Saturday, August 04, 2012
การทำลายการผูกขาดทางเศรษฐกิจตามแนวทางของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
1. บทนำ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 นั้นนับเป็นรัฐธรรมนูญที่บรรจุหลักการทางเศรษฐกิจไว้มากที่สุดรัฐธรรมนูญหนึ่ง จนอาจกล่าวได้ว่านอกจากรัฐธรรมนูญจะมีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชนแล้วยังมีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ ( öffentliches Wirtschaftsrecht ) และเป็นรัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจ ( Wirtschaftsverfassungsrecht) อีกด้วย คำว่ากฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจนั้นหมายถึง บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับการทางเศรษฐกิจ การจัดระบบอำนาจของรัฐและองค์กรอื่นในการมีบทบาททางเศรษฐกิจ ในการจะปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจเพื่อทำลายการผูกขาดนั้นจำต้องเข้าใจภาพรวมของกฎหมายเศรษฐกิจทั้งระบบซึ่งในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างประเทศเยอรมนีเป็นตัวแบบในการพิจารณา
ในวงวิชาการของประเทศเยอรมันได้แบ่งประเภทของกฎหมายเศรษฐกิจ ออกเป็น 3 ประเภท กฎหมายอาญาทางเศรษฐกิจ ( Wirtschaftsstrafrecht )เช่น กฎหมายความผิดว่าด้วยการใช้เชค การฉ้อโกงในธุรกรรมคอมพิวเต่อร์ กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ ( öffentliches Wirtschaftsrecht ) และกฎหมายเอกชนทางเศรษฐกิจ ( Wirtschaftsprivatrecht) เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายบริษัทมหาชน ในส่วนของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ ( öffentliches Wirtschaftsrecht ) นั้นสามารถแยกย่อยออกได้เป็น 4 ประเภท คือ รัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจ ( Wirtschaftsverfassungsrecht) กฎหมายปกครองทางเศรษฐกิจ ( Wirtschaftsverwaltungsrecht) กฎหมายการแข่งขันภาคมหาชน ( öffentliches Wettbewerbsrecht) และกฎหมายแข่งขันทางการค้า ( Wettbewerbsrecht)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 นั้นมีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจ คือ บทบัญญัติแห่งกฎหมายสูงสุดที่กำหนดกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจของประเทศและเจตนารมณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นบรรดากฎเกณฑ์สูงสุดทางเศรษฐกิจของรัฐนั้นๆ ซึ่งจากคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันได้วางหลักการที่เรียกว่า ความเป็นกลางทางเศรษฐกิจของรัฐธรรมนูญ ( wirtschaftspolitischen Neutralität des Grundgesetzes) อันมีเนื้อหาว่า ฝ่ายนิติบัญญัติจะบัญญัติกฎหมายโดยคำนึงถึงหลักการทางเศรษฐกิจหลักการใดหลักการหนึ่งไม่ได้แต่ต้องคำนึงหลักการทางเศรษฐกิจทุกหลักการไปพร้อมกัน จากหลักการดังกล่าวประกอบกับ หลักความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ที่กฎเกณฑ์ต่างๆจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ตามความในมาตรา 6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 นั้นย่อมหมายความว่า การออกกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติและกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจะต้องคำนึงถึงหลักการทั้งหลายทางเศรษฐกิจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญประกอบกัน ในประเทศไทยเรานั้นบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ยังมีน้อย ดังนั้นการพิจารณาหลักการทางเศรษฐกิจที่บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงเป็นสิ่งสำคัญประการแรกที่ต้องพิจารณา
2.หลักการทางเศรษฐกิจในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
การที่รัฐธรรมนูญมีความเป็นกลางทางเศรษฐกิจทำให้รัฐธรรมนูญคือแหล่งรวมอุดมการณ์ ( Staatsbestimmung ) และเป้าหมาย (Staatsziel) ทางเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติถึงหลักการทางเศรษฐกิจไว้หลายมาตราและหลากหลายอุดมการณ์ ดังนี้
2.1 หลักการเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ หลักการนี้เชื่อในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดย บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ดำเนินการผ่านการใช้สิทธิและเสรีภาพของตน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยสิทธิและเสรีภาพที่เกี่ยวข้องได้แก่ มาตรา 41 สิทธิและเสรีภาพในทรัพย์สิน ซึ่งถูกจำกัดโดยมาตรา 42 ในกรณีการเวนคืน สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามมาตรา 43 และอาจรวมถึง มาตรา 45 ในส่วนของการโฆษณา สิทธิและเสรีภาพทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจเสรีทำงานผ่านการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชน สิทธิและเสรีภาพที่กล่าวมาได้รับการขยายความต่อไปถึงการที่รัฐต้องสนับนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด โดยรัฐต้องไม่ประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชนตามความในมาตรา 84 ( 1)
2.2 หลักการการประกันกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรัฐ ( หลักการกำกับตลาดโดยรัฐ) แม้บทบาทหลักในทางเศรษฐกิจจะอยู่ในมือของเอกชนและตลาด แต่ในรัฐธรรมนูญยังกำหนดบทบาทของรัฐในการประกันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในวงวิชาการกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจของเยอรมนี ได้สร้างหลักการพื้นฐานในการแบ่งความรับผิดชอบงานทางเศรษฐกิจออกเป็น ความรับผิดชอบในการดำเนินการ ( Erfüllungsverantwortung ) ความรับผิดชอบในการประกัน ( Gewährleistungsverantwortung ) และ การเรียกคืนภารกิจในกรณีเอกชนดำเนินการไม่สำเร็จตามเป้าหมาย ( Auffangverantwortung ) ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้กำหนดหน้าที่หลักในการดำเนินการ( Erfüllungsverantwortung ) ไว้กับเอกชน โดยรัฐจะทำการเรียกคืนภารกิจ( Auffangverantwortung ) ได้ในกรณีต่างๆ เช่น การรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือ การจัดให้มีสาธารณูปโภค ตามความตอนท้ายของ มาตรา 84 ( 1) ในส่วนของความรับผิดชอบในการประกัน ( Gewährleistungsverantwortung )แม้เอกชนจะมีบทบาททางเศรษฐกิจผ่านกลไกตลาด แต่การใช้กลไกดังกล่าวอาจเกิดกรณีที่ตลาดไม่อาจจัดการได้ ( Marktversagen ) เช่น กรณีกิจการผูกขาดโดยธรรมชาติ กรณีการผูกขาดทางการค้า กรณีสินค้าสาธารณะ กรณีข้อมูลของตลาดไม่สมบูรณ์ เมื่อกลไกตลาดไม่อาจจัดการได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้ามามีส่วนดำเนินการควบคู่ไปกับการใช้กลไกตลาด ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติถึงความรับผิดชอบในการประกัน ( Gewährleistungsverantwortung ) ไว้สองกรณี คือ
2.2.1 กรณีกิจกรรมทั่วไปทางเศรษฐกิจ ในมาตรา 84 (5) กำหนดให้รัฐกำกับการประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดทุกชนิด และคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นหน้าที่ในการกำกับการทางเศรษฐกิจของรัฐในความหมายอย่างกว้าง ( Regulierung im weiteren Sinn ) อันหมายถึงบทบาทของรัฐในการกำกับกลไกตลาดในสินค้าและบริการทั่วไป ไม่ให้เกิดการผูกขาด
2.2.2 กรณีกิจกรรมสาธารณูปโภค ในกิจการสาธารณูปโภค นั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติหน้าที่ของรัฐไว้หลายกรณีทั้ง กรณีที่รัฐมีหน้าที่ในการดำเนินการ( Erfüllungsverantwortung ) โดย มาตรา 84 ( 10) กำหนดให้รัฐจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐในทางเศรษฐกิจ
ในส่วนหน้าที่ของรัฐในการการประกัน ( Gewährleistungsverantwortung ) ในตอนท้ายของมาตรา 84 (10) กำหนดให้รัฐมีหน้าประกันมิให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอยู่ในความผูกขาดของเอกชนอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งหากแปลความหน้าที่ทั้งสองประการไปพร้อมกันจะพบว่าในกิจการสาธารณูปโภค รัฐธรรมนูญได้เขียนเปิดโอกาสให้กิจการดังกล่าวดำเนินการได้ทั้งโดยรัฐและเอกชน ดังนั้นในกรณีกิจการรัฐวิสาหกิจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงไม่มีบทบัญญัติห้ามการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ( Privatisation ) แต่ประการใด กลับเปิดโอกาสให้มีการแปรรูปฯ ได้ แต่สาระสำคัญอยู่ที่เมื่อมีการแปรรูปแล้วรัฐมีหน้าที่ประกันมิให้เกิดการผูกขาด
อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดกรอบการแปรรูปกิจการสาธารณูปโภคไว้อย่างชัดแจ้ง ในมาตรา 84 ( 11 ) ที่บัญญัติให้การดำเนินการใดที่เป็นเหตุให้ โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดจะกระทำมิได้ กรณีนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อจำกัดของรัฐไม่ว่าจะโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือบริหาร ในการห้ามแปรรูปโครงข่ายต่างๆในทางเนื้อหา ( materielle Privatisierung ) แต่อนุญาตให้แปรรูปได้เฉพาะในเชิงรูปแบบ ( formelle Privatisierung ) โดยการจัดตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนที่รัฐถือหุ้นมากกว่ากึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้หากแปรความมาตรา 84 ( 11 ) ประกอบกับมาตรา 84 ( 5) ( 10) จะเห็นว่ารัฐยังมีหน้าที่ในการประกันการแข่งขัน การป้องกันการผูกขาด ในกิจการสาธาณูปโภคที่มีโครงข่ายเหล่านี้ด้วย ซึ่งกิจการเหล่านี้มีลักษณะพิเศษตรงที่ โครงข่ายต่างๆมีลักษณะการผูกขาดโดยธรรมชาติ ( natural Monopol ) และมีลักษณะตลาดแบบคอขวด ( bottle neck ) ซึ่งไม่จำต้องมีการลงทุนโดยเอกชนให้ซ้ำซ้อนมิเช่นนั้นจะเกิด ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ( sunk cost ) จึงต้องการกำกับกิจการที่แตกต่างไปจากกลไกการกำกับการแข่งขันสินค้าและบริการปกติ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะเป็นจริงได้ โดยอาศัยการออกกฎหมายในระดับ พระราชบัญญัติ เช่น กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม กฎหมายพลังงาน เป็นต้น
2.3 หลักการอื่นๆในทางเศรษฐกิจ
นอกจากหลักการเสรีนิยมแล้วรัฐธรรมนูญยังบัญญัติหลักการทางเศรษฐกิจอื่นๆอีกเช่น ส่วนที่ 9 ของหมวดสิทธิและเสรีภาพได้บัญญัติหลักการในเรื่อง รัฐสวัสดิการ หรือ Welfare State หลักการเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในมาตรา 78 (1) และมาตรา 83 หลักการเรื่องเศรษฐกิจของท้องถิ่นในมาตรา 78(3) เป็นต้น หลักการต่างๆที่กล่าวมาเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะต้องแปรหลักการทางเศรษฐกิจต่างๆผสมผสานกันเพื่อทำให้หลักการทางเศรษฐกิจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ให้มากที่สุด
3.ปัญหาความไม่สอดคล้องของกฎหมายเศรษฐกิจไทยกับรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญฯ 50 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่บัญญัติหลักการทางเศรษฐกิจไว้ค่อนข้างหลากหลายและมีการให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อ หลักการแข่งขันเสรีเป็นธรรมที่ไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด ซึ่งในประเทศไทยการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจนอกจากเป็นปัญหาสำคัญในตัวของมันเองแล้วยังนำไปสู่การผูกขาดอำนาจทางการเมืองอีกด้วย และนี่คือ “ที่มาของเผด็จการนายทุนพรรคการเมือง” ที่อาศัยความอ่อนแอของระบบกฎหมายสถาปนาอำนาจของตนเองเหนือระบอบประชาธิปไตย และเมื่อพิจารณากฎหมายเศรษฐกิจในระดับพระราชบัญญัติหลายฉบับยังพบว่า หลักการพื้นฐานต่างๆยังไม่สอดรับกับหลักการทางเศรษฐกิจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีปัญหาดังนี้
3.1 กลไกของกฎหมายการแข่งขันทางการค้ายังมีความอ่อนแอ
กลไกการควบคุมการแข่งขันทางการค้ายังอ่อนแอมาก ทั้งนี้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ายังคงมีบทบาทน้อยมากในการควบคุมการแข่งขันทางการค้าไม่ให้เกิดพฤติกรรมการผูกขาด คณะกรรมการยังคงเป็นหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ที่อิทธิพลของทุนและการเมืองสามารถแทรกแทรงได้ง่าย ในเยอรมนีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานในระดับ สหพันธ์ ที่มีอำนาจวินิจฉัยกรณีการแข่งขันทางการค้าโดยทำงานเชื่อมโยงกับศาลแพ่ง และแม้ในระดับกฎหมายยุโรป การแข่งขันทางการค้าและกลไกป้องกันการผูกขาดถือเป็นหัวใจของ กฎหมายยุโรปก็ว่าได้ หลักคิดทางเสรีนิยมนั้น คือ การต่อต้านการผูกขาดอำนาจทุนทางเศรษฐกิจที่อาจลุกลามไปสู่การผูกขาดอำนาจการเมือง สำหรับประเทศไทยเรา หากกลไกการควบคุมการผูกขาดยังอ่อนแอเช่นนี้ สภาพช่องว่างระหว่างชนชั้นต่างๆจะยิ่งห่างออกไป ทรัพยากรจะกระจุกตัวอยู่ที่นายทุนผูกขาดและก่อผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดหรือบรรเทาเบาบางลงได้
3.2 กลไกกฎหมายรัฐวิสาหกิจในกิจการสาธารณูปโภคยังไร้ทิศทาง
กิจการรัฐวิสาหกิจนอกจากจะมีผลต่อชีวิตประชาชนแล้ว ยังเป็นแหล่งสะสมทุนของนักการเมืองที่สำคัญ นโยบายรัฐวิสาหกิจไทยกำลังมาถึงทางแพร่งระหว่าง การผูกขาด กับ การแข่งขัน การแปรรูปฯกับการทำงานแบบราชการ การไม่มีระบบการจัดการโครงข่ายพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาสัญญาสัมปทาน ความไร้ประสิทธิภาพในการให้บริการในกิจการที่ยังเป็นของรัฐ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเสรีนิยม กลุ่มทุนผูกขาด กลุ่มสหภาพ และ เอ็นจีโอ ทำให้สภาพของกิจการเหล่านี้ยังไร้ทิศทาง กรณีกิจการโทรคมนาคมนั้นมีการสร้างตลาด มีการแข่งขันและการกำกับดูแลโดย กสทช. แต่กิจการอื่นๆที่มีการแปรรูปอย่าง ปตท.กลับนำไปสู่การผูกขาด ไม่มีการแบ่งแยกบริษัทโครงข่ายออกจากบริษัทที่ให้บริการซึ่งทำให้เกิดความได้เปรียบผู้แข่งขันรายอื่น นอกจากนี้ พรบ ทุนรัฐวิสาหกิจ มุ่งเน้นไปที่การแปลงสภาพ รัฐ ให้กลายเป็นเอกชน โดยไม่คำนึงถึงการสร้างตลาดและการแข่งขันในกิจการที่มีโครงข่ายที่มีเทคนิกพิเศษต่างๆมากมาย ภาคการเมืองยังขาดองค์ความรู้ในการมองระบบที่ควรจะเป็นจนนำไปสู่การออก กฎหมายและการสร้างกลไกการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ การกำกับดูแลยังคงมีความอ่อนแอทั้งระบบและนำไปสู่การสะสมทุนของพรรคการเมืองต่างๆที่นำมาใช้ผูกขาดอำนาจการเมืองอีกต่อหนึ่ง
3.3 โครงสร้างของกฎหมายภาษียังไม่สามารถนำไปสู่การมีรัฐสวัสดิการ
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวอย่างของเยอรมนีนั้น เมื่อกลไกการแข่งขันทางการค้าดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการกำกับดูแลของหน่วยงานต่างๆ จะทำให้ จีดีพี ของประเทศมีปริมาณมหาศาล เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีการเก็บภาษีชนชั้นสูงกับชนชั้นกลางลดหลั่นลงมาในปริมาณที่มาก จนประเทศมีเงินมีสร้างระบบรัฐสวัสดิการ ในประเทศไทยเรามีการพูดถึงภาษีมรดกมานาน แต่ยังไม่มีการนำมาบัญญัติไว้ เนื่องเพราะชนชั้นสูง นายทุนพรรคการเมืองคงไม่ออกกฎหมายที่มีผลกระทบกับตนเอง ดังนั้นประเทศไทยเรานอกจากการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจแล้ว โครงสร้างกฎหมายภาษียิ่งทำให้การกระจายทรัพยากรต่ำลงไปอีก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นช่องทางให้ นายทุนผูกขาดทางการเมือง นำไปหาประโยชน์เชิงนโยบาย การปรับปรุงกฎหมายเรื่องนี้อย่างจริงจังจะทำให้ประเทศเกิดรัฐสวัสดิการที่วางอยู่บนเหตุและผล มากกว่าความรู้สึก
3.4 เศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจชุมชนยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน
การพัฒนเศรษฐกิจไทยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาเน้นไปที่ เมือง และอุตสหกรรม จนทำให้ชุมชนท้องถิ่นเสียสมดุล อย่างไรก็ตามภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง แนวความคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจชุมชนกลับมามีอิทธิพลในสังคม จนมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามในทางกฎหมายนั้นยังไม่มีการกำหนดนิยาม ความหมายหรือแปรความหลักการดังกล่าวออกมาอย่างชัดเจน ต่างโดยสิ้นเชิงกับหลักการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาอย่างเป็นระบบ จนอาจกล่าวได้ว่า ในทางนิติบัญญัติแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจชุมชน ยังเป็นเรื่องที่ยังไม่มีพัฒนาการที่ชัดเจน แต่กิจกรรมต่างๆเป็นเรื่องในทางความเป็นจริง ( de facto ) มากกว่าการทำให้หลักการทางรัฐธรรมนูญเป็นจริงด้วยกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ นอกจากนี้วิถีการเพาะปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยวที่นำประชาชนไปผูกพันไปตนเข้ากับอุตสาหกรรมเกษตรที่มีต้นทุนการผลิตสูงยังคงเป็นปัญหาหลักที่เกษตรกรต้องพึ่งพาระบบใหญ่ การส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในระดับปัจเจกจะช่วยปลดแอกประชาชนออกจากการพึ่งพาระบบใหญ่ กฎหมายที่ปกป้อง คุ้มครอง ส่งเสริม แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจึงควรมีความชัดเจนมากกว่านี้
4.ข้อเสนอแนะ
4.1 จัดตั้ง คณะกรรมการกำกับการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานระดับชาติแยกออกจากกระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่กำกับการแข่งขันทางการค้าในตลาดสินค้าและบริการต่างๆ
4.2 จัดตั้ง คณะกรรมการกำกับโครงข่ายสาธารณูปโภค มีหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการที่มีโครงข่ายพื้นฐานของรัฐ โดยยุบรวม กสทช เป็นกรรมการชุดหนึ่งในคณะกรรมการกำกับโครงข่ายสาธารณูปโภคนี้
4.3 กิจการของรัฐที่มีการแปรรูปฯ ต้องมีการแยกบริษัทโครงข่ายฯออกจากบริษัทที่ให้บริการ โดยบริษัทโครงข่ายเป็นของรัฐภายใต้บังคับของมาตรา 84 ( 11 ) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บริษัทโครงข่ายและโครงข่ายสาธารณูปโภคในรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีการแปรรูปฯ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับโครงข่ายสาธารณูปโภค
4.4 ปฏิรูปกฎหมายภาษี เพื่อนำไปสู่การกระจายรายได้และสร้างรัฐสวัสดิการ
4.5 ส่งเสริมมาตรการทางกฎหมายที่สนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจชุมชน และ สิทธิชุมชน เคียงคู่กับ การปกครองส่วนท้องถิ่น
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
เรียนด้านนี้คร่าวๆในมหาลัยมาเหมือนกัน มาอ่านของคุณแล้วเจ๋งมากเลยค่ะ ขอบคุณมากๆเลย :)
เสียอย่างเดียว ไม่มีวรรคเลย อ่านยากมาก 55
แต่จะกลับมาอ่านเรื่องอื่นๆอีกนะค่ะ :D ชอบมาก :)
Post a Comment