Sunday, April 23, 2006

CC Analysis

บทวิเคราะห์สถานการณ์การเลือกตั้ง 23 เมษา 49
รูปการณ์ปรากฏของกระบวนการต่อต้าน “ระบอบทักษิณ”
ตีพิมพ์ โพสก์ทูเดย์ 24 เมษายน 2549

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งในวันที่ 23 เมษายน 2549 เป็นผลสืบเนื่องจากความคิดและการกระทำรูปแบบหนึ่งที่แสดงออกถึงกระแสการประท้วงต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” อันเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 จนทำให้การเลือกตั้งครั้งที่แล้วไม่สามารถทำให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบทุกเขตจนนำไปสู่การเปิดสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงส่งผลให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง
คงปฏิเสธอีกไม่ได้ว่า การประท้วงระบอบทักษิณ ความสงสัยถึงความเที่ยงธรรมในการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งยังคงมีอยู่ในหมู่ประชาชนส่วนนึง และในวันที่ 23 เมษายน 2549 ความไม่พอใจดังกล่าวก็แสดงตัวออกมาในรูปแบบที่แหลมคมมากขึ้นจนถึงขั้นมีการประท้วงโดยการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งการฉีกบัตรเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง กระทั่งการปฏิเสธการทำหน้าที่ของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง โดยการไม่เดินทางมารับบัตรเลือกตั้ง ในเขต 2 นครศรีธรรมราช เป็นประจักษ์หลักฐานอย่างดีถึงการต่อต้านการเลือกตั้งอย่างุรนแรงที่สุดครั้งนึงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

จากการทำงานของศูนย์จับตาการเลือกตั้ง 49 ที่เฝ้าจับตาการเลือกตั้งในมิติต่างๆทั้ง การรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน การจับตาการนำเสนอข่าวของสื่อทั้งวิทยุและโทรทัศน์ การจับตาการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง การประสานงานกับนักกฎหมายและทนายความ ทำให้สามารถวิเคราะห์ในเบื้องต้นได้ว่า เหตุการณ์ที่ประชาชนแสดงการประท้วงการเลือกตั้งด้วยวิธีการต่างๆมีสาเหตุสำคัญมาจากเหตุปัจจัย สามประการดังนี้

1.การแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองของประชาชนบนวิถีทางเท่าที่มีอยู่
หากพิจารณากระบวนการต่อสู้ของภาคประชาชนที่ขยายวงกว้างเกิดเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทั้งในส่วนกลาง และในจังหวัดต่างๆ แล้วจะพบว่า แก่นแท้ของสถานการณ์บ้านเมืองแก่นแท้ของกระบวนการต่อสู้ และแก่นแท้ของสถานการณ์การเลือกตั้งในปัจจุบัน ก็คือ กระบวนการต่อต้าน “ระบอบทักษิณ”

หากเราพิจารณาแก่นแท้ดังกล่าวจะพบว่า รูปแบบในการต่อต้านทั้งการชุมนุมประท้วง การฉีกบัตรเลือกตั้ง การใช้เลือดกาบัตรเลือกตั้ง การเคลื่อนไหวปิดล้อม การเดินขบวน การขอร้องไม่ให้มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งมากกว่าหนึ่งคนในบางเขตเลือกตั้ง ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพียงรูปการณ์แสดงออกถึงความไม่พอใจใน “ระบอบทักษิณ” ในรูปลักษณะที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่มีเหตุปัจจัยขับเคลื่อนทั้งจากภาครัฐและการริเริ่มของภาคประชาชนเอง บนพื้นฐานของเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนและอ่อนไหว

ด้วยเหตุดังกล่าว เหตุการณ์ในการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ณ วันที่ 23 เมษายน 2549 จึงเป็นรูปการณ์แสดงออกจากแก่นแท้ของปัญหา คือ การต่อต้าน “ระบอบทักษิณ”ที่ในสายตาของภาคประชาชนอันมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นแกนนำนั้น ถือว่า พันธกิจดังกล่าวยังไม่สำเร็จผลแต่ประการใด ดังนั้น เมื่อประชาชนบางส่วนมีความเห็นตรงกันและแปรเปลี่ยนความคิดความเห็นเป็นการกระทำแล้ว การแสดงออกอย่างกว้างขวางในการฉีกบัตรเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งต่างๆ กระทั่งการไม่เดินทางไปทำหน้าที่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่เกิดขึ้น จึงเป็น “การแสดงถึงจุดยืนทางการเมืองของประชาชนบนวิถีทางเท่าที่มีอยู่” ที่มีนัยอันเป็นข้อสังเกตว่า การแสดงออกถึงการต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” ในครั้งนี้มีความแหลมคมมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น และน่าจะทวีความแหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต

2.การแสดงออกถึงความไม่พอใจการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
การยุบสภาของนายกรัฐมนตรีได้นำไปสู่การจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งภายหลังการยุบสภา บทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งจึงเป็นที่จับตามองจากสังคม แต่เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆทั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2459 จะพบกรณีที่ประชาชนเกิดความสงสัยในความสุจริตเที่ยงธรรมจนก่อเป็นความไม่เห็นด้วยกับบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้งจนมีการชุมนุมประท้วงที่บริเวณสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ในช่วงก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ได้ปรากฏกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีการทุจริต อาทิ การแจกเงินของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายอย่างชัดเจน จนทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจและการไม่ยอมรับการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ขึ้นอย่างกว้างขวาง

จุดสูงสุดของเหตุการณ์ที่มีพัฒนาการมาจากกระแสการรณรงค์กาช่องไม่ลงคะแนน (Vote No Vote) คือ การประท้วงการเลือกตั้งโดยการฉีกบัตรเลือกตั้ง ของร ศ.ดร.ไชยยัน ไชยพร และการกาบัตรเลือกตั้งด้วยเลือดของ อ.ยศศักดิ์ โกศัยกานนท์ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งสองได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการ “ไม่รับ” กระบวนการเลือกตั้ง และการต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง

นอกจากนี้การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง ก็ปรากฏกรณีการดำเนินการจัดการเลือกตั้งที่ผิดกฎหมายมากมายหลายกรณี ทั้ง การจัดคูหาเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปโดยลับ การเอื้อประโยชน์ต่อผู้สมัครโดยการติดรูปไว้ในคูหาเลือกตั้ง การที่เจ้าหน้าที่เข้าไปแทรกแซงดุลพินิจในการใช้สิทธิเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนที่มีต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อผลการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ออกมาโดยการได้ ส.ส.ไม่ครบทุกเขตจนส่งผลให้ต้องมีการจัดการการเลือกตั้งอีกครั้งในวันที่ 23 เมษายน 2549 ผลของแนวคิดและรูปแบบการกระทำในอดีตจากความไม่พอใจการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่กลายเป็น “สัญลักษณ์” ก็ได้ส่งทอดลงเป็นพฤติกรรมของประชาชนในการฉีกบัตรเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง นั่นเอง

3.การดำเนินการของสื่อโทรทัศน์ที่ขาดความเป็นธรรมในการนำเสนอข่าว
ต้องยอมรับว่าสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลที่สุดในการนำเสนอข่าวสารเหตุการณ์ต่างๆ เนื่องจากเป็นสื่อที่สามรถเข้าถึงครัวเรือนจนนำไปสู่การเสพข้อมูลข่าวสารได้ง่ายที่สุด แต่จากการติดตามการนำเสนอข่าวทางสื่อโทรทัศน์จะพบว่า สื่อโทรทัศน์จะมีการรายงานและติดตามเหตุการณ์การทุจริตการเลือกตั้งและการทำงานของคณะกรรรมการเลือกตั้งไม่มากเท่าที่ควร ทั้งในเชิงปริมาณและความลึกในการนำเสนอข่าว ในขณะที่ข้อสงสัยของประชาชนบางกลุ่มต่อกระบวนการการเลือกตั้งมีมากกว่าเหตุการณ์ที่ปรากฏบนหน้าจอโทรทัศน์

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าข้อเรียกร้องถึงความถูกต้องและเป็นธรรมของตนคงจะไม่ได้รับการตอบรับจากสังคมในวงกว้าง สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นแรงกดดันและสร้างความอึดอัดให้กับประชาชนบางส่วน จนเกิดปรากฏการณ์แปรเปลี่ยนข้อเรียกร้องต่างๆที่ไม่ได้รับการตอบสนอง ออกมาเป็นการกระทำที่เป็นรูปธรรมในการประท้วง “การเลือกตั้ง”โดยการฉีกบัตรเลือกตั้ง

บทสรุป
การเลือกตั้งในวันที่ 23 เมษายน 2549 แท้จริงแล้วเป็นเพียงรูปแบบของเหตุการณ์ทางการเมืองที่ขับเคลื่อนอย่างมีพลวัต (Dynamic) จากการต่อต้านระบอบทักษิณ ที่มีลำดับตั้งแต่ การยุบสภา การชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน จนมาถึงการเลือกตั้งในวันที่ 23 เมษายน ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆอาจพลิกผันไปในรูปแบบต่างๆอย่างไม่อาจคาดเดา แต่ทั้งหลายทั้งปวงมีแก่นแท้คือ กระบวนการต่อสู้ระหว่าง อำนาจรัฐ กับ ภาคประชาชน ที่รูปแบบของเหตุการณ์ได้พัฒนาไปสู่ลักษณะของเหตุการณ์ที่แหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ จนยากแก่การคาดเดาว่าเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันจะพบกับจุดหักเห (The Turning Point) ณ ที่ใด ซึ่งถึงเวลานั้นเพียงผีเสื้อกระพือปีกครั้งเดียว (Butterfly Effect) อาจกลายเป็นการชี้ชะตาและจารึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญขอ
ประเทศชาติเลยก็ว่าได้

อาจารย์ศาสตรา โตอ่อน
ที่ปรึกษากฎหมายศูนย์จับตาเลือกตั้ง 49

No comments: