Thursday, April 27, 2006

สถานการณ์บ้านเมืองภายหลังกระแสพระราชดำรัส

สถานการณ์บ้านเมืองภายหลังกระแสพระราชดำรัส
(ตีพิมพ์ในมติชน วันที่ 1 พ.ค.2549)

ในที่สุดสถานการณ์บ้านเมืองก็เริ่มเข้าสู่ภาวะคลี่คลายตัวได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ภายหลังที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสต่อคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด และคณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งกระแสพระราชดำรัสของพระองค์มีความชัดเจนโดยไม่ต้องอรรถาธิบายขยายความเพิ่มเติม
แก่นแท้ของพระราชดำรัสในมุมมองของนักกฎหมาย มีความชัดเจนว่า ต่อไปนี้ประเทศชาติต้องกลับมาสู่ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย กลับมาสู่การปกครองโดยกฎหมาย (The Rule of Law) ซึ่งหากประชาชนทุกหมู่เหล่าน้อมรับกระแสพระราชดำรัสมาใส่เกล้าใส่กระหม่อม และปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระองค์อย่างเคร่งครัด สังคมการเมืองไทยที่เคยอยู่ในสภาวะโกลาหล (Chaos) มานานพอสมควรย่อมพบกับจุดพลิกผันที่สวยงามหมดจด จนบรรดานานาอารยะประเทศต่างชื่นชมและประหลาดใจที่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของประเทศไทยเป็นอย่างอารยะ แตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดการชุมนุมประท้วง ในประเทศพิลิปปินส์ ประเทศเนปาล และ ประเทศฝรั่งเศส โดยสิ้นเชิง
สภาวการณ์ทางการเมืองหลังจากนี้ คงต้องดำเนินไปบนพื้นฐานของการเคารพหลักประชาธิปไตยและหลักการปกครองโดยกฎหมายมากกว่าที่เคยเป็น ซึ่งหากมีการดำเนินการใดบนพื้นฐานของหลักการทั้งสองประการอย่างเคร่งครัดแล้ว ปรากฏการณ์ทางการเมืองภายหลังจากนี้น่าจะมีทิศทางดังต่อไปนี้

1. การยกเลิกการเลือกตั้งและกลับสู่การเลือกตั้งของพรรคร่วมฝ่ายค้าน
จากเหตุการณ์การเลือกตั้งที่มีปัญหาความไม่ชอบธรรมในหลายกรณี ทั้งอำนาจในตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง กรณีการทุจริตการเลือกตั้ง กรณีความไม่โปร่งใสในการจัดการการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยในหลายกรณีนั้นยังไม่มีกระบวนการในการหาคำตอบที่ชัดเจนว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในวันที่ 2 เมษายน 2549 มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมเพียงใด แต่สิ่งที่ปรากฏชัดเจน คือ การเลือกตั้งที่ผ่านมามีการลงสมัครของผู้สมัครคนเดียวอยู่หลายร้อยเขต ซึ่งนั่นมิใช่วิถีทางของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือก ซึ่งการที่ประชาชนจะเกิด “สิทธิที่จะเลือก” ได้ โดยเหตุผลก็ต้องมีผู้สมัครหลายคนให้พิจารณาตัดสินใจ ดังนั้น การเลือกจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปรากฏว่าในเขตเลือกตั้งมีผู้สมัครเพียงคนเดียว
กรณีดังกล่าวเป็นผลมาจากการบอยคอตการเลือกตั้งของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” ในวิถีทางที่แตกต่างไปจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งหลักจากนี้หากมีการจัดการเลือกตั้งรอบใหม่ พรรคร่วมฝ่ายค้านคงปฏิเสธที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้อีกต่อไป


2. การชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้าน “ระบอบทักษิณ”
บนวิถีทางของการปกครองระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่กฎหมายจะต้องเข้าไปรับรองและคุ้มครองในประการสำคัญ ก็คือ สิทธิและเสรีภาพในแสดงความคิดความเห็น และสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งภายใต้กรอบของกฎหมายถือว่าหลักการดังกล่าวมีศักดิ์ทางกฎหมายเป็นหลักการในระดับ รัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นหลักการสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ อันกฎหมายที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหรือการกระทำในรูปลักษณะใดๆจะขัดหรือแย้งมิได้
ดังนั้นหากพิจารณาถึงข้อเรียกร้องของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ยอมยุติข้อเรียกร้องในการขอ “นายกพระราชทาน” ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว มิได้หมายความว่า กลุ่มประชาชนจะไม่มีสิทธิในการชุมนุมโดย สงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธแต่อย่างใด ทั้งนี้ ก็เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่า เจตนารมณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแท้จริงมุ่งเน้นประเด็นความสำคัญในการต่อต้านระบอบทักษิณ และการขอให้นายกรัฐมนตรีลาออก ด้วยเหตุนี้เมื่อนารัฐมนตรียังไม่ลาออก ย่อมหมายความว่า วิถีทางในการดำเนินการของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ยังไม่บรรลุผล และเมื่อสิทธิในการชุมนุมในที่สาธารณะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่สามารถกระทำได้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงสามารถดำเนินการชุมนุมประท้วงต่อไปได้บนพื้นฐานของหลักการแห่งเสรีประชาธิปไตย และหลักการปกครองโดยกฎหมาย
ซึ่งกรณีนี้มีนัยที่ควรจับตา คือ การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยกรณีว่า ร่าง พรบ.ทางหลวง (ฉบับที่...) พ.ศ.....ที่มีข้อความห้ามมิให้ผู้ใดชุมนุมกันบนเขตทางหลวง ขัดหรือแย้งกับต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 29 และ 44 หรือไม่

3. การแสดงบทบาทของ “องค์กรตุลาการ” ในการดำเนิน “กระบวนการยุติธรรม” ในทุกรูปแบบ
เมื่อประชาชนทุกหมู่เหล่าเห็นพ้องต้องกันว่า การปกครองประเทศจะต้องดำเนินไปบนพื้นฐานของหลักการปกครองโดยกฎหมาย ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อปรากฏกรณีอันเป็นที่สงสัยถึงความไม่สุจริต การคอรัปชั่นอย่างมโหฬารของรัฐบาลชุดปัจจุบัน กระทั่งการกระทำผิดกฎหมายของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการชุมนุมประท้วง และด้วยเหตุที่ ไม่มีบุคคลใดอยู่เหนือกฎหมาย (No man above the Law) “กระบวนการยุติธรรม” จึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในการพิจารณาคดีความต่างๆเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทั้งสองฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา อย่างเป็นอิสระ และปลอดจากการแทรกแซงโดยอิทธิพลใดๆ

ด้วยเหตุดังกล่าว สิ่งที่ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องทำการทบทวนบทบาทของตนเองว่า คดีประเภทใดอยู่ในอำนาจของศาลใด โดยเฉพาะประเด็นการปฏิเสธการตัดสินคดีนั้น ทั้งสามองค์กรควรมีการประชุมปรึกษาหารือกันในประเด็นดังกล่าว เพื่อให้กรณีที่เป็นที่สงสัยของสังคมเข้าสู่ “กระบวนการทางกฎหมาย” เข้าสู่ “กระบวนการยุติธรรม” มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับภาษิตกฎหมายที่ว่า “ผู้พิพากษาไม่สามารถปฏิเสธการตัดสินคดีได้” นอกจากนี้การตัดสินคดีความต่างๆต้องเป็นไปด้วยรวดเร็ว ดังภาษิตกฎหมายที่ว่า “Justice delay Justice Deny” และสำหรับนักกฎหมายทุกคนพึงพิจารณาว่าในการใช้กฎหมาย “กฎหมายกับความยุติธรรมจะต้องไม่ขัดแย้งกัน” ( Law and Justice should not be conflicting) หากบทบาทของ “องค์กรตุลาการ” เป็นไปตามภาษิตกฎหมายที่กล่าวมา ผมเชื่อว่า องค์กรตุลาการ จะกลายเป็นหัวรถจักรในการกอบกู้ หลักการปกครองโดยกฎหมายกลับคืนสู่ประเทศไทย และ องค์กรตุลาการก็จะกลายเป็นผู้ธำรงบทบาทของนักกฎหมายในฐานะวิศวกรของสังคม ( Social Engineering) ได้อย่างแท้จริง

4. การดำเนินการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปสังคม และการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ
วิวาทะสำคัญที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชน กล่าวถึง และเป็นวิวาทะที่ทุกฝ่ายมีจุดร่วมตรงกันก็คือ การปฏิรูปการเมือง ด้วยเหตุดังกล่าว ประเด็นการปฏิรูปการเมือง หรือในกรณีของอาจารย์จอห์น อึ้งภากร ขยายความกว้างไปถึงการปฏิรูปสังคม จะกลายเป็นวาระแห่งชาติที่ต่างฝ่ายจะต้องเข้ามาร่วมคิด ร่วมแสดงความคิดเห็นในเชิงลึกอย่างแน่นอน กรอบขอบเขตที่เริ่มมีการพูดถึงไปบ้างแล้ว อาทิเช่น องค์ประกอบของคระกรรมการปฏิรูปการเมือง วิธีการในการปฏิรูปการเมือง กรอบระยะเวลาในการปฏิรูปการเมือง แต่นั้นยังไม่มากเพียงที่จะทำให้การปฏิรูปการเมืองเกิดสัมฤทธิผล

ด้วยเหตุดังกล่าว การดำเนินการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปสังคม ในประเด็นปัญหาต่างๆอย่างเข้มข้นคงจะเกิดขึ้นในไม่ช้าไม่นาน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากฝากทุกฝ่ายพึงพิจารณาในเบื้องต้น ก็คือ ในการพิจารณาประเด็นปัญหาต่างๆนั้น ควรมีการทำความเข้าใจสภาพสังคมวิทยาการเมืองไทยให้มีความชัดเจน และเข้าใจแก่นแท้ของปัญหาเสียก่อน ก็จะส่งผลทำให้ การปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปสังคม จนนำไปสู่ การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ดำเนินไปบนพื้นฐานของ อริยสัจสี่ประการ ซึ่งเป็นทางดับทุกข์ของสังคมได้อย่างแท้จริง

5. การจัดการเลือกตั้งภายหลังการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ในกรณีที่อาจเกิดขึ้น คือ องค์กรตุลาการ อาจมีคำพิพากษาให้ยกเลิกการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 จนนำไปสู่การมีพระราชกฤษฎีการกำหนดวันเลือกตั้งฉบับใหม่ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นพรรคฝ่ายค้านก็จะเข้าร่วมในการเลือกตั้งที่ตามพระราชกฤษฎีการฉบับใหม่ ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งหาก ภายหลังการเลือกตั้งดังกล่าวเสร็จสิ้นลง ไม่มีการดำเนินการใดๆในการปฏิรูปการเมืองตามมาภายหลัง ดังนั้นพันธกิจสำคัญของทั้งฝ่ายรัฐบาลในอนาคต และฝ่ายค้านในอนาคต ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ก็คือ การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 จนนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และหลังจากนั้นสิ่งที่ควรทำ คือ การยุบสภาเพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง บนพื้นฐานของกฎ กติกาใหม่ ที่ผ่านการพิจารณาจากทุกฝ่ายของสังคมเป็นที่เรียบร้อย

ท้ายที่สุดผมมีความคาดหวังว่า หากสังคมไทยน้อมรับกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใส่เกล้าใส่กระหม่อม น้อมรับแนวทางเสรีประชาธิปไตย และหลักการปกครองโดยกฎหมายที่พระองค์ทรงสอนสั่ง มาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจนนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางสังคมบนพื้นฐานแห่งการเรียนรู้ร่วมกันอย่างปราศจากความรุนแรงซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้นกับตนเอง ความวัฒนาสถาพรของประเทศชาติย่อมมิใช่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อีกต่อไป

................

บุญรักษา ชีวาสดชื่น



3 comments:

Gelgloog said...

เชด!!!

ไอ้เราก็นึกว่าหายไปไหน ที่แท้ก็เร้นร่างซ่อนรูป แล้วมาจิตใหม่ ณ ที่นี้นี่เอง (มิน่าหละ คลิกไปที่ link เก่าทีไร มันก็ขึ้นแต่ this page cannot be found เหอ เหอ)

ขอต้อนรับการกัลบมาของเมฆบ้าเวอร์ชั่นลมพัดหวน และขอให้อยู่ทวนลมนานๆเน้อ


บุญรักษา อุราเปี่ยมสุข

crazycloud said...

Thank you very good

Anonymous said...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ