่งหากตีความในลักษณะดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลประหลาด สามประการ
ประการที่หนึ่ง หาก กรรมการการเลือกตั้งคนใดถูกคุมขังโดยหมายของศาล ในวันที่มิได้มีการเลือกตั้ง กกต.ผู้นั้นก็มีคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการการเลือกตั้งได้
ประการที่สอง หากกรรมการการเลือกตั้งคนใดถูกคุมขังโดยหมายของศาล และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว คำถามที่ตามมาคือ กกต.ก็ยังสามารถทำหน้าที่ในคุกต่อไปได้ และเมื่อถึงวันเลือกตั้ง กกต.ทั้งสามก็จะพ้นจากตำแหน่ง แล้วใครจะเป็นผู้จัดการการเลือกตั้ง
ประการที่สาม หากกรรมการการเลือกตั้งคนใดถูกคุมขังโดยหมายของศาล และต่อมาศาลให้ประกันตัว กรณีดังกล่าวประเทศไทยเราก็จะมี กกต.ที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก ซึ่งคาดว่า กกต.คงไม่สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ให้เป็นที่เชื่อถือของประชาชนได้
จะเห็นได้ว่าตัวอย่างของการใช้และตีความประเด็นปัญหาการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง คือตัวอย่างของการตีความกฎหมายที่ไม่มีความสอดคล้องทั้งในแง่เจตนารมณ์และในแง่ของสถานการณ์บ้านเมือง เป็นการตีความที่ติดอยู่ “ตรรกะทางภาษากฎหมาย” ที่คับแน่นและตีบตันจนก่อให้เกิดผลประหลาด
ตัวอย่างการใช้ตีความกฎหมายทั้งสองกรณีเป็นตัวอย่างที่ดีของ นักกฎหมายที่ต้องประสาน “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ในการใช้กฎหมายให้เป็นหนึ่งเดียว ยิ่งในภาวะวิกฤตการณ์ทางเมืองแล้ว การใช้และตีความกฎหมายจะต้องคำนึงถึง บริบททางสังคม ณ ขณะนั้นควบคู่ไปด้วย เพราะกฎหมาย มิใช่มีขึ้น เพื่อรักษาตัวของมันเองไว้เท่านั้น แต่กฎหมายมีภารกิจที่สำคัญกว่า คือ การเยียวยาสังคมทั้งในยามสงบและยามวิกฤติเท่าที่กฎหมายจะทำได้
..............
หมายเหตุ
นิติวิธี เป็นบทเรียนในวิชา กฎหมายแพ่งหลักทั่วไป ศึกษาตอนปี ๑ ถือเป็นหัวใจของนักกฎหมายเลยก็ว่าได้ ผมได้เรียนกับ อ.สมยศ เชื้อไทย ทุกวันนี้ยังชอบนั่งุคยกับ อาจารย์อยู่บ่อยๆ คนนี้ครับของจริง ไม่ย้อมแมวขาย
Tuesday, November 14, 2006
ทฤษฎีแห่งความว่าง
คนเราจึงเป็นมนุษย์จิตไม่ว่าง
ผมไปแอบดูพระเจ้าสร้างมนุษย์
หลังจากพระองค์สร้างเหนือหนังเสร็จปุ๊บ พระองค์ก็เอาพู่กันจุ่มหมึกเหนียวป้ายลงที่จิตใจของเรา
แล้วเราก็ดำเนินการต่างๆไปตามแผน ที่พระเจ้าผนึกเราไว้ในหมึกเหนียวนั้น
มีเพียงพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกกระมังที่เข้าใจแผนการดังกล่าว จึงสามารถใช้ตาแห่งปัญญาเผาทำลายหมึกเหนียวของพระเจ้าได้ ด้วยลมหายใจ ที่นำพาสติมากอดก่ายกับปัญญา แล้วตัดฟันทำลายมายาทั้งปวงลง
เมื่อลุถึงที่สุด ความว่าง หรือสุญญตาธาตุย่อมปรากฏ
ณ ที่นั้น คำสอนของผู้ทรงปัญญาทั้งหลายก็เพียง คำลวงของนักมายากล หรืออาจกล่าวว่าเป็นพวกเดียรถีย์อย่างหนึ่ง
เพชร นิล จินดา เป็นเพียงก้อนกรวด
ตำแหน่งรัฐมนตรี ดุจเก้าอี้ผุๆ
ชีวิตก็ไร้รูป ชีวาก็ไร้ตน ยังจะมีเรื่องอันใดให้เราอนาทรร้อนใจอีกเล่า
และเมื่อถ้อยคำที่แท้ได้จารึกแล้วในสุดยอดคัมภีร์ ที่ไร้อักษร ผมก็เพียงเปิดอ่านด้วยลมหายใจ ก็เท่านั้น
นี่คือ ความสัจ ที่เหล่าผู้เกรอะกรัง ในกรงขังของจิตมิอาจเข้าใจ
เหลือดำรงเพียง เมตตา และอานุภาพ สำหรับช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ด้วยคุณธรรมง่ายๆ
และทำมันให้ปรากฏเรี่ยรายในทุกข์ฝีก้าว ก็เท่านั้น ไม่มีอะไรซับซ้อน
นี่คือวิถีส่วนบุคคล ของกระผมเอง
ไร้รูป ไร้ตน พเนจร เจ้าสำราญ วิถีเบิกบาน ของเสรีชน
Tuesday, October 31, 2006
การปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์ : บริบทที่แตกต่างจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑
ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ จำวันที่ไม่ได้
นักวิชาการหลายท่านได้เริ่มออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองผ่านกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเริ่มขึ้น แต่ละท่านก็มีหลักการพื้นฐานในการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้แตกต่างกันออกไป บางท่านก็เสนอแนะให้มีการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาเป็นหลักการในการพิจารณาแก้ไข บางท่านก็เสนอแนะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางท่านก็เสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยเน้นให้น้ำหนักไปที่ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และหลักวิชา ซึ่งทั้งหมดพอจะสรุป หลักการเบื้องต้นที่ใช่ในการพิจารณาทั้งสิ้น สามหลักการ คือ การอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญฉบับเดิม การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการร่างรัฐธรรมนูญโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์
หลักการทั้งสามเป็นหลักการที่มองถึงกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยที่ต้องมีการผสมผสานหลักการทั้งสามเข้าด้วยกันอย่างมีดุลยภาพ เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิมก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มีคุณภาพในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังปฏิเสธไม่ได้อีกถึงการรับฟังความคิดความเห็นของประชาชนในเชิงลึกซึ่งจะนำไปสู่การได้ข้อมูลพื้นฐานประกอบการร่างรัฐธรรมนูญที่มีคุณภาพ และเราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การร่างรัฐธรรมนูญเป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพิเศษ จึงจำเป็นต้องอาศัยนักกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน
นอกจากการประสานหลักการทั้งสามเข้าด้วยกันในการปฏิรูปการเมืองแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมีความเป็นห่วง คือ กระบวนการในการพิจารณาทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นในบริบทสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า เรากำลังอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งโดยหลัก “อิทัปปัจจยตา” แล้ว โลกาภิวัตน์ย่อมส่งผลกระทบถึง ระบอบทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และบริบทอื่นๆแทบจะทุกมิติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การทบทวนดังกล่าว เราต้องมีความเข้าใจพื้นฐานก่อนว่า รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่ไม่อาจแยกขาดจากบริบทต่างๆที่ความสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง และพึงตั้งสติให้มั่นว่า การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๓๘ เป็นการปฏิรูปการเมืองที่ยืนอยู่ในบริบททางสังคมที่แตกต่างไปจากการปฏิรูปการเมืองในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้การทำความเข้าใจบริบทการเมืองที่มีความแตกต่างกันของการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ กับการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สังคมทุกภาคส่วนจะต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องแรก ก่อนที่จะทำการปฏิรูปการเมือง ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการผสมผสานหลักการสามประการข้างต้น และต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า รัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมาย เป็นเพียงสถาบันทางสังคมอย่างหนึ่งในบรรดาสถาบันทางสังคมอื่นๆ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหาสังคมควบคู่ไปกับเครื่องมือทางสังคมชนิดอื่นๆ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวจะทำให้เรามองสังคมในภาพรวมได้ออก และจะได้จัดวางตำแหน่งแห่งที่ ของรัฐธรรมนูญ สถาบันที่รัฐธรรมนูญก่อตั้ง ตลอดจนกระบวนการในรัฐธรรมนูญ ได้อย่างถูกต้องตามความจริงและสอดคล้องกับบริบทสังคมนั่นเอง
การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ : กับการเกิดขึ้นของภาคการตลาดในยุคโลกาภิวัตน์
กำเนิดของการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ มีจุดเริ่มต้นที่ต้องย้อนหลังกลับไปในสมัยรัฐประหารในปี พ.ศ.2534 โดย รสช. ซึ่งต่อมาเหตุการณ์ได้พัฒนากลายเป็น เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ.2535 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ถือได้ว่าเป็น ยุคเริ่มต้นของภาคการตลาดในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งในสมัยนั้นยังใช้คำว่าโลกานุวัตรอยู่ ความเบื่อหน่ายทางการเมืองของประชาชนได้ก่อให้เกิดแรงขับดันกลายเป็น กระแสเรื่องการปฏิรูปการเมือง ที่รัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปะอาชา เป็นผู้นำทางการเมืองที่ปฏิบัติตามพันธะสัญญาทางสังคม จนในที่สุดประเทศไทยก็มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใช้ในปี พ.ศ.2540 พร้อมๆกับการเจริญเติบโตของภาคการตลาดโลกาภิวัตน์อันมี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำ ในนามอัศวินคลื่นลูกที่สาม
หากมองถึง กระบวนการปฏิรูปการเมืองในขณะนั้น จะพบว่าปัญหาสำคัญทางการเมืองมีอยู่มากมายหลายปัญหา ซึ่ง ศาตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้สรุปถึงบริบททางการเมือง ณ ขณะนั้นไว้ ว่าเป็นปัญหาที่ตัวแก่นกลางของอำนาจ ระหว่างอำนาจสามฝ่ายคือ อำนาจรัฐที่ใช้โดย “องค์กรทางการเมือง” อำนาจรัฐที่เป็นกลไกประจำในระบบราชการ และอำนาจที่ใช้โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในสภาพที่ไม่สมดุล ทำให้เกิดการขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ ต่างๆจนนำไปสู่ปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการปกครอง ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งทางออกที่สำคัญคือ การปฏิรูปการเมืองตามแนวทาง Constitutionalism โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างรัฐธรรมนูญที่เข้าไปจัดการความไร้เสถียรภาพ และการสร้างกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคพลเรือน
ด้วยเหตุข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นมรรคที่มีความสอดคล้องกับ ทุกข์ ทางการเมือง ณ ขณะนั้น จากแนวความคิดดังกล่าว ได้นำไปสู่การจัดทำรายงานการวิจัย เพื่อจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการเมือง ซึ่งเสนอต่อ คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ทั้งสิ้น 15 เรื่อง ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่มุ่งเข้าไปจัดการทำให้อำนาจมีเสถียรภาพ ตรวจสอบได้ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน จนในที่สุดแนวความคิดต่างๆที่อยู่ในการรายงานการวิจัยชุดดังกล่าว ก็กลายเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ที่มุ่งตอบคำถามและแก้ปัญหาในบริบทการเมือง ณ ขณะนั้น โดยที่สังคมไทยไม่อาจทราบได้ถึง การเจริญเติบโตของภาคส่วนใหม่ที่มีความร้ายกาจยิ่งกว่า ภาครัฐบาล (Government Sector)
การทุบทำลายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยภาคการตลาด (Market Sector) ที่ผสานตัวกับภาคการเมือง (Goverment Sector)
ในช่วงเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญฯสามารถแก้ปัญหา การเมืองเก่าได้ดีในระดับหนึ่ง มีนักการเมืองหลายท่านต้องเว้นวรรคทางการเมืองไปโดยผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมๆไปกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในหลายประการ ทั้งการเสนอร่างกฎหมายสู่สภา การเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การทำประชาพิจารณ์ และรัฐบาลก็เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น จากมาตรการสร้าง Strong Executive ซึ่งมาตรการสร้างเสถียรภาพเหล่านี้ สอดรับได้ดี กับการเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย ที่ต่อมาสามารถเอาชนะการเลือกตั้งด้วยนโยบาย “ประชานิยม” ซึ่งช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของพรรคด้วยการเอาชนะใจคนในระดับรากแก้ว พร้อมๆไปกับการได้รับเสถียรภาพทางการเมืองจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ณ ขณะนั้น คือ จุดเปลี่ยนและบททดสอบสำคัญของรัฐธรรมนูญและประเทศชาติ ที่ต้องแบกรับการบริหารประเทศโดย พรรคไทยรักไทย ที่ควบรวม ภาครัฐบาล (Government Sector) และภาคการตลาด (Market Sector) เข้าด้วยกัน และนั่น คือ บริบททางสังคมใหม่ ที่กำลังคืบคลานเข้ามาทุบทำลายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ในบทความเรื่อง ดุลยภาพทางสังคมกับการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ ผมได้กล่าวถึง ภาคการตลาด ว่ามีธรรมชาติพิเศษ คือ “ภาคการตลาดมีหน้าที่พิเศษที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ผลิตสินค้าและบริการเพื่อการจำหน่ายเพื่อสนองตอบต่ออุปสงค์และอุปทานของตลาด มีความสามารถพิเศษในการสร้างความมั่งคั่งด้วยวิธีการต่างๆไม่ว่าจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มของภาคตลาด ในยุคโลกาภิวัตน์ได้ก่อตัวจนกลายเป็น บรรษัทขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะผูกขาดทางเศรษฐกิจ ผูกขาดต้นทุนต่างๆกระทั่ง ต้นทุนทางวัฒนธรรมเหนือรัฐชาติ จนอาจกล่าวได้ว่า ภาคตลาด เป็นภาคที่ทรงพลานุภาพที่สุด ในสังคมโลกภิวัฒน์ เพราะภาคการตลาดมีความสามารถในการใช้พลังเงินตรา เข้าไปมีอิทธิพลเหนือ ภาครัฐบาลที่ฉ้อฉล กระทั่ง ภาคพลเรือนที่ไร้คุณภาพได้ไม่ยากนัก”
จากธรรมชาติดังกล่าว อาจสรุปได้อย่างตรงไปตรงมาว่า ภาคการตลาดมีธรรมชาติที่สำคัญ ดังนี้
ภาคการตลาด ขับเคลื่อนหน้าที่ของตนเองด้วย “ความโลภ”
ภาคการตลาด มีวิธีการดำเนินการของตนเอง ที่ไม่มีการคำนึงถึง คุณธรรม จริยธรรมทางสังคม และกฎหมาย หรือ อาจกล่าวได้ว่า จริยธรรมของภาคการตลาด คือ ความไม่มีจริยธรรมใดๆเลยก็ว่าได้
ภาคการตลาด มีความสามารถของพลังเงินตราในการควบรวม (Take Over) ภาครัฐบาล(Government) บนวัฒนธรรมอำนาจ และควบรวมภาคพลเรือน (Civil Sector) บนวัฒนธรรมอุปถัมป์ ได้ไม่ยากนัก
คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนดำรงอยู่ใน นโยบายทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้ปีกของ “พรรคไทยรักไทย” ทั้งสิ้น ซึ่ง ธรรมชาติเหล่านี้ได้แสดงอานุภาพในการบดขยี้ทำลายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างไม่มีชิ้นดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีหลักฐานยืนยันว่ารัฐธรรมนูญถูกทำลายแทบจะทุกหมวด เช่น
การละเมิดสถาบันกษัตริย์และศาสนาเป็นการทำลายรัฐธรรมนูญฯในหมวด ๑ และ ๒ เพราะ ภาคการตลาดไม่มีความสนใจสถาบันทางสังคมใดๆ นอกจากสถาบันแห่งเงินตรา และองค์กรโลกบาล
กรณีการหายตัวทนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีนโยบายฆ่าตัดตอน กรณีการสังหารประชาชนที่ตากใบ และกรือเซะ เป็นการทำลายสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญฯ หมวด ๓ เพราะภาคการตลาดชอบการสั่งการบังคับบัญชาที่เด็ดขาดเหมือนสั่งลูกน้องในบริษัท
กรณีการเลี่ยงภาษีของนายทักษิณ เป็นการทำลายหน้าที่ของชนชาวไทย ในรัฐธรรมนูญฯ หมวด ๔ เพราะภาคการตลาดคำนึงถึงแต่การลดต้นทุนการผลิต และการเลี่ยงภาษีก็เป็นวิธีการลดต้นทุนที่ภาคการตลาดทำอยู่เป็นประจำ
กรณีการซื้อรัฐสภา เป็นการทำลายสถาบันทางการเมืองในระบอบการปกครองแบบรัฐสภา ทำลายการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะภาคการตลาดคำนึงถึงการบังคับบัญชาแบบเบ็ดเสร็จในลักษณะของ CEO
กรณีการโกงการเลือกตั้ง เป็นการทำลายระบบการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง เพราะภาคการตลาด เป็นนักยุทธศาสตร์ที่มุ่งเอาชนะคะคานกันในทางธุรกิจที่แปลงรูปมาเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่มีเงินตราเป็นยุทธปัจจัยโดยไม่สนใจว่าวิธีการในการเอาชนะจะถูกต้องหรือไม่
กรณีการแทรกแซงองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นการทำลายระบบการตรวจสอบทางการเมือง เพราะภาคการตลาด เป็นภาคที่มุ่งเน้นความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการจึงไม่ต้องการการตรวจสอบที่เป็นการเพิ่มต้นทุนและถ่วงเวลาในการบริหาร
กรณีนโยบายผู้ว่า CEO และการไม่จ่ายเงินงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น เป็นการทำลายระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น และภูมิภาคอย่างยับเยิน เพราะภาคการตลาดมีระบบการบริหารที่มุ่งเน้นการสั่งการจากส่วนกลาง
กรณีการโอนสัมปทานให้กับสิงคโปร์ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นทำลายผลประโยชน์สาธารณะของภาคพลเรือน เพราะภาคการตลาดเป็นภาคที่ไม่มีความกตัญญูต่อแผ่นดิน ประชาชน และผลประโยชน์ของประเทศชาติ
สิ่งเหล่านี้ คือ ประจักษ์หลักฐานที่ชัดเจน ถึงซากปรักหักพังของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ถูกทุบทำลายอย่างไม่ชิ้นดี จาก พรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองที่มีกำเนิดจากภาคการตลาด ที่ไม่มีกฎหมายอยู่ในสายตา ที่ไม่คำนึงถึงสิ่งใด นอกกำไรสูงสุดของตนเองและพวกพ้อง ทั้งหมด คือที่มาของความล่มสลายของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มีต้นตอมาจากเลือดและน้ำตาของเหล่าวีรชนเดือนพฤษภา
บริบทสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์ : โจทย์ข้อใหญ่ในการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒
จากการรวบรวมข้อเสนอแนะของผู้เขียน ในรายงานการวิจัย เรื่อง การใช้และข้อค้นพบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้พบข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขและเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯอยู่มากมายหลายประการ ทั้งในส่วนของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ การปรับปรุงระบบการเลือกตั้ง การแก้ไขเรื่องการเป็นสมาชิกอย่างน้อย 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง การจัดระบบตรวจสอบถ่วงดุลใหม่ การแก้ไขเรื่องการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ และข้อเสนอแนะอื่นๆอีกมากมาย ผู้เขียนพบว่า ข้อเสนอแนะบางข้อเสนอ เป็นข้อเสนอโดยตรงจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน บางข้อเสนอเป็นข้อเสนอจากภาคประชาชน บางข้อเสนอเป็นข้อเสนอจากนักวิชาการ ซึ่งบรรดาข้อเสนอต่างๆเหล่านี้ ได้นำไปสู่คำถามสำคัญของผู้เขียนว่า ข้อเสนอต่างๆเป็นข้อเสนอที่วางอยู่บนพื้นฐานทางสังคมวิทยาการเมืองหรือไม่ หรือเป็นเพียงข้อเสนอที่ต้องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
หากคำตอบออกมาในกรณีแรกก็คงไม่มีปัญหาอะไรเพียงแต่ต้องคิดค้นและตั้งคำถามต่อไปมาตรการทางกฎหมายที่เสนอสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ถูกทุบทำลายโดยภาคการตลาดได้หรือไม่ แต่หากคำตอบออกมาในกรณีที่สองคือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ที่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ จะไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียน จึงมีความคิดว่า การปฏิรูปเมืองครั้งที่ ๒ ที่กำลังจะเกิดจะขึ้น ควรมีการพิจารณาบริบททางสังคมการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ให้แจ่มชัด ว่า ทุกข์ทางสังคมครั้งใหญ่ครั้งนี้มี สาเหตุ หรือ สมุทัย มาจากสิ่งใด เพื่อค้นหามรรควิธีที่สามารถแก้ปัญหาทางสังคมให้จงได้ ในเบื้องต้นผู้เขียนได้ค้นพบว่า สาเหตุหลักของปัญหาทางการเมือง คือ โลกาภิวัตน์ ที่มีภาคการตลาดเป็นตัวนำ ในการควบรวม ภาครัฐบาล และภาคพลเรือนที่อ่อนแอ ดังนั้นฐานคิดในเบื้องต้นในการปฏิรูปการเมือง และการบูรณะรัฐธรรมนูญ จึงมีโจทย์ที่ผู้เขียนโยนสู่สังคมให้ขบคิดทั้งสิ้นสามประการ คือ
๑.จะทำอย่างไรในการลดบาททางการเมืองของภาคการตลาดโลกาภิวัตน์ ในการเข้าควบรวม ภาครัฐบาลและภาคพลเรือน
๒.จะทำอย่างไรในการเปลี่ยนแปลงบทบาทของภาครัฐบาลที่ต้องทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าผลประโยชน์ของภาคการตลาด
๓.จะทำอย่างไรให้ภาคพลเรือนสามารถมีส่วนในการป้องกันตนเองจากภาครัฐบาลและภาคการตลาด และเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในทางความจริงให้มากที่สุด
๔.จะทำอย่างไรในการวางสิ่งกีดขวางทางกฎหมายและสถาบันทางสังคมอื่นๆเพื่อป้องกันการท่วมทะลักของโลกาภิวัตน์ในระบบโลก
๕.จะทำอย่างไรให้ ภาคพลเรือน ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ขึ้นเป็นผู้นำเหนือภาครัฐบาล และภาคการตลาดได้อย่างแท้จริง
หากการปฏิรูปการเมืองไม่อาจตอบคำถามหรือแก้โจทย์ทั้งห้าข้อได้ ผมคิดว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในครั้งนี้ จะไม่มีคำตอบให้กับการดำรงคงอยู่ของประเทศชาติ อย่างแน่นอน นอกจากนี้หากพิจารณาตามหลักอริยสัจ ๔ ประการแล้ว การไขโจทย์ทั้ง ๕ ข้อ คือ เทียนส่องให้เห็นภูมิประเทศทางสังคม เพื่อก้าวเดินสู่ การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า การอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญฉบับเดิม การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการร่างรัฐธรรมนูญโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ที่มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนอไว้แล้ว
ศาสตรา โตอ่อน
เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง
Friday, October 27, 2006
เมื่อนิติรัฐปะทะนิติโลก
16 ตุลาคม 2549 11:46 น.
"...ปัญหาคือธุรกิจในเครือชินคอร์ป มาจากการรับสัมปทานจากรัฐ...แต่ต้องไม่ลืมหลักทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้จะทำกำไรได้ก็ต้องอยู่ในขอบเขต แต่การโอนหุ้นชินให้เทมาเส็ก ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ซ้ำยังผิดกฎหมายหลายฉบับอย่างชัดเจน"
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : * ปกรณ์ พึ่งเนตร
-------------------
หากยังอยู่ในบรรยากาศการชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เหมือนเมื่อหลายเดือนก่อน ข่าวศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม รับฟ้องในคดีที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต ขอให้ศาลมีคำสั่งไปยังหน่วยงานภาครัฐให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานของกิจการในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น หลังเทขายหุ้นล็อตใหญ่ให้กับกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ คงกลายเป็นข่าวใหญ่และเรียกเสียงเฮได้ลั่นท้องถนน
แต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน ทำให้กระแส "รุกไล่" พ.ต.ท.ทักษิณ คลายตัวลง และข่าวนี้ก็กลายเป็นข่าวเล็กๆ ที่ประดับอยู่บนหน้า 1 หนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับเท่านั้น
อย่างไรก็ดี การยื่นฟ้องบริษัทยักษ์ใหญ่ของตระกูลนายกรัฐมนตรี โดยนักกฎหมายรุ่นใหม่วัยเพียง 28 ปี อย่าง นายศาสตรา โตอ่อน อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจศึกษาไม่น้อย โดยเฉพาะกับมุมมองและกระบวนการคิดของเขา กับความหาญกล้าท้าทายอำนาจด้วยตัวบทกฎหมาย ในห้วงที่บารมีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังฉายแสงปกคลุมอยู่ในประเทศนี้
"การฟ้องคดีของผมคือการขออำนาจศาลเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะจากทุนโลกาภิวัตน์" ศาสตรา ซึ่งออกตัวว่าเขาคือศิษย์เก่าสวนกุหลาบ สถาบันเดียวกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เอ่ยขึ้นนำ
เขาอธิบายว่า กระแสโลกในปัจจุบันคือโลภาภิวัตน์ ซึ่งส่งผลให้เกิดระบบเชื่อมต่อของทุนนิยม ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของทุนอย่างขนานใหญ่ โดยจุดประสงค์ของโลกาภิวัตน์ก็คือทุนเสรี และทลายสิ่งกีดขวางที่ป้องกันการเคลื่อนย้ายของทุน
"ต้องยอมรับว่าเมืองไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะรับทุนเหล่านี้ได้ ทั้งในแง่ปัจจัยพื้นฐานและคน เพราะการเข้ามาของทุนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาทิเช่น ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต วิถีชุมชน และวัฒนธรรม"
ศาสตรา บอกว่า ทุนโลกาภิวัตน์ไม่สนใจกฎระเบียบ มีการใช้นอมินี ใช้ที่ปรึกษากฎหมายเพื่อชี้ช่องจัดการทุกอย่าง เพื่อหวังผลอย่างเดียวคือกำไรสูงสุด
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเองก็มีระบบกฎหมายคุ้มครองกระแสรุกคืบของทุนเหล่านี้ ได้แก่รัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ โดยหลักการของกฎหมายมหาชนคือคุ้มครองปกป้องประโยชน์สาธารณะ เพื่อเป็นฐานการดำรงอยู่ของประเทศ และแม้กฎหมายมหาชนจะไม่มีประมวล แต่ก็แทรกตัวอยู่ในกฎหมายฉบับต่างๆ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปจัดการดูแลผลประโยชน์ของสาธารณะ
"เมื่อแนวคิดโลกาภิวัตน์ไม่สนใจกฎระเบียบ ขณะที่บ้านเราก็มีกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ จึงเกิดการปะทะกันระหว่างนิติโลกกับนิติรัฐ บางคนบอกว่านิติรัฐไม่มีอีกแล้วในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ผมอยากจะบอกว่าการฟ้องคดีของผมก็คือการยืนยันว่านิติรัฐยังมีอยู่"
ศาสตรา อธิบายต่อว่า กระบวนการโอนหุ้นชินก็คือหนึ่งในกระแสโลกาภิวัตน์ แต่ปัญหาก็คือ ธุรกิจในเครือชินคอร์ปมาจากการรับสัมปทานจากรัฐ ซึ่งรากเหง้าของสัญญาสัมปทาน ก็คือประโยชน์สาธารณะที่รัฐยังไม่อาจทำเองได้ จึงให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานไปทำแทน
"แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมหลักของมัน คือต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้จะทำกำไรได้ ก็ต้องอยู่ในขอบเขตการปกป้องประโยชน์สาธารณะ แต่การโอนหุ้นชินให้เทมาเส็กไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ซ้ำยังผิดกฎหมายหลายฉบับอย่างชัดเจน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า การโอนกิจการต้องได้รับอนุญาตจาก กทช."
ศาสตรา ชี้ว่า การโอนหุ้นชินไม่ได้ดำเนินการในกรอบคิดของการเป็นกิจการที่รับสัมปทานจากรัฐเลย คิดแต่ว่าเป็น Freedom of Contract ซึ่งมันเป็นหลักการระหว่างเอกชนกับเอกชน จึงส่งผลให้สัญญาสัมปทานไม่ชอบด้วยกฎหมาย
"จริงๆ เรื่องนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของหน่วยราชการที่ต้องยกเลิกเพิกถอน เมื่อหน่วยราชการไม่ทำ ผมจึงต้องทำเอง"
เมื่อถามถึงแนวโน้มของคดี ศาสตรา ออกตัวว่า ไม่อยากพูดไปล่วงหน้า แต่ก็มั่นใจในข้อกฎหมายเต็มร้อย ที่สำคัญคือหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับฟ้องคดี เขาได้รับจดหมายจากที่ปรึกษากฎหมายในสิงคโปร์ เรียกร้องให้ไปตรวจสอบบริษัทอื่นๆ ด้วย
"ผมตอบกลับไปว่าไม่ใช่หน้าที่ผม เพียงแต่กรณีของหุ้นชิน เจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำงาน ผมจึงต้องยื่นฟ้องแทน แต่ก็น่าสังเกตว่าประเด็นนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ปรึกษากฎหมายของสิงคโปร์ก็ยอมรับแล้วใช่หรือไม่ว่าการโอนหุ้นนั้นผิดกฎหมาย"
เมื่อถามถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากในที่สุดศาลปกครองสั่งให้เพิกถอนสัมปทานจริงๆ ศาสตรา บอกว่า มีอยู่ 3 แนวทาง คือ
1.เอกชนรายเดิมได้ประกอบกิจการต่อไป แต่แนวทางนี้มีเงื่อนไขว่า การทำผิดสัญญาของเอกชนต้องเกิดจากเหตุสุดวิสัยเท่านั้น
2.หน่วยงานราชการเข้าไปควบคุมกิจการเอง ด้วยการเข้าไปทำแทนเอกชนรายเดิม
และ 3.ยึดกิจการกลับมาเป็นของรัฐ แล้วให้รัฐเป็นผู้บริหารจัดการภายใต้โครงสร้างเดิมของบริษัท
"คดีนี้จะมีส่วนสำคัญมาก ผลของคำพิพากษาจะเป็นตัวชี้ขาดว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปในทิศทางใด" ศาสตรา ระบุ
ส่วนที่มองว่าการยึดสัมปทานกลับมา อาจทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายในสายตานักลงทุนต่างชาตินั้น ศาสตรา บอกว่า จริงๆ แล้วแม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นต้นตำรับของทุนนิยมเอง ก็ปฏิเสธบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคของตน
"กรณีตัวอย่างก็คือ การที่ซีนุก(ไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น) ที่รัฐบาลจีนถือหุ้นใหญ่ จะเข้าไปซื้อกิจการยูโนแคล บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ประกอบกิจการด้านพลังงานของอเมริกา แต่ถูกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติด้วยเสียงท่วมท้นคัดค้านการขายยูโนแคลให้กับซีนุก"
ศาสตรา บอกด้วยว่า จริงๆ แล้วคดีนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะเป้าหมายของเขาไม่ได้อยู่แค่การเพิกถอนสัมปทานกลุ่มชิน แต่เขามองไกลไปถึงการปฏิรูประบบกฎหมายของประเทศครั้งใหญ่ เพื่อผล 3 ประการ คือ
1.คัดกรองนักลงทุนต่างชาติไม่ให้เข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของไทย
2.สร้างตัวบทกฎหมายเพื่อลงโทษเอกชนที่หลีกเลี่ยงกฎหมายในการดำเนินธุรกิจอย่างเฉียบขาด
และ 3.สร้างเสริมกระบวนการตรวจสอบ โดยดึงสถาบันทางสังคมในประเทศไทยที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบให้มากที่สุด
"การสร้างเสริมการตรวจสอบโดยภาคประชาชนจะเป็นการขยายฐานตุลาการภิวัตน์ ทำให้ประเทศไทยสามารถยืนอยู่ได้ในกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะเราไม่สามารถไว้ใจการทำหน้าที่ของระบบราชการเพียงด้านเดียวได้อีกต่อไป ดังนั้นภาคประชาสังคมต้องช่วยกันตรวจสอบและนำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่คนไทยทุกคนเป็นหมาเฝ้าบ้านของตัวเอง"
Wednesday, October 25, 2006
จดหมายถึงชาวบล็อก โดยเฉพาะ แจมมี่
จากข้อเขียนของคุณแจมมี่ ในบล็อกของนายนิติรัฐที่พาดพิงผม
"เรื่องบล็อกของ นายศาตรา ก่อนหน้านี้ผมเข้าไปอ่านตลอด กลับมีมุมมองต่างออกไป และถ้าคุณเองจะเปิดหู เปิดตามองให้ทะลุอีกหน่อย ไม่ได้ใส่แต่แว่นที่เคลือบรสนิยมตัวเองซะหนาเตอะ หรือตั้งใจอ่านความคิดเห็นของคนที่เข้าไปแสดงไว้จริง ๆ ในบล็อกนั้น คุณก็อาจได้พบว่า...คนที่ทำให้บล็อกนั้นร้าง บล็อกอื่นไม่คบ ไม่ใช่ไอ้พวกบล็อกแก๊งที่ไหนหรอก แต่คือ ตัวนายศาตรา เจ้าของบล็อก เองต่างหาก เพราะเขา "คับแคบ" เสียยิ่งกว่า คนที่ไปนับถือเขาอย่างคุณ ซะอีก"
"นายศาสตรา มีอุดมการณ์บางอย่าง จะแง่มุมไหนก็เถอะ ไม่มีใครว่า ทำหน้าที่ไป จะมีก็แต่ "วิธีการ" ที่มีคนเห็นต่างเข้าไปสะกิดเตือน หรือมีความเห็นแตกต่าง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ คนมีอุดมการณ์ หรือมีความคิดเห็นต่างคนอื่น ๆ เขารู้สึกว่า นายศาตราเป็นคนไม่ดี หรือไม่มีอุดมการณ์ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า นายศาสตรา ไม่เคารพอุดมการณ์ และความคิดเห็น (ต่าง) ของคนอื่นเลย ต่างหาก "
"การเขียนตอบโต้ของนายศาสตรา ไม่ใช่แค่การ "ดูถูก" แต่เป็นการ "เหยียดหยาม" ด่าทอ เล่นพ่อล่อแม่คนที่มีความเห็นแตกต่าง หรือ ไม่ยกหางตัวเอง แล้วอย่างนี้ คนสติดี ๆ ที่ไหนถึงจะอยากเข้าไปแลกเปลี่ยนถกเถียง ที่ผลลัพธ์มีแต่ "คำด่า" ที่ไม่ประเทืองปัญญา แทนที่จะเป็น "เหตุผล" หรือแง่มุมต่าง (ของเขาเอง) ให้คนอ่านเก็บเอาไปขบคิดต่อ (แม้ตอนนี้นายศาสตรา จะเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิม ใช้เหตุผลขึ้น แต่ก็ออกจะสายไปเสียแล้ว เพราะ ธาตุแท้บางอย่าง เผยออกมาจนน่ากลัว)
.............................................
นี่คือคำกล่าวหา ผม อีกแล้วครับ เป็นคำกล่าวหาที่คงเกิดขึ้นบ่อยๆทั้งต่อหน้าและลับหลัง ซึ่งผมมองเป็นเรื่องธรรมดาซะแล้ว แต่เมื่อคำกล่าวหาดูจะลอยตามลมมาอีกก็ถึงเวลาที่ผมจะทำให้กฎแห่งกรรมปรากฏจริงๆซะที ซึ่งความจริงเท่านั้นที่ผมจะกล่าวถึง เพื่อให้พวกคุณทั้งหลายที่เห็นว่า ผมแคบ สติไม่ดี ด่าพ่อ ล่อแม่คนอื่น แท้จริงล้วนเป็นพฤติกรรมที่ชาวบล็อกท่านอื่นล้วนกระทำกับผมทั้งสิ้น
..............................................
๑.ในเรื่องการด่าพ่อล่อแม่คนอื่น ผมจะบอกให้พวกคุณฟังว่า ในบรรดาชาวบล็อก มีชมรมคนรักนายกทักษิณท่านหนึ่ง เป็นคนแรกที่ใช้คำพูดเหน็บแนมด่าพ่อแม่คนอื่นก่อนเลย คือ คุณพี่พล ซึ่งขอโทษและผมก็ไม่ว่าอะไร แล้วคุณแจมมี่จะมาว่าผมใจแคบได้อย่างไร คุณไม่รู้นี่ถึงได้พูดออกมา ถ้าคุณด่าผมก็ไปด่า พี่พลด้วย ผมคิดว่าพี่พลใจกว้างพอ
๒.ในการเขียนบล็อกผมเริ่มบล็อกด้วย Greenmercy แผมก็เขียนบล็อกด้วยความสุภาพมาโดยตลอด ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ผมตระหนักดีว่าคนเราต้องการมธุรสวาจา แล้วผมก็คิดว่าผมทำได้ดี แต่จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ในข้อเขียนประนามพจน์ ที่ผมบริภาษระบอบทักษิณตามสไตล์ แต่ปรากฏว่า นายกสมาคมคนรักทักษิณ นายบุญชิต เข้ามาด่าผมยับ ผมก็ตอบโต้ด้วยความสุภาพ แต่นายบุญชิตหาได้หยุดไม่ ทั้งยังนำเรื่องส่วนตัวที่ไม่เป็นความจริงมาใส่ร้ายผู้อื่น อย่างน่าอัปยศ ผมจึงไม่มีความอดทนอีกต่อไป ดังนั้น ชาวบล็อกทั้งหลายถ้าท่านจะด่าผมกรุณากลับไปดูสาเหตุด้วย เพราะผมก็เป็นคนมีเหตุผลเพียงพอทื่จะทำอะไรบ้าๆลงไป
๓.กรณีที่ผมขึ้นปราศรัย ในวันที่ ๒๖ ก.พ. หลังจากนั้น ก็เริ่มมีเสียงวิจารณ์ว่าผมพูดจาไม่สุภาพ แต่บางคนบอกว่าสะใจดี ผมไม่ใช่คนไม่ฟังคน แต่คนที่วิจารณ์นั้นในสายตาผมเป็นผู้ที่ไม่เคยทำอะไรให้เกิดมรรคผล กับประชาชน หรือทำแต่ผมไม่รู้ นอกจากนี้การวิจารณ์ยังไม่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจสถานการณ์จริงในที่ปราศรัย ผมถูกให้พูดคนแรก ผมเคยเล่นดนตรีร็อก เวลาเป็นวงเปิด มันต้องอัดให้มันส์ ตรึงคนให้อยู่ คนตั้งหลายหมื่น ผมพูดให้ชาวบ้านฟัง ไม่ได้บรรยายในห้องหรือขึ้นนเทศน์ นอกจากนี้ผมยังไม่พอใจท่าทีของนายนิติรัฐที่ชอบใช่ภาษาสุภาพ ดูถูก กระบวนการพันธมิตร ว่าไร้สาระ ซึ่งผมคิดว่าเป็นการกระทำที่หยาบคายในเชิงความคิด ผมจึงแสดงออกตรงๆ
พันธมิตร อาจจะขอนายกมาตรา ๗ แล้วทำไม หรือ เขาก็สู้เท่าที่ความรู้เขามี เขาก็สู้แบบประชาชนเดินดิน คุณนั่งกระดกไวน์ แล้วคุณก็ไปดูถูกเขา เชยบ้างหละ ไม่เป็นประชาธิปไตยบ้างหละ คุณนิติรัฐไม่เคยรู้ข้อมูลลึกๆเรื่องระบอบทักษิณเท่าใดนัก สังเกตได้จากงานเขียนของนายนิติรัฐเขียนแต่คอนเซปเชิงกฎหมาย ไม่มีข้อมูลการคอรัปชั่น ชาวพันธมิตรเขารู้ข้อมูลลึกๆกันหมดแล้ว เขามีการประสานข้อมูลกัน คุณเอาแต่นั่งดูถูกคนอื่นได้ไง
นี่คือศิลปะในการทำให้ผู้อื่นดูโง่ แล้วผมถือว่า ผมก็มีศิลปะสุดยอด คือ สูงสุดคืนสู่สามัญ เอาแบบบาบาเรี่ยน มันส์กว่าเยอะ โปรดพิจารณาด้วยคุณแจมมี่
๔.กรณี ปฏิเสธความช่วยเหลือจาก ปิ่น ปรเมศว์ ด้วยเหตุผลที่ว่า "ถ้าผมไม่ดัง คุณคงไม่คุยกับผม" ปิ่น เป็นอย่างที่ผมว่าหรือไม่ นั้น ผมได้ยินมาจากชาวบล็อกบางคน ว่า ปิ่น เป็นพวกคบคนเพราะชื่อเสียง และสถาบันการศึกษาที่เรียน ถ้าไม่จบนอก ปิ่น ไม่สน เมื่อถึงเวลาที่เขามาติดต่อขอความช่วยเหลือ ผมจึงต้องระวังตัวเอาไว้ ตรงนี้ผมยอมรับว่าผมพลาดกับ ปิ่น เขาจะเป็นอย่างที่เสียงนินทาว่าหรือไม่ เป็นเรื่องของเขา แต่ที่แน่ในชาวบล็อกเก่อเนี่ย พร้อมจะแทงกันข้างหลังเสมอ
๕.ในบรรดาชาวบล็อกหลายคน โดยเฉพาะพวกชาวบล็อกสำนักฝรั่งเศส เป็นพวกชอบแทงกันข้างหลัง โดยเฉพาะพวกชาวบล็อกเพศผู้ ทั้งหลาย แทงกันยิ่งกว่าผู้หญิงซะอีก บางคนก็แทงข้ามทวีป ไปฝั่งอเมริกา ใครจะเชื่อว่าต่อหน้าท่าที่ที่เข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ย ลับหลังแทงกันเละ
ด้วยเหตุนี้ผมจึงรู้สึกมาโดยตลอดว่า ปัญญาชนเหล่านี้สกปรกสิ้นดี ไม่ควรคู่แก่การเคารพสักการะแต่ประการใด
๖.กรณีต่อมามีการนำบทวิจารณ์ของผมไปฟ้องอาจารย์วรเจตน์ ซึ่งผมก็ไม่รู้แน่ว่าใครทำ แต่พอผมเจอหน้านายนิติรัฐ เพื่อไม่ให้เกิดความไม่สบายใจ ผมเลยบอกว่า ผมรู้แล้วว่าใครทำ หาบันไดลงให้อีก บ้าไหมล่ะผม ถูกด่าแล้วยังไปช่วยคนอื่นอีก
ผมไม่ใช่คนแคบหรอก ถ้าคนอื่นให้เกียรติความคิดผมมากกว่านี้
ผมคิดว่านี่คงเป็นครั้งสุดท้ายที่จะมีคนไม่เข้าใจผม ถ้ามีอีกก็ขอให้เข้ามาอ่านบล็อกตอนนี้ โดยเฉพาะคุณแจมมี่ ผมไม่เคยมีเรื่องกับคุณ แต่คุณเล่นผมซะยับเลย ผมขอเตือนคุณว่า เวลาที่คุณจะเชื่ออะไร กรุณาตรวจสอบที่มาที่ไปให้ครบก่อนแล้วค่อยพิพากษานะ ผมขอร้อง
สำหรับชาวบล็อกที่ถูกพาดพิง ท่านต้องยอมรับนะ เพราะเมื่อผมยังใช้กรรมไม่หมด ท่านก็ต้องใช้กรรมด้วย เพราะกรรมของเราเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน อย่าเอาแต่นั่งยิ้ม แล้วดูผมถูกด่าคนเดียว
สำหรับผมเอง ความผิดของผมที่ผมมองเห็น คือ ผมต้องอดทนให้มากกว่านี้ ไม่ว่าสถานการณ์ที่อยู่รอบตัวจะวิกฤตเพียงใดก็ตาม ไม่ว่าเราอาจจะถูกฆ่าตายในสนามรบ
หวังว่าทุกคนคงจะเข้าใจ และให้ความเป็นธรรม
ขอบคุณ นายปริเยศที่ให้เกียรติกระผมเป็นอย่างยิ่ง ขอบคุณที่จับกระบี่ปัดป้องให้ ขอให้นายมีความสุข
ภาพบน เปรต วัดไผ่โรงวัว เข้าไปในคอมเมนท์ระวังจะเจอ ฝูงเปรต
...............................
บุญรักษา ชีวาสดชื่น
เมฆบ้า
บทสัมภาษณ์กระผมเอง
บทสัมภาษณ์กระผมเอง
ประชาชาติธุรกิจ
ศาสตรา โตอ่อน แจ็กไม่กลัวยักษ์ ? สิทธิ-หน้าที่ และความชอบธรรม
29 ม.ค.2549 "ชินคอร์ป" แจ้งตลาดหลักทรัพยฯพร้อมแถลงข่าวปิดดีลซื้อขายหุ้นตระกูลชินวัตรให้กองทุนข้ามชาติ "เทมาเส็ก"เป“นดีลที่มีมูลค่าสูงถึง 7.3 หมื่นล้าน และจากนั้นเป็นต้นมาได้ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ และการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ "อภิมหาดีลประวัติศาสตร์" จากทั่วสารทิศ ส่งผลสะท้านสะเทือนต่อสถานะของนายกรัฐมนตรี "ทักษิณ ชินวัตร" ในฐานะอดีตเจ้าของและผู้ก่อตั้งกลุ่มชินคอร์ปอย่างหนักหน่วง...ต่อเนื่อง
20 มี.ค. "ศาสตรา โตอ่อน" อ.หนุ่มแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐให้เพิกถอนสัมปทานชินคอร์ปต่อ "ศาลปกครอง"
22 มี.ค. "ศาลปกครอง" มีคำสั่งไม่รับฟ้อง
26 มี.ค. "ศาสตรา" ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด"
19 ก.ย." เกิดการปฏิวัติยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)"ทักษิณ ชินวัตร" กลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทยไม่มีใครคาดคิดว่า ผลพวงของอภิมหาดีล "ชินคอร์ป-เทมาเส็ก" จะส่งผลสะท้านสะเทือนถึงเพียงนี้ "เทมาเส็ก" และอดีตเจ้าของ-ผู้ก่อตั้งกลุ่ม "ชินคอร์ป" เองก็คงคาดไม่ถึงด้วยเช่นกัน....
5 ต.ค.ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับคำฟ้อง !!!
การฟ้องร้องของอาจารย์"ศาสตรากลายเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจขึ้นในบัดดลยิ่งเมื่อย้อนกลับไปดูลำดับเหตุการณ์ข้างต้น ยิ่งพบความน่าสนใจติดตามรายละเอียดใน "ประชาชาติธุรกิจ" กับบทสัมภาษณ์ "ศาตรา โตอ่อน" ในบรรทัดถัดไป
- ทำไมครั้งที่แล้วศาลถึงยกฟ้องเวลายื่นคดีไปที่ศาล
ศาลต้องมานั่งดูก่อนว่าจะรับคำฟ้องหรือไม่รับ ประเด็นว่ารับหรือไม่รับ เป็นประเด็นว่าผู้ฟ้องคดีมีความเดือดร้อนเสียหายจากข้อพิพาทหรือเปล่า ฐานในการฟ้องคดีนี้มี 2 ฐาน คือฐานเกี่ยวกับสัญญาการปกครอง และฐานละเลยปฏิบัติหน้าที่ ผมฟ้องในฐานละเลย เพราะเห็นว่าหน่วยงานรัฐมีอำนาจตรวจสอบ เมื่อพบว่าสัญญามีความขัดแย้งต่อกฎหมายต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด จะแก้ไข ยกเลิกเพิกถอนก็ว่ากันไป แต่กลับไม่ทำอะไรเลย ผมถึงต้องฟ้องฐานละเลยทีแรกศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง เนื่องจากบอกว่า เป็นประเด็นสัญญาการปกครองซึ่งผมไม่ใช่คู่สัญญา ผมเลยอุทธรณ์ไปว่าไม่ได้ฟ้องฐานสัญญาการปกครอง แต่ฟ้องฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งศาลท่านก็เห็นว่า คำอุทธรณ์ฟังขึ้น
- พิจารณาคนละประเด็นกับที่ฟ้อง
ใช่ ซึ่งคำอุทธรณ์ก็ฟังขึ้น คดีก็เข้าสู่ศาล
- ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนขั้วอำนาจการเมือง
ถ้าดูในคำสั่งรับคำฟ้องของศาลปกครองจะเห็นว่า คำสั่งลงวันที่ 12 ก.ย. เกิดก่อนรัฐประหารแต่ยังไม่ได้อ่าน เพราะเป็นขั้นตอนภายใน
- อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้ออกมาฟ้อง
ผมออกไปต่อสู้กับความไม่ถูกต้องทางกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2544 ตอนยังเรียนปริญญาโท ก็เรื่องคดีซุกหุ้น ผมไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลขณะนั้น ก็ทำใบปลิวไปแจกที่ศาล ตั้งแต่นั้นก็ติดตามเรื่องนี้มาตลอด ในฐานะนักกฎหมาย ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการปกครองประเทศคือหลักนิติรัฐ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาระบบทักษิณทำลายระบบนิติรัฐไปหมดเลย ระบอบทักษิณเลียนแบบวิธีการของโลกาภิวัตน์ เลียนแบบวิธีการซิกแซ็กของนายทุน เพื่อแสวงหาผลกำไรสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงอะไรเลย ไม่คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่คำนึงถึงวัฒนธรรม ไม่คำนึงถึงกฎหมาย
ระบอบนายทุนโลกาภิวัตน์มุ่งแสวงหากำไร ทำยังไงก็ได้ที่จะเข้ามาครอบงำด้วยอำนาจทุน ผมขอเอาคำของ อ.เจริญ คัมภีรภาพ มาที่ว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์เป็นระบบกฎหมายของโลกซึ่งกำลังเข้ามาทำลายระบบกฎหมายภายใน แต่เวลาเขาใช้จะใช้คำว่า เข้ามาเปลี่ยนแปลง คือมันดูดีไง ซึ่งจริงๆ กฎหมายภายในบางเรื่องก็มีขึ้นมาเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ แต่กระบวนการโลกาภิวัตน์โลกไม่ได้สนใจกฎหมายภายใน เพราะโลกาภิวัตน์โลกคือความต้องการในการเคลื่อนย้ายทุนอย่างเสรี คือต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง กฎหมายคือสิ่งกีดขวางอย่างหนึ่ง สมมุติจะเข้ามาลงทุน มาซื้อที่ ต้องการเข้ามาแย่งทรัพยากร ถ้าติดกฎหมายที่ดิน กฎหมายเรื่องนั้นเรื่องนี้จะเข้ามาได้ไหม กระบวนการที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันคือกระบวนการโลกาภิวัตน์ของทุน นักธุรกิจพูดจะบอกแต่ตลาดเสรี ซึ่งเป็นการมองแบบแยกส่วน
- กรณีชินคอร์ปเป็นตัวแทนกระแสโลกาภิวัตน์
ใช่ แต่ปัญหาคือธุรกิจชินคอร์ปมาจากการรับสัมปทาน ซึ่งรากเหง้าของสัญญาสัมปทานคือประโยชน์สาธารณะ แม้จะทำกำไรก็ต้องอยู่ในขอบเขต การโอนหุ้นชินให้เทมาเส็กไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะและผิดกฎหมายหลายฉบับ
- ทุนโลกาภิวัตน์คนละขั้วกับเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียงเวลาคำนวณความสูญเสีย หรือจีดีพี ต้องบวกสิ่งที่สูญเสียไปด้วย ไม่ใช่พูดถึงแต่การผลิต หรือผลิตภัณฑ์มวลรวม ทุนโลกาภิวัตน์จะไม่พูดถึงของเสียที่ลงไปสู่พื้นดิน มูลค่าวัฒนธรรมที่ถูกทำลาย หรือกฎหมายที่ได้รับความเคารพนับถือน้อยลง ถ้าบริษัทต่างๆ เลี่ยงกฎหมายได้ ทำไมชาวบ้านจะเลี่ยงกฎหมายไม่ได้
- การเลี่ยง กม.กับทำผิดกฎหมายเหมือนกัน
เหมือนกัน สมมุติ กฎหมายห้ามฆ่าคน ถ้าคุณเอามีดไปแทงเขา คุณผิด การเลี่ยงคือกฎหมายว่ายังงี้แต่ใช้สมองมากมาย ดูว่าจะทำยังไง ตีความตามตัวอักษรยังไงไม่ให้ออกมาแล้วให้เหตุผลในเชิงตรรกะได้ แต่ผลสุดท้ายเหมือนกัน คือนำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมาย จริงๆ คำว่าช่องว่างทางกฎหมายไม่มีหรอก เพราะกฎหมายเป็นสิ่งที่มีทั้งตัวอักษรและเจตนารมณ์ ซึ่งต้องไปด้วยกันตลอด การหลีกเลี่ยงกฎหมายคือการใช้ตัวอักษรมาบิดเบือนเจตนารมณ์ กฎหมายภาษีก็เหมือนกัน การที่เราต้องเสียภาษีเป็นหน้าที่รับผิดชอบส่วนบุคคล เป็นความยุติธรรมทางสังคมที่รายได้ต่างๆ ต้องจัดสรรแบ่งปันไปสู่สังคมร่วมกัน เอาไปพัฒนาอะไรต่างๆ ร่วมกัน ถ้าคุณมัวแต่เอาถ้อยคำมา แต่ไม่เข้าถึงความยุติธรรม คุณก็ไม่ใช่นักนิติศาสตร์ แต่เป็นแค่นักอักษรศาสตร์ เป็นแค่พวกเล่นแร่แปรธาตุที่ใช้แต่ถ้อยคำ นักกฎหมายที่เป็นแบบนี้ คนไม่รู้กฎหมายบางทีเถียงเขาไม่ได้ แต่กับคนบางคนไม่ต้องเรียนกฎหมายก็สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ เป็นเซนส์ในความดีงามของมนุษย์
- เห็นแง่มุมไหนถึงยื่นฟ้อง
ผมสอนวิชากฎหมายปกครองก็รู้เรื่องสัญญาทางปกครอง โดยหลักพื้นฐานเห็นชัดเจนว่า การเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นจากไทยมาเป็นสิงคโปร์ มีการเปลี่ยนตัวคู่สัญญา ดังนั้นต้องกระทบสัญญาสัมปทานแน่นอน ก็ต้องกลับไปเช็กว่า ขัดกฎหมายอะไรบ้าง ประเด็นนอมินีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ปี 40 ซึ่ง 49 ก็ยังคุ้มครองเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน มาดู พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ก็เป็นกิจการที่ห้ามคนต่างด้าวทำ นี่ประเด็นแรกที่เห็น เดือน มี.ค.ผมฟ้อง เพราะคิดว่าถ้ามีการยกเลิกสัมปทานจะปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติได้
- ตัวกฎหมายมีปัญหา
มันถูกแก้จาก 25% เป็น 49% เพื่อเปิดช่องให้ง่ายขึ้น ทีนี้วิธีการพวกนี้ที่ปรึกษากฎหมายชอบทำ คือตั้งบริษัทขึ้นมา เอาทนายความไปถือหุ้น ทำเยอะแยะเต็มไปหมด หวังผลอย่างเดียวคือกำไรสูงสุด ไม่รู้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหรือเปล่า จริงๆ ปัญหาคือตัวกฎหมายมีดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาในการบังคับใช้และการตรวจสอบไม่ดีพอ
- ดูแค่ชั้นเดียวใช่
ก็อ้างแค่ตรงนั้น จริงๆ หลักการที่สำคัญ เจตนารมณ์ของกฎหมายคืออะไร ไม่ให้ต่างชาติเข้ามามีอำนาจในกิจการเหล่านั้น เพราะจะกระทบความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นจะมาดูแค่ชั้นเดียว หรือตีความตามตัวอักษรได้ยังไง โอเค คุณคิดว่าบริษัทหนึ่งมี 100 หุ้น ต่างชาติถือ 40 คนไทย 60 เป็นรายย่อย ถามว่าใครมีอำนาจในการโหวต ต่างชาติใช่ไหม ดังนั้นต้องดูอำนาจในการกำหนดทิศทางบริษัท กฎเกณฑ์เหล่านี้ต้องมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญอาจไม่มีการระบุ แต่ตัวรัฐธรรมนูญจุดสำคัญคือห้ามต่างชาติเข้ามามีอำนาจในตัวทรัพยากร ดังนั้นถ้าตีความตามรัฐธรรมนูญ เกณฑ์มันควรบัญญัติไว้ หลักในการพิจารณาต้องดูว่า ใครเป็นคนมีอำนาจ และต้องดูรัฐธรรมนูญด้วย เพราะรัฐธรรมนูญกว้างกว่า พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจ
- เมื่อรัฐไม่ทำหน้าที่ก็ต้องฟ้อง
ใช่ เพราะหน่วยงานรัฐต้องดูแล ผมเองไม่อยากเป็นคนทำหน้าที่นี้หรอก ถ้าเขาทำหน้าที่ของเขา ผมจะอยากทำ ทำไม เงินก็ไม่ได้ มีแต่ความเสี่ยงด้วย ประเด็นนอมินี เทมาเส็กเองคงพยายามลดสัดส่วนหุ้น พอลดสัดส่วนหุ้นลงไปก็ไม่ผิดแล้ว แต่ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญต้องมาดูให้ชัดว่ามีอำนาจอยู่หรือเปล่า
- ตอนยื่นฟ้องไม่ได้รวม กทช.
พอศาลรับฟ้องก็จะใส่ประเด็นเพิ่มเติมไป ดีลเทมาเส็กกับครอบครัวชินวัตรมี กม.อีกตัวที่ต้องดูคือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ที่กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีเปลี่ยนแปลง ต้องขออนุญาต กทช.ด้วย ยิ่งถ้าเป็นบุคคลต่างชาติต้องได้รับการอนุญาตจาก กทช. จากข้อมูลการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ซึ่งตรวจสอบไว้ก่อนหน้ายุบสภาแป๊บเดียว และเอกสารนี้ไม่ได้เผยแพร่ พบว่าไม่มีการขออนุญาต กทช. เมื่อคุณโอนสิทธิตามสัญญาโดยไม่ขออนุญาต ก็ผิดสิ ประเด็นนี้นอมินีหรือไม่นอมินีไม่เกี่ยวแล้ว ต่อให้คุณโอนให้คนไทยด้วยกันก็ต้องแจ้ง กทช. เพราะ กทช.มีอำนาจตรงนี้ชัดเจน
- กทช.อ้างว่าขอข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ไป
กทช.มีอำนาจในการตรวจสอบ การขออนุญาตเป็นเงื่อนไขก่อนโอน ไม่ใช่โอนแล้วให้ กทช.ไปตรวจ ก่อนโอนเขาต้องมาขออนุญาต เมื่อโอนแล้วมาขอก็ต้องโวยวาย ถามว่าเป็นแบบนี้ โอนไปแล้วจะทำยังไง ผิดกฎหมายไหม ณ วันนี้สิงคโปร์ถือหุ้น พอมีปัญหา แล้วก็ออกมาประกาศว่าต้องการลดสัดส่วนหุ้น มันก็ทำผิดกฎหมายอีก เพราะไม่แจ้ง กทช. ถามว่ากิจการโทรคมนาคมเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะไหม ต้องการ การควบคุมผู้ประกอบกิจการ เพราะอำนาจของข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องของสังคมที่ต้องควบคุม ตรวจสอบ
- คาดหวังอะไรจากสิ่งที่ทำบ้าง
การยกเลิกเพิกถอนสัมปทานหรือเปล่าเป็นเรื่องของศาลที่ต้องพิจารณา แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือมีกฎหมายที่สามารถปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติได้ แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ปล่อยปละละเลย โดยเฉพาะประเด็นนอมินี เปรียบเสมือนเสือที่เอาหนังแกะมาหุ้ม เขากลายเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย มีสิทธิอะไรบ้าง มีสิทธิซื้อที่ดินได้ถูกไหม มีสิทธิในการใช้ทรัพยากรของประเทศ
- นักธุรกิจบอกว่า ซื้อที่ดินไปก็เอาไปไม่ได้
อำนาจหรือสิทธิไม่ได้อยู่ที่เอาไปได้ไหม เหมือนคุณมีสมบัติ มีที่ดิน ตายไปแล้วเอาไปได้ไหม ก็ไม่ไดh แต่ถามว่าการมีที่ดินหมายถึงอะไร การปลูกพืช การได้กินได้ใช้ ได้ดำรงชีพใช่ไหม การให้ต่างชาติมาถือครอง ดินกินไม่ได้ แต่ได้สิทธิในการทำประโยชน์ ในการดำรงเลี้ยงชีพ ต่างชาติชอบมาลงทุนในประเทศเราเพราะ ค่าแรงถูก แต่ที่สำคัญคือต้นทุนเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่มี หรือมีก็น้อยมาก ถามว่าปีๆ หนึ่งมีขยะพิษมาทิ้งในบ้านเราตั้งเท่าไร นักธุรกิจมองแบบนี้ ผมไม่ได้ปฏิเสธว่า จะมาทำธุรกิจไม่ได้ หากำไรได้แต่ต้องมีระบบการควบคุม ต้องบาลานซ์ให้ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้ทำงานรับใช้ประโยชน์สาธารณะ แต่รับใช้ทุนโลกาภิวัตน์
- สัมปทานไม่ได้ระบุเรื่องการเปลี่ยนเจ้าของ
นั่นเป็นหลักวิธีคิดแบบสัญญาทางแพ่ง ไม่ได้มีวิธีคิดเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตัวสัญญาต้องเป็นไปตามสัญญา แต่เมื่อคุณโอนไป มีกฎหมายอื่นต้องดูด้วยถูกมั้ย แต่ไปอ้างแต่สัญญา แต่อันนี้เป็นระบบสัญญาในกฎหมายมหาชน
- เคสอื่นก็ทำแบบนี้หน่วยงานรัฐต้องไปตรวจสอบสิ
วันก่อนสิงคโปร์ส่งจดหมายมาถึงผม จาก อเบอร์ดีน แอสเส็ท เมเนจเม้นท์ ส่งหลักฐานของเทเล นอร์มาให้ บอกให้ตรวจสอบกรณีนี้ด้วย ผมขอตอบผ่านสื่อมวลชนไปละกันว่า คุณไม่ควรเขียนมาหาผม ควรเขียนไปหาหน่วยงานราชการ ให้ทำหน้าที่นี้ และ 2.ต้องเขียนไปหาประธานาธิบดีคุณด้วยว่า จะมาทำธุรกิจประเทศอื่น หัดดูตาม้าตาเรือมั่ง ว่ามีผลประโยชน์ประเทศชาติอยู่
- ส่งมาเมื่อไร
จดหมายลงวันที่ 5 ต.ค. (วันเดียวกับที่ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำสั่งรับฟ้องคดี)
- ไม่ให้เลือกปฏิบัติ
เพราะบริษัทอื่นก็ทำผมบอกแล้วไงว่า ไปบอกหน่วยงานราชการและฝากไปบอกประธานาธิบดี ลี เซียน ลุงด้วยว่า การทำธุรกิจในไทย โปรดระวังหน่อย คนไทยมีปัญญานะ ผลเรื่องศาลผมไม่ได้คาดหวังอะไร แต่คิดว่าสิ่งหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงคือบอกหน่วยงานราชการว่า คุณต้องทำงานมากขึ้น คือทำให้กลไกปกติทำงานมากขึ้นผมสอนวิชากฎหมายมหาชน กฎหมายปกครอง พอเห็นปุ๊บก็รู้ นักธุรกิจไม่เข้าใจระบบทางกฎหมายปกครอง สัญญาทางปกครอง สัญญาสัมปทาน โดยทฤษฎีกฎหมายปกครอง คือการกระทำของฝ่ายปกครองโดยหลักการแล้วจะไปขัดแย้งกับกฎหมายไม่ได้ ถ้าขัดแย้งต้องถูกยกเลิกเพิกถอน
- ไม่ได้ปฏิเสธทุนโลกาภิวัตน์
เป็นสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลก แต่มองว่า ประเทศเราจะจัดระบบวิธีการอยู่ยังไงกับโลกาภิวัตน์ ทุนโลกาภิวัตน์ในตัวของมันเองไม่ได้เป็นสิ่งประเสริฐ มันวัดการเจริญเติบโตที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การใช้อำนาจข้อมูลข่าวสารโดยการโฆษณา การสร้างความต้องการในการบริโภค ซึ่งท้ายที่สุดนำไปสู่ความยากจน ของโลก เพราะทรัพยากรในประเทศต่างๆ ถูกทำลาย นักธุรกิจอาจมองแค่กำไรและตลาดหุ้น ในหลวงตรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคือการลดการบริโภคลง จริงๆ แล้ว ถ้าดูปัจจัยแบบเชื่อมโยงกันทั้งหมด จะเห็นได้เลยว่าระบบเศรษฐกิจพอเพียงคือหนทางแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย เพราะมันค่อยๆ กิน ค่อยๆ ใช้ กินไปนานๆ กินไปยาวๆ อยู่กันได้นานๆ แบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ผมไม่ได้ปฏิเสธทุน แต่ทุนเองก็ต้องเข้าใจ และเป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้น มีคุณธรรมมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่ความโลภ
- ในฐานะนักกฎหมาย ในฐานะนักวิชาการ ในฐานะคนไทย ได้แสดงบทบาทอะไรบ้างในแง่กฎหมาย
การฟ้องคดีที่เกี่ยวกับสัมปทาน หัวใจของสัญญาสัมปทานคือประโยชน์สาธารณะ คือการปกป้องประโยชน์สาธารณะ ในแง่นักกฎหมายคิดว่าได้ทำหน้าที่แล้วในฐานะนักวิชาการ ไม่ใช่แค่คนสร้างความรู้ หรือผลิตความรู้ ความรู้ทุกอย่างต้องนำไปใช้ และเกิดประโยชน์ได้ ในฐานะนักวิชาการก็ได้ทำหน้าที่ในการนำวิชาความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในแง่ประชาชนก็คิดว่า ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งหมายถึงปกป้องผลประโยชน์ของผมด้วย
- นักศึกษาสนใจสิ่งที่อาจารย์ทำแค่ไหน
ก็สนใจนะ แต่ผมไม่ได้คาดหวังว่า ตัวเองจะต้องเป็นอะไรที่เด่นดัง หรืออะไรเลย แต่คิดว่า ถ้าสิ่งที่ทำสร้างแรงบันดาลใจให้ใครได้ นักกฎหมายรุ่นใหม่ๆ คนที่กำลังละล้าละลังอยากเดินไปในเส้นทางที่เป็นอุดมคติ อุดมการณ์ ถ้าตรงนี้สามารถไปช่วยอะไรตรงนั้นได้ ก็คิดว่าทุกคนควรกล้าที่จะออกมาทำมากกว่า เพราะว่าในยุคนี้ ถ้าเรายังมัวมอมเมา หลงงมงาย ประเทศชาติเราจะอยู่ไม่ได้ เพราะทรัพยากรเราจะถูกยึดไปหมด
............................................
The Nation
SUNDAY BRUNCH
Fair and clear outlook
Despite his relative youth, this law lecturer is a veteran in the fight for justice, which he wants to see done in the sell-off of Shin Corp
At first sight, Sattra Toa-on looks just like the young guy next door. Yet, he made news headlines last month by taking state officials to court for dereliction of duty over the sale of
Shin Corp.
The 28-year-old junior law lecturer at Rangsit University argued that the deal seriously damaged the interests of the Thai public and consumers, and accused officials at various government agencies of negligence in this regard. The Central Administrative Court agreed to hear the case last month.
Sattra also told the court that the Bt73-billion sale of Shin Corp to Temasek Holdings of Singapore violated at least four laws - Article 39 and Article 40 of the 1997 charter, the Foreign Business Act and the National Telecom Commission law.
In essence, he argued that the licences of iTV, Shin Satellite Plc and Advanced Info Service (AIS), now held by Temasek, are no longer valid because the Singaporean firm's direct and indirect shareholdings in these businesses has topped 96 per cent, far exceeding the legal limit of 49 per cent.
Chatting over a tall glass of iced coffee at a cafe in Bangkok's Siam Discovery shopping complex, Sattra said the Shin-Temasek deal in January, which proved to be the final straw for opponents of former premier Thaksin Shinawatra, was really bad for Thailand.
"I'm sad that some poo yais (elders) in this country have failed to protect national interests," he said.
"Personally, I believe that globalisation, especially globalised capital, is not good for the country when it is extreme.
"Worse is that Thaksin, for instance, even joined forces with these globalised capitalists to damage our public interests [when his family sold their majority stake in Shin Corp to the Singaporeans]."
A lecturer for the past three years, Sattra earned his master's in law from Thammasat University and became a barrister-at-law in 2003. His speciality is administrative law and concession contracts.
"As a lecturer, I need to do my homework before classes, so I did a lot of research into the concession contracts and licences of iTV, Shin Sat and AIS. All these are scarce national resources that have strategic importance for our country.
"Looking closer, you'll see that they're 'soft' powers, because these businesses are all information-based - be it mobile phones [more than 17 million users for AIS], or satellites [whose systems may contain national intelligence data] or iTV, which operates a national TV network," Sattra said.
"The danger is that Thai people could be turned into pure consumers of all these key national services whose policies, contents and menus could be easily manipulated by foreigners. They might even use these so-called soft powers to influence our public policies in the future," he warned.
"Overall, it's the negative side of globalisation, whose forces are leading our economy to be more capitalistic and our society to be more consumerist. I think His Majesty the King's initiatives on sufficiency economy are an alternative to the excesses of globalisation."
Sattra isn't a novice at taking on former premier Thaksin. Back in 2001 when he was still studying for his degree at Thammasat, Sattra was involved in the assets-concealment case, in which Thaksin was narrowly acquitted by the Constitution Court.
"We didn't strictly follow the rule of law in that case," Sattra said, pointing out that other politicians were found guilty in similar cases but Thaksin wasn't.
In February this year, Sattra joined the anti-Thaksin People's Alliance for Democracy to campaign for his ouster. The following month, he filed his first lawsuit against the Shin-Temasek deal in the Central Administrative Court, but the case was dismissed on the ground that he wasn't directly affected by the deal.
He then lodged an appeal with the Supreme Administrative Court on the ground that state officials' dereliction of duty in overseeing this transaction had seriously damaged public and consumer interests. As a result, the lower court was ordered to take up the case.
Legal pundits believe that the case now has three key points of contention.
First, the deal failed to comply with the Foreign Business Act as far as the use of nominees is concerned.
Second, proper administrative procedures were not followed in this transaction. For instance, there was no prior approval of the deal from the National Telecommunications Commission, which has regulatory powers.
Third, key elements of the concession contracts between the state and the private sector governing iTV, Shin Sat and AIS were violated after the majority stake of Shin Corp was sold.
About himself, Sattra said: "I might be somewhat atypical for my age. I'm a bit hardened by my growing up, since I left my family and hometown of Sing Buri for a Buddhist temple when I was only six.
"During my teens, I wasn't the activist type either. In fact, I didn't join any such activities at Thammasat during my years there. I preferred reading on my own and observing life, urban and rural, and studying law.
"At Thammasat, I was given many opportunities to advance my skills under the guidance of Ajarn Suraphol Nittikraipot [now the university president]," Sattra recalled. "I once gave legal counsel to a university janitor who was asked by the administrative staff to pay more than Bt20,000 for a stolen computer. It wasn't his fault but the staff insisted they had to take legal action against him. In the end, the demand was dropped. Fairness must prevail."
Now Sattra has taken his desire to see fairness prevail from an individual case to a national cause.
Nophakhun Limsamarnphun,
Somroutai Sapsomboon